จากปัญหาราคาข้าวตกต่ำที่ผ่านมา กระทั่งเกิดเหตุสลดใจ มีชายผูกคอตาย ใต้ต้นฉำฉากลางทุ่งนา จ. พิจิตร ขณะที่ภรรยาของผู้ตายให้การว่า สามีเครียดจากเรื่องราคาข้าวตกต่ำ แต่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาปฏิเสธว่า ผู้ตายเป็นช่างแอร์ ไม่ได้เป็นชาวนา จึงไม่เกี่ยวกับเรื่องราคาข้าวแต่อย่างใด
มองในแง่ดี ท่านโฆษกฯ ไม่ได้ตั้งใจปฏิเสธความรับผิดชอบของรัฐบาล แต่ท่านเข้าใจอย่างนั้นจริงๆ หากเป็นเช่นนั้น เรื่องนี้ยิ่งน่าเศร้า ที่รัฐบาลเข้าใจชาวนาน้อยเหลือเกิน
ผู้เขียนขอใช้โอกาสนี้ สื่อให้เข้าใจว่า การมีหลายอาชีพของชาวนาเป็นลักษณะทั่วไปที่เกิดขึ้นมานานแล้ว บทความนี้มาจากส่วนหนึ่งของการวิจัยของผู้เขียนในหมู่บ้านภาคอีสาน บทความตั้งใจสะท้อนลักษณะการดำรงชีวิตของชาวนาจำนวนหนึ่งในประเทศไทย และวิกฤตที่เพิ่มสูงขึ้น ที่ผู้เขียนเรียกว่า "ทางตันของชาวนา" ที่เกิดขึ้นในช่วง 2- 3 ปีที่ผ่านมานี้ ดังต่อไปนี้
ยามที่เกิดภัยธรรมชาติ ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ หรือปัญหาอื่นๆ เราจะพบว่าชาวนาดิ้นรนเอาตัวรอดแบบต่างๆ ดังเช่นที่เราเห็นชาวนากำลังสร้างเครือข่ายนำข้าวออกมาขายเองเพื่อตัดวงจรการเอาเปรียบของพ่อค้าคนกลาง นั่นเป็นตัวอย่างหนึ่ง
การแก้ไขปัญหาโดยการดิ้นรนแบบต่างๆนี้ ชาวนาทำมานานแล้ว นักวิชาการเรียกว่า "ยุทธศาสตร์การดำรงชีพ" ขณะที่บางท่านเรียกว่า "ชาวนาผู้ยืดหยุ่น" ลักษณะเช่นนี้แสดงให้เห็นจุดแข็งของสังคมชาวนา ในภาวะที่หนทางดูเหมือนตีบตัน ถูกกระหน่ำจากภัยธรรมชาติ หรือถูกปิดล้อมจากอำนาจที่เหนือกว่า พวกเขาไม่จำนนต่อปัญหา แต่กลับยิ่งแสดงให้เห็นศักยภาพ ซึ่งหมายความว่าหากได้รับโอกาสที่ดีชาวนาก็พัฒนาได้ไม่แพ้คนกลุ่มใดในสังคม
ยุทธศาสตร์การดำรงชีพของชาวนา เป็นการกระทำที่มีทั้งลักษณะเฉพาะหน้า และระยะยาว เป็นการหาโอกาส จัดการความเสี่ยง และผสมผสานการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ เราอาจจำแนกลักษณะรูปธรรมได้ดังนี้ 1. การปลูกข้าวไว้กินก่อน ที่เหลือขาย และปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆไปด้วย 2. การรับจ้างในและนอกภาคเกษตร รวมทั้งพึ่งเงินส่งกลับจากลูกหลานที่ไปทำงานในเมือง 3. การบริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากจำเป็นก็ต้องขาย 4. การเก็บหาปัจจัยสี่จากธรรมชาติ 5. การเข้าถึงทรัพยากรหรือโอกาสหารายได้จากความสัมพันธ์ทางสังคมในระดับเครือญาติ ท้องถิ่น หรือระดับชาติ
ยุทธศาสตร์การดำรงชีพนี้ เคยเป็นไปได้เพราะเงื่อนไขเอื้ออำนวย แต่ปัจจุบันเหตุการณ์เปลี่ยนไป เราจะทำความเข้าใจเป็นลำดับดังนี้
แรงงานในครัวเรือน ยิ่งต้องทำการผลิตหลายอย่าง การมีแรงงานยิ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญ แต่ข้อเท็จจริงคือ ปัจจุบันครัวเรือนในชนบทมีขนาดเล็กลง คือเฉลี่ย 3.9 คน/ครัวเรือน ซึ่งเกิดจากการมีลูกน้อยลง และอีกเหตุหนึ่งคือลูกๆไปเรียนหนังสือหรือไปทำงานต่างจังหวัด ขณะที่อายุขัยเฉลี่ยของเกษตรกรเพิ่มขึ้น คนที่ยังทำเกษตรส่วนใหญ่คือคนอายุ 40-60 ปี ในหมู่บ้านที่ผู้เขียนศึกษาอายุเฉลี่ยของหัวหน้าครอบครัวคือ 45 ปี ภาพของครัวเรือนชนบท คือบ้านของเกษตรกรวัยกลางคนหรือสูงวัย เป็นผัวเมียที่ตื่นแต่เช้าตรู่ไปทำงานสารพัดจนมืดค่ำ ไม่ต่างจากกรรมกรในไร่นาของตัวเอง ครอบครัวที่มีลูกวัยทำงานช่วยเหลืองานในครอบครัวนั้นถือเป็นกรณีพิเศษ มักมีเสี่ยงบ่นจากเจ้าหน้าที่ว่า เวลาไปส่งเสริมให้ทำอะไรชาวบ้านมักไม่เอาใจใส่ทำจริงจัง แต่สำหรับชาวบ้านเหตุที่ไม่มีเวลา เพราะต้องแบ่งเวลาไปทำงานอื่น ซึ่งเป็นการจัดการความเสี่ยงท่ามกลางความไม่แน่นอน
ราคาพืชผลการเกษตร เป็นเงื่อนไขสำคัญของรายได้ครัวเรือน ในภาคอีสาน 2-3 ปีมานี้สถานการณ์พืชสำคัญคือยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง ต่างย่ำแย่ ทุกวันนี้ชาวสวนยางพาราที่มีสวนยาง 10-20 ไร่ อยู่ได้ด้วยการลดการดูแลรักษา ใส่ปุ๋ยน้อยลง ใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก กรีดยางแล้วขายยางเป็นยางก้อน เพื่อลดการใช้แรงงาน มีรายได้เดือนละ 2-3,000 จากที่เคยมีรายได้เดือนละ 1-20,000 บาท กรณีจ้างแรงงานกรีดยาง ทุกวันนี้คิดค่าจ้างเป็นส่วนแบ่งผลผลิตอัตรา 50 : 50 ซึ่งเจ้าของสวนยางต้องจำใจยอม ส่วนแรงงานก็บ่นว่าได้ผลตอบแทนไม่ค่อยคุ้มค่า
กรณีข้าว ชาวนาอีสานหลายพื้นที่ลดการทำนาลง โดยทำให้พอมีข้าวกินคุ้มปี (ในที่นา 5-10 ไร่) และทำเผื่อเหลือขายเพียงไม่มาก เพราะรู้ว่ายิ่งทำมากยิ่งขาดทุน ด้วยเหตุที่ต้องรีบไปทำงานอื่น การทำนาต้องจ้างแรงงานและเครื่องทุ่นแรง ต้นทุนตกอยู่ที่ไร่ละ 1,500-2,000 บาท ในปีนี้หากข้าวเปลือกอยู่ที่เกวียนละ 6,000 บาท สมมุติมีนา 20 ไร่ ได้ผลผลิตข้าวเปลือกไร่ละ 300 กิโลกรัม ครัวเรือนนั้นจะมีข้าวกินคุ้มปี กับมีข้าวเหลือขายประมาณ 4.5 ตัน เมื่อนำไปขายและหักต้นทุนแล้ว จะเหลือเงิน 7,000 บาท คิดเฉลี่ยเป็นรายได้ต่อเดือนของครอบครัวเท่ากับ 583 บาท คิดเป็นค่าตอบแทนรายวันเท่ากับ 19 บาท !
ส่วนมันสำปะหลัง ปีที่แล้วราคาเริ่มตกต่ำ และมีสัญญาณว่าราคาปีนี้ (จะขายผลผลิตปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า) จะตกต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ในหมู่บ้านที่ผู้เขียนเก็บข้อมูล การทำไร่มันให้ได้ผลผลิตคุ้มกับการลงทุนลงแรง ต้องใช้ต้นทุนสูง ในบางพื้นที่ต้องเช่าที่ดินไร่ละ 1,500 – 2,000 บาท (ราคาพอๆกับค่าเช่าที่นาในภาคกลาง) ต้องพ่นยากำจัดวัชพืช และใส่ปุ๋ยให้มากพอ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยของหมู่บ้านนี้คือประมาณ 5,000 บาท/ไร่ และเมื่อขายให้ผลตอบแทนเป็นกำไรประมาณ 4,000 บาท/ไร่ ซึ่งครอบครัวใดต้องการมีรายได้เข้าบ้านเฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาท จะต้องทำการผลิตไม่ต่ำกว่า 30 ไร่ การผลิตในเนื้อที่ขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และยังต้องขึ้นกับความไม่แน่นอนอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะราคาผลผลิตที่กำลังต่ำลง
มีข้อสังเกตด้วยว่า สาเหตุที่มันราคาตกต่ำ อาจมาจากการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน (เหมือนการนำเข้าข้าวสาลีที่กระทบต่อผู้ปลูกข้าวโพดในขณะนี้) ซึ่งการนำเข้ามีต้นทุนถูกลงเพราะการลดหย่อนภาษีของอาเซียน ดังสถิติการนำเข้ามันสำปะหลังผ่านด่านพรมแดนอีสานมีมูลค่าสูงขึ้น และมีมูลค่านำเข้าเป็นอันดับหนึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.chongmekcustoms.com/default.asp?content=contentdetail&id=29515)
การจ้างงานในภาคเกษตร เมื่อการขายผลผลิตมีปัญหา การผลิตและลงทุนในการผลิตก็ลดลง การจ้างงานในภาคเกษตรจึงลดลง การรับจ้างภาคเกษตรเป็นรายได้ของกลุ่มคนไร้ที่ดิน แม้กระทั่งคนมีที่ดินน้อยที่ขัดสนเงินในครอบครัวก็พึ่งพาการรับจ้าง แต่ที่ผ่านมาการจ้างกรีดยางลดลง การจ้างเกี่ยวข้าวลดลง ในหมู่บ้านที่ปลูกมันสำปะหลังเป็นหลัก การจ้างงานในขั้นตอนต่างๆลดลง แม้กระทั่งผู้รับจ้างให้บริการรถไถใหญ่ รถไถนาเดินตาม รถเกี่ยวข้าว รถบรรทุกมันไปส่งโรงงาน ก็ตกอยู่ในวงจรรายได้หดหายตามๆกัน ดังนั้นไม่ใช่เฉพาะชาวนาจนที่ลำบาก แต่ชาวนารวยหรือผู้ประกอบการอื่นๆในหมู่บ้านก็ย่ำแย่ไปด้วย
การจ้างงานนอกภาคเกษตร เคยเป็นรายได้สำคัญที่เข้ามาในหมู่บ้าน ภาพที่เคยคุ้นชินคือรถปิกอัพบรรทุกชาวบ้านเช้าเย็นไปกลับทำงานในเมือง แต่ช่วงที่ผ่านมางานลดลง ส่วนเงินส่งกลับจากลูกหลานในเมืองก็ลดลง ในสองปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง การส่งออกติดลบ โรงงานทยอยปิดตัว แรงงานจำนวนหนึ่งตกงานต้องกลับบ้าน แรงงานที่ทำงานอยู่พบกับความไม่แน่นอนจากการเลิกจ้าง ต้องประหยัด เก็บเงิน ส่งเงินกลับบ้านน้อยลง ในรายที่ส่งเงินกลับบ้าน พ่อแม่กล้ำกลืนรับเงินด้วยความเป็นห่วงอนาคตของลูกที่กำลังย่ำแย่พอกัน
ที่ดิน เป็นหัวใจสำคัญ ในอดีตทางออกของชาวบ้าน คือขยายที่ทำกินเข้าไปในเขตป่า เพิ่มรายได้ด้วยการขยายพื้นที่เพาะปลูก และเก็บหาปัจจัยยังชีพจากป่า แต่นับจากทศวรรษ 2530 อวสานของการบุกเบิกได้มาถึง รัฐได้หันมาปิดป่า หวงกัน และตามมาด้วยการทวงคืนผืนป่าในปีที่ผ่านมา
อันที่จริงปัญหาเรื่องป่าและที่ดินซับซ้อนเกินกว่าจะโยนความผิดไปที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่างกรณีการบูมของยางพาราในอีสานเมื่อทศวรรษ 2540 รัฐเองให้การสนับสนุนหลายรูปแบบทั้งสินเชื่อและอื่นๆ กลุ่มธุรกิจต่างก็ได้ประโยชน์จากการขายปัจจัยการผลิต เศรษฐกิจยางพาราให้ประโยชน์กับเครือข่ายผู้เกี่ยวข้องทั้งประเทศ การขยายสวนยางเข้าไปในเขตป่า ทางการก็รู้เห็น การซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก. (ซึ่งผิดกฎหมาย) เกิดขึ้นทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่ที่ ส.ท.ก. หรือที่ไม่มีเอกสารใดๆ ขณะที่ผู้หันมาซื้อที่ดินทำสวนยางก็มีทั้งครู ตำรวจ ทหาร นักธุรกิจ คนชั้นกลางชาวเมือง นักการเมือง ผู้มีอิทธิพล และไม่มีอิทธิพลอย่างชาวบ้านทั่วไป การทวงคืนที่ดิน โดยที่ไม่มีทางออกอื่น และมองชาวบ้านเป็นจำเลยแต่ฝ่ายเดียว ทำให้เกิดความตึงเครียดและความคับข้องใจในชนบทสูงขึ้น
ในหมู่บ้านที่ไม่มีการทวงคืนผืนป่า ก็มีปัญหาที่ดินอีกแบบหนึ่ง ในภาวะที่ขยายที่ทำกินไม่ได้ และครัวเรือนชาวบ้านได้ปักหลักทำกินมาหลายรุ่นคน ทำให้ที่ดินถือครองของครัวเรือนลดลง ในหมู่บ้านที่ผู้เขียนศึกษา พบว่าครัวเรือนมีที่ดินถือครองเฉลี่ยประมาณ 30 ไร่ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหมู่บ้านอื่นๆ (ค่าเฉลี่ยของประเทศตามตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคือ 24.9 ไร่) แม้ครัวเรือนจะมีที่ดินค่อนข้างมาก แต่ในภาวะเศรษฐกิจเช่นปีที่ผ่านมาพบว่า ที่ดินจำนวนนี้ใช้หารายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว (ดูตัวอย่างเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง 30 ไร่ข้างบน)
ณ จุดนี้ ชาวบ้านเผชิญปัญหาปัจจุบันและอนาคตของการดำรงชีพบนที่ดิน โจทย์ด้านหนึ่งคือ ทำอย่างไรให้ผลตอบแทนการผลิตต่อไร่สูงขึ้นเพื่อให้เลี้ยงครอบครัวได้ ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แสดงสถิติผลตอบแทนสุทธิพืชเศรษฐกิจที่สำคัญย้อนหลังไป 20 ปี ของพืชหลัก 4 ชนิดคือ ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย พบว่ามีมูลค่าระหว่าง 1,000 – 3,000 บาท/ไร่ ยกเว้นยางพาราเคยสูงถึง 20,000 บาท/ไร่ในปี 2554 จากนั้นก็ตกลงมาเท่าๆกับพืชชนิดอื่น ข้อมูลนี้แสดงว่าการเพิ่มผลตอบแทนต่อไร่ แทบเป็นไปไม่ได้ การเลี้ยงครอบครัวบนที่ดิน 30 ไร่ จึงให้ผลตอบแทนคือความยากลำบาก และปัญหานี้จะเลวร้ายขึ้นในคนรุ่นต่อไป ที่มีที่ดินน้อยลงอีก
อีกทางหนึ่งคือขายที่ดิน เปลี่ยนอาชีพไปทำอาชีพนอกการเกษตร ซึ่งเป็นข้อสงสัยกันมานานแล้วว่า ทำไมทำไร่ทำนาขาดทุน แต่ชาวไร่ชาวนายังไม่เลิกทำ ทางการพยายามโน้มน้าว กระทั่งจ้างให้เลิกทำนา แต่ก็ไม่เลิก นักวิชาการจำนวนหนึ่งมีคำถามต่อความแปลกประหลาดของภาคชนบทไทยว่า ทำไมชาวชนบทส่วนใหญ่ยังดื้อดึงอยู่กับการเกษตร ทำไมชีวิตพวกเขายังผูกกับที่ดิน และจะทำอย่างไรที่สนับสนุนให้พวกเขาหันไปสู่ภาคการผลิตอื่น ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น
คำตอบที่พอจะมีอยู่บ้างในตอนนี้คือ ชาวบ้านทั่วไปไม่ได้ยึดมั่นกับอาชีพเกษตร ความคิดนี้เห็นได้ชัดจากลูกหลานชาวนา ที่มีน้อยคนอยากกลับมามีอาชีพเหมือนพ่อแม่ สำหรับชาวบ้านที่ยังทำเกษตร ไม่ใช่เพราะรายได้ดี แต่เพราะการไปทำงานนอกเกษตรเป็นทางที่ตีบตัน ในอดีตชาวบ้านจำนวนมากในวัยหนุ่มสาวเคยผ่านประสบการณ์ไปทำงานต่างถิ่น เช่น งานโรงงาน ก่อสร้าง ลูกจ้างทั่วไป และลูกจ้างในงานฝีมือ แต่พวกเขาเผชิญข้อจำกัดอย่างน้อยสองประการ ประการแรกคือ ค่าตอบแทนต่ำ หรือไม่สูงพอที่จะสะสมทุน ให้สามารถขยับฐานะหรือเปลี่ยนอาชีพได้ ข้อนี้เป็นปัญหาโครงสร้างของการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ที่กดค่าแรงของแรงงานมาโดยตลอด
ประการที่สอง ในกรณีที่ได้เรียนรู้ทักษะการประกอบการอาชีพใหม่ๆ ก็ไม่สามารถทำธุรกิจแข่งขันกับทุนที่ใหญ่กว่า กรณีที่กลับมาอยู่บ้านการทำธุรกิจในหมู่บ้านก็ยากจะประสบความสำเร็จเพราะไม่มีตลาดและไม่มีทุน ข้อนี้ด้านหนึ่งเป็นข้อจำกัดความสามารถของชาวบ้านในการแข่งขันทางธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับด้วยว่า ธุรกิจหลายสาขาของไทยถูกผูกขาดหรือครอบงำโดยกลุ่มธุรกิจบางกลุ่ม ไม่มีทางที่ชาวบ้านจะเติบโตได้
ดังนั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ชาวชนบทไม่อยากออกจากภาคเกษตร หรือไม่อยากพัฒนาตัวเอง แต่อยู่ที่โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่ไม่เอื้ออำนวยให้ชาวบ้านทั่วไปๆออกจากภาคเกษตรได้ รัฐอยากผลักดันให้ชาวชนบทออกจากภาคเกษตร แต่ก็ไม่สามารถให้โอกาสที่พวกเขาจะมีอาชีพนอกการเกษตรได้
เงื่อนไขของยุทธศาสตร์การดำรงชีพประการสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ การมีความสัมพันธ์กับผู้ที่จะให้ประโยชน์ได้ (connection) ในอดีตการมีความสัมพันธ์กับเครือญาติ หรือเพื่อนบ้านคือโอกาสของการเข้าถึงทรัพยากร แต่ในยุคใหม่การสัมพันธ์กับอำนาจภายนอกคือที่มาของโอกาสดังกล่าว
ไม่ต้องประหลาดใจว่า ในยามมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ชาวบ้านให้การสนับสนุนพรรคการเมืองที่ให้โอกาสการมีชีวิตที่ดีกับพวกเขา และยิ่งเป็นพรรคการเมืองที่เห็นความสำคัญ เปิดโอกาสให้ร้องขอ ต่อรอง และเปิดให้ชาวบ้านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมือง เป็นผู้เล่น เป็นตัวแสดงตัวหนึ่งในระบบการเมือง พรรคการเมืองนั้นและระบบการเมืองแบบนั้นจะได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เพราะระบบแบบนี้ทำให้พวกเขาดึงเอาทรัพยากรหรือโอกาสที่ดีให้กับตนได้ และสำหรับชาวบ้านหลายคนระบบนี้เป็นช่องทางไต่เต้าทางเศรษฐกิจและการเมืองด้วย
รัฐบาลประสบความสำเร็จอย่างสูงในการทำลายระบบการเมืองดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าเป็นอันตราย ในปัจจุบันกล่าวได้ว่า ระบบความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับนักการเมืองปิดตัวลงอย่างสิ้นเชิง แต่สิ่งที่ได้มาแทนที่ก็คือ การกลับมาของระบบราชการในชนบท รัฐบาลคงพอใจกับสถานการณ์นี้ แต่ในแง่การบริหารท้องถิ่นนี่คือการถอยหลังกลับไปเกือบร้อยปี เป็นที่ทราบกันดีว่าระบบราชการ คือการทำงานแบบรวมศูนย์อำนาจ มีวัฒนธรรมการทำงานแบบเจ้านายลูกน้อง ลักษณะเช่นนี้มีไว้ควบคุม มากกว่าตอบโจทย์ความต้องการของชาวบ้าน
ความตายซากของระบบการเมือง ซึ่งสวนทางกับการเติบใหญ่ของระบบราชการในหมู่บ้าน สะท้อนให้เห็นได้จากบทบาทของ อบต. ในปัจจุบัน ท่ามกลางบรรยากาศปิดทางการเมือง และอนาคตที่ไม่แน่นอนของ อบต. ทำให้องค์กรนี้ลดบาททางการบริหารลง ไม่มีการริเริ่มโครงการใหม่ ไม่ทำงานเชิงรุก ไม่เข้าไปยุ่งกับเรื่องความขัดแย้ง ใช้อำนาจหน้าที่อย่างจำกัด อบต. ได้กลายสภาพเป็นส่วนราชการของการปกครองส่วนภูมิภาค ทำงานประจำ (routine) ตามนโยบายรัฐบาลไปเท่านั้น การรักษาความสงบทางการเมืองของรัฐบาล จึงแลกมาด้วยการทำลายพลังสร้างสรรค์ของพลเมืองในท้องถิ่นอย่างน่าเสียดาย
ที่ผ่านมา การล้มละลายของครัวเรือนชาวนา กลายเป็นแรงงานรับจ้างไร้ที่ดิน เกิดขึ้นมาตลอด แต่ค่อยเป็นค่อยไป และยังพอมีช่องทางให้ดิ้นรนหาทางออกให้ชีวิตได้ ทว่าในปัจจุบันช่องทางต่างตีบตัน สถานการณ์ของชาวนาจึงเหมือนหลังพิงฝา เดินหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็หมดทาง สังคมชาวนาจึงมาถึงจุดวิกฤต การจบชีวิตตัวเองของชาวนาบางคน จึงเป็นทางที่พวกเขาเลือก บนแผ่นดินที่ไร้ความหวังนี้
บทความนี้ยังไม่ได้วิเคราะห์สาเหตุที่นำมาสู่ทางตันของสังคมชาวนา อีกทั้งยังไม่ได้วิเคราะห์ว่านโยบายภาคเกษตรที่รัฐบาลได้ทำไปในช่วง 2-3 ปีนี้ ช่วยให้อะไรดีขึ้นบ้างหรือไม่ ในขั้นนี้คงทำได้แต่เพียงเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมชาวนาจำนวนหนึ่ง หวังว่า การเข้าใจชาวนา และสถานการณ์จริงๆที่พวกเขาเผชิญอยู่ คงจะทำให้ผู้มีอำนาจได้สติและปัญญาแก้ปัญหาขึ้นมาบ้าง.
พฤกษ์ เถาถวิล
ที่มา : ประชาไท วันที่ 8 พ.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.