ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะช่วยกันยับยั้งก้าวย่างสู่กับดักอันดำมืดดังกล่าว โดยลดความลุ่มหลงต่อตัวเลขเม็ดเงิน อัตราเติบโตเศรษฐกิจแบบมหภาค แต่หันมาดูชีวิตคนในสังคมว่าตอนนี้เป็นอยู่กันสาหัสเพียงใด นโยบายโกยเงินเข้าประเทศผ่านวงจรนายทุนนั้น มีแต่เศษเงินที่มาสู่รากหญ้า แต่เงินส่วนใหญ่อยู่ในกระเป๋าคนไม่กี่ตระกูล
ปัญหาข้าวและผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำดูจะเป็นวิกฤติการณ์ที่ส่งผลกระทบมากมาย และก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมอย่างรุนแรง
ดังจะเห็นได้จากการที่คนในเครือข่ายสังคมออนไลน์จำนวนไม่น้อยกระตือรือล้นหาทางช่วยเกษตรกรและครอบครัว ทั้งที่รู้จักมักจี่ทางตรงหรือทางอ้อม โดยทำการร้องขอ หรือชักชวนให้ช่วยกันสร้างช่องทางการขายผลผลิต ตลอดจนแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องอื่นๆ อาทิเช่นการขนส่งไปถึงผู้ซื้อ ซึ่งมักอยู่ห่างไกลจากแหล่งผลิต
อดีตจนถึงปัจจุบัน ในเรื่องข้าวนั้น นายทุน และ/หรือพ่อค้าคนกลางมักขึ้นชื่อเรื่องอิทธิพลในการคุมกลไกการตลาดตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ในขณะที่เกษตรกรแทบไม่มีอำนาจการต่อรองใดๆ ขายส่งผลผลิตในราคาต่ำ เพื่อให้พ่อค้าคนกลางนำไปขายในราคาสูง
จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เริ่มลามปามไปถึงการกระทำอันส่งผลกระทบต่อการบริโภคของคนไทยใน 2 รูปแบบ คือ
หนึ่ง หากำไรสูงสุดโดยเน้นส่งออกของดีไปต่างประเทศ แต่เหลือของคุณภาพต่ำไว้ให้คนไทยบริโภค
สอง แท็คทีมกับนายทุนต่างชาติมากว้านซื้อทั้งผลผลิต และทำสัญญาระยะยาว พ่วงการซื้อพื้นที่เพาะปลูก และ/หรือเมล็ดพันธุ์ที่ปรับแต่งพันธุกรรม ที่ไม่สามารถนำไปปลูกซ้ำ พร้อมผูกมัดการซื้อขายในสัญญา
การศึกษาวิจัยของต่างประเทศเริ่มชี้ให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า ประชาชนตาดำๆ ที่มักเป็นผู้ผลิตรายย่อยทั้งหลายตกเป็นเหยื่ออย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และส่งผลให้การตลาดโดยรวมของประเทศถูกกุมอำนาจโดยนายทุนและพ่อค้าคนกลาง อันจะทำให้เกิดผลลบในระยะยาว
Abebe GK และคณะ ตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารวิชาการนานาชาติ Journal of Rural Studies ปี 2016 ชี้ให้เห็นว่า จากการศึกษาชาวนาในประเทศเอธิโอเปีย 345 ราย ชาวนาจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 225% หากไม่ไปใช้บริการของพ่อค้าคนกลาง
เฉกเช่นเดียวกับการผลิตข้าวปลาอาหาร ระบบสุขภาพในสังคมไทยปัจจุบันถูกนายทุน นักธุรกิจการแพทย์ นายหน้าค้าความค้าประกัน รวมถึงคนหากินกับตัวเลข พยายามผลักดันให้สังคมมองเป็นการซื้อขายสินค้าและบริการเพื่อ"ต่อชีวิต" จนทำให้ทั้งรากหญ้าประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ที่ดีต้องระส่ำระสาย ค่าใช้จ่ายสูงลิ่วเป็นเท่าทวีคูณ
หากพินิจพิจารณาดีๆ ระบบทุนนิยมดังกล่าวได้ปู้ยี่ปู้ยำคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคมแบบเดียวกัน ทั้งข้าวปลาอาหาร และการดูแลรักษาชีวิต
ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะช่วยกันยับยั้งก้าวย่างสู่กับดักอันดำมืดดังกล่าว โดยลดความลุ่มหลงต่อตัวเลขเม็ดเงิน อัตราเติบโตเศรษฐกิจแบบมหภาค แต่หันมาดูชีวิตคนในสังคมว่าตอนนี้เป็นอยู่กันสาหัสเพียงใด นโยบายโกยเงินเข้าประเทศผ่านวงจรนายทุนนั้น มีแต่เศษเงินที่มาสู่รากหญ้า แต่เงินส่วนใหญ่อยู่ในกระเป๋าคนไม่กี่ตระกูล
พ่อค้าคนกลางรูปแบบใหม่ที่สังคมปรารถนา คือ คนที่สามารถช่วยเพิ่มคุณค่าแก่ผลผลิตโดยรวม เข้าถึงประชาชน โดยออกจากกรอบการค้าขายแบบดั้งเดิมที่เน้นกำไรจากการเอาเปรียบ ไม่ว่าจะเอาเปรียบผู้บริโภค หรือเอาเปรียบผู้ผลิต หรือเอาเปรียบทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค...เพื่อให้กลายเป็นมหาสมุทรสีเลือด ที่เหลือเพียงตนเองที่อยู่รอดตามตำราการจัดการของฝรั่งที่ลุ่มหลงร่ำเรียนกันมาโดยตลอด
พ่อค้าคนกลางรูปแบบใหม่นั้นอาจเป็นเราแต่ละคนในสังคม ที่จะปวารณาตัวเป็นตัวเชื่อมไปยังเครือข่ายสังคมที่ตนเองมีอยู่ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อช่วยเหลือกันและกันให้มีทางเลือกในการดำรงชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งการกิน การจับจ่ายใช้สอยสินค้าบริการ การคมนาคมขนส่ง การพักพิงอาศัย การพักผ่อนหย่อนใจ การสื่อสาร และการศึกษาเล่าเรียน ตลอดจนการปรึกษาและดูแลสุขภาพยามเจ็บไข้ได้ป่วย
หากทำเช่นนั้นได้ เราก็จะมีอำนาจการต่อรองมากขึ้น อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ไม่ต้องมาเจอปัญหาแบบในปัจจุบัน อาทิเช่น นายทุนขึ้นค่าต๋ง 5% เป็น 7% ตกลงกันไม่ได้ ก็เติมเงินค่าสื่อสารตามร้านพ่อค้าคนกลางไม่ได้อีกต่อไป
ถึงเวลาต้องปฏิรูปวงจรพ่อค้าคนกลางของประเทศเสียที...
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 31 ต.ค. 2559
ผู้เขียน ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.