นโยบายของรัฐบาลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชาวนาและข้าวไทยล่าสุด มีประเด็นที่ควรหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปมา ไม่ว่าจะเป็น การแจกเงินให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท (ไม่เกินรายละ 15,000 บาท) หรือนโยบายสนับสนุนสินเชื่อผ่าน ธกส.อีกหลายโครงการ
1)หากรัฐบาลใดๆ ก็ตาม ต้องการจะกำหนดนโยบายเพื่อช่วยเหลือชาวนาและพัฒนาระบบการผลิตข้าว ก็จะพบว่ามีหลักใหญ่ใจความสำคัญที่จะต้องพิจารณาอยู่ 2 ด้าน ได้แก่
(1) การช่วยเหลือด้านราคา ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปแทรกแซงราคา รับซื้อราคาแพงกว่าตลาดทั่วไป หรือการเติมเงินให้กับชาวนาเมื่อราคาในท้องตลาดต่ำกว่าราคาเป้าหมาย เป็นต้น
(2) ช่วยลดต้นทุนการปลูกข้าว ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเพิ่มผลผลิตต่อไร่เพื่อลดต้นทุนการผลิตด้วยการคัดเลือกปรับปรุงพันธุ์ข้าว ศึกษาค้นคว้าให้ได้เทคโนโลยีการปลูก การผสมผสานดิน-น้ำ-ปุ๋ย-แสงแดดและเมล็ดพันธุ์ใหม่
รัฐบาลที่ผ่านๆ มานั้น มักเน้นไปที่การเข้าไปช่วยเหลือด้านราคาแก่ชาวนาเป็นหลัก อาทิ รับซื้อข้าวราคาแพงกว่าท้องตลาด เป็นต้น ซึ่งการช่วยเหลือด้านราคาเยี่ยงนี้เป็นเรื่องที่ไม่จีรังยั่งยืน เข้าข่ายนโยบายลดแลกแจกแถม เพราะในที่สุดก็ต้องขึ้นอยู่กับนักการเมืองที่เป็นรัฐบาลว่าจะช่วยเหลือหรืออุ้มตลอดไปหรือไม่ หากเมื่อไหร่หยุดช่วย ชาวนาก็หยุดได้รับเงิน ด้วยเหตุที่ว่าราคาที่ตั้งกันเอง ซื้อกันเองในประเทศ มันเป็นเพียงราคาปลอมๆ ที่ถึงวันหนึ่งก็จะต้องเอาเงินของแผ่นดินเข้ามาชดเชยอยู่นั่นเอง
แต่การช่วยเหลือในด้านการพัฒนาการผลิต การลดต้นทุนการผลิต จะมีความจีรังยั่งยืนกว่า เพราะจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก แข่งขันกับประเทศผู้ผลิตข้าวคู่แข่งได้ และในระยะยาว ประเทศไทยก็จะยังสามารถเป็นส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกได้ จำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อันหมายรวมถึงการลดต้นทุนการผลิตลง เพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ หากต้นทุนการผลิตข้าวต่อตันของเราต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง เราก็จะสามารถขายข้าวได้มากกว่าคู่แข่ง
ในอนาคต หากราคาข้าวในตลาดโลกขยับสูงขึ้นไป ชาวนาของเราก็จะมีกำไรมากขึ้น (เพราะต้นทุนการผลิตต่อตันต่ำลง) หรือถ้าราคาข้าวในตลาดโลกลดต่ำลง ชาวนาของเราก็จะยังพอมีกำไรเหลืออยู่บ้าง
ยิ่งหากสามารถพัฒนาการผลิตไปถึงจุดที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น พัฒนาคุณภาพของข้าว ชนิดของข้าว ก็จะทำให้ชาวนาของเราสามารถยืนอยู่บนเวทีข้าวของโลกได้ในระยะยาวต่อไป
2)นโยบายแจกเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท (ไม่เกินรายละ 15,000 บาท)วงเงิน 40,000 ล้านบาท
เมื่อแรกเริ่ม ได้ยินว่าทางรัฐบาลชุดนี้ประกาศจะเดินหน้าแนวทางการลดต้นทุนการผลิตข้าว
แต่ปรากฏว่า สิ่งที่รัฐบาลไทยทำ คือ ใช้วิธีการแจกเงินให้ชาวนา เพื่อลดต้นทุนไร่ละ 1,000 บาท (สูงสุดรายละไม่เกิน 15,000 บาท) โดยจะต้องเป็นชาวนาที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งจะเป็นลูกค้าของ ธกส.เท่านั้น
มาตรการเช่นนี้ จะเรียกว่าเป็นการลดต้นทุนการผลิตของชาวนา ได้ละหรือ?
เฉพาะการแจกเงินเช่นนี้ไม่ได้ทำให้ต้นทุนการผลิตของชาวนาจริงๆ ลดลง ปริมาณผลผลิตข้าวต่อไร่ไม่เพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตข้าวต่อตันไม่ลดลง เพียงแต่ชาวนาที่ได้รับแจกจะมีเงินเข้ากระเป๋า ทำให้สามารถนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น
การแจกเงินชาวนาเช่นนี้ ไม่มีความจีรังยั่งยืนใดๆ เมื่อใดคนให้หยุดให้ คนรับก็หยุดรับ ไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ไม่ได้สร้างระบบที่สามารถพัฒนาและเดินต่อไปได้ด้วยความเข้มแข็งและยั่งยืน แต่ขึ้นอยู่กับคนให้ ว่าจะให้อีกหรือไม่ จะเมตตาแค่ไหน
มาตรการนี้จะนับว่าเป็นประชานิยมหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับว่า นโยบายนี้ไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่เป็นการแจกเงิน เข้าข่ายลดแลกแจกแถม ไม่สร้างแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงต่อไป
ที่สำคัญ มาตรการเช่นนี้เป็นการตอกย้ำระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย เพราะการที่ชาวนาจะได้ผลประโยชน์หรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำงาน-ลงแรงของชาวนา แต่ขึ้นอยู่กับความเมตตาของผู้ให้ ว่าเขาจะให้มากแค่ไหน บ่อยแค่ไหน จะให้อีกไหม ทำให้ชาวนาจะต้องพึ่งพากับคนเป็นรัฐบาลต่อไป
ป่วยการที่คนในรัฐบาลจะอ้างทำนองว่า ไม่ใช่ประชานิยม เพราะรัฐบาลชุดนี้ให้โดยไม่หวังคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า ฟังดูเป็นการอ้างแบบเอาสีข้างเข้าถู ฟังแล้วทำให้เสียความน่าเชื่อถือด้วยซ้ำ
สมมติว่า รัฐบาลจะสื่อสารให้ชัดเจน ยอมรับตรงๆ ไปเสียเลย ว่าต้องการจะแจกเงินให้ชาวนาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ชาวนานำเงินไปจับจ่ายใช้สอย ซึ่งการแจกให้ชาวนาผู้มีรายได้น้อยจะทำให้เกิดการนำเงินที่ได้ไปจับจ่ายใช้สอยในสัดส่วนสูงและรวดเร็วกว่าการแจกให้คนที่มีรายได้มากโดยไม่ต้องไปอ้างเรื่องลดต้นทุนการผลิต หรือช่วยเหลือปัจจัยการผลิต ถ้าแบบนี้น่าจะฟังดูมีเหตุมีผล น่าสนับสนุนมากกว่า
2.1 เปรียบเทียบกับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ต้องยอมรับว่ามาตรการแจกเงินของรัฐบาลปัจจุบันมีผลเสียน้อยกว่านโยบายซื้อข้าวราคาแพงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชาวนาได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย ปิดช่องทางรั่วไหล (โอนเงินเข้าบัญชีเลย) ไม่มีการรับซื้อข้าว ไม่มีการโกงความชื้น โกงน้ำหนัก โกงข้าวในโกดัง นำไปเวียนเทียน ระบายให้พวกพ้อง ขายจีทูจีเก๊ ขายข้าวราคาต่ำพิเศษให้พวกพ้อง ไม่ทำให้เกิดข้าวเน่า ข้าวเสื่อมคาโกดัง ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการค้าและการส่งออกข้าว
ยอดเงินที่ใช้ 40,000 ล้านบาทนั้น ยังน้อยกว่ายอดเงินที่ถูกผลาญไปกับโครงการรับจำนำข้าวที่ขาดทุนมากกว่า 250,000 ล้านบาทต่อปี
หรือถ้าลองคิดว่าหากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ทำโครงการที่มีการโกงมโหศาลดังกล่าวแต่เอาเงินจำนวนเดียวกับที่ผลาญไปมาแจกชาวนาโดยตรง ชาวนาก็จะได้รับแจกเงินถึงครัวเรือนละ 1 แสนบาท (จำนวน 2.5 ล้านครัวเรือน พอๆ กับจำนวนที่ชาวนาขายข้าวในโครงการจำนำ) โดยที่ไม่ทำลายระบบการผลิตและการค้าข้าว แถมชาวนายังขายข้าวได้เงินเข้ากระเป๋ากันตามสะดวกอีกต่างหาก
2.2 เปรียบเทียบกับประกันรายได้ของรัฐบาลอภิสิทธิ์
ต้องยอมรับว่า มาตรการนี้ ด้อยกว่านโยบายประกันรายได้ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ แม้นโยบายประกันรายได้จะไม่ใช่การพัฒนาการผลิตโดยตรง แต่ยังเป็นการช่วยเหลือในด้านราคา ด้วยการเติมเงินส่วนต่างให้กับชาวนาโดยตรง เมื่อราคาข้าวในตลาดต่ำกว่าราคาเป้าหมาย โดยไม่ได้รับซื้อเข้าโกดังรัฐบาล ช่วยให้ชาวนามีความมั่นคงทางรายได้ นาล่ม นาแล้ง แมลงลง อย่างไรก็มีเงินส่วนต่างเป็นรายได้ชดเชย เกิดระบบที่มั่นคงแน่นอน ชาวนาสามารถคิดวางแผนการผลิตของตนเองต่อไปได้ ไม่ขึ้นอยู่กับว่าปีไหนจะแจกหรือไม่แจก
นอกจากนี้ ยังพบว่า นโยบายประกันรายได้จะส่งผลทางอ้อม จูงใจให้ชาวนาพยายามเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพราะหากลดต้นทุนการผลิตได้เท่าใด ก็หมายถึงจะมีกำไรเพิ่มขึ้นเท่านั้น
ส่วนนโยบายรับจำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็มีผลจูงใจเช่นกัน แต่เป็นในทางเพิ่มปริมาณการผลิตลูกเดียว โดยไม่สนใจว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้นอย่างไร คุณภาพข้าวจะตกต่ำอย่างไร เพราะถึงอย่างไรรัฐบาลก็รับซื้อที่ราคาแพงกว่าราคาตลาด
ขณะที่มาตรการแจกเงินไร่ละพัน เป็นไปในลักษณะ "แจกครบแล้วจบกัน" ไม่ได้จูงใจให้ชาวนาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใดๆ ทั้งสิ้น
3) โครงการให้สินเชื่อพิเศษแก่ชาวนา ดำเนินการโดย ธ.ก.ส.จำนวน 3 โครงการ
หนึ่งในนั้น ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวนาปี(ประกันยุ้งฉาง) โดยให้ชาวนาสามารถนําผลผลิต ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวมาขอกู้เงินกับธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 80 ของราคาตลาดวงเงินไม่เกินรายละ 300,000 บาทโดยไม่เสียดอกเบี้ยกําหนดชําระคืนภายใน 4 เดือนเริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย.2557 ถึง 30 ก.ย.2558
ธกส.ตั้งเป้าว่า จะดําเนินการในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ข้าวนาปี) จํานวนข้าวเปลือกที่จะเข้าโครงการ 1.5 ล้านตันวงเงินสินเชื่อ 17,280 ล้านบาท
3.1 โครงการนี้ แท้ที่จริงก็คือ การดำเนินการรับจำนำข้าวเปลือก แต่เป็นการรับจำนำจริงๆ เหมือนหลักการของโครงการรับจำนำที่เคยทำในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม
นโยบายดังกล่าวเคยจำเป็นและใช้ได้ผล เพราะสมัยก่อน ผลผลิตข้าวในประเทศจะทะลักออกมาพร้อมๆ กัน จึงต้องมีมาตรการรับจำนำอย่างแท้จริง เพื่อว่าในยามฤดูเก็บเกี่ยว ข้าวราคาตกต่ำ ชาวนาจะได้เก็บข้าวบางส่วนไว้ในยุ้งฉาง รอให้ข้าวราคาขยับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายฤดูกาลผลิตที่มีข้าวออกมาสู่ตลาดน้อย
แต่มาถึงยุคนี้ น่าคิดว่า โครงการในลักษณะนี้ จะยังมีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาวะการตลาดข้าวในยุคนี้หรือไม่? เพราะปัจจุบัน ผลผลิตข้าวในประเทศมีออกมาเกือบทั้งปี เนื่องจากมีการปลูกข้าวนาปรังที่ใช้เวลาเพียง 100 วันก็เก็บเกี่ยวได้ หากชาวนาเก็บข้าวไว้ หวังรอให้ราคาขยับตัวสูงขึ้นปลายฤดูกาลผลิต ก็จะต้องพบกับผลผลิตของข้าวนาปรังที่ออกมาสู่ตลาดตลอดเวลาอีก ทำให้ราคาข้าวไม่ขึ้น-ลงตามช่วงเวลาของฤดูกาลผลิตเหมือนเก่า
3.2 การให้ชาวนาเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง ก็เสมือนหนึ่งให้ชาวนาเล่นบทนักเก็งกำไร รอขายในอนาคต
เพราะชาวนาต้องคอยกะเก็งว่า จะขายข้าวเมื่อใด จึงจะได้ราคาดีที่สุด? จะเก็บไว้ถึงเมื่อไหร่? เพราะมีช่วงเวลาที่จะต้องชำระคืน 4 เดือน หลังจากนั้นจะต้องเสียดอกเบี้ย
การเก็บข้าวเปลือกของชาวนา จึงไม่ต่างกับการเก็บหุ้นไว้ในพอร์ตลงทุนของชาวนา
หมายความว่า ชาวนาจะต้องตัดสินใจ โดยมีพ่อค้าข้าวเปลือกกับโรงสี และผู้ส่งออก เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ฝ่ายตรงข้าม เสมือนเป็นคู่แข่งกันในการเก็งกำไรข้าว
น่าคิดว่า ในการเก็งกำไรนั้น คนที่ได้เปรียบคือคนที่มีข้อมูล สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ รู้ว่าราคาข้าวในตลาดโลกเป็นอย่างไร? มีแนวโน้มอย่างไร? ผลผลิตทั่วโลกจุดไหนเป็นอย่างไร? เพิ่มขึ้นหรือลดลง? ความต้องการข้าวเป็นอย่างไร? แนวโน้มราคาจะเป็นอย่างไร?
ระหว่างชาวนา ผู้ค้าข้าวเปลือกในประเทศกับโรงสี และผู้ส่งออก ใครมีข้อมูลดีที่สุด?
คำตอบคือ ผู้ส่งออกจะสามารถเข้าถึงข้อมูลสถานการณ์ตลาดข้าวในโลกดีที่สุด ถ้าเปรียบไปแล้วก็เสมือนมีตา 2 ดวง, รองลงมาคงจะเป็นผู้ค้าข้าวเปลือกในประเทศกับโรงสี เปรียบได้ว่ามีตา 1 ดวง, ส่วนชาวนานั้นเปรียบได้ว่ามีตาแค่ครึ่งดวง เพราะยากจะไปล่วงรู้ความเคลื่อนไหวของสถานการณ์และแนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลก ชาวนาบางคนอาจจะถึงขั้นตาบอด เพราะไม่สามารถจะไปเกาะติดสถานการณ์ราคาข้าวที่ขึ้น-ลงกันเป็นรายวันในตลาดโลก
การให้ชาวนาที่มีความอ่อนด้อยกว่านักธุรกิจพ่อค้าข้าว เข้ามาเล่นบทบาทเก็งกำไรข้าวในยุ้งฉางของตนเอง ก็ไม่ต่างกับการโยนทิดสึกใหม่เข้าไปอยู่ในวงเซียนไพ่ น่าเป็นห่วงมาก
3.3 ความจริงแล้ว หากไม่มีโครงการนี้ ชาวนาก็สามารถจะเลือกได้ว่าจะเล่นบทนักเก็งกำไรด้วยตนเองหรือไม่? เก็บข้าวไว้ก่อนแล้วจะดีจริงไหม? แต่การมีโครงการนี้ก็เสมือนการส่งสัญญาณของรัฐบาลให้กักเก็บข้าวเปลือกไว้ก่อน อย่าเพิ่งขาย เพราะรัฐบาลได้เข้ามาอุดหนุน เสมือนหนึ่งให้สินเชื่อเพื่อการเก็งกำไร
น่าเป็นห่วงว่า ในอนาคต หากชาวนาเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางแล้วขายขาดทุน ชาวนาก็อาจจะหันมากล่าวโทษเอากับรัฐบาล ในฐานที่ส่งสัญญาณให้ชาวนาตัดสินใจเก็งกำไรด้วยการเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง
นอกจากโครงการนี้แล้วยังมีโครงการสินเชื่อเพื่อชาวนาของ ธกส. อีก 2 โครงการ ได้แก่
โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการผลิตแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีปีการผลิต 2557/58 โดยการลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 3 ต่อปีรายละไม่เกิน 50,000 บาทระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน
โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวเปลือกและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรได้แก่สหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกรวงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท
เมื่อวิเคราะห์ในรายละเอียดแล้ว จะพบว่า ทั้ง 2 โครงการจะประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลวจะเกิดผลดีหรือเกิดผลเสียต่อไป ล้วนแต่ขึ้นอยู่กับการจัดการของเกษตรกร เพราะเงินสินเชื่อไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่ชาวนายังจะต้องพบกับปัญหาการบริหารจัดการต่อไปอีกด้วย ทั้งการจัดการการเงิน การบริหารโรงงานแปรรูป การสร้างผลิตภัณฑ์ การจัดระบบขนส่ง การหาตลาด ฯลฯ
ถ้ามีแต่สินเชื่อ แต่รัฐบาลไม่ได้เข้าไปช่วยเสริมชาวนาในการบริหารจัดการต่างๆ ข้อมูลด้านตลาด และความรู้ในการทำธุรกิจ ก็เหมือนกับส่งเสริมเพียงเปลือกนอกของการทำธุรกิจ
นโยบายของรัฐบาลทั้งหมดนี้ จึงเปรียบได้กับ "ขนมหวาน" มีลักษณะของการลดแลกแจกแถม รัฐบาลจำเป็นจะต้องเสริมมาตรการอื่นๆ เหมือนเติมยาขม เติมสารอาหาร เพื่อสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มภูมิคุ้มกัน เสริมความแข็งแรงให้กับชาวนา
...0...
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต
ที่มา : แนวหน้า วันที่ 2 ธ.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.