“มีทหาร มีตำรวจ มีทหารพราน มี อส. เข้ารังวัดพื้นที่ โดยให้ชาวบ้านนำรังวัด บอกว่าถ้าชาวบ้านไม่นำรังวัดก็จะจับเข้าคุก ชาวบ้านก็บอกว่าเราไม่ได้ทำผิดอะไร พื้นที่นี้เป็นที่ทำกินของเรา ถ้าจะจับก็จับทั้งหมู่บ้าน”
คำบอกเล่าของ พรภินันท์ โชติวิริยะนนท์ ตัวแทนกลุ่มคนแม่สอดรักษ์ถิ่น ในเวทีสัมมนาสาธารณะ “ธรรมาภิบาลกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ” เมื่อปลายเดือน ก.ย. 2559 ณ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ถ.นวมินทร์ กรุงเทพฯ สะท้อนความรู้สึก “เจ็บปวด” ของผู้ได้รับผลกระทบจาก“เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ซึ่ง อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นพื้นที่หนึ่งของนโยบายดังกล่าว
ตามกลไก “อำนาจพิเศษ” คือ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2558 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ลงวันที่ 15 พ.ค. 2558 ซึ่งทำให้สามารถ “เพิกถอนพื้นที่สาธารณประโยชน์” อาทิ ป่าสงวน ป่าไม้ถาวร ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ก่อน“แปลงเป็นที่ราชพัสดุ” สำหรับนำไปให้กรมธนารักษ์ ปล่อยเช่าแก่นักลงทุนในอนาคต ขณะที่ฝ่ายชาวบ้านต่างพยายามพิสูจน์ว่า..
“ทำมาหากิน-อยู่อาศัย” มานานหลายชั่วอายุคน!!!
สถานการณ์ล่าสุดในพื้นที่ พรภินันท์ระบุว่า วันนี้ชาวบ้านบางส่วน “ยอมรับสภาพ” เซ็นเอกสารรับเงินเยียวยาแลกกับการย้ายออกไป แต่คนกลุ่มนี้ก็ยัง “กังวล” ว่าจะได้รับจริงหรือไม่? เพราะเดิมฝ่ายรัฐ “รับปาก” ว่าจะจ่ายให้สิ้นเดือน ก.ย. 2559 แต่ต่อมาได้ “ผัดผ่อน” ไปเป็นสิ้นเดือน พ.ย. 2559 ขณะที่เธอกับชาวบ้านอีกกลุ่ม ยังยืนยัน..
“เดินหน้าสู้” แม้สุดท้ายอาจ “ไม่ได้อะไร” ก็ตาม!!!
“ภาครัฐเขาก็บอกว่าให้ยื่นฟ้องแล้วกัน แต่ถ้าฟ้องแล้วจะไม่ได้อะไร เราก็ตอบไปว่าถึงจะไม่ได้เงินแม้แต่บาทเดียวเราก็ยอม เราจะปกป้องผืนแผ่นดินของเรา เพื่อเขาจะได้ไม่เอาไปให้นายทุน ซึ่งหากจะให้เป็นประโยชน์ต่อรัฐจริงๆ มันต้องออกเป็น น.ส.ล. (หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเพื่อรับรองสิทธิการขอใช้ประโยชน์) ไม่ใช่ออกเป็นโฉนด” ตัวแทนกลุ่มคนแม่สอดรักษ์ถิ่น กล่าว
สอดคล้องกับที่ สมนึก ตุ้มสุภาพ นักกฎหมายจากศูนย์ศึกษาและพัฒนากฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งข้อสังเกตว่า ตามหลักแล้วที่ดินสาธารณประโยชน์“ห้ามขาย-แจกจ่าย-โอน” แต่หากเป็นที่ราชพัสดุสามารถทำได้ ทั้งนี้หากเป็นตามกฎหมายปกติ การแปลงที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นที่ราชพัสดุมีขั้นตอนหลายชั้น จึงกังวลว่าการใช้อำนาจพิเศษสร้าง “ทางลัด” อาจส่งผลให้ในระยะยาว...
ที่ดิน “หลุดลอย” ไปเป็น “ทรัพย์สิน” ของกลุ่มทุน!!!
“เงื่อนไขในอนาคต เราตอบไม่ได้ว่าจะยากขึ้นหรือง่ายขึ้นแต่ถามว่ามีโอกาสไหม? กฎหมายเขาไม่ได้ห้าม ฉะนั้นที่ราชพัสดุในเชิงอุตสาหกรรมมีโอกาสเปลี่ยนแปลงสภาพเป็นที่ของเอกชนได้”สมนึก ให้ความเห็น
ขณะที่ ประกาศิต สุวรรณไตรย์ ตัวแทนศูนย์ประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมมุกดาหาร กล่าวว่า แม้ จ.มุกดาหารเป็นอีกพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ขณะนี้ยังไม่มีใครมาลงทุน ทำให้ยังไม่มีข้อพิพาทระหว่างรัฐกับชาวบ้าน ถึงกระนั้นก็มีความกังวลเช่นกัน ว่าอุตสาหกรรมที่เข้ามา..
จะกระทบ “วิถีชีวิต” ของผู้คนในท้องถิ่นหรือไม่?
“เราเสนอว่าถ้าจะมีอุตสาหกรรม เราอยากได้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หรืออุตสาหกรรมสีเขียว ก็คือต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เกษตรของเรา ต่อยอดนวัตกรรม อย่างเช่นข้าวทำเป็นอาหาร ทำเป็นเครื่องสำอางได้ไหม? ยางพาราแปรรูปได้ไหม? ถ้าต่อยอดตรงนี้ได้ก็พร้อมให้การสนับสนุน” ตัวแทนภาคประชาชน จ.มุกดาหาร ระบุ
ไม่ต่างจาก วิเชียร ยะอิ่น ชาวบ้าน ต.โพนสว่าง อ.เมือง จ.หนองคาย ที่กล่าวว่า จ.หนองคาย มี 22 ตำบล ที่ถูกประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ชาวบ้านในพื้นที่ “ไม่มีข้อมูล” ยังไม่ทราบว่าจะมีอะไรเข้ามาบ้าง โดยเฉพาะโครงการ “โรงไฟฟ้าชีวมวล” จำนวน 2 โรง กำลังการผลิตแต่ละโรงไม่ถึง 10 เมกะวัตต์(MW) ซึ่งตามกฎหมายระบุว่าโรงไฟฟ้าลักษณะนี้..
ไม่ต้อง “ประเมินผลกระทบ” สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ!!!
“ทำไมโรงไฟฟ้าถึงไม่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เขาบอกว่าไม่ต้องศึกษาเพราะมันไม่ถึง 10 เมกะวัตต์ เราก็ไปสืบข้อมูลมา เขาจะแบ่งเป็น 2 โรง โรงละ 4.9 เมกะวัตต์มันยังไงกันแน่? หลีกเลี่ยงกฎหมายหรือเปล่า?” ชาวบ้านจาก จ.เชียงราย แสดงความกังวล
ด้าน ประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กล่าวถึงนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ว่าทั้งระยะที่ 1 (ตาก สงขลา มุกดาหาร สระแก้ว ตราด) และระยะที่ 2 (หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม กาญจนบุรี) ท่าทีของภาครัฐมักจะมองว่าประชาชนในพื้นที่เป็น “ผู้บุกรุก” หรือเป็น “นอมินีนายทุน” ที่ต้องผลักดันขับไล่ อีกทั้งยังออกกฎหมายที่ค่อนข้าง “ให้อำนาจรัฐอย่างสูง” เช่น คำสั่ง หน.คสช. ที่ 17/2558 ซึ่งแม้ว่าแต่ละพื้นที่จะมีสถานการณ์แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เหมือนอย่างหนึ่งคือส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คน..
โดยเฉพาะ “อาชีพหลัก” ในท้องถิ่นอย่าง “เกษตรกรรม”!!!
“สิ่งที่จะได้รับผลกระทบถ้วนหน้าหลังจากนั้น คือการพัฒนาที่มันจะเปลี่ยนโฉมของพื้นที่ไป เปลี่ยนแม่สอด เปลี่ยนแม่สาย เปลี่ยนมุกดาหาร เปลี่ยนไปหมดเลย จากชุมชนที่เป็นเกษตรกรรมกลายเป็นอุตสาหกรรมและการพัฒนาอย่างอื่นๆ ไป อันนี้ก็จะมีผลกระทบในวงกว้างค่อนข้างมาก” ประยงค์ ฝากทิ้งท้าย
แม้ข้อมูลไม่ว่าจากแหล่งใดจะชี้ตรงกันว่า “อุตสาหกรรมเป็นรายได้อันดับ 2 ของไทย” เป็นรองเพียงภาคบริการ แต่ก็ยัง “มากกว่า” ภาคเกษตรกรรม กระตุ้นให้ภาครัฐเพิ่มการลงทุนเพื่อหวังพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ถึงกระนั้นตามหลักการพัฒนาที่ดี “ต้องมีความเป็นธรรม” มีความสมดุลระหว่างคนทุกกลุ่มอาชีพ
อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ยังเคยกล่าวในฐานะที่ไทยเป็นผู้นำกลุ่ม G77 ในเวทีสหประชาชาติ (UN) ว่าไทยและกลุ่ม G77 พร้อมขับเคลื่อน “วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030” (SDGs 2030) โดยวาระดังกล่าวมี 17 ตัวชี้วัด ซึ่งรวมถึงการ “ลดความเหลื่อมล้ำ-ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน” ฉะนั้น..
โปรด “อย่าลืม” ชีวิตของบรรดา “คนเล็กคนน้อย” เหล่านี้ด้วย!!!
ที่มา : แนวหน้า วันที่ 6 ต.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.