ใช้ ม. 44 แยกหนี้ดี-เสีย-ตั้งกองทุนแฮร์คัท ธ.ก.ส.
ทีมเศรษฐกิจของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นำเสนอการปฏิรูปโครงสร้างภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยใหม่ด้วยการขอให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 ประกาศ Hair Cut ตัดหนี้สะสมของเกษตรกรไทยทั้งประเทศแล้วให้แยกเป็น Bad Bank–Good Bank จัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อการฟื้นฟูหนี้ภาคเกษตรกรรมของประเทศ เช่นเดียวกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยดำเนินการร่วมกับกระทรวงการคลังมา
ขณะที่ Bad Bank ให้ดำเนินการเฉกเช่น บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน และธนาคารพาณิชย์ต่างๆที่ถูกแยกเป็นหนี้เสียออกไปต่างหากเพื่อขายหนี้นั้นให้กับผู้ที่ต้องการ หรือที่ยังมีความสามารถทั้งในและต่างประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โดยเหตุที่การปฏิรูปโครงสร้างภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย มีความจำเป็นต้องดำเนินการในหลายด้านไปพร้อมๆกัน ที่ผ่านมา แม้ว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีมาตรการหลายอย่างเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มแล้ว แต่สิ่งที่ต้องทำ แต่ยังไม่ได้ทำ หรือทำไม่ครบวงจรในอันดับแรกซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ก็คือจะต้องมีการพิจารณาเรื่องการปรับลดหนี้ หรือตัดหนี้สินสะสมที่เกษตรกรทั้งประเทศที่มีอยู่ราว 60% ของประชากรไทย 65.7 ล้านคนลงให้ได้ เพื่อลดภาระที่เกษตรกรต่างต้องแบกรับอยู่
“ในช่วงเกิดวิกฤติค่าเงินบาท หรือต้มยำกุ้ง รัฐบาลยังยอมที่ปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ระบบสถาบันการเงิน และธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทยได้ หลังจากปิด 56 ไฟแนนซ์ไปแล้ว มีการแยก Bad Bank-Good Bank ตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องของหนี้ด้อยคุณภาพ หนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โดยการ Hair-Cut และจัดการขายหนี้นั้นออกไปก่อนจะเอาเงินส่งคืนให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่ ธปท.ดำเนินการอยู่” ทีมงานระดับสูงของรองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจกล่าว
มาตรการเช่นว่านี้ เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้ระบบสถาบันการเงิน และธนาคารพาณิชย์ไทยมีอันต้องล้มครืนลง โดยหลังจากมีการโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ออกไปแล้ว ระบบสถาบันการเงิน และธนาคารพาณิชย์ รวมถึงบรรดาลูกหนี้ทั่วไป โดยเฉพาะลูกหนี้ภาคธุรกิจเอกชน ก็ยังสามารถทำธุรกรรมการเงิน ให้บริการการเบิกจ่ายเงิน รวมถึงดำเนินการทางธุรกิจ และการผลิตต่อไปตามปกติได้
ส่วนกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ผู้ฝากเงินครั้งนั้น มีรายงานจาก ธปท.ระบุว่าคิดเป็นจำนวน 554,149 ล้านบาท ขณะที่มีการเพิ่มทุนให้แก่สถาบันการเงิน และธนาคารพาณิชย์ไป 169,139 ล้านบาท, ฟื้นฟูกิจการด้วยการบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) 650,750 ล้านบาท และมีค่าดอกเบี้ยจ่าย-ค่าใช้จ่ายอื่นสุทธิหลังหักเงินนำส่ง และเงินได้อื่นๆอีก 27,412 ล้านบาท รวมความเสียหายสุทธิทั้งสิ้น 1,401,450 ล้านบาท ส่วนเงินที่มีการนำส่งกองทุนฟื้นฟูฯเพื่อใช้หนี้หลังขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพไปแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 359,584 ล้านบาท เหลือเป็นยอดหนี้รวม 950,121.03 ล้านบาท
ในกรณีเดียวกัน หากมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูหนี้สินของเกษตรกรก็จะต้องมีการแยกหนี้ดี-หนี้เสียออกจากกัน แล้วตัดหนี้สูญที่สะสมมานานในธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออกไป ทั้งนี้ จากการสำรวจสภาวะความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ พบว่า 1 ครอบครัวมีรายได้ต่อหัวต่อปีเพียง 90,000 - 100,000 บาท หากนำมาหารครัวละ 3 คน แต่ละคนจะมีรายได้ต่อเดือนต่ำเพียง 2,500 บาทเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอที่จะมีชีวิตอยู่ได้ ขณะที่ราคาพืชผลการเกษตรปัจจุบันตกต่ำอย่างรุนแรง แม้ ครม.เพิ่งจะมีมติจ่ายเงินเยียวยาแก่เกษตรกรที่ยากจน ซึ่งไปขึ้นทะเบียนคนยากจนไว้ 2.85 ล้านคน คิดเป็นหนี้สินรวม 334,525 ล้านบาท โดยจ่ายให้แก่ผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท จำนวน 3,000 บาท ส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท ให้ 1,500 บาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอ
“ถ้ายังไม่ยื่นมือเข้าไปแก้หนี้
ให้เกษตรกรซึ่งต้องจ่ายดอกเบี้ย ธ.ก.ส. หรือเจ้าหนี้นอกระบบอยู่ แม้จะให้เงินช่วยไป ภาระต่างๆก็ไม่ได้ถูกปลดเปลื้อง ขณะที่ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ต้นทุนการผลิต และคุณภาพการผลิตต่อไร่ยังต่ำ ก็ไม่สามารถช่วยเกษตรกรได้อย่างถาวร และทำให้รัฐไม่สามารถทำดัชนีชี้วัดความสำเร็จในการปฏิรูปภาคเกษตรได้”
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 6 ต.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.