ยังคงต้องตามดูกันต่อไปกับ "วิกฤติข้าวไทย" ที่เดือดร้อนกันไปถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็น "ชาวนา" ที่ปกติก็มักจะอยู่ใน "วงจรหนี้สิน" จากต้นทุนวัตถุดิบอยู่แล้วให้ต้อง "น้ำตาตก" ยิ่งขึ้นไปอีก
หรือแม้แต่ฝั่งของ "ผู้บริโภค" ที่มีคำถามเช่นกันว่า "ทำไมข้าวสารแพง?" สวนทางกับราคาข้าวเปลือกที่ "ถูกแสนถูก"เพียงกิโลกรัมละ...
"ไม่ถึง 10 บาท"!!!
17 พ.ย. 2559 ที่ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) มีการจัดเสวนา "วิกฤติและทางออกข้าวไทย" ซึ่งในงานนี้ นางฐณิฏฐา จันทนฤกษ์ ตัวแทนผู้บริโภคข้าว สหพันธ์ข้าวไทย กล่าวว่า เกี่ยวกับปัญหาข้าวไทย สาเหตุสำคัญมาจาก "ความเชื่อมั่นของต่างประเทศลดลง"โดยเฉพาะเรื่องของ "คุณภาพ" รวมถึง "ความบกพร่องของนโยบายของภาครัฐ" ที่ชาวโลกได้เห็นมาอย่างต่อเนื่องสิ่งเหล่านี้ทั้งรัฐบาลไทยก็ดี ประชาชนไทยก็ดี ต้อง...
ยอมรับความจริง!!!
"สิ่งเหล่านี้จะต้องแก้ไขให้ชาวต่างชาติเชื่อมั่นในคุณภาพข้าว ต้องแก้ไขในบ้านเมืองของเรา โดยเฉพาะข้าวที่มันทานไม่ได้แล้ว ต้องบอกให้กับผู้บริโภค เพราะว่าเราเป็นคนไทย ดิฉันต้องการข้าวที่มีคุณภาพ ทุกคนต้องการข้าวที่มีคุณภาพเข้าไปเลี้ยงร่างกายของตัวเอง ชาวต่างชาติก็เหมือนกัน" นางฐณิฏฐา กล่าว
ตัวแทนภาคผู้บริโภครายนี้ ตั้งโจทย์ไว้ให้ทุกฝ่ายรวมกันคิด ว่าจะเข้าถึงแหล่งปลูกข้าวที่มีคุณภาพมากขึ้น และลดขั้นตอนบางอย่างให้น้อยลงได้อย่างไร? เห็นได้ว่าเส้นทางและราคาข้าวสู่ผู้บริโภคในปัจจุบัน ผู้บริโภคจะซื้อข้าวสาร "ถุงละ 200 บาท" โดยประมาณ แต่ชาวนาขายข้าวให้กับคนกลาง ได้ราคาแค่ 9 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม เท่านั้นซึ่งจะเห็นได้ว่า ทั้งชาวนาและผู้บริโภคคือ "ผู้เสียผลประโยชน์" โดยตรง ในขณะที่คนบางกลุ่มกลับเป็น...
เสือนอนกิน!!!
ขณะที่ ดร.วิชัย รูปขำดี อดีตคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม NIDA กล่าวว่า เท่าที่มีการศึกษาในเชิงวิชาการ วิกฤติราคาข้าวนั้นอาจเกิดได้ทั้งจาก "ปัจจัยภายนอก" ที่ผลการศึกษาในปี 2552 พบว่า"แม้ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้น แต่กลับบริโภคข้าวน้อยลง"ขณะที่เมื่อหันมาดู "ปัจจัยภายใน" วันนี้ชาวนาไทย"ทั้งเป็นหนี้...ทั้งสับสน" ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรดีกับชีวิตของตน สืบเนื่องจากสารพัดนโยบายที่เข้ามา ตามแต่..
ปัจจัยการเมือง!!!
"ชาวนาก็ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ รัฐบาลก็เอานู้นจะเอานี่มาให้ แทรกแซงเข้าไป ในท้ายที่สุดชาวนาก็หลงอยู่ในสถานการณ์ที่แก้ปัญหาด้วยตนเองไม่ได้ ทั้งสถาบันการเงิน ทั้งการหาเสียง ทั้งการเข้ามาแทรกในเรื่องความรู้ในการทำนาทั้งภายในและภายนอก มันผสมผสานกันไปโดยที่เราก็ไม่อาจจะเริ่มใหม่ได้" ดร.วิชัย ระบุ
จากวิกฤติ "ซ้ำซาก" ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าแทบทุกปี จนมีผู้ให้นิยามวงจรชีวิตชาวนาไทยว่า "โง่-จน-เจ็บ" วนเวียนอยู่กับหนี้สินทั้งปีทั้งชาติ แม้จะกี่รัฐบาลก็ไม่เคยแก้ไขได้ผล นายยูร แก้วหอม ตัวแทนชาวนาให้ความเห็น "สั้นๆ แต่ชัดเจน" ว่าไม่มีหนทางอื่นใด นอกเสียจากการ...
"สู้" ด้วยมือตนเอง!!!
แต่การ "ลุกขึ้นสู้" ของชาวนา ไม่อาจทำได้โดยลำพัง ภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญมาก คือต้อง "ทำงานเชิงรุก"หาผู้เชี่ยวชาญที่ "รู้จริง" อีกทั้งต้อง "เข้าถึงชาวบ้านได้จริง"ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะเป็นอย่างที่ผ่านๆ มา นั่นคือผู้ที่สามารถเข้าหาชาวนาได้ก่อนเสมอ มักจะเป็นกลุ่ม...
คนขาย "ปุ๋ย-ยา-เคมี"!!!
"จะลดการใช้สารเคมี ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี ไปให้ความรู้เขาให้เขาทำปุ๋ยอินทรีย์ เมื่อชาวนามีความรู้แล้ว ต้องสนับสนุนให้คนที่มีความรู้จริงๆ มาเป็นที่ปรึกษา ชาวนาก็จะไม่ต้องให้เซลส์แมนเป็นที่ปรึกษา"นายยูร ชี้ปัญหา
ส่วนฟากของชาวนา เมื่อมีความรู้แล้ว ต้องกล้าที่จะ "ควบคุมตนเอง" ซึ่ง นายยูร ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยนั้นมีหลักการที่ดี นั่นคือ "เศรษฐกิจพอเพียง" แต่มักจะไม่ค่อยนำมาปฏิบัติกันเท่าใดนัก โดยเฉพาะหลัก"พอประมาณ" ต้อง "ลด ละ เลิก การหยิบยืมเสียบ้าง" ก็จะทำให้มีภูมิคุ้มกันในชีวิต
"พอชาวนามีภูมิคุ้มกันที่จะอยู่รอดแล้ว ก็หาหน่วยงานไปให้ความรู้และการบริหารจัดการแก่ชาวนา ให้เขาทำนาเพื่อบริโภคในครอบครัว และให้เขารู้จักเก็บเมล็ดพันธุ์ เพราะพันธุ์ข้าวเก่าๆ แทบจะไม่มีแล้ว เช่น ข้าวหอมมะลิ" ผู้แทนชาวนารายนี้ ให้ความเห็น
อีกแนวคิดที่น่าสนใจ นางฐณิฏฐา เสนอแนะว่า รัฐบาลต้องส่งเสริม "ระบบสหกรณ์" ให้ชาวนามียุ้งฉาง มีพื้นที่เก็บข้าวเป็นของตนเองในแบบรวมกลุ่ม จะได้ไม่ต้อง "รีบขายให้โรงสี" ซึ่งนั่นทำให้เกิด "ข้อเสียเปรียบ-ได้เปรียบ" ระหว่างชาวนากับโรงสีไปโดยปริยาย ในด้าน...
อำนาจต่อรอง!!!
"ข้าวของชาวนาเป็นของชาวนาแค่วันเดียว เก็บแล้วก็ไปถึงโรงสีเลย เขาจะทำอะไรก็ได้เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าชาวนาไม่มีที่เก็บข้าว เพราะฉะนั้นเห็นด้วยกับนโยบายที่ว่า ให้ชาวนาเป็นเจ้าของข้าวมากขึ้น มียุ้งฉางมีการรวมตัวเป็นสหกรณ์ ดิฉันจะเป็นสมาชิกในสหกรณ์ จะไปจองข้าวล่วงหน้าเพราะบ้านดิฉันทานข้าวปีละ 1 ตัน ดิฉันต้องหาเข้าบ้านให้ได้ปีละ 1 ตัน" นางฐณิฏฐา กล่าวทิ้งท้าย
วันนี้สังคมไทย เชื่อว่าต่าง "รอคอยบทสรุป"ว่าท้ายที่สุดแล้ว จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ชาวนาหลุดพ้นออกจากวิกฤติในชีวิตที่เกิดขึ้นมาช้านาน ซึ่งรัฐบาลองค์กรรัฐ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง แม้แต่ตัวชาวนาเองต้องช่วยกันพัฒนาคุณภาพข้าว เพื่อทำให้ผู้บริโภคข้าวที่มีทั้งในและนอกประเทศ ให้กลับมาเชื่อมั่นในคุณภาพข้าวไทยอีกครั้ง เพราะข้าวไทยไม่ใช่เพียง "สินค้าส่งออกอันดับต้นๆ" ของประเทศเท่านั้น ทว่ายังมีความหมายในเชิง..
"อัตลักษณ์" ของชาติและชนชาวไทย!!!
พันแสง เดชามาตย์
SCOOP@NAEWNA.COM
ที่มา : แนวหน้า วันที่ 24 พ.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.