เชื่อเขต ศก.พิเศษกระทบความมั่นคงทางอาหาร-เหลื่อมล้ำเพิ่ม หวั่นสวนกล้วยหอมจีนที่เชียงรายก่อวิกฤติแหล่งน้ำ-สารเคมีตกค้าง ผู้แทนสภาเกษตรแห่งชาติเผยล้งผลไม้เมืองจันทน์กลายเป็นของทุนจีน 98% แนวโน้มฮุบสวนผลไม้ต่อ แฉเจ้าหน้าที่รัฐกลายเป็นเซลล์แมนให้ต่างชาติแถมใช้เงินกองทุนอุดหนุน
วันที่ 17 ตุลาคม 2559 ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพฯ มูลนิธิชีววิถีหรืออ BIOTHAI ได้จัดงานสมัชชาความมั่นคงทางอาหาร ประจำปี 2559 ซึ่งมีตัวแทนกลุ่มเกษตรกร สมาชิกเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารจากทั่วประเทศ ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม และนักวิชาการเข้าร่วม โดยภายในงานมีการจัดเสวนา หัวข้อ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ การลงทุนข้ามชาติ และผลกระทบความมั่นคงทางอาหาร”
ดร.สมนึก จงมีวสิน ผู้แทนเครือข่ายเปลี่ยนตะวันออก กล่าวว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนจากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจเฟสที่ 1 คือ ราคาผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศจะถูกลง ที่ดินและทรัพยากรสาธารณะ ที่ทำกินถูกนำไปให้กลุ่มทุนใช้ประโยชน์ โดยที่ประชาชนไม่รู้มาก่อนว่าพื้นที่ของตนเองจะถูกประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ ชาวบ้านจึงกลายเป็นผู้บุกรุก ส่งผลให้เป็นการขยายความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและทำให้ประชาชนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนโยบายของรัฐ อีกทั้งหากไม่มีกระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะในพื้นที่ติดแม่น้ำ ก็อาจต้องประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างที่เกิดกับจังหวัดชลบุรีและระยองอย่างแน่นอน ซึ่งยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและพื้นที่ทางวัฒนธรรมด้วย จึงควรตั้งคำถามกลับไปที่รัฐบาลว่าประชาชนในพื้นที่จะได้อะไรจากความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้
ดร.สมนึกกล่าวอีกว่า การเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พรบ.) ทั้ง 2 ฉบับ ของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คือการรวมคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปไว้ในกฎหมายอย่างถาวร เช่น ร่างพรบ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ อนุญาตให้ผู้ลงทุนต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ 50 ปี และสามารถพาครอบครัวและพนักงานจากประเทศนั้นๆ เข้ามาทำงานได้ 5 ปี และสามารถต่ออายุทุก 3 ปี ส่วนร่าง พรบ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก อนุญาตให้ผู้ลงทุนถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ 99 ปี มีการยกเลิกกฎหมายเดินเรือน่านน้ำไทย คือสามารถถมทะเลได้ งอกหรือเพิ่มเติมเขตเศรษฐกิจพิเศษได้โดยไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ดังนั้นทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการแก้ไขร่างทั้งสองฉบับ
“เป็นนโยบายที่ส่งผลไปยิ่งกว่าความมั่นคง แต่กระทบต่ออธิปไตยทางอาหารของประชาชน ไทยลอกเลียนแผนเศรษฐกิจพิเศษจากจีน แต่ในจีนมีเพียงที่เสิ่นเจิ้นเท่านั้นที่ไปได้ ที่เทียนจินเพิ่งเกิดเหตุระเบิด ส่วนเขตอื่นๆ ก็กำลังจะเจ๊ง ทุนต่างชาติที่จะเข้ามาต้องการทำเพียงโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคเท่านั้น ประโยชน์ที่จะได้ก็เหมือนกับทัวร์ศูนย์เหรียญ” ดร.สมนึกกล่าว
นายสายัณน์ ข้ามหนึ่ง ผู้แทนสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า ในพื้นที่อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย มีการทำสวนกล้วยหอมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 โดยบริษัทหงต๋าจากจีนเป็นผู้เช่าที่ดินกว่า 2,700 ไร่ ก่อนมีการเปลี่ยนผู้เช่าเป็นห้างหุ้นส่วนพญาเม็งรายที่จดทะเบียนใหม่แทน เริ่มระยะแรกเริ่มปลูกไปแล้วกว่า 2 แสนต้น และภายในฤดูฝนปีนี้ตั้งเป้าปลูกให้เพิ่มอีกกว่า 5 แสนต้น เพื่อให้ครบตามเป้าหมาย 8 แสนต้น ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วคือการสูบน้ำจากแม่น้ำอิงเข้าสู่สวนกล้วยหอม ทำให้แม่น้ำอิงแห้งขอด จนมีมติในพื้นที่ให้งดสูบน้ำ จึงทำให้ต้องขุดน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ ซึ่งมีแผนขุดมากถึง 800 บ่อ
นายสายันต์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการใช้สารเคมีทั้งปุ๋ยและยาฆ่าแมลงอย่างเข้มข้น แต่อาจยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจน เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนปลูกระยะเริ่มต้น แต่จากการไปดูงานสวนกล้วยหอมที่มีอายุการดำเนินการมา 5 ปีแล้ว พบว่ามีการตกค้างของสารเคมีในแหล่งน้ำ ทำให้ปลาในลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงตายเป็นจำนวนมาก และใช้วิธีจ้างคนจากเมืองอื่นมาเป็นแรงงานในสวนกล้วยหอม แต่ให้ทำงานแค่ 2 ปี แล้วเปลี่ยนใหม่ เพราะกลัวจะได้รับสารเคมีตกค้างจนตาย ซึ่งที่เชียงรายน่าจะเห็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ชัดเจนเหมือนที่ลาวในอีก 3-4 ปีข้างหน้า เพราะจากการตรวจเลือดแรงงานในสวนกล้วยฝั่งไทยจำนวน 43 คน พบผู้มีความผิดปกติ 14 คน และมีความเสี่ยงอีก 10 คน ซึ่งน่าจะมีการติดตามผลเป็นระยะ เพราะเพิ่งจะเป็นปีแรกของการปลูกเท่านั้น
“ตอนนี้สิ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่กังวลมากที่สุดคือปัญหาน้ำและสารเคมีตกค้าง เพราะฤดูแล้งที่ผ่านมาพื้นที่ท้ายน้ำไม่สามารถใช้น้ำจากแม่น้ำอิงและน้ำบาดาลได้ เพราะเกิดอาการคันจนไม่สามารถนำไปผลิตน้ำประปา ความหลากหลายของแหล่งอาหารจะต้องหายไป เพราะสารเคมีจากสวนกล้วยจะผลส่งกระทบต่อระบบนิเวศของลุ่มแม่น้ำอิงและป่าชุมชนที่เป็นพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารอย่างแน่นอน” นายสายัณน์กล่าว
นายธีระ วงษ์เจริญ ผู้แทนสภาเกษตรแห่งชาติ กล่าวว่า ช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ล้งหรือโรงคัดบรรจุผลไม้ในจันทบุรีกลายเป็นล้งจีนไปกว่า 98 เปอร์เซ็นต์แล้ว เนื่องจากล้งไทยไม่สามารถแข่งขันกับล้งจีนที่มีเงินทุนมากกว่าได้ และพบว่ามีล้งที่จดทะเบียนถูกต้องเพียง 127 รายเท่านั้น ล้งจีนจึงเป็นผู้ผูกขาดราคารับซื้อผลผลิต โดยเฉพาะลำไย ทุเรียน และมังคุด โดยที่เกษตรกรไม่มีอำนาจต่อรอง ขณะที่กลไกของรัฐคือสหกรณ์การเกษตรก็ไม่มีความเข้มแข็งที่จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ “ห้องเย็นที่รัฐบาลสร้างไว้ให้สหกรณ์ 8 ห้อง ก็ไม่สามารถบริหารจัดการได้ ต้องปล่อยให้ล้งจีนมาเช่า เจ้าหน้าที่รัฐก็กลายเป็นเซลล์แมนให้กลุ่มทุน เกษตรกรถูกปล่อยตามยถากรรม ไม่สามารถรวมกลุ่มไปต่อรองราคาปุ๋ยหรือยาได้เลย พอราคาผลไม้ตกต่ำแล้วรัฐให้เงินกองทุนช่วยเหลือก็กลายไปเข้าล้งจีนหมด” นายธีระกล่าว
นายธีระกล่าวอีกว่า ตอนนี้ทุนจีนเข้ามายึดล้งไว้หมดแล้ว และต่อไปเมื่อมีเขตเศรษฐกิจพิเศษในภาคตะวันออก สิ่งที่เกิดขึ้นคือทุนจีนจะเข้ามาเช่าสวนผลไม้ทั้งหมด ทำให้ควบคุมทั้งระบบตั้งแต่การผลิต ความมั่งคงอาหารก็จะเป็นเพียงเศษอาหารมาถึงคนไทย เพราะผลผลิตทางการเกษตรถูกส่งออกไปทั้งหมด และรัฐก็ยังไม่มีองค์กรที่เตรียมไว้ดูแลปัญหาในด้านนี้เลย ดังนั้นสิ่งที่รัฐควรดำเนินการล่วงหน้าทันทีคือ การสนับสนุนสหกรณ์การเกษตรหรือจัดตั้งองค์กรกลางให้มีกลไกเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพเพื่อคานอำนาจกับกลุ่มทุนจีน และสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาของพื้นที่เองได้ เช่น การขอตั้งให้จังหวัดจันทบุรีเป็นพื้นที่แปรรูปสินค้าการเกษตรเพื่อไปสู้กับกลุ่มทุนจีน
ที่มา : สำนักข่าวชายขอบ วันที่ 17 ต.ค. 2559