การผลิตข้าวของชาวนาไทยในวันนี้ นอกจากจะประสบภาวะการขาดแคลนแรงงานทั้งแรงงานในครัวเรือนและแรงงานจ้าง เพราะเกษตรกรที่ทำนาจำนวนไม่น้อยอยู่ในสถานะของการเป็นผู้สูงวัยนอกจากนี้ลูกหลานที่เคยเป็นหน่วยของแรงงานที่สำคัญในครัวเรือนได้เคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่การประกอบอาชีพอื่นๆกันมากขึ้นแรงงานที่ขาดแคลนในชนบททำให้กิจกรรมการผลิตในไร่นาที่ต้องใช้แรงงานพร้อมๆกันจำนวนมากต้องปรับตัวไปสู่การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิต
เป็นที่ยอมรับกันว่าการให้บริการเครื่องเกี่ยวนวดข้าวในปัจจุบันนี้นับว่าเป็นตลาดปัจจัยการผลิตที่จำเป็นสำหรับเกษตรกร ทั้งนี้เพราะในกิจกรรมการทำนาที่ต้องอาศัยแรงงานพร้อมๆกันจำนวนมาก ไม่สามารถที่จะอาศัยวิธีการลงแขกเพื่อการเอาแรงกันได้เหมือนแต่ก่อน อีกทั้งการที่จะจ้างแรงงานพร้อมๆกันจำนวนมากเพื่อมาเก็บเกี่ยวข้าวในแปลงนามีค่าใช้จ่ายสูงตามมาอีกด้วย เกษตรกรจึงต้องหันไปพึ่งพิงตลาดการให้บริการรถรับจ้างเกี่ยวและนวด ทดแทนการจ้างแรงงานกันมากขึ้น
รถนวดข้าว
โดยทั่วไปแล้วการที่ชาวนาจะมีรถเกี่ยวนวดเป็นของตนเองเหมือนกับการเป็นเจ้าของรถไถเดินตามหรือเครื่องสูบน้ำนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะรถเกี่ยวนวดข้าวส่วนมากมีขนาดใหญ่มีราคาค่อนข้างสูง การลงทุนเพื่อซื้อหาเครื่องจักรกลดังกล่าวแล้วนำมาใช้เฉพาะในกิจกรรมไร่นาของตนเองจึงไม่คุ้มค่ากับการลงทุน อีกทั้งเกษตรกรส่วนใหญ่มีเงินทุนในการทำไร่นาจำกัด จึงทำให้เกษตรกรจำนวนน้อยรายที่จะเป็นเจ้าของเครื่องจักรกลการเกษตรดังกล่าว ธุรกิจการให้บริการรถเกี่ยวนวด จึงกลายเป็นธุรกิจน้อยรายที่มีผู้ให้บริการรับจ้างหากเทียบกับปริมาณพื้นที่เพาะปลูกข้าวซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 57 ล้านไร่
ในประเทศไทยจำนวนรถเกี่ยวนวดได้เพิ่มขึ้นจาก 6,780 คันในปี 2541 มาเป็น 29,850 คันในปี 2546 และเพิ่มขึ้นเป็น 42,143 คันในปี 2551 หรือเพิ่มขึ้น 5 เท่าภายใน 10 ปี สำหรับปัจจุบันยังไม่มีการสำรวจข้อมูลที่ชัดเจนแต่ก็ได้มีการประมาณว่ามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนคันทั้งนี้เพราะความต้องการใช้บริการรถเกี่ยวนวดได้กระจายตัวไปในพื้นที่นาน้ำฝนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนาชลประทานในภาคเหนือ กันมากขึ้นแทนที่จะอยู่ในพื้นที่ชลประทานภาคกลาง
พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งส่วนใหญ่จะปลูกข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ข้าวพันธุ์ดังกล่าวจะสุกพร้อมๆกันเพราะเป็นพันธุ์ข้าวไวต่อช่วงแสง ปริมาณรถเก็บเกี่ยวภายในภูมิภาคมีไม่เพียงพอจึงต้องอาศัยรถเกี่ยวนวดจากภาคกลางที่ขึ้นไปรับจ้างเกี่ยวและนวด เกษตรกรจำนวนไม่น้อยต้องคอยคิว ความเดือดร้อนเฉพาะหน้าทำให้เกษตรกรไม่ยอมคอยคิวแต่จะใช้วิธีให้ค่าจ้างในอัตราสูงขึ้นเพื่อลัดคิวทำให้ค่าจ้างเก็บเกี่ยว บางรายมีอัตราสูงถึง 800-900 บาทต่อไร่ ขณะที่อัตราค่าจ้างรถเกี่ยวนวดในภาคกลางมีอัตราอยู่ที่ 550 บาทต่อไร่
รถเกี่ยวข้าว
ความเดือดร้อนเรื่องบริการรถเก็บเกี่ยวนวดมีไม่เพียงพอในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีสาเหตุหลักจากความมีจำกัดของอุปทานการให้บริการรถเกี่ยวนวด
ดังนั้น การหาแนวทางพัฒนาตลาดการให้บริการรถเกี่ยวนวดจึงมีความจำเป็น โดยเฉพาะนโยบายการสนับสนุนสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้เกิดแรงจูงใจอันนำไปสู่การขยายตัวของผู้ให้บริการ แทนการเข้าไปควบคุมจำกัดอัตราค่าเช่าบริการดังที่เป็นข่าวอยู่ในปัจจุบันเพราะการควบคุมอัตราค่าเช่ายิ่งจะทำให้อุปทานการให้บริการขาดแคลนหนักยิ่งขึ้น
สิ่งที่ตามมาคือส่งผลต่อข้าวในทุ่งของเกษตรกรที่จะเสียหายมากขึ้นเพราะเก็บเกี่ยวไม่ทันตามมาด้วยเช่นกัน
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 2 ธ.ค. 2559
โดย - รศ.สมพร อิศวิลานนท์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.