เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้เปิดเผยตัวเลขสำคัญที่ได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นทั้ง "ข่าวดี" และ "ข่าวร้าย" ออกมาหนึ่งชุดใหญ่
ในแง่ ข่าวดี ก็คือ จำนวนคนจนในประเทศไทยของเราลดลงจากที่เคย มีอยู่ 7.1 ล้านคน เหลือ 4.9 ล้านคน หรือลดจากร้อยละ 10.5 ลงมาเป็นร้อยละ 7.2 ของประชากรทั้งประเทศ
คำว่า "คนจน" ในที่นี้ก็คือ ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 2,644 บาท
ในส่วนของ ข่าวร้าย สภาพัฒน์บอกว่า ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และด้านทรัพย์สินยังสูงอยู่ กลุ่มผู้มีรายได้สูงสุดร้อยละ 10 ถือครองรายได้สูงถึงร้อยละ 35 ของรายได้ทั้งประเทศ สูงกว่ากลุ่มผู้มีรายได้ต่ำสุดของ ประเทศร้อยละ 10 เช่นกันถึง 22 เท่า
สำหรับความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินนั้น กลุ่มคนรวยที่สุดมีเงินฝากถึงร้อยละ 49 ของเงินฝากทั้งหมด และถือครองที่ดินร้อยละ 61.5
เมื่อนำทั้ง 2 ข่าวมารวมเข้าด้วยกันแล้ว ในส่วนตัวผมเองเห็นว่าผลลัพธ์ที่มีต่อประเทศไทยน่าจะเป็นบวกมากกว่าเป็นลบ...ที่ผมเห็นว่าเป็นบวก เพราะให้น้ำหนักกับข่าวแรกคือ เรื่องของจำนวนคนจน หรือเปอร์เซ็นต์คนจนของประเทศมากกว่าข่าวความเหลื่อมล้ำในเรื่องที่ 2
เพราะถ้าผมจำไม่ผิด ตอนที่ท่านอาจารย์ โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ นำทีม สภาพัฒน์ เข้าไปทำแผนพัฒนาชนบทยากจนในยุคป๋าเปรมเป็นนายกฯสมัยแรกนั้น ตัวเลขคนจนในประเทศไทยที่วัดโดยธนาคารโลกสูงถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรด้วยซ้ำ
ลงมาเหลือ 7.2 เปอร์เซ็นต์อย่างที่แถลงวานนี้ ก็ถือว่าโอเคแล้วครับ
ขอให้พยายามพัฒนากันต่อไป ทำให้เหลือต่ำกว่านี้อีกสักหน่อย เช่น เอาสักเหลือร้อยละ 4 หรือร้อยละ 5 ใน 2-3 ปีข้างหน้า ก็จะ ถือว่าทำได้ดีที่สุด
ส่วนเรื่องของความเหลื่อมล้ำนั้น แม้จะเป็นปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไข แต่เป็นเรื่องระยะยาวที่จะต้องค่อยๆดำเนินการด้วยความเข้มแข็ง และเอาจริงเอาจังของภาครัฐบาลและเป็นเรื่องที่รอได้
ตราบใดที่โลกยังยอมรับว่า ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่เหมาะสม
เพราะเป็นระบบที่ดำเนินการไปตามกลไกของระบบเศรษฐกิจเสรี เราก็ต้องยอมรับว่า ไม่มีทางหนีปัญหาเรื่องเหลื่อมล้ำไปได้
เพราะในระบบทุนนิยมนั้น ก็ทราบกันดีว่า ผลตอบแทนที่เป็นของ "ทุน" และทรัพย์สินที่ใช้ในการลงทุนจะสูงกว่าผลตอบแทนจาก แรงงาน อย่างชนิดเทียบกันไม่ได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่ประชากรส่วนน้อยที่เป็นเจ้าของทุน หรือทรัพย์สินจะมีรายได้มากกว่าผู้คนส่วนใหญ่ที่ใช้แรงงาน หรือเป็นมนุษย์เงินเดือน
แม้สหรัฐอเมริกาเองก็หนีไม่พ้นปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น มาโดยตลอด ซึ่งจากการจัดทำสำมะโนประชากรครั้งล่าสุด ก็พบว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนอเมริกันสูงขึ้นกว่าเดิมมาก
ระบบที่ลดความเหลื่อมล้ำได้ดีที่สุดก็คือ "ระบบคอมมิวนิสต์" ซึ่งหลายชาติที่เคยทดลองใช้ต่างก็พบว่าแก้เหลื่อมล้ำได้จริง เปรี้ยงเดียวจนเท่ากันหมดทั้งประเทศ แต่ระบบที่ว่านี้ก็ไม่จูงใจให้คนอยากผลิตอะไรใหม่ หรือขยันขันแข็งในการทำงาน
ในที่สุดก็กลายเป็นประเทศยากจนไปตามๆกัน จึงต้องเลิกระบอบคอมมิวนิสต์ หันมาใช้ระบบทุนนิยมกันเป็นแถวๆ ซึ่งก็ปรากฏผลดี หลายๆ ประเทศกลับมาร่ำรวยทันตาเห็นอย่างที่เราติดตามข่าวคราวกันอยู่ขณะนี้
เชื่อได้เลยว่าต่อไปประเทศคอมมิวนิสต์ที่เคยจัดระเบียบทำให้ผู้คนมีความเหลื่อมล้ำกันน้อยมากจะค่อยๆมีปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อเข้าสู่ระบบทุนนิยม เว้นเสียแต่จะหาทางจัดการเสียตั้งแต่ต้นมือ ซึ่งขณะนี้หลายประเทศคอมมิวนิสต์ก็กำลังทำอยู่
สรุปแล้วจากข่าวที่สภาพัฒน์แถลงงวดนี้ ผมเห็นว่ามีข่าวดีมากกว่า ข่าวร้าย โดยเฉพาะเรื่องคนจนลดลง ผมถือว่าเป็นข่าวดีที่สุด
ส่วนเรื่องเหลื่อมล้ำนั้นต้องแก้ไขแน่นอนครับ เพราะถ้าปล่อยไว้อาจจะทำให้กระแสคอมมิวนิสต์ หรือความขัดแย้งทางสังคมในแง่ต่างๆ กลับมาอีกครั้งก็ได้
แต่เผอิญว่า ปัญหาเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาทั้งใหญ่และยาวต้องใช้เวลานานในการแก้ไข รวมทั้งต้องใช้ความเอาจริงเอาจังอย่างยิ่งยวดผมก็ฝากให้รัฐบาลนี้ไปจนถึงรัฐบาลหน้า (เผื่อว่าหลายๆท่านในรัฐบาลนี้จะมีโอกาสกลับมาอีก) ช่วยรับไปดูแลเป็นนโยบายแรกก็แล้วกัน.
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 8 ธ.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.