นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้น ครองสิริราชสมบัติ เมื่อพุทธศักราช 2489 เป็นต้นมา พระองค์ได้เสด็จแปรพระราชฐาน และเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมพสกนิกร โดยเฉพาะประชาชนในชนบทและท้องถิ่นทุรกันดารทั่วราชอาณาจักรอย่างสม่ำเสมอ พระองค์ทรงประสบความทุกข์ยากของพสกนิกรด้วยพระองค์เอง โดยเฉพาะพสกนิกรที่เป็นเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ คนเหล่านี้ล้วนแต่ประสบปัญหาในการประกอบอาชีพ
เนื่องจากอาชีพการเกษตรนั้น ต้องพึ่งพาอาศัยปัจจัยต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ อันได้แก่ ดินน้ำ ลมฟ้าอากาศ รวมทั้งศัตรูพืชและสัตว์ชนิดต่างๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก นอกจากนี้การประกอบอาชีพทางการเกษตรยังขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมอื่นๆ เช่น สภาวะเศรษฐกิจและการตลาดเป็นสำคัญ ถ้าหากปีใดเศรษฐกิจดี ตลาดมีความต้องการสูง ราคาผลิตผลทางการเกษตรก็จะดีไปด้วย เกษตรกรที่ประกอบอาชีพนี้ก็จะขายผลิตผลได้ในราคาสูง สามารถมีรายได้เพียงพอต่อการครองชีพภายในครอบครัว แต่ถ้าหากปีใดเศรษฐกิจตกต่ำรายได้ไม่คุ้มกับต้นทุนที่ลงไป ประสบกับภาวะขาดทุน บางรายถึงกับล้มละลายไปก็มีไม่น้อย
ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงทราบและตระหนักถึงความทุกข์ยากของพสกนิกรของพระองค์ จึงมีพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาในการประกอบอาชีพของเกษตรกรโดยเน้นที่เกษตรกรยากจนในเขตน้ำฝน ซึ่งมีอยู่กว่าร้อยละ 70 ของเกษตรกรทั้งประเทศ เกษตรกรเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยมีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 5-15 ไร่
แนวทางในการแก้ปัญหาคือ การจัดการแหล่งน้ำให้พอเพียงต่อการปลูกพืชในช่วงที่ไม่มีฝน เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการปลูกพืช หากมีน้ำเพียงพอ เกษตรกรก็สามารถปลูกพืชได้ทั้งปี มีงานทำและมีรายได้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องอพยพเคลื่อนย้ายไปทำงานที่อื่น ดังกระแสพระราชดำรัสความว่า “หลักสำคัญต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่ามีชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้”
นอกจากการจัดการในเรื่องแหล่งน้ำแล้ว การแก้ปัญหาในการประกอบอาชีพตามแนวพระราชดำรินี้ ยังเน้นการจัดการระบบการปลูกพืชที่เหมาะสม เช่น แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวไว้บริโภคในครอบครัวและพื้นที่ปลูกพืชอื่นๆ ไว้บริโภค ใช้สอย และจำหน่ายแนวทางการประกอบอาชีพการเกษตรแบบนี้จะทำให้เกษตรกรมีงานทำ มีอาหารไว้บริโภค มีรายได้เพียงพอต่อการครองชีพ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามอัตภาพ อันจะเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ซึ่งจะก่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ นับเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติในอนาคต แนวคิดในการแก้ปัญหาการประกอบอาชีพการเกษตรตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเรียกว่า “ทฤษฎีใหม่”
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาให้ความหมายของ “ทฤษฎีใหม่” ไว้ว่า หมายถึงหลักการที่เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับเกษตรกรที่มีที่ดินอยู่ประมาณ 15 ไร่ ให้มีน้ำในการเกษตรและการเป็นอยู่อย่างพอเพียง เพื่อความพออยู่พอกิน ไม่อดอยาก มีปัจจัยสี่บำรุงชีวิตอย่างพอเพียงไม่ขาดแคลน และมีชีวิตที่เป็นสุขพอสมควรแก่อัตภาพ
สอดคล้องกับมุมมองของนายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำ ริ(กปร.ที่กล่าวถึงจุดเด่นของนายจันทร์ที ประทุมภา คว้ารางวัลชนะเลิศประเภทเกษตรทฤษฎีใหม่ในการประกวดผลงานโครงการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ครั้งที่ 1 ว่า คุณจันทร์ที นอกจากนำความรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้กับตนเองจนประสบความสำเร็จแล้ว ยังรู้จักความพอดี พอประมาณเป็นภูมิคุ้มกันตนเอง พร้อมยังถ่ายทอดให้แก่ชาวบ้านจนประสบความสำเร็จอีกด้วย
ในขณะที่นายจันทร์ที ประทุมภา ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศประเภทเกษตรทฤษฎีใหม่ อดีตจับกังขายแรงงานในต่างแดนที่โดนหลอกจนเป็นหนี้สินนับแสน แต่มาฟื้นชีวิตใหม่ได้ด้วยปรัชญาพอเพียง โดยยึดปณิธานที่ว่า “วิ่งตามเงินเดินเข้ากองไฟ วิ่งตามธรรมะเย็นฉ่ำชื่นใจ” ปรัชญาชีวิตที่พ่อจันทร์ที ประทุมภา เกษตรกรวัย 69 ปี แห่งบ้านโนนรัง เลขที่ 138 หมู่ 6 ต.ตลาดไทร อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา ยึดเป็นคติประจำชีวิต จนสามารถผ่านวิกฤติหนี้สินและมีชีวิตอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างสง่าผ่าเผย และกว่าครึ่งค่อนชีวิตที่ผ่านมาก็เป็นปราชญ์ชาวบ้านให้ความรู้แก่ชาวบ้านเกี่ยวกับเกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ จนได้รับการยอมรับ ชาวบ้านที่เข้าเรียนรู้สามารถนำไปใช้ได้อย่างประสบความสำเร็จ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“รางวัลที่ได้รับเป็นรางวัลที่ดีใจและภูมิใจมาก และไม่คาดฝันมาก่อนว่าจะได้รับถ้วยพระราชทานจากในหลวง ถือเป็นรางวัลสูงสุดในชีวิต ซึ่งสามารถสร้างแรงกำลังให้เราเดินหน้านำเอาปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงไปถ่ายทอดให้คนอื่นดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ต่อไป” นายจันทร์ที กล่าวอย่างภูมิใจ และบอกถึงความมุ่งมั่นขั้นต่อไปว่าจะพยายามทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จะไม่หยุดอยู่แค่นี้และจะขยายผลให้กว้างมากขึ้น ปัจจุบันตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้และฝึกอบรมให้เกษตรกรทั่วไป และมีความคิดที่จะสร้างเครือข่ายให้ทั่วประเทศ โดยไม่หวงวิชาแต่อย่างใด ซึ่งทั้งหมดมีเจตนารมณ์คือต้องการให้คนในประเทศพ้นจากวิกฤติหนี้สินจนสามารถพึ่งตนเองได้ ทั้งยังเป็นการตอบสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย
เจ้าของรางวัลเกษตรทฤษฎีใหม่เผยอีกว่า เริ่มแรกขุดสระกว้าง 6x20 เมตร ลึก 3 เมตร สามารถออมน้ำไว้ปลูกมะละกอ ฝรั่ง กล้วย ข่า และพืชต่างๆ จนเต็มพื้นที่ มีกินอิ่นจนดวงตาเห็นธรรมะ และธรรมชาติ สามารถสร้างและรักธรรมชาติจนธรรมชาติกลับมารักและสร้างตนและครอบครัว จนขยายพื้นที่เรื่อยๆ จาก 2 งาน เป็น 22 ไร่ มีสระน้ำกว่า 10 สระ พร้อมด้วยไม้ผล ไม้ใช้สอย หมู เป็ด ไก่ ปลา ต่อบำนาญชีวิตที่จะสามารถดูแลครอบครัวไปจนถึงลูกหลาน
“เกษตรทฤษฎีใหม่” จึงเป็นแนวทางหนึ่งซึ่งเป็นความหวังที่จะทำให้เกษตรกรไทยมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและจะทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศชาติโดยรวมมีความเข้มแข็งและมั่นคงตลอดไป เนื่องจากเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นการพัฒนาการประกอบอาชีพของเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อเกษตรกรมีอาหารไว้บริโภค มีงานทำ มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และครอบครัวอยู่อย่างอบอุ่นและมีความสุข ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีสภาพเช่นนี้แล้วก็จะทำให้ประเทศชาติมั่นคงทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เกษตรทฤษฎีใหม่จึงมีความสำคัญและจะเป็นการพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืนตลอดไป
----------------------------
หลักการ “เกษตรทฤษฎีใหม่” ตามแนวพระราชดำริ
การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นทฤษฎีแห่งการใช้ทรั
พยากรธรรมชาติและการบริหารงานในการทำการเกษตรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เพื่อแก้ไขปัญหาการเกษตร โดยการแบ่งพื้นที่การเกษตรออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30:30:30:10 ซึ่งหมายถึงพื้นที่ส่วนที่หนึ่งประมาณ 30% ให้ขุดสระเก็บกักน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝนและใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำต่างๆ (สามารถเลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกะเฉด ได้ด้วย) พื้นที่ส่วนที่สองประมาณ 30% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝนเพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันในครัวเรือนให้เพียงพอตลอดปี เพื่อตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้
สำหรับพื้นที่ส่วนที่สามประมาณ 30% ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย และพื้นที่ส่วนที่สี่ประมาณ 10% ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่นๆ (ถนน คันดิน กองฟาง ลานตาก กองปุ๋ยหมัก โรงเรือน โรงเพาะเห็ด คอกสัตว์ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักสวนครัวหลังบ้าน เป็นต้น
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 17 ต.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.