การรวมตัวครั้งใหม่ของเครือข่ายภาคประชาชนหลากหลายองค์กร ในนาม 'People Go Network Forum' ได้สรุปสาระสำคัญที่ต้องจับตาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2559 และประเด็นปัญหาของประชาชนที่ถูกทำให้เลือนหาย หนึ่งในนั้นคือ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
สองมือและสองเท้าของประชาชนพร้อมเดินหน้ากิจกรรม 'People Go: ก้าวไปด้วยกัน' เพื่อเกาะติดความเคลื่อนไหวทางการเมืองและการใช้อำนาจของรัฐบาล คสช. นับจากวันนี้ไปจนกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง
สาระสำคัญที่ควรจับตา
สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่หายไป
ประเทศไทย 4.0
ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ...
การจัดการปัญหาประมง
สิ่งที่เขียนในร่างรัฐธรรมนูญ
สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่หายไปในร่าง รธน. 2559
จากสิทธิชุมชนมาตรา 67 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้ถูกย้ายไปอยู่ในหมวด 'หน้าที่ของรัฐ' ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2559 มาตรา 58
สิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี หลักการที่สำคัญซึ่งมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้หายไป
หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ
มาตรา 58 การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตหรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อนเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ
บทเฉพาะกาลที่เร่งรัดการออกกฎหมาย
มาตรา 278 ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้หน่วยงานของรัฐร่างกฎหมายที่จำเป็นตามมาตรา 58 ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และให้สภานิติบัญญัติพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 60 วัน นับแต่วันรับร่าง
สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญใช้ได้เมื่อใด
มาตรา 25 สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ แม้ยังไม่มีการตรากฎหมายใช้บังคับ บุคคล ชุมชน ย่อมใช้สิทธิได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิ เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญสามารถยกบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเพื่อฟ้องศาลหรือต่อสู้คดีได้
ประชาชนจะติดตามหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญอย่างไร
มาตรา 51 หน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญถ้าการใดเป็นการทำเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนโดยตรง ประชาชนและชุมชนมีสิทธิติดตาม เร่งรัด ฟ้องร้อง ให้รัฐดำเนินการตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ โดย คสช. ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปและมีอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 จนกว่ารัฐบาลใหม่รับหน้าที่
มาตรา 265 ให้ คสช. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ให้หัวหน้า คสช. และ คสช. ยังคงมีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557
มาตรา 279 ประกาศ คำสั่ง การกระทำของ คสช. ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญและที่ใช้ต่อไปในระหว่างรอรัฐบาลใหม่ ให้มีผลใช้บังคับและชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญต่อไป การยกเลิก แก้ไข ต้องทำเป็นพระราชบัญญัติหรือมติคณะรัฐมนตรี ดังนั้น ประกาศ คำสั่ง คสช. ใดที่ละเมิดสิทธิตรวจสอบไม่ได้ จึงมีผลใช้บังคับต่อไป จนกว่าจะยกเลิก
รัฐธรรมนูญหมวดแนวนโยบายรัฐ
มาตรา 65 รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติ
เป็นเป้าหมายการพัฒนา
เป็นกรอบการจัดทำ เป้าหมาย ระยะเวลา รายละเอียด การมีส่วนร่วม รับฟังความคิดเห็นประชาชน ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา 77 รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น
ก่อนตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน เปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน
สิ่งน่ากังวลนอกรัฐธรรมนูญ
ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ...
การผลักดันร่างพระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่ ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความล่มสลายอย่างรุนแรงต่อชุมชนทั่วประเทศได้
การกันเขตทรัพยากรแร่ออกจากพื้นที่หวงห้ามตามกฎหมายอื่นให้ชัดเจน ได้บัญญัติเนื้อหาเอาไว้ในหมวด 'การบริหารจัดการแร่ในพื้นที่พิเศษ' คล้ายๆ กับเขตเศรษฐกิจพิเศษในกฎหมายการค้าการลงทุนที่ยกเว้นมาตรการบังคับบางอย่างและให้สิทธิพิเศษเพื่อจูงใจการลงทุน โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถกำหนดพื้นที่ใดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวนหวงห้ามโดยการเปิดให้เอกชนประมูลพื้นที่แหล่งแร่นั้น
การลดขั้นตอนการขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ให้สั้นที่สุดเท่าที่จะสั้นได้ เพื่อความรวดเร็วต่อเอกชนที่จะเข้ามาลงทุน การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ความเห็นเพื่อพิจารณาการอนุมัติ/อนุญาตจะถูกตัดทิ้งหมด
จัดทำรายงาน EIA/EHIA สำหรับพื้นที่ที่มีแร่อุดมสมบูรณ์ล่วงหน้าไว้ก่อน แล้วนำพื้นที่ที่มีแร่อุดมสมบูรณ์ที่ผ่านความเห็นชอบ EIA/EHIA แล้วเปิดให้เอกชนประมูลเพื่อเข้ามาทำเหมืองแร่ได้เลย
*หลักการนี้ในร่างกฎหมายแร่ เป็นหลักการที่ขัดและฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายสิ่งแวดล้อม หรือพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535
พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ในราชกิจจานุเบกษา
เมื่อพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 10 กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดใช้เรือไร้สัญชาติทำการประมงโดยมีนิยาม 'เรือไร้สัญชาติ' ในที่นี้หมายความว่า 'เรือที่ไม่ได้จดทะเบียน' หรือ 'เรือที่มีตั้งแต่สองสัญชาติขึ้นไป' หรือ 'เรือที่เปลี่ยนธงในระหว่างการเดินเรือ'
'เรือที่ไม่ได้จดทะเบียน' นั้น ได้รวมเอาเรือแพ/เรือขุด/เรือเล็กๆ ทุกๆ อย่างของชาวบ้าน แต่ไม่รวมถึงเรือบรรทุกสินค้า หมายความว่า ชาวบ้านจะใช้แพหรือเรือเล็กถ่อไปตกกุ้ง 'เพื่อขาย' ไม่ได้ เพราะแพหรือเรือเล็กไม่ได้จดทะเบียนเป็นเรือ
การกำหนดห้ามชาวประมงพื้นบ้านออกไปทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง โดยกำหนดให้ประมงพื้นบ้านทำประมงห่างจากชายฝั่งออกไปไม่เกิน 3 ไมล์ทะเล หรือไม่เกิน 5,400 เมตร มีผลให้ชาวประมงขนาดเล็กซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ 80 เปอร์เซ็นต์ที่ทำการประมงด้วยเครื่องมือที่มีความรับผิดชอบต่อทรัพยากร ได้รับความเดือดร้อนและเป็นการจำกัดสิทธิของชาวประมงขนาดเล็กของประเทศไทย (เรือประมงขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส)
ในขณะที่ให้สิทธิชาวประมงพาณิชย์ ได้สิทธิทำการประมงในพื้นที่ตั้งแต่ 3 ไมล์ทะเล ไปจนสุดเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (ประมาณ 200 ไมล์ทะเล)
พระราชกำหนดฉบับนี้ กำหนดให้เขตประมงจะมีพื้นที่มหาศาลนี้ให้ตกเป็นสิทธิของ 'ชาวประมงแบบพาณิชย์' เท่านั้น กฎหมายดังกล่าวจึงเกินความจำเป็น และจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งเมื่อมีการกระทำความผิดขึ้นมีบทลงโทษที่มีความรุนแรงในระดับริบเรือประมง พร้อมเครื่องมือการประมง และกำหนดโทษปรับสูงถึงห้าหมื่นถึงห้าแสนบาท
ประเทศไทย 4.0
รัฐบาลโดยทีมงานเศรษฐกิจได้ประกาศวาทกรรมการพัฒนาประเทศที่เรียกว่า 'ประเทศไทย 4.0' ทั้งนี้ เพื่อมุ่งไปสู่ประเทศไทยยุคใหม่ที่ก้าวข้ามประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศไทยใหม่
ผู้ขับเคลื่อน 'ประเทศไทย 4.0' เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนผ่าน 4 องค์ประกอบสำคัญ คือ
1. เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farming) ในปัจจุบัน ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) โดยเกษตรกรต้องร่ำรวยขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur)
2.เปลี่ยนจาก Traditional SMEs หรือ SMEs ที่มีอยู่ที่รัฐต้องให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ไปสู่การเป็น Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูง
3.เปลี่ยนจาก Traditional Services ซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่ High Value Services
4.เปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูง
พร้อมทั้งการพัฒนา '5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย' ประกอบด้วย
1.กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Food, Agriculture & Bio-Tech)
2.กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health, Wellness & Bio-Med)
3.กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (Smart Devices, Robotics & Mechatronics)
4.กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (Digital, IoT, Artificial Intelligence & Embedded Technology)
5.กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative, Culture & High Value Services)
สิ่งที่ คสช.ทำ
สิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน
เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม โครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมชุมชน เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหินสำหรับโรงไฟฟ้าเทพา/โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และท่าเทียบเรือสำหรับขนถ่านถ่านหินกระบี่/ท่าเรือปากบารา/แลนด์บริดจ์ สงขลา-สตูล/โรงไฟฟ้าขยะ/โรงไฟฟ้าชีวมวล/เหมืองแร่ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ
รัฐบาล คสช. ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ลดทอนมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของชุมชน ด้วยเหตุผลพัฒนาเศรษฐกิจ เร่งรัดนโยบายการพัฒนา เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2559 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2559 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2559
หน่วยงานรัฐผลักดันกฎหมายโดยขาดการกลั่นกรองและการมีส่วนร่วม เช่น พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ร่างพระราชบัญญัติแร่ ร่างพระราชบัญญัติโรงงาน ร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ
แก้ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฉบับที่ 7/2558 ให้โรงไฟฟ้าขยะขนาดตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปไม่ต้องทำ EIA
การใช้อำนาจควบคุม จำกัด การใช้สิทธิชุมชน เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
ประเทศไทย 4.0
การใช้กลไกประชารัฐ โดยการเอ่ยอ้างชื่อของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรสองบริษัทเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ
แร่
ในยุครัฐบาล คสช. ได้มีการผลักดันนโยบายการเปิดพื้นที่ทำเหมืองแร่ ให้ประทานบัตรหรือต่ออายุประทานบัตรจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ปัญหาการจัดการมลพิษจากเหมืองแร่เดิมที่มีผลกระทบต่อชุมชนกลับไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาให้เกิดการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กรณีเหมืองทองคำจังหวัดเลย เหมืองทองคำจังหวัดพิจิตร เหมืองแร่สังกะสีจังหวัดตาก และกรณีเหมืองตะกั่วคลิตี้ล่างจังหวัดกาญจนบุรี
การจัดทำพระราชกำหนดการประมงแบบเป็นความลับ
ไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วไปและชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งเมื่อนำมาปฏิบัติอาจก่อให้เกิดปัญหาจากการที่ชาวประมงพื้นบ้านไม่ทราบข้อกำหนดของกฎหมาย รวมทั้งการที่หน่วยงานรัฐมีปัญหาเรื่องขีดความสามารถในการรับขึ้นทะเบียนเรือ การทำอาชญาบัตร หรือการออกใบอนุญาต การประชาสัมพันธ์ให้ชาวประมงพื้นบ้านทราบกฎเกณฑ์ใหม่ที่ต้องปฏิบัติ จนอาจทำให้ชาวประมงพื้นบ้านผิดกฎหมายโดยไม่เจตนา ซึ่งการปฏิบัติการตามพระราชกำหนดควรมีกลไกการมีส่วนร่วม มีระยะเวลาให้มีการดำเนินการที่เหมาะสมสอดคล้องกับขีดความสามารถของหน่วยงานรัฐด้วย
สิ่งที่ประชาชนอยากเห็น
สิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน
ประชาชนต้องติดตามและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการออกกฎหมายให้สิทธิชุมชนสามารถมีปฏิบัติการได้จริงในสังคมไทย เรียกร้องให้รัฐจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก่อนออกกฎหมาย โดยต้องมีการรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางและเป็นธรรม
ประเทศไทย 4.0
จัดตั้งธนาคารที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินและส่งเสริมโฉนดชุมชน
ปรับการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชให้มีเป้าหมายสร้างเกษตรกรนักปรับปรุงพันธุ์และวิสาหกิจเมล็ดพันธุ์
ขยายชลประทานโดยสร้างระบบชลประทานในไร่นาแทนการสร้างโครงการชลประทานขนาดใหญ่
ปฏิรูประบบสินเชื่อเพื่อสร้างความเป็นธรรมและกำหนดให้มี 'กรีนเครดิต' อย่างน้อย 25 เปอร์เซ็นต์
ยกเครื่องกฎหมายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมและหลักป้องกันเอาไว้ก่อน
พัฒนานวัตกรรมจากความหลากหลายทางชีวภาพโดยเน้นยกระดับความสามารถของวิสาหกิจท้องถิ่นเกี่ยวกับอาหารและยา
ขยายตลาดท้องถิ่นและตลาดทางเลือกให้มีบทบาทหลักในระบบกระจายอาหาร
ปรับ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าให้ประชาชนมาร่วมกำกับขจัดการทับซ้อนผลประโยชน์
ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ...
รัฐควรถอนร่างกฎหมายนี้ออกมาเพื่อปรับปรุง รับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน นักวิชาการใหม่อีกครั้งหนึ่ง
รัฐควรดำเนินการตรวจสอบการทำเหมืองแร่ที่มีผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม โดยพักใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตและควบคุมให้มีการฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษโดยเร็ว และการออกกฎหมายใหม่ควรให้ความสำคัญในการควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบ กระบวนการฟื้นฟูภายหลังการดำเนินการเหมืองแร่ การเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย และการลงโทษผู้กระทำความผิดที่เหมาะสม
การพิจารณาในการทำเหมืองแร่ควรคำนึงถึงศักยภาพของระบบนิเวศ ศักยภาพการพัฒนาด้านอื่นที่มีความยั่งยืนและคำนึงถึงสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม
การจัดการปัญหาประมง
เขตทะเลนอกชายฝั่ง ถือเป็นแหล่งที่ควรจับสัตว์น้ำอย่างเหมาะสมเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ชาวประมงควรได้เข้าถึงอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม แต่ในพระราชกำหนดประมงกำหนดให้เขตประมงพื้นที่มหาศาลนี้ให้ตกเป็นสิทธิของ 'ชาวประมงแบบพาณิชย์' เท่านั้น กฎหมายดังกล่าวจึงเกินความจำเป็น และจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อชาวประมงพื้นบ้าน
ที่มา: People Go Network Forum
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม http://waymagazine.org/people-go-1/
ที่มา : Way Magazine วันที่ 7 ธ.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.