การปลุกกระแสซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรงเริ่มขึ้นอย่างมีพลัง และความต้องการข้าวคุณภาพ ข้าวดี ข้าวประจำถิ่นก็เพิ่มมากขึ้น และนี่จะเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงแหล่งข้าวได้โดยตรง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง
แม้ราคา "ข้าวเปลือก" จะตกตํ่าสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวนาทั่วประเทศ แต่ "สถานการณ์ข้าวถูก" กลับทำให้เกษตรกรและเครือข่ายชาวนาเริ่มจะลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยตนเอง
การปลุกกระแสซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรงเริ่มขึ้นอย่างมีพลัง และความต้องการข้าวคุณภาพ ข้าวดี ข้าวประจำถิ่นก็เพิ่มมากขึ้น และนี่ก็จะเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงแหล่งข้าวได้โดยตรง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เพิ่มความมั่นใจการบริโภคข้าวเพิ่มขึ้น
มัณฑนา เล็กสมบูรณ์ ที่ปรึกษาหอการค้า จ.กาฬสินธุ์ ประธาน 1 ไร่ 1 แสน และในฐานะประธานสมาพันธ์ SME ไทย จ.กาฬสินธุ์ เล่าให้ทางทีมงานฟังว่า ข้าวในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์มีข้าวคุณภาพอย่าง "ข้าวเหนียวเขาวง" ที่ได้จดสิทธิบัตรเป็น "ข้าว GI" และข้าวหอมมะลิเขาวง" ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและรางวัลระดับประเทศมาแล้วมากมาย
นอกจากนี้ก็ยังมี "ข้าวเหลือง 11" เป็นทั้งข้าวบริโภคและข้าวอุตสาหกรรมในการแปรรูป ส่วนข้าวคุณภาพจากนาข้าวอินทรีย์ ที่ปลูกข้าวจำหน่ายในรูปแบบกล้องหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวมะดำ มะลิแดง และข้าวอื่นๆ ที่เป็นที่นิยมในตลาดข้าวสุขภาพ มีเครือข่ายที่ได้รับมาตรฐานออร์แกนิคไทยแลนด์ และมาตรฐานสากล เป็นกลุ่มสมาชิกที่กระจายอยู่ใน 18 อำเภอ ของ จ.กาฬสินธุ์ที่มีความเข้มแข็งได้ผลิตข้าวออกจำหน่าย มีรูปแบบการตลาดที่ชัดเจน ทำมานาน มีลูกค้าประจำปริมาณเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี
การจำหน่ายและการตลาดลักษณะนี้ เกษตรกรที่รวมกลุ่มกันในชุมชนจะมีความเข้มแข็ง ขายข้าวเอง รายได้ดีกว่าเอาข้าวไปขายให้พ่อค้าคนกลางหรือนายทุนใหญ่ ๆ ระดับโรงสี
"ถ้าผู้บริโภคเลือกซื้อข้าวจากเกษตรกร ก็จะมีความมั่นใจมากขึ้น โดยเฉพาะข้าวกลุ่มเกษตรอินทรีย์ กลุ่มออร์แกนิค ที่ปลูกข้าวปลอดสารเคมีในบริเวณนาข้าวที่จำกัด
ซึ่งทุกวันนี้หาซื้อได้ง่ายขึ้น เพราะมีกลุ่มเครือข่ายของกระทรวงพาณิชย์ อย่างฟาร์มเอาท์เล็ต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ ก็มีร้านคิวช็อป รวมถึงร้านค้าห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศ รวมถึงการเปิดรับยอดทางสื่อโซเชียลมีเดียก็ได้ผลดีมาก"
ราคาขายข้าว ถ้าเกษตรกรสีขายเองก็ราคาขั้นตํ่าจริงๆ ก็จะอยู่ที่ กิโลกรัม 25-30 บาท คนทำนาข้าวอินทรีย์มีผลผลิตเฉลี่ยที่ 400-600 กก. ต่อไร่ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหันมาใช้ปุ๋ยพืชสด ใช้ปุ๋ยคอก และปุ๋ยชีวภาพแทน ต้นทุนถูกลงกว่าครึ่ง แต่ได้ปริมาณข้าวที่สูงกว่าการทำนาทั่วไปที่ได้ข้าวเพียง 300 กก. ต่อไร่โดยค่าเฉลี่ยทั้งจังหวัด นี่ก็จะอาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรที่จะเลือกปรับเปลี่ยนการทำนาในอนาคต เพื่อเพิ่มผลผลิตและปรับเปลี่ยนวิธีการขายเพื่อเพิ่มมูลค่าของข้าวให้สูงขึ้น
ด้าน ยุทธพงศ์ ภัทรธรรม ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดกาฬสินธุ์ ระบุว่า พื้นที่จ.กาฬสินธุ์ กว่าร้อยละ 60 เป็นนาข้าว โดยพื้นที่ชลประทาน 5 อำเภอ สามารถทำนาปรังปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง พื้นที่กว่า 300,000 ไร่ ขณะที่นาข้าวทั้งหวัด 1,598,592 ไร่ เป็นข้าวจ้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว โดยมาตรการ ธ.ก.ส.กาฬสินธุ์ ได้ช่วยเหลือตามนโยบายโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีให้เก็บไว้ในยุ้งฉาง เริ่มโครงการตั้งแต่ 1 พ.ย. 59 - 28 ก.พ. 60
โดยราคาข้าวหอมมะลิรับจำนำยุ้งฉางที่ตันละ 13,000 บาท ขณะที่เกษตรกรชาวนาที่ไม่มียุ้งฉางก็จะได้รับสิทธิพิเศษเช่นกันโดยทั้งค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวตันละ 20,000 บาท ค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 800 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ เช่นเดียวกับเกษตรกรที่มียุ้งฉาง โดยเกษตรกรได้รับสิทธิทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิก ธ.ก.ส.
นอกจากนี้ยังมีวงเงินสินเชื่อสำหรับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตร อัตราดอกเบี้ยตํ่าร้อยละ 4 บาทต่อปี เพื่อนำไปรับซื้อข้าวจะสมาชิกเครือข่ายตามนโยบายของกลุ่มวิสาหกิจและสหกรณ์ฯ ที่จะรับซื้อข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด
โดยปัจจุบันมีสหกรณ์เข้าร่วม 2 แห่ง แต่อย่างไรก็ตามในช่วงนี้เกษตรกรถ้าไม่จำเป็นน่าจะเก็บข้าวเอาไว้ก่อน อย่าเพิ่งขายช่วงนี้ หันมาตากข้าวและเก็บในยุ้งฉางจะดีกว่า รวมถึงการแปรรูปสีเป็นข้าวสารจำหน่าย จะเป็นการเพิ่มมูลค่ามากกว่าขนไปขายตอนนี้ นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนวิธีการทำนายังจะช่วยให้คุณภาพข้าวดีขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ได้เงินเพิ่มขึ้นอีกเช่นกัน
โดยปีนี้ตั้งเป้าการจำหน่าย "ข้าวเขาวง" ที่ 1,000 ตัน จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วม 22 แห่ง เกษตรกร 370 ราย จากพื้นที่นาข้าว ใน 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เขาวง อ.นาคู และ อ.กุฉินารายณ์ (บางพื้นที่) พื้นที่ 2,000 ไร่ โดยฤดูกาลผลิตปี 2558/59 ธ.ก.ส.ได้จ่ายเงินกู้ประเภทจำนำยุ้งฉางใน 18 สาขา ทั้ง จ.กาฬสินธุ์ เป็นเงิน 68,401,902 บาท สมาชิก 1,583 ราย
เฉพาะพื้นที่ อ.เขาวง เข้าร่วมโครงการจำนำข้าวที่ยุ้งฉางกว่า 900 ราย วงเงินกู้ 38 ล้านเศษ และด้วยสถานการณ์ราคาข้าวที่ยังไม่กระเตื้องขึ้น คาดว่าจะมีเกษตรกรนำข้าวมาเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว ซึ่งส่วนนี้ทาง ธ.ก.ส.จ.กาฬสินธุ์ มีความพร้อมที่จะตอบสนองความต้องการของเกษตรกรให้มากที่สุด
ด้าน นายวินิจ ถิตย์ผาด เกษตรผู้ปลูกข้าวออร์แกนิค ระบุว่า ข้าวจากเกษตรกรที่จริงต้นทุนการผลิตไม่สูงมากนัก โดยเฉพาะหากได้น้อมนำแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ และเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้จริงๆ แล้วจะเห็นผลเห็นความแตกต่างที่จะนำพาชีวิตเปลี่ยนไป ทั้งการลดต้นทุนไม่ใช้ปุ๋ยเคมี หันมาใช้ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยคอกแทนจะดียิ่งกว่า
ถ้ามีที่นามากลองแบ่งขุดสระนํ้า ปลูกพืชไร่และนาข้าวผสมผสาน หากที่น้อยก็ลองใช้กลยุทธ 1 ไร่ 1 แสน ย่อส่วนลงตามอัตภาพเชื่อแน่ว่าทุกคนจะอยู่รอดพ้นวิกฤติ
ชาวนาต้องเริ่มเปลี่ยนวิธีคิดการปลูกข้าวก่อนอันดับแรก ค่อยพัฒนาไปยังการขายในรูปแบบการตลาด การเข้าร่วมเครือข่ายแบบพึ่งพาอาศัยกันและกัน จะช่วยให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งมากขึ้น
แน่นอนว่า "ราคาข้าวที่ตกตํ่า" จะทำให้ชาวนามากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศไทยเดือดร้อน แต่ในวันนี้ตัวอย่างของเกษตรกรที่พึ่งพาตัวเองและประสบความสำเร็จ มีมากมายอยู่ทั่วประเทศอยู่อย่างไม่ง้อนายทุน ขายข้าวไม่ผ่านโรงสีใหญ่ หากแต่ในปัจจุบันที่เปลี่ยนจากเดิมด้วยกลไกของอุตสาหกรรม ทำให้วันนี้ต้องกลับมานั่งคิดทบทวนใหม่ จะทำนาเพื่อปากท้อง คนกินข้าวปลอดภัย มีเหลือแบ่งขายเป็นทุน หรือเพื่อสนองกลุ่มนายทุนที่ใช้เงินซื้อข้าว
.................................
คอลัมน์ : ส่องท้องถิ่น
โดย "อบต.กบ" (orbortorkob@gmail.com)/ ยุทธนา เกียรติดำเนินงาม
ที่มา : เดลินิวส์ วันที่ 15 พ.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.