หากย้อนไปในปี 2476 สมัยรัชกาลที่7 คนในแวดวงข้าวคงจำได้ดีว่า“ข้าวปิ่นแก้วหรือสามกษัตริย์”ข้าวพันธุ์ดีของไทยที่มีถิ่นกำเนิดในพื้นที่จ.นครปฐมสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในการประกวดข้าวโลกที่ประเทศแคนาดา ทว่าปัจจุบันข้าวพันธุ์ดังกล่าวกลับหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย จนกระทั่งชาวชุมชนในต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม มีแนวคิดพลิกฟื้นตำนานข้าวปิ่นแก้วกลับมาสู่ถิ่นกำเนิดอีกครั้ง โดยสหกรณ์หมู่บ้านคลองโยงร่วมกับ มูลนิธิรากแก้ว ในเครือข่ายของมูลนิธิปิดทองหลังพระ มหาวิทยาลัยมหิดล กรมการข้าว หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชุมชน ในอำเภอพุทธมณฑลเดินหน้าจัดกิจกรรมพลิกฟื้นผืนนาคลองโยงสู่วิถีเดิม ๆ อีกครั้ง โดยพลังนักศึกษารากแก้วระดับปริญญษตรี โทและเอกจากคณะวิศวกรรม มหาวิทยาลัยมหิดลกว่า 30 ชีวิต ร่วมกันดำนา ณ แปลงขยายพันธุ์ข้าว สหกรณ์หมู่บ้านคลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ซึ่งเป็นพื้นที่โฉนดชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย
โชติ สายยืนยง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสหกรณ์หมู่
บ้านคลองโยง และปราชญ์ชุมชน กล่าวถึงที่มาของกิจกรรมในครั้งนี้ว่า ปัจจุบันชาวนาปลูกข้าวเพื่อขาย เมื่อได้เงินมาจึงนำไปซื้อข้าวมาบริโภค การปลูกข้าวเพื่อบริโภค รวมถึงวัฒนธรรมการทำนาที่ลงแขกกัน แทบไม่มีแล้วในพื้นที่นี้ สหกรณ์ฯ จึงมีแนวคิดที่จะปลูกข้าวเพื่อการบริโภคในชุมชน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวนาในพื้นที่ จึงไปศึกษาข้อมูลพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม พบว่าข้าวปิ่นแก้ว เป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองนครปฐมที่นิยมและมีชื่อเสียงมากในอดีต ปัจจุบันเป็นพันธุ์ข้าวหวงห้าม และหาไม่ได้แล้ว แต่ด้วยการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิรากแก้ว โดยประสานไปยังกรมการข้าว ชุมชนจึงได้รับพันธุ์ข้าวนี้มา
“พูดถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนที่นี่ อาชีพหลักคือทำนาปลูกข้าว ข้าวที่ปลูกเป็นพันธุ์พื้นเมืองคือปิ่นแก้ว ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิมของนครปฐม ตอนผมเด็ก ๆ ก็ยังมีการปลูกอยู่นะ พอความเจริญเข้ามาก็มีการเปลี่ยนแปลงทำสวนผลไม้บ้าง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากปัญหาน้ำท่วม ที่นี่น้ำท่วมทุกปีเป็นปกติ สุดท้ายทำสวนไม่ได้ก็ต้องกลับมาทำนาเหมือนเดิม เมื่อก่อนทำนาปีละครั้ง ปลูกข้าวเพื่อเก็บไว้กินเอง พอมาหลัง ๆ นโยบายรัฐเปลี่ยนไปเน้นปลูกข้าวโตไวเก็บเกี่ยวเร็ว จากข้าวปิ่นแก้วก็เปลี่ยนมาปลูกพันธุ์กข.ที่รัฐเข้ามาส่งเสริม แต่ข้าวพันธุ์นี้กินไม่ได้ เพราะมันแข็งกระด้างปลูกไว้ขายอย่างเดียวเหมาะนำไปแปรรูปมากกว่า”
ปราชญ์ชุมชนคนเดิมยอมรับว่
าคำขวัญประจำจังหวัดนครปฐมที่ว่าส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวสวย ก็แสดงว่าข้าวสารนครฐมน่าจะเป็นข้าวสารที่มีคุณภาพ จากการสอบถามผู้รู้ คนเฒ่าคนแก่เขาก็บอกตรงกันว่าข้าวที่นำมาใช้เป็นคำขวัญเป็นข้าวพันธุ์ปิ่นแก้ว เมื่อมาปรึกษาหารือกัยสมาชิกสหกรณ์และคนในชุมชนจึงมีความคิดร่วมกันว่าน่าจะตามคำขวัญเดิมกลับมาให้ได้ แต่จะทำอย่างไรเนื่องจากข้าวพันธุ์นี้ไม่มีการเก็บพันธุ์ข้าวไว้สูญหายไปหมดแล้ว จากนั้นก็ได้ทำเรื่องไปขอเมล็ดพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในที่สุดทางกรมการข้าวก็อนุญาตให้นำเมล็ดพันธุ์มาทำการขยายพันธุ์ต่อจำนวน 300 เมล็ด ซึ่งขณะนี้อยู่ในการเพาะกล้า คาดว่าจะนำมาเพาะปลูกในแปลงนาในฤดูกาลผลิตถัดไป
“ต้องขอขอบคุณกรมการข้าวที่เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวปิ่นแก้วไว้และมอบให้กับทางชุมชนมาขยายพันธุ์ต่อ หลังรอมากว่า 2 ปี เป็นการนำข้าวที่อยู่่ในพิพิธภัณฑ์ เอากลับคืนถิ่นได้มา 300 เมล็ด เป็นล็อตแรกกว่าจะได้กินจะเป็นปี 60 พื้นที่ตรงนี้เป็นโฉนดชุมชนแห่งแรกของประเท เราไม่ได้มองเชิงพาณิชย์ แต่มองถึงตำนานและคุณค่าที่มันสร้างให้กับชาวโลกเป็นข้าวน่าชื่นชมที่เราได้รางวัลที่1 ในอนาคตใครจะกินข้าวปิ่นแก้วต้องมากินที่นี่ที่เดียว เราจะไม่แปรรูปเหมือนข้าวทั่วไป แต่จะทำเป็นข้าวสาร มาคลองโยงต้องมากิน มาซื้อข้าวปิ่นแก้ว เพราะพันธุ์ข้าวเราไม่ให้ใครแต่จะเก็บไว้ที่คลองโยงที่เดียว ให้ชุมชนเป็นคนทำ มหาวิทยาลัยมาช่วยในเรื่ององค์ความรู้ เทคโนโลยีตรวจสอบคุณค่าทางโภชนการ”โชติกล่าวย้ำ
ดร.สุวัฒน์ เจียระคงมั่น ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว กล่าวถึงลักษณะเด่นของข้าวปิ่นแก้วว่าเป็นพันธุ์ข้าวไทย ที่ได้รับรางวัลที่ 1 จากการประกวดข้าวโลกที่เมืองเรไยนา (Regina) ประเทศแคนดา ในปี 2476 โดยลักษณะเด่นของข้าวปิ่นแก้วนั้น เมล็ดข้าวยาวเรียว ข้าวสุกนุ่ม มีกลิ่นหอม ไม่มีท้องไข่ แต่เนื่องจากเชื้อพันธุ์ข้าวปิ่นแก้วที่รักษาไว้ได้สูญหายไปเนื่องจากน้ำท่วมในปี 2485 อย่างไรก็ตาม ได้มีการเก็บพบเชื้อพันธุ์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพันธุ์ปิ่นแก้วเดิมที่ชนะการประกวดข้าวโลก โดยปัจจุบันกรมการข้าวเป็นผู้ดูแล
ด้าน ผศ.ดร.ณัฐวรรณ์ ยศวัฒน รองคณบดีฝ่ายวิศวกรรมเพื่
อความรับผิดชอบต่อสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะอาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวถึงกิจกรรมสืบสานตำนานข้าวปิ่นแก้วว่า นอกจากอาจารย์และนักศึกษาจะได้เรียนรู้การทำนาและสัมผัสกับวิถีชีวิตชุมชนแแล้วนั้นพื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติให้กับนักศึกษาและอาจารย์เพื่อนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมศาสตร์ และศาสตร์ต่างๆ มาสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคมต่อไป
การพลิกผืนนาในพื้นที่สหกรณ์หมู่บ้านคลองโยง ต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม นอกจากจะฟื้นตำนานข้าวพื้นเมืองพันธุ์ของจังหวัดให้กลับคืนมาแล้วยังเป็นการสร้างโซเชียลแล๊บในชุมชนเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตชาวนาให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ในสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อวางรากฐานภาคการเกษตรของประเทศในอนาคตด้วย
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.