การวัดความเหลื่อมล้ำของรายได้และทรัพย์สินนั้น ได้มีความพยายามทำกันมานานแล้ว แม้ว่าในระยะหลังจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับความสนใจหรือให้ความสำคัญและให้น้ำหนักน้อยลง เพราะไม่ค่อยจะบอกอะไรได้มากนัก อีกทั้งไม่มีมาตรการในทางบวกที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้โดยไม่มีผลเสียที่มากกว่า
ทุกวันนี้การวัดความเหลื่อมล้ำในสังคม ให้วัดกันที่ฐานะความเป็นอยู่หรือคุณภาพชีวิตมากกว่าความเหลื่อมล้ำในเรื่องรายได้และทรัพย์สิน ด้วยเหตุผลหลายอย่าง
คนที่มีรายได้สูงมักจะเป็นคนที่มีความสามารถในการผลิตสูง อาจจะเป็นเพราะมีการศึกษาสูง เพราะบิดามารดาลงทุนให้การศึกษาในระดับสูง ประกอบกับตัวเองมีสติปัญญาดี หรือไม่ก็เพราะเป็นเจ้าของทุน
ที่ครอบครัวได้เก็บออมและลงทุนเอาไว้เป็นมรดก กลุ่มคนพวกนี้เป็นกลุ่มคนที่สังคมต้องการ ไม่ควรถูกลงโทษด้วยอัตราภาษีที่สูงเกินไป
ความตึงเครียดจากความแตกต่างหรือความเหลื่อมล้ำกันไม่ได้อยู่ที่รายได้ แต่อยู่ที่การใช้จ่าย ความเป็นอยู่ เช่น มีบ้านแพงๆ มีรถราหรูหรา ไปเที่ยวต่างประเทศทุก 6 เดือน ส่วนคนที่มีรายได้สูงๆ มักไม่ใช้จ่ายอะไรมาก กลับอดออมเอาฝากไว้ในธนาคารหรือซื้อทรัพย์สินอย่างอื่นที่เป็นเครื่องมือในการออม เช่น ทองคำ พันธบัตร หรือหุ้นกู้ และอื่นๆ ซึ่งในที่สุดสถาบันการเงินก็สามารถนำเงินออมเหล่านี้ ไปให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการนำไปลงทุนจริงต่อไป หรือไม่ก็ทำให้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจนำไปลงทุนในกิจการต่างๆ เพื่อให้ผู้ผลิตในประเทศสามารถแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศได้
อย่างไรก็ตาม ฐานะความเป็นอยู่ รวมทั้งการใช้จ่ายที่หรูหราก็มักจะมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับรายได้ ความแตกต่างของรายได้มักจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในเรื่องฐานะในสังคม ความเป็นอยู่ รวมไปถึงการบริโภคที่ฟุ่มเฟือยหรูหรา
หากจะลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ขณะนี้มุ่งไปในทางลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องความเป็นอยู่ การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรูหรา คุณภาพชีวิต การศึกษา การสาธารณสุข การมีโอกาสที่จะได้ไต่เต้าในสังคม การมีความมั่งคั่งในรายได้และทรัพย์สิน
มาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทรัพย์สินไม่ควรทำให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตมีประสิทธิภาพลดลง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาก็มีข้อจำกัด กล่าวคือถ้าภาษีเงินได้นั้นนิติบุคคลของประเทศเราสูงกว่าประเทศที่เป็นผู้แข่ง การลงทุนก็จะไหลไปสู่ประเทศหรือเขตเศรษฐกิจที่เก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า ในขณะเดียวกัน อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเงินได้ประเภทต่างๆ ก็ต้องคำนึงถึงความสามารถในการดึงดูดทรัพยากรบุคคลและเงินทุนไว้ในประเทศด้วย เช่น อัตราค่าจ้างของบุคคลที่มีความสามารถหรือบุคลากรที่ขาดแคลน หากต่ำกว่าต่างประเทศมาก
ก็จะเกิดสถานการณ์สมองไหล ถ้าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำเกินไปเงินทุนก็ไหลออก ถ้าหากสูงเกินไปเงินทุนก็ไหลเข้า การให้ผลตอบแทนต่อการฝากเงินหรือการถือพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งผู้ฝากและผู้ถือก็มักจะเป็นกลุ่มบุคคลที่มีฐานะมีรายได้และทรัพย์สินที่สูง ถ้าต่ำเกินไป เงินฝากและเงินทุนก็จะไหลออกไปหาแหล่งที่จะให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่า ถ้าความเสี่ยงเป็นอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงในเรื่องค่าใช้จ่ายมีเท่ากันหรือต่ำกว่า
มาตรการการลดแบบเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สิน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้แก่อสังหาริมทรัพย์และตราสารทางการเงิน สำหรับตราสารทางการเงินนั้น หากจะเก็บภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องรายได้
เช่น ให้เอาเงินได้ประเภทดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่าและ capital gain มารวมเข้ากับรายได้อื่นๆ แล้วเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า ก็มีข้อจำกัดเพราะประเทศคู่แข่ง เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ไม่เก็บภาษีเงินได้ประเภทนี้เลย หรือถ้าเก็บก็เก็บในอัตราต่ำ หากเอาส่วนเงินต้นก็ไม่มีใครเก็บภาษีเพราะเงินต้นมาจากฐานเงินออม ความร่ำรวยของผู้มีรายได้สูงมักจะมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาทรัพย์สิน เช่น หุ้นมีราคาสูงขึ้น เพราะผลประกอบการของบริษัทที่เป็นเจ้าของหุ้นสามัญดีขึ้น หรือด้วยเหตุอื่น ประเทศต่างๆ ก็ยกเว้นภาษีให้ไม่เก็บภาษี หากเราจะเก็บภาษีก็แข่งขันในการดึงดูดเงินทุนเข้าประเทศไม่ได้ รายได้ของคนร่ำรวยชั้นสูงจึงเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่ารายได้ของผู้ใช้แรงงานและผู้มีรายได้ประเภทค่าจ้างเงินเดือน โบนัส ซึ่งเป็นรายได้ของผู้มีรายได้ปานกลางและผู้มีรายได้ต่ำ แต่โลกก็เป็นอย่างนั้น ในยุคโลกาภิวัตน์คงจะทวนกระแสไม่ได้
ด้วยเหตุนี้แม้การทำวิจัยข้อมูลเรื่องช่องว่างระหว่างรายได้ว่าแคบลงหรือกว้างขึ้นและประชากรที่อยู่ใต้ระดับความยากจน ก็เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ กล่าวคือเพื่อให้สามารถชี้ถึงตัวบุคคลได้ว่าผู้ใดยากจนหรืออยู่ใต้ขีดความยากจน แล้วการช่วยเหลือก็สามารถพุ่งตรงไปถึงตัวบุคคลนั้นเลย จะทำให้เงินงบประมาณช่วยเหลือถูกใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ แทนที่จะช่วยเหลือผ่านมาตรการหรือโครงการต่างๆ ที่มีชื่อสวยหรู แต่ผลประโยชน์ตกถึงมือผู้ที่ควรไม่ควรได้หรือได้รับความช่วยเหลือน้อยกว่า ทำให้เงินงบประมาณที่ผู้เสียภาษีต้องจ่ายสูญหายไประหว่างทาง มีทั้งสูญหายไปในอากาศที่ไม่มีใครได้ประโยชน์กับสูญหายไป เพราะการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง
ถ้ายอมรับกันเสียว่าช่องว่างระหว่างรายได้เป็นสิ่งที่ไม่เลวร้ายอะไรนัก ไม่ทำให้เกิดความตึงเครียดของสังคม ภาษีอากรเป็นเครื่องมือที่เลวที่สุดในการลดช่องว่างระหว่างรายได้ สิ่งที่สังคมควรให้น้ำหนักความสนใจก็คือ ช่องว่างของคุณภาพชีวิต ซึ่งจะนำไปสู่ช่องว่างระหว่าง "ชนชั้น" แทนที่สังคมจะเน้นไปที่ช่องว่างระหว่างรายได้ และพยายามหามาตรการในทางบวก ไม่ทำลายแรงจูงใจในการลงทุนและการประกอบการ
ถ้าลดการให้น้ำหนักในเรื่องของความเหลื่อมล้ำของรายได้ในสังคม หันมาให้น้ำหนักให้ความสนใจกับความเหลื่อมล้ำในด้านคุณภาพชีวิต ฐานะความเป็นอยู่ ซึ่งรัฐสามารถทำได้ผ่านการใช้จ่ายทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ซึ่งเกี่ยวพันกับโครงการทางสังคม เช่น ทำอย่างไรให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ทำอย่างไรกับเรื่องคุณภาพของโรงเรียนประถม มัธยม วิทยาลัยอาชีวะ วิทยาลัยเทคนิค จะมีคุณภาพทัดเทียมกับของต่างประเทศ ทุกสถานศึกษาในทุกพื้นที่มีความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือในชนบท
จัดบริการทางด้านสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง ประชาชนทุกคนทั้งในเมืองและต่างจังหวัดมีโอกาสเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข อนามัยและการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง เริ่มตั้งแต่การตั้งครรภ์ของมารดาจนถึงวัยเฒ่าชรา อย่างที่อาจารย์ ศ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เขียนไว้ในเอกสาร จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน
ในด้านทักษะการทำงานเลี้ยงชีพ ทำอย่างไรทุกคนจะได้มีการศึกษาอบรม เพิ่มพูนทักษะความสามารถ ประดิษฐ์คิดค้นและสร้างได้สำเร็จ ประกอบกิจการได้เอง พัฒนาความคิดความอ่าน วิสัยทัศน์ มีความเจริญงอกงามทางด้านจิตใจ ไม่ทำร้ายสังคมสิ่งแวดล้อมและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน รวมทั้งสรรพสัตว์ที่เป็นเพื่อนร่วมโลก ไม่ใช่ในฐานะสัตว์เลี้ยงเท่านั้น แต่ในฐานะเพื่อนร่วมชะตากรรมที่มีกำเนิดมาในโลกนี้
การพัฒนาจิตใจให้มีช่องว่างน้อยลง ให้มีความเหลื่อมล้ำน้อยลง เป็นสิ่งที่จะกำหนดออกเป็นมาตรการชัดเจนไม่ได้ก็จริง แต่การให้การศึกษา การอบรมสั่งสอน การไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา แม้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาความรุนแรง
หากลดความเหลื่อมล้ำทั้งในด้านฐานะสังคมและมาตรฐานความเป็นอยู่ ให้มีความสามารถในการเข้าถึงบริการสาธารณะที่ดีอย่างเพียงพอ การยอมรับของการอยู่ร่วมกันในสังคม สิ่งต่างๆ ที่เป็นปัญหาอาชญากรรมหรือปัญหาทางการเมืองอย่างที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ปัญหายาเสพติดซึ่งเป็นปัญหาที่หนักที่ประสบอยู่ ก็น่าจะบรรเทาเบาบางลง เพราะปัญหาเหล่านี้มีพื้นฐานมาจากความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ความจริงเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมกันในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการของรัฐ ที่อาจจะวัดได้ไม่ทั่วถึงกัน การแก้ปัญหาความรุนแรงด้วยความรุนแรง ไม่เคยใช้ได้ผล
ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างอื่นที่ไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้มีความสำคัญมากกว่านัก และเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่แก้ไขได้ถ้าตั้งใจ แม้จะต้องใช้เวลาอยู่บ้าง
การจัดการความเหลื่อมล้ำทางรายได้ให้คนรวยเท่ากันนั้นทำไม่ได้ ทำได้อย่างเดียวก็คือทำให้คนจนเท่ากัน ทุกข์ยากเท่ากัน อย่างที่รัฐคอมมิวนิสต์เคยทำมาแล้วแต่ก็ต้องเลิกไปในที่สุด
ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ใช่เรื่องเศรษฐศาสตร์ แต่เป็นเรื่องสังคมและการเมือง
ที่มา : มติชน วันที่ 15 ธ.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.