ข้าวเปลือกถูก ข้าวสารแพง...เป็นทุกข์ซ้ำซากของชาวนาและชาวบ้าน เพราะปล่อยให้บางคนได้สิทธิกินส่วนต่างมาเนิ่นนานไม่เปลี่ยนแปลง
ที่ผ่านมา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงชี้แนะแนวทางแก้ปัญหาด้วยโครงการโรงสีพระราชทาน เพื่อให้ชาวนารวมกลุ่มดำเนินงานในรูปแบบสหกรณ์ นำข้าวเปลือกมาสีแปรรูปเป็นข้าวสารขายเอง เพื่อชาวนาจะได้มีกำไรมากกว่าขายเป็นข้าวเปลือก
ชาวนาได้กำไรเพิ่ม ชาวบ้านรายจ่ายลดลง ข้าวสารถูกลง...พ่อค้าคนกลาง คนกินส่วนต่างหลายทอดหายไป
พระองค์ท่านทรงทำให้เห็นเป็นแบบอย่างมา 54 ปี แต่สหกรณ์การเกษตรบ้านเราที่มีอยู่กว่า 4,300 แห่ง มีโรงสีสามารถแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวถุงได้ มี 47 แห่ง อีก 40 แห่ง สีได้แค่เป็นข้าวกระสอบขาย
ที่เหลืออีก 98% ทำได้แค่รวบรวมข้าวเปลือกจากชาวนา ส่งไปขายให้โรงสีเท่านั้นเอง
จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ทำไมชาวนาและชาวบ้านยังติดกับดักข้าวเปลือกถูก ข้าวสารแพงอยู่เช่นเดิม
ฉะนั้น ถ้าภาครัฐจะคิดช่วยชาวนาได้แบบยั่งยืน ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเหมือนที่แล้วๆ มา...การจัดหาโรงสีให้ชาวนาน่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยชาวนาให้เดินข้ามวังวนซ้ำซากนี้ได้
ศิริชัย ออสุวรรณ ประธาน กรรมการ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.) ให้มุมมองการหยิบยื่นโรงสีให้กับสหกรณ์การเกษตรทุกแห่งคงเป็นไม่ได้ เพราะธุรกิจโรงสีในปัจจุบันที่ต้องแข่งขันกับเอกชนได้ต้องใช้เงินทุนนับ 100 ล้าน จะต้องมีเครื่องสี
ข้าว เครื่องอบลดความชื้น เครื่องสีปรับปรุงคุณภาพข้าว มีโกดังเก็บสต๊อกข้าว มีลานตาก มีรถแทรกเตอร์
ทางออกที่พอจะเป็นไปได้ รัฐควรให้สหกรณ์การเกษตร 4-5 แห่ง ที่อยู่ใกล้กันและอยู่ในพื้นที่ที่มีการทำนาให้รวมกันตั้งโรงสีขึ้นมา โดยรัฐหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้สหกรณ์เหล่านั้นร่วมกู้ไปลงทุนทำโรงสี เพื่อซื้อข้าวจากชาวนาสมาชิกมาสีขายเองในแบรนด์ของตัวเอง
ไม่เพียงจะช่วยชาวนามีรายได้เพิ่ม ยังช่วยต่อยอดให้ชาวนารู้จักการคิดทำธุรกิจเองอีกด้วย...แต่ดูเหมือนวิธีคิดแก้ปัญหาแบบนี้ เจ้าหน้าที่บางฝ่าย ผู้มีอำนาจบางคนไม่ชอบ กลัวชาวนารวย ชาวนาฉลาด คิดเองเป็น มันปกครองยาก.
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 22 พ.ย. 2559