วานนี้ 19 ต.ค.59 ที่ห้องประชุมสีฟ้า คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการเสวนา เสรีนิยมใหม่กับการศึกษาไทย ยุติการแสวงหากำไรในระบบการศึกษา STOP Corporatization of Education in Thailand. ซึ่งมีอาจารย์ นักศึกษาในฐานะของลูกค้าของมหาวิทยาลัยให้ความสนใจร่วมรับฟังอย่างล้นหลาม ทั้งนี้ยังมีการถ่ายทอดสดการเสวนาในส่วนของนำเสนอของวิทยากรผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยรับชมย้อนหลังได้ทางลิงก์ https://www.facebook.com/pasoot.lasuka?fref=ts
อ.ดร.สิงห์ สุวรรณกิจ เกริ่นนำในเบื้องต้นว่า เสรีนิยมใหม่ถูกใช้ในการอธิบายทางเศรษฐกิจเป็นหลัก อย่างไรก็ตามความคิดนี้ก็ส่งผลกระทบกับทุกส่วน กล่าวอย่างรวบรัดที่สุด เสรีนิยมใหม่ คือ การลดกิจการภาครัฐและปล่อยให้เอกชนเข้ามาแข่งขัน ปลาย 1970-1980 รัฐบาลหลายชุดในอเมริกาและอังกฤษนำแนวคิดไปใช้ ซึ่งจะคุ้นเคยในชุดรัฐบาลของเรแกน และแธตเชอร์ สำหรับระบบการศึกษาก็มีความพยายามจะทำให้เกิดแปรรูปกิจการ หรือที่รู้จักกันในชื่อการออกระบบ ซึ่งหลังจากมีการดำเนินการในระยะหนึ่งแล้ว กลับไม่มีการประเมินผลกระทบต่อ เช่น การขึ้นค่าธรรมเนียมการศึกษา เวทีนี้การพูดคุยนี้จึงเป็นการที่จะทำให้สะท้อนย้อนคิดอีกครั้ง โดยไม่ได้มุ่งที่จะกล่าววิพากษ์วิจารณ์ถึงการบริหารงานของผู้บริหารชุดไหน แต่เป็นการนำเสนอแนวคิดเชิงระบบ
น.ส. ธัณทิพย์ ตัวแทนกลุ่มพลเรียน เชียงใหม่ กล่าวว่า หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 การศึกษาเป็นหมุดหมายสำคัญในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร์ ที่ประชาชนจะได้รับการศึกษา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ โดยยึดหลักความเป็นธรรม ความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะ เช่นเดียวกับกับการสาธารณสุข อุดมการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดแผนการศึกษาแห่งชาติและมีการพัฒนาตามลำดับจนปัจจุบันถูกบัญญัติเป็นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ แก้ไขเพิ่มเติมปี 2543 แบ่งเป็นการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย
สำหรับในระบบแบ่งเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน และแนวคิดในการจัดการศึกษาตามเนื้อหาของ เป็นแนวคิดแบบรัฐสวัสดิการ แต่ในระดับอุดมศึกษาปัจจุบันมหาวิทยาลัยหลายแห่งได้เปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยของรัฐไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ได้มีตัวละครที่เข้ามาเป็นส่วนในการให้การศึกษา เช่น การเข้ามาให้ทุนการวิจัยของบริษัทห้างร้านต่าง การทำให้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ทางการตลาด ทำให้กระทบกับการจัดการคุณภาพศึกษาที่มีคุณภาพ คำถามที่สำคัญมีอยู่ว่า การพุ่งไปในทิศทางนี้มันทำให้ผลประโยชน์มันตกไปที่ไหน ทั้ง ๆ ที่อุดมการณ์ของการจัดการศึกษาควรจะนำไปสู่การปลดปล่อยคนออกจากการกดขี่ ทำให้ผู้เรียนเกิดการตั้งคำถาม
เสรีนิยมใหม่ มหาวิทยาลัยไทยพันทาง ‘กึ่งศักดินากึ่งทุนนิยม’
รศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาของสถาบันการศึกษาภายใต้ระบบเสรีนิยมใหม่มีการนำเสนออยู่ระดับหนึ่งแล้ว ประเด็นอยากจะนำเสนอ คือ มหาวิทยาลัยพันทาง ความหมายของตนคือสิ่งต่างชนิดบางอย่างที่แกมกันหรือไม่เข้าชุดกัน หรือไม่ลงรอยกันโดยจะนำเสนอผ่านสองประเด็น หนึ่ง ภายใต้เสรีนิยมใหม่และอุดมการณ์เก่า ประเด็นที่สอง มหาวิทยาลัยในฐานะกลไกการขูดรีดแรงงาน
น. เรียกไก่ที่พ่อเป็นอู แม่เป็นแจ้ ว่า ไก่พันทาง ภายหลังเรียกเลยไปถึงสัตว์ที่พ่อแม่ต่างพันธุ์กัน (ยกเว้นปลากัด) จนถึงสิ่งต่างชนิดบางอย่างที่แกมกันหรือไม่เข้าชุดกัน เช่น สุนัขพันทาง เครื่องลายครามพันทาง.
*หมายเหตุ ความหมายตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
ประเด็นแรก มักจะมีการอธิบายว่ามหาวิทยาลัยในปัจจุบันถูกอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ครอบงำ แต่มันก็ก็มีอุดมการณ์เก่าครอบอยู่ด้วย ยกตัวอย่าง อุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อครั้งตั้งขึ้นเปิดสถาบันการศึกษาแบบเปิด ‘มหาวิทยาลัยเปรียบประดุจบ่อน้ำเพื่อบำบัดความกระหายของปวงชน’ หรือการตอบสนองความต้องการของสังคม แต่อุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญในช่วง ทศวรรษ 2490 เปลี่ยนไปภายใต้ความคิดแบบตะวันตกโดยเฉพาะอเมริกา จากการเป็นผู้รอบรู้ทางการเมือง มาเป็นการผลิตบัณฑิตเชิงช่าง กระนั้นก็ตามระบบการศึกษาในสมัยนั้นยังเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่รัฐจัดให้ แต่ความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันภายใต้แรงกดดันของเสรีนิยมใหม่ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 สมัยอานันท์ ปัญญารชุน มันมีแรงดันที่ทำให้มหาวิทยาลัยเป็นเอกชนมากขึ้น มหาวิทยาลัยมีภาษาใหม่ในการบริการจัดการ เช่น Action plan, SWOT, TQF, EdPex คำทั้งหมดคือความพยายามจะประเมินประสิทธิในระบบการศึกษาทั้งระบบย่อยและระบบใหญ่
ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนสถานะของลูกศิษย์ให้กลายเป็นลูกค้า หากเปิดเอกสารการประกันคุณภาพของแต่ละคณะ จะพบการระบุข้อความที่ว่า เพื่อให้มีการดำเนินงานที่มุ่งเน้น ‘ลูกค้า’ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้จัด แบ่งลูกค้าเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ผู้เรียนซึ่งเป็นลูกค้าหลัก สอง ลูกค้ากลุ่มอื่น (ลูกค้าการวิจัย/ลูกค้าการบริการวิชาการ) และสาม ลูกค้ากลุ่มอื่น หมายถึงนายจ้างหรือผู้ใช้บัณฑิตในอนาคต และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภาษาเหล่านี้ถูกใช้เพื่อจัดวางผู้เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย ที่ต้องการได้รับการบริการผ่านจ่ายเงิน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงอุดมคติของการเป็นลูกศิษย์เป็นลูกค้าหรือระบบการบริหารจัดการแบบเสรีนิยมใหม่ดังกล่าวไปแล้ว ขณะเดียวกันยังมีอุดมการณ์แบบศักดินาดำรงอยู่ กล่าวคือ การกำหนดสถานภาพของบุคคลตามความสูง-ต่ำ ผู้ใหญ่-ผู้น้อย ที่ไม่เสมอภาค เช่น การรับน้อง (รุ่นน้อง รุ่นพี่)พิธีกรรมไหว้ครู (อาจารย์-นักศึกษา) รับปริญญา (นักศึกษา อาจารย์ กับการกำกับจากโลกภายนอก) นี่คือความเป็นมหาวิทยาลัยพันทางที่มาผสมกันในเมืองไทย ด้านการบริหารจัดการใช้แนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ แต่ด้านวัฒนธรรมกลับใช้ความคิดแบบศักดินา นี่จึงเป็นสิ่งที่ตนขอเรียกว่า มหาวิทยาลัยจึงเป็นกึ่งทุนนิยมกึ่งศักดินา
ประเด็นสอง มหาวิทยาลัยในฐานะผู้ขูดรีดแรงงาน ในช่วงปลายศตวรรษ 20 ต้นศตวรรษที่ 21 มีงานวิชาการจำนวนมากพยายามอธิบายปรากฏการณ์การจ้างงานแบบ Precarious Work หรืองานที่ทำให้ความมั่นคงในชีวิตมีน้อยลง งานเหล่านี้ส่วนใหญ่เพ่งไปที่การจ้างงานในภาคเอกชน สำหรับเมืองไทย หากมองที่กรณีการจ้างงานในมหาวิทยาลัย แบ่งเป็น 4 กลุ่ม หนึ่ง ข้าราชการ สอง พนักงานเงินแผ่นดิน (ข้าราชการปรับสถานภาพ/จ้างถึงเกษียณ/จ้างมีระยะเวลา) สาม พนักงานเงินรายได้ และสี่ พนักงานจ้างรายชั่วโมง ซึ่งสองกลุ่มหลังสัญญาจ้างไม่มีความมั่นคง และพนักงานเงินแผ่นดินกลุ่มจ้างแบบมีระยะเวลา จัดเป็นกลุ่มที่สัญญาจ้างงานถือว่าไม่มีความมั่นคง หรือเหลือความมั่นคงอยู่น้อยมาก
“นอกจากนี้ในมหาวิทยาลัยยังงานหลายประเภทที่มีการจ้างเอกชนภายนอก เช่น เจ้าหน้าที่ทำความสะอาด พนักงานรักษาความปลอดภัย ถามว่าหน่วยงานซึ่งจ้างบริษัทเอกชนให้มารับหน้าที่ก็พิจารณาเฉพาะการใช้งบประมาณที่เหมาะสม แต่ระบบการจ้างงาน สวัสดิการของผู้ใช้แรงงานไม่ใช่ประเด็นที่มหาวิทยาลัยตระหนักถึง คนกลุ่มนี้จึงถูกขูดรีดเช่นกัน ไม่ใช่เพียงเฉพาะอาจารย์”
อ.สมชาย กล่าวอีกว่า สถานการณ์ที่หน่วยงานรัฐกลายมาเป็นผู้ขูดรีดแรงงานนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะมหาวิทยาลัย แต่พบได้ใน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรมหาชน ซึ่งถูกกำหนดให้การใช้งบประมาณด้านบุคลากรไม่เกินร้อยละ 40 ของงบทั้งหมด ซึ่งก็มีการให้คำแนะนำจากหน่วยงานรัฐว่าใช้วิธีการจ้างเหมา สิ่งที่พูดว่ามหาวิทยาลัยพันทาง ภายใต้ความกระหายอยากเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก World Class University
“คำถามว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ในขณะที่เราอยากจะเห็นลำดับโลก แต่กลับมีปัญหามากมายภายใน”
เสรีนิยมใหม่จิตวิญญาณของระบบทุนที่สร้างการแข่งขันบนความเสี่ยงและความไม่แน่นอน
ศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอว่า ตนได้เตรียมที่จะประเด็นจะนำเสนอโดยเขียนบทความเรื่อง “คนมหาวิทยาลัย” ใต้บงการเสรีนิยมใหม่ ลงในกรุงเทพธุรกิจ ดังนั้นจะนำเสนอเพิ่มเติมจากข้อเขียนดังกล่าว คือ โลกแบบไหนที่เราต้องอาศัยอยู่? มันเป็นคำถามแบบเดียวกับนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากที่มีต่อเสรีนิยมใหม่ สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ในทุกวันนี้ คือ กระบวนการสร้างให้เสรีนิยมใหม่ เข้ามาควบคุมในความคิดและหัวใจของเรา นั่นคือการสร้างความเสี่ยงและความไม่แน่นอนตลอดเวลา Hegemonic Project risk uncertainty governmentality และเกิดจิตวิญญาณชุดใหม่ของทุนนิยม ตลาดของเสรีนิยมใหม่คือส่วนที่จะไม่สร้างความเท่าเทียมของแต่ละบุคคล ดังนั้น ตลาดของมหาวิทยาลัย คือ ตลาดของการผลิตความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้คน
“เสรีนิยมใหม่ ทำให้การแข่งขันกลายเป็นรูปแบบของความยุติธรรม แต่ต้องไม่ลืมว่าการแข่งขันนี้ไม่ใช่การแข่งขันที่เป็นธรรม เพราะรัฐถูกกันออกไปตั้งแต่ต้น ที่เรารู้สึกว่ามันยุติธรรมแต่มันไม่ใช่ พร้อมกันนี้มันกลายเป็นฐานของการมีอำนาจเหนือ”
ศ.ดร.อรรถจักร กล่าวอีกว่า ในกระบวนการนี้มันสร้างให้เสี่ยง ความไม่แน่นอน นำไปสู่การแข่งขันมากขึ้น และสร้างเป็นกระบวนการที่ทำให้คนรับรู้ว่าต้องแข่งขันกัน เครื่องมือ/มาตรการประเมินผลต่าง ๆ ถูกสร้างขึ้นมา กลับเป็นการสร้างลำดับชั้น และทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบคนในระดับล่างของการจ้างงาน และท้ายสุดของการแข่งขันนี้มันจะมีคนกลุ่มเดียวที่ได้ประโยชน์ winner takes it all ขณะที่พวกเราทั้งหมด คือ ผู้แพ้ loser รัฐที่ทำหน้าที่บริการและควบคุม service & control ภายใต้เสรีนิยมใหม่ก็ลดบทบาทของการให้บริการลงไป มันจึงเป็นตลาดที่ไม่มีการกำกับ
“เราจะทำอย่างไร What is to be done. เราหลับตาให้กับการแข่งขันมาหลายเกือบสิบปี หลังจากงานวันนี้ น่าจะมีการขยายมุมมอง ว่าจะสร้างการต่อสู่กับวิธีคิดของเสรีนิยมใหม่ (Hegemonic Project risk uncertainty governmentality) อย่างไร? เพื่อทำให้คนทุกระดับมีความเสี่ยงน้อยลง”
ผศ.อุทิศ อติมานะ สาขาสื่อศิลปะ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า หลักการของเสรีนิยมใหม่ก็มีการพัฒนามากขึ้น หลายประเทศมีการปรับหรือผสมผสานหลักการของมือที่มองเห็นและมือที่มองไม่เห็นเข้าไว้ด้วยกัน เช่น เยอรมัน มีรักษากลไกทางอุดมการณ์ ระบบการศึกษาที่จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกการตลาด หรือการกลไกการจัดการโดยเอกชนอย่างเดียว กระทั่งปัจจุบันโลกของการพัฒนาต้องประกอบด้วยคุณค่า 3 ด้าน หนึ่ง การแข่งขัน สอง คุณค่าของมนุษย์ ผ่านความเสมอภาคและความชอบธรรม และด้านที่สาม คือ สิ่งแวดล้อม
แนวคิดของการออกมหาวิทยาลัยนอกระบบ แง่หนึ่งก็ทำให้มีอิสระ คล่องตัว ทำให้มีความหลากหลาย เมื่อกลับมามองประเทศไทย พบว่า ทุนนิยมในประเทศไทยไม่ได้วางอยู่บนทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย การศึกษา กรณีไทยจึงเป็นปัญหาที่การประยุกต์ใช้ ไม่ยึดหลักการ ใช้สำนึกของพวกพ้อง ผู้นำสถาบันการศึกษา ผู้บริหารกลายเป็นก๊วนการเมือง ซึ่งเป็นวิกฤตการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัย ต้องมีการแก้ไขเพื่อให้อุดมคติของมหาวิทยาที่เป็นสหวิทยาการ และมีคุณค่าทางการตลาดด้วย
ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ภาควิชาสังคมวิทยามานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบหรือการแปรรูปกิจการของรัฐไม่ใช่เรื่องของการแข่งขัน หรือการเพิ่มประสิทธิภาพ แต่เป็นการลดต้นทุนภาครัฐ โดยการตัดทอนการสวัสดิการสาธารณะสำหรับคนทุกคน รัฐมองว่าสิ่งนี้เป็นสินค้า เช่นเดียวกับนักเศรษฐศาสตร์ก็เรียกว่าเป็นสินค้าสาธารณะ โดยสินค้าสาธารณะเหล่านี้จะถูกแปรให้เป็นสินค้าประเภทอื่น ๆ ต่อไป ดังนั้นเมื่อสิ่งใดเป็นสินค้ามันย่อมอยู่ในตลาด และหัวใจของตลาด คือ การแข่งขันและการสะสมทุน ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยไทยก็สร้างเกณฑ์การวัดและประเมินประสิทธิภาพโดยเน้นไปที่การบริหารจัดการต้นทุนและการสร้างกำไร คำถามมีอยู่ว่า มหาวิทยาลัยจะยังมีการเรียนการสอนศาสตร์หลายแขนง ๆ ที่อาจไม่ทำกำไรในระบบตลาดทุนนิยมหรือไม่ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยภายใต้เสรีนิยมใหม่ก็มีการผลักต้นทุนให้กับคนทำงาน เป็นการเพิ่มความสามารถผลิต ผ่านการขูดรีดแรงงานมากขึ้น เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้กำไรได้มากขึ้น
ตามที่อ.สมชาย ได้นำเสนอไปแล้วว่า ความคิดเรื่องเสรีนิยมใหม่ เข้มข้นขึ้นหลังปี 2534 จากการประวัติศาสตร์ของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าปัจจัยการเมืองต่อการผลักดันเสรีนิยมใหม่อย่างแรก คือ รัฐประหารและรัฐบาลเผด็จการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในช่วงปี 2534 ปี 2549 และ ปี 2557 ดังที่เดวิด ฮาร์วีย์ ชี้ว่าระบอบเผด็จการเป็นกลไกรัฐที่เหมาะสมที่สุดกับระบอบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ขณะที่ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่กลไกที่เสรีนิยมใหม่ต้องการ
“การทดลองใช้เสรีนิยมใหม่ในต่างประเทศ เช่น ชิลี 1971 เกิดขึ้นโดยรัฐบาลของปิโนเชต์ที่มาจากการรัฐประหาร หรือสหรัฐทดลองใช้แนวคิดเสรีนิยมใหม่ในลาตินอเมริกาพร้อม ๆ กับการทำรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งเช่นกัน ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจก็คือ ยิ่งมีรัฐบาลเผด็จการมากขึ้นเท่าไหร่ เสรีนิยมใหม่หรือการลิดรอนสวัสดิการของประชาชนจะยิ่งเข้มข้นขึ้น”
ปัจจัยถัดมา คือ วิกฤติเศรษฐกิจ สิ่งนี้ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการตัดสวัสดิการ เพื่อผลักดันแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ หากเราดูวิกฤติเศรษฐกิจในปีพ.ศ. 2540 World bank และ IMF กำหนดเงื่อนไขของการรับการช่วยเหลือว่าต้องนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ การแปรรูปโรงพยาบาล ซึ่งสัมพันธ์กับวิกฤตความชอบธรรม ดังนั้น เมื่อเราอยู่ภายใต้การเมืองที่เป็นเผด็จการ การต่อสู้หรือผลักเรื่องเพื่อให้เกิดสวัสดิการ หรือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ไม่มีทางเกิดขึ้น เพราะทหารกับนายทุนเป็นสิ่งที่ไปด้วยกัน
ดร.เก่งกิจ นำเสนอประเด็นต่อไปว่า หัวใจของเสรีนิยมใหม่ คือ การจ้างงานแบบยืดหยุ่น ที่เป็นการลดทอนความเข้มแข็งของคนทำงาน มันเป็นการขูดรีดบีบเอากำลังแรงงานที่อยู่ในตัวเราทุกคนออกมาให้ได้มากที่สุด ในเวลาที่น้อยที่สุด และจ่ายค่าแรงต่ำที่สุด ซึ่งสามารถเห็นการจ้างงานแบบยืดหยุ่นในหลายรูปแบบ เช่น การจ่ายงานนอก การจ้างผลิต การจ้างงานรายชิ้น การจ้างงานรายวัน รายชั่วโมง หรือระบบสัญญาจ้าง (Subcontract) นี่คือกลไกของนายทุนที่จะไม่ต้องเผชิญหน้ากับกลไกการต่อรอง ประเด็นสำคัญที่สุดคือ เสรีนิยมใหม่ต้องการให้มีการจ้างงานแบบหลาย ๆ ลำดับชั้น และใช้ระบบการจ้างงานหลายประเภทในที่ทำงานหรือภาคการผลิตเดียวกัน เพื่อทำให้การรวมกลุ่มของแรงงานทำได้ยากขึ้น เพราะแรงงานไม่ได้อยู่สัญญาจ้างระบบเดียวกันมหาวิทยาลัยจึงมีระบบการจ้างงานหลายแบบ เพื่อสลายสำนึกของการรวมกลุ่มเพื่อต่อรอง
อย่างไรก็ตาม หากจะพิจารณา เรื่องอำนาจการต่อรอง สามารถแบ่งได้ 2 ลักษณะใหญ่ คือ หนึ่งอำนาจที่เกิดจากการรวมกลุ่ม (ขบวนการแรงงาน) และ สอง อำนาจที่ขึ้นกับปัจจัยเชิงโครงสร้าง ที่ประกอบด้วย โครงสร้างการตลาด และอำนาจต่อรองในสถานที่ทำงาน สำหรับโครงสร้างการตลาด แบ่งได้เป็น เช่น ทักษะที่ขาดแคลน (แรงงานมีอำนาจต่อรองสอง) และสิ่งที่อย่างเน้นเป็นพิเศษในที่นี้คือ สวัสดิการของรัฐ หากสวัสดิการของรัฐที่เข้มแข็ง แรงงานก็มีจะมีอำนาจการต่อรอง มีอำนาจในการเลือกงานที่เหมาะสมมากขึ้น ในทางตรงข้ามเมื่อไม่มีรัฐสวัสดิการแรงงานก็ต้องยอมรับสภาพการจ้างงานที่อาจไม่เหมาะสม เพื่อให้หลุดพ้นจากการไม่มีงานทำหรือการไม่มีอำนาจเงินในการดูแลชีวิตตนเอง เราจึงไม่กล้าออกจากงาน ประท้วงนายจ้าง รวมกลุ่มเป็นสหภาพ การจ้างงานแบบยืดหยุ่นจึงอยู่ตรงข้ามกับการจัดสวัสดิการของรัฐ นี่คือสิ่งที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ คือ การที่รัฐไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง รัฐผลักภาระให้เราต้องจ่าย และมหาวิทยาลัยก็ผลักภาระไปให้ลูกค้าอีกที
ส่วนอำนาจการต่อรองในสถานที่ทำงาน นั่นคือ ตำแหน่งแห่งที่ซึ่งเราอยู่ในกระบวนการผลิต แบ่งเป็นแรงงานบางประเภทถูกแทนที่ได้ และถูกแทนที่ไม่ได้ กรณีการดึงแรงงานข้ามชาติจำนวนมหาศาล ทำให้แรงงานจำนวนมากในประเทศต่อรองไม่ได้ ขณะเดียวกันแรงงานกลุ่มนี้ก็สามารถถูกแทนที่ได้ตลอดเวลา ต่อรองไม่ได้ และไม่อยู่ในระบบสวัสดิการของรัฐ เพราะฉะนั้นเวลาต่อรองแรงงาน หากพูดเฉพาะแค่ต้องปกป้องแรงงานไทย จะไม่มีทางชนะเลย สิ่งที่เราต้องสู้แรงงานทุกคนในประเทศนี้ต้องได้สวัสดิการประเภทเดียวกัน หากเราเลือกปกป้องเฉพาะแรงงานไทย เท่ากับเรายอมรับว่าการแบ่งสัญญาจ้างเป็นหลาย ๆ ประเภท หลายลำดับชั้น นี่เป็นกับดักการต่อสู้ของขบวนการแรงงานด้วย
ดร.เก่งกิจ กล่าวสรุปว่า เมื่อมองย้อนกลับไปถึงการต่อสู้เรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมาจะเห็นต่อต้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ 2 แนวทางคือ แนวทางชาตินิยม กษัตริย์นิยมผ่านการถวายฎีกา ส่วนอีกแนวทาง คือ การสร้างขบวนการนักศึกษาต่อต้านเสรีนิยมใหม่ คำถามสำคัญที่ต้องคิดกันต่อไป เมื่อนักวิชาการจำนวนหนึ่งหรือคนทำงานในมหาวิทยาลัยไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นแรงงาน แต่มองว่าเป็นนักวิชาการ นักวิชาชีพ จึงไม่เห็นความจำเป็นของการแนวคิดในการตั้งสหภาพแรงงาน มีการตั้งสภาวิชาชีพขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ดังนั้นเราจะเห็นคนที่ต่อสู่เรื่องนี้ไม่ได้มาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่มาจากมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ ที่ผู้บริหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการการจ้างงาน
“การต่อสู้ เรื่องนี้จะเป็นอย่างไร จะนำไปสู่การจัดตั้งสหภาพของแรงงานในมหาวิทยาลัยหรือไม่ หรือจะรวมตัวกันเป็นสมาคมวิชาชีพ หรือจะไปถวายฎีฏาของรัฐสวัสดิการ นี่คือสิ่งที่ต้องพิจารณา เพราะการต่อสู้มันไม่ได้หล่นจากฟ้า หรือมีคนประทานให้ เราจะเห็นการประท้วงในหลายประเทศทั่วโลก ที่คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกระบบ และนักวิชาการเป็นคนต่อสู้ที่อ่อนด้อยที่สุดเพราะคิดว่าตัวเองเป็นชนชั้นปัญญาชนที่ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ในระบบการจ้างงานแบบไหน นักวิชาการ นักวิชาชีพต่าง ๆ ที่ทำงานในมหาวิทยาลัยต้องยอมรับตัวเองว่าเป็นชนชั้นกรรมกร และเมื่อไหร่ก็ตามที่เรียกร้องให้เกิดการจ้างงานที่ต่างจากคนอื่น มันจะตอกย้ำกลไกของเสรีนิยมใหม่ที่ทำให้แรงงานมันถูกซอยย่อยหลายรูปแบบซ้อนกัน และทำให้อำนาจการต่อรองมันลดลงไปเรื่อย ๆ”
อ.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง กล่าวถึง ประเด็นแรงงานที่ถูกลืมสภาวะที่ไม่ใช่คนในที่ทำงาน กรณีศึกษาแม่บ้านและภารโรง ซึ่งได้นำเสนอในงานอาเซียนเสวนา ครั้งที่ 28 ของศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหัวข้อ “อาถรรพ์อาเซียน: ผี สาง แรงงาน และกายาที่ลี้ลับ”cเมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา โดย อ.ภิญญพันธุ์ ได้นำเสนอประเด็น แรงงานผีในสถานศึกษา โดยแบ่งแม่บ้านเป็น 2 แบบคือ แม่บ้าน กับภารโรง ซึ่งมีสถานภาพต่ำกว่าทุกคน พื้นที่ของแม่บ้านจึงเป็นพื้นที่ต่ำศักดิ์ไร้ตัวตน หรือไม่มีใครรับรู้ ทั้งนี้ข้อเสนอของอ.ภิญญพันธุ์ คือมหาวิทยาลัยต้องจัดการพื้นที่ สนับสนุนการรวมตัวเรียกร้อง การผนึกกำลังรวมตัวกันระหว่างอาจารย์ พนักงาน แม่บ้าน เพื่อจะสร้างการเปลี่ยนแปลง สำหรับผู้สนใจอ่านรายละเอียดทั้งหมดอ่านได้ที่ เว็บไซต์ประชาไท แรงงานผี: สภาวะไม่ใช่คนในพื้นที่ทำงาน กรณีศึกษาแม่บ้านและภารโรง
อนึ่ง การจัดเวทีเสวนาในลักษณะนี้ คณะผู้ร่วมจัดจะมีในครั้งต่อ ๆ ไป ซึ่งจะมีการประชาสัมพันธ์และชวนเชิญเข้าร่วมกิจกรรมในอนาคตทั้งในระดับมหาวิทยาลัย และระหว่างมหาวิทยาลัย
ที่มา : ประชาธรรม วันที่ 19 ต.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.