กฤตภัค งามวาสีนนท์
ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กรณีศึกษาการกลายมาเป็นผู้ประกอบการในชนบทของเกษตรกรและการขยายสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
เกษตรกรในไต้หวันกับการกลายมาเป็นเป็นผู้ประกอบการในชนบทด้านการท่องเที่ยว
การก่อรูปของเกษตรกรในไต้หวัน เกิดขึ้นในพื้นที่ของการท่องเที่ยวและการพักผ่อนยามว่าง ภายใต้โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวในชนบทของรัฐบาลไต้หวันที่มีชื่อว่า Pick-Your-Own farms (PYO) ซึ่งก็คือการสนับสนุนให้เกษตรกรในชนบทของไต้หวันพัฒนาขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว (TPDAF, 1997) อย่างไรก็ตามกระบวนการดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการที่สัมพันธ์กับบริบททางสังคมและเศรษฐกิจของไต้หวันทั้งในเมืองและชนบท ที่อนุญาติให้กระบวนการก่อรูปของผู้ประกอบการในชนบทด้านการท่องเที่ยวกลายเป็นจริงขึ้นมา (Lee, 2005)
การก่อรูปของผู้ประกอบการในชนบทของไต้หวัน ในด้านแรกสัมพันธ์กับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม กล่าวคือ ตั้งแต่ช่วงหลังทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในไต้หวันได้ทำให้รายได้โดยเฉลี่ย (average income) ของคนไต้หวันปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้คนที่อยู่ในเขตเมืองที่การเพิ่มขึ้นของรายได้โดยเฉลี่ย ได้ส่งผลให้พวกเขามีกำลังในการบริโภคมากขึ้น และได้ขยายไปสู่การบริโภคเพื่อการท่องเที่ยวและการพักผ่อนย่อนใจ ซึ่งสัมพันธ์กับการขยายตัวของการเป็นผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวของเกษตรกรในสังคมไต้หวัน (Hsiau, 1984; National Statistics Bureau, 2000) นอกจากนั้นในปี 1999 รัฐบาลไต้หวันได้ประกาศลดเวลาการทำงานของแรงงานทั่วประเทศลง จาก 219.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในช่วงปี 1976 เหลือ 190.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือเท่ากับเป็นการลดเวลาการทำงานจาก 6 วัน ต่อสัปดาห์ เหลือ 5 วันต่อสัปดาห์ (National Statistics Bureau, 2000) ซึ่งการลดจำนวนเวลาการทำงานลงนี้เอง ที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ในการใช้เวลาว่าง คือ ผู้คนเริ่มใช้เวลาว่างด้วยการเดินทางออกไปท่องเที่ยวในชนบท และในขณะเดียวกันเส้นทางการคมนาคมที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการตัดถนนไฮเวย์เชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆของไต้หวันเข้าหากัน คือจากเดิมในปี 1976 ประเทศไต้หวัน มีถนนไฮเวย์อยู่เพียง 17,101 กิโลเมตร แต่ต่อมาในปี 1999 รัฐบาลไต้หวันได้ตัดถนนไฮเวย์เพิ่มขึ้นมาเป็น 20,319 กิโลเมตร พร้อมๆกับการขยายตัวของการถือครองรถยนต์จาก 205 คันต่อประชากร 10,000 คน เป็น 2426 คัน ต่อประชากร 10,000 คน ตั้งแต่ช่วงปี 1976 จนถึง ปี 1999 (ibid) โดยสรุปแล้วความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจในภาพใหญ่ได้ค่อยๆวางรากฐานให้กับการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในชนบทของไต้หวัน
อย่างไรก็ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพใหญ่ โดยเฉพาะการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ไม่ได้นำไปสู่การเกิดผู้ประกอบการในชนบทอย่างตรงไปตรงมา กล่าวคือ การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมได้ส่งผลให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างมหาศาลในภาคเกษตรกรรมซึ่งเคยเป็นพื้นที่ของการผลิตที่เน้นการใช้แรงงานคนและสัตว์อย่างเข้มข้น โดยการเข้ามาของเทคโนโลยีทางการเกษตร เช่น เครื่องมือทางการเกษตรรุ่นใหม่ๆ หรือการใช้ปุ๋ยและสารเคมีชีวภาพ ได้ทำให้ภาคเกษตรสามารถใช้แรงงานคนน้อยลง (แรงงานสำรองในภาคเกษตรจึงไหลไปสู่ภาคอุตสาหกรรม) ในการผลิตสินค้าเกษตร อย่างไรก็ตามผลลัพธ์อันไม่พึงประสงค์ที่ตามมาก็คือ ต้นทุนในการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ คือ จากทศวรรษที่ 1980 จนถึง 1990 ต้นทุนทางการผลิตของเกษตรกรในชนบทเพิ่มสูงขึ้นถึง 30% (COA, 1999) ในขณะที่ราคาของพืชผลทางการเกษตรกลับไม่เพิ่มตาม เนื่องจากรัฐบาลไต้หวันต้องการที่จะตรึงราคาอาหารให้ต่ำพอที่จะเลี้ยงแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ด้วยเหตุนี้รายได้ในภาคการเกษตรของเกษตรกรไต้หวันจึงลดลงจาก 39% ของรายได้ทั้งหมดของผู้คนในชนบทช่วงปี 1976 เหลือเพียง 17% ในปี 1998 (ibid) อย่างไรก็ตามรายได้ของภาคชนบทในไต้หวันโดยรวมกลับไม่ได้ลดลงตามการถดถอยของภาคเกษตร ในทางกลับกันรายได้ของครัวเรือนในชนบทกลับปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการขยายตัวของรายได้ที่มาจากนอกภาคการเกษตร (non-farm enterprises) ซึ่งในความหมายหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนจากสังคมชาวนาไปสู่สังคมของผู้ประกอบการในชนบท
สำหรับการปรับตัวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการในชนบทด้านการท่องเที่ยวของไต้หวันนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างกระทันหันหลังจากที่รัฐบาลไต้หวันหันมาสนับสนุนการท่องเที่ยวในชนบท แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีความสืบเนื่องภายในภาคเกษตรกรรมของไต้หวันเอง กล่าวคือ ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 เศรษฐกิจของไต้หวันขยายตัวอย่างมากทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร การขยายตัวของการผลิตข้าวเพื่อเป็นรากฐานให้กับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมได้ดำเนินมาถึงจุดที่มีส่วนเกินในการผลิตข้าวล้นตลาด รัฐบาลไต้หวันจึงได้พยายามแนะนำให้เกษตรกรในชนบทหันมาปลูกพืชชนิดอื่นแทนโดยเฉพาะผลไม้ (Chen, 1996) การปลูกผลไม้นั้นในผลตอบแทนที่ดีมากในระยะเริ่มต้น เนื่องจากการขยายตัวของผู้คนในเมือง ได้ทำให้การบริโภคผลไม้เพิ่มสูงขึ้น จนในที่สุดผลตอบแทนของการปลูกผลไม้สูงกว่าผลตอบแทนที่ได้รับจากการปลูกข้าว อย่างไรก็ตามตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา รัฐบาลไต้หวันได้พยายามอย่างมากในการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งการจะเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกได้นั้น รัฐบาลไต้หวันจะต้องเริ่มเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและยอมให้สินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในไต้หวัน การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจนี่เองที่ทำให้ตลาดสินค้าเกษตรภายในประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง สินค้าเกษตรในไต้หวันต้องเผชิญหน้าจากสินค้าเกษตรจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่า เนื่องจากประเทศที่ใหญ่กว่าย่อมมีกำลังแรงงานมากกว่าและสามารถผลิตสินค้าทางการเกษตรได้ในราคาที่ต่ำกว่า ส่งผลให้เกษตรกรในภาคชนบทของไต้หวันต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว (Lee, 2005)
การปรับตัวของเกษตรกรในไต้หวันนั้น ไม่ได้เริ่มต้นจากการขยับไปสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวในทันที แม้ว่ารัฐบาลไต้หวันจะเริ่มสนับสนุนการท่องเที่ยวในชนบทตั้งแต่มี 1965 เป็นต้นมา (Lee, 2005) ซึ่งอันที่จริงแล้วการปรับตัวในระลอกแรกของเกษตรกรในไต้หวันก็คือการพยายามที่จะถอยออกมาจากการเป็นผู้ผลิตให้กับตลาดสินค้าเกษตรที่ราคาตกต่ำ แล้วผันตัวมาเป็นผู้ขายโดยตรงให้กับผู้บริโภค เพื่อลดย่นระยะห่างระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคลง ซึ่งจะช่วยให้สามารถทำกำไรได้มากขึ้น โดยการปรับตัวในละรอกแรกของเกษตรกร ก็คือ การออกมาขายสินค้าเกษตรข้างทางให้กับนักท่องเที่ยวที่จะมาจอดซื้อสินค้าเมื่อออกมาท่องเที่ยวนอกตัวเมือง และในขณะเดียวกันก็ได้เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในสวนของเกษตรกรเอง ซึ่ง ณ จุดนี้นี่เองที่รัฐบาลไต้หวันเห็นโอกาสในการจะยกระดับผู้คนในชนบทที่ต้องการจะเปลี่ยนบทบาทของตนเองจากเกษตรมาสู่ผู้ขายหรือเจ้าของกิจการ ดังนั้นรัฐบาลไต้หวันจึงได้เริ่มโครงการ Pick-Your-Own farms ในช่วงปี 1982 ซึ่งเป็นโครงการที่จับการท่องเที่ยวในชนบทมาผนวกกับความต้องการที่จะเป็นผู้ประกอบการ (เพื่อหลุดออกจากความสัมพันธ์ทางตลาดที่เสียเปรียบ) ของเกษตรกรในไต้หวัน (ibid) และผลที่ได้ก็คือ การเกิดขึ้นของพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวแบบใหม่
ภายใต้โครงการ Pick-Your-Own farms รัฐบาลไต้หวันได้แนะนำให้เกษตรกรเปิดฟาร์มของตนเองเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปสัมผัสประสบการณ์ของชนบท ทั้งนี้เกษตรกรไต้หวันเริ่มต้นจากการเปิดฟาร์มให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเก็บผลไม้ในสวน ซึ่งเป็นการสร้างแหล่งรายได้แบบใหม่ที่ต่างจากการเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรในแบบเดิม อย่างไรก็ตามการขยายเข้าสู่พื้นที่ของการท่องเที่ยวไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น เนื่องจากเกษตรกรพบว่า การเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเก็บผลไม้เพื่อสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ไม่สามารถทำได้ตลอดทั้งปี ยกตัวอย่างเช่น ลิ้นจี่จะออกลูกเพียง 20 วันต่อปีเท่านั้น (Lee, 2005) ดังนั้นเกษตรกรจึงแก้ไขปัญหาด้วยการปลูกผลไม้มากกว่าหนึ่งอย่าง เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาในสวนได้ตลอดทั้งปี อย่างไรก็ตามการขยายจำนวนวันเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในสวนมากขึ้นต่อปี ไม่ได้ทำให้การใช้เวลาในสวนของนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะโดยเฉลี่ยแล้วนักท่องเที่ยวจะใช้เวลาเข้ามาเก็บผลไม้ในสวนเพียงแค่ 3 ชั่วโมงต่อครั้งเท่านั้น ดังนั้นเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากจำนวนเวลาพักผ่อนย่อนใจของนักท่องเที่ยวที่มากขึ้นได้อย่างเต็มที่ เกษตรกรในชนบทจึงได้ขยายการให้บริการไปสู่ที่พักและร้านอาหารในสวน ซึ่งสามารถดูซับเวลาและดึงดูดการจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น จนในที่สุดที่พักและร้านอาหารได้กลายเป็นแหล่งรายได้ใหม่ ที่ขยายตัวเข้ามาแทนที่แหล่งรายได้เดิมคือการผลิตสินค้าเกษตรแบบเดิม
โดยสรุปการขยายเข้าสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของภาคชนบทในไต้หวันนั้น เป็นผลลัพธ์มาจากปัจจัยในหลากหลายด้านประกอบกัน ทั้งความเปลี่ยนแปลงภายในภาคเกษตรของชนบทเอง ความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจในระดับมหภาค และการเปลี่ยนแปลงนโยบายของภาครัฐต่อชนบท ซึ่งทั้งหมดได้ช่วยในการก่อรูปของพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไต้หวันและการพัฒนาขึ้นเป็นผู้ประกอบการในชนบทของเกษตรกรไต้หวันในที่สุด
กรณีศึกษาเกษตรกรในศรีลังกากับการขยายสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ของการเกษตร
ศรีลังกาเป็นประเทศที่ภาคเกษตรกรรมมีขนาดใหญ่มาก คือ เป็น 24 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Kodithuwakku, 1997) และมีประชากร 2.2 ล้านคน (จากจำนวนประมาณ 17 ถึง 18 ล้านคน ในช่วงทศวรรษ 1990) ได้รับการจ้างงานโดยตรงในภาคเกษตรกรรม ซึ่งยังรวมไปถึงว่าภาคเกษตรยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประชากร 70% ของประเทศ ทั้งทางตรงและทางอ้อม (Samarathunga and Dasanayake, 1991) เพราะฉะนั้นลักษณะของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ผู้ประกอบการในชนบทของศรีลังกา จึงยังมีลักษณะที่สัมพันธ์อยู่กับภาคการเกษตรอย่างแน่บแน่น แตกต่างจากไต้หวันที่ภาคเกษตรมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆเมื่อเทียบกับการขยายตัวไปสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว (Lee, 2005)
ดังนั้นลักษณะของการขยายไปสู่การเป็นผู้ประกอบการในชนบทของเกษตรกรในศรีลังกา จึงมีลักษณะของการควบรวมระหว่างแหล่งรายได้เดิมในภาคเกษตรและแหล่งรายได้ใหม่ ทั้งภายในและภายนอกภาคการเกษตร หรือที่เรียกว่า “pluriactivity” (De Vries, 1993) ทั้งนี้การควบรวมแหล่งรายได้ทั้งภายในและภายนอกภาคการเกษตรนั้น ถือเป็นพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (diversification) ประเภทหนึ่ง แต่จะมีลักษณะที่ยังสัมพันธ์อยู่กับภาคการเกษตรอย่างแนบแน่น กล่าวคือ ภาคการเกษตรยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญพอๆกับแหล่งรายได้จากการขยายไปสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ซึ่งยังรวมไปถึงว่าภาคการเกษตร หรือ ปัจจัยการผลิตในภาคการเกษตรยังคงเป็นศูนย์รวมของการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ๆ เช่น ชาวนาที่ขยายไปสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร อาจสามารถสะสมทุนจนมากพอจนสามารถที่จะครอบครองที่ดินขนาดใหญ่ในชนบท และปล่อยที่ดินเหล่านั้นให้ชาวนารายย่อยเช่าที่ดินเพื่อปลูกข้าว ซึ่งในความหมายนี้การปล่อยที่ดินให้เช่าเพื่อปลูกข้าว ก็คือแหล่งรายได้ใหม่ของเกษตรกรที่ยังคงสัมพันธ์อยู่กับภาคเกษตรกรรมอย่างแน่บแน่น (Silva and Kodithuwakku, 2011) ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะแตกต่างอย่างมากกับเกษตรกรที่ขยายไปสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลุดออกจากภาคเกษตรกรไปเลย เช่น การผลิตขนมอบขายผ่าน e-commerce ของผู้ประกอบการชนบทในประเทศมาเลเซีย (Hashim, et.al., 2011)
อย่างไรก็ตามการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการในชนบทของศรีลังกาที่สัมพันธ์อย่างแนบแน่นอยู่กับภาคการเกษตร ไม่ได้ดำเนินไปอย่างไร้บริบท ในทางการกลับกันการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการในชนบทและพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีความสืบเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงในภาพกว้างของเศรษฐกิจศรีลังกา กล่าวคือ ในช่วงก่อนปี 1977 รัฐบาลศรีลังกามีเป้าหมายอยู่ที่การผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากต่างประเทศ (import substitution) (Kodithuwakku, 1997) นโยบายดังกล่าวตั้งอยู่บนแผนการที่จะการันตีราคาของสินค้าเกษตร (Guaranteed price schemes) ผ่านการประกันราคาสินค้าเกษตรในตลาดและการรับซื้อสินค้าเกษตรโดยตรงจากรัฐบาล ซึ่งภายใต้กระบวนการดังกล่าวรัฐบาลศรีลังกาจะรับหน้าที่เป็นผู้กระจายสินค้าเกษตร (distributor) และผู้นำเข้าสินค้าเกษตรรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ทำให้รัฐบาลศรีลังกาสามารถควบคุมราคาและจำกัดการนำเข้าสินค้าเกษตรจากภายนอกประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Gunatileke et aI, 1992)
นอกจากนั้นรัฐบาลศรีลังกายังได้ทำการงดเว้นหรือลดการเก็บภาษีจากการนำเข้าปุ๋ย (ทำมาจนถึง 1988) ยาฆ่าแมลง และรถไถ เพื่อใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรภายในประเทศ (Gunatileke et. al., 1992; Moore, 1984) ทำให้ช่วงเวลาก่อนปี 1977 ภาคเกษตรกรรมในชนบทของศรีลังกาได้รับประโยชน์อย่างมากจากการปกป้องและสนับสนุนจากรัฐบาลศรีลังกา เพราะฉะนั้นจึงอาจสรุปได้ว่าการพัฒนาภาคเกษตรกรรมในชนบทของศรีลังกาก่อนปี 1977 ถูกควบคุมและถูกสร้างให้ต้องพึ่งพาการพัฒนาจากภาครัฐ (Kodithuwakku, 1997)
อย่างไรก็ตามการพึ่งพาการพัฒนาและพึ่งพิงการสนับสนุนอย่างมหาศาลจากภาครัฐได้กลายเป็นดาบสองคม เพราะหลังจากปี 1977 เป็นต้นมา พรรค UNP (United National Party) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลภายใต้การนำของ J. R. Jayewardene ซึ่งประกาศตัวสนับสนุนการเปิดเสรีทางการค้าและนโยบายการต่างประเทศที่สนับสนุนสหรัฐอเมริกา ได้ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงทิศทางเศรษฐกิจของประเทศศรีลังกา ที่จากเดิมก่อนปี 1977 ศรีลังกามีนโยบายส่งเสริมการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้าเกษตร แต่พอพรรค UNP เข้ามาหลังปี 1977 ได้ตัดสินใจเปลี่ยนทิศทางของนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไปสู่การส่งเสริมการส่งออกและการเปิดเสรีทางการค้า (export-oriented free market economy) (Bruton et al., 1992) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทิศทางของนโยบายทางเศรษฐกิจดังกล่าว ได้ทำให้รัฐบาลศรีลังกาลดการช่วยเหลือเกษตรกรและยกเลิกการปกป้องตลาดของสินค้าเกษตรภายในประเทศ (Gunatilleke et al., 1992) การถอยห่างออกจากตลาดของรัฐบาลศรีลังกาและการยกเลิกการแทรกแซงตลาด มีเป้าหมายอยู่ที่การเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้นำตลาดแทนที่รัฐบาล ซึ่งในทางทฤษฎีก็คือการอาศัยภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการส่งออกสินค้าเกษตรโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ทั้งนี้ภาคเอกชนได้เข้ามาทำหน้าที่แทนรัฐทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี การออกสินเชื่อ และการทำตลาด (ibid) ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนอกจากจะเป็นการเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการผลิตที่เกษตรกรเคยอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์จากรัฐ ให้กลายเป็นความสัมพันธ์ทางการผลิตที่เกษตรกรต้องสัมพันธ์อยู่กับเอกชน แต่ความสัมพันธ์กับเอกชนไม่ได้อยู่ในรูปแบบของการอุปถัมภ์ เช่น ช่วยประกันราคาสินค้าเกษตร หรือ การช่วยลดต้นทุนการผลิต ในทางตรงข้ามความสัมพันธ์ที่เกษตรกรในชนบทมีกับเอกชน คือ ความสัมพันธ์ในเชิงตลาด ที่ราคาและต้นทุนของเกษตรกรจะถูกผูกอยู่กับตลาดเสรีที่ไม่มีความแน่นอน ส่งผลให้แหล่งรายได้ที่เคยมีความแน่นอนในภาคเกษตรถูกท้าทายจากการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตลาดที่ไม่ได้มีรัฐคอยให้ความช่วยเหลือ เมื่อเป็นเช่นนี้เกษตรกรในชนบทของศรีลังกาจึงต้องมองหาทางขยับขยายแหล่งรายได้ที่กว้างไปกว่าการผลิตสินค้าเกษตรภายใต้การช่วยเหลือของรัฐในแบบเดิม ซึ่งนั่นก็คือการปรับตัวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการชนบทของเกษตรกรในประเทศศรีลังกา
การปรับตัวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการและการขยายไปสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเกษตรกรในชนบทของประเทศศรีลังกาได้เกิดขึ้นในสองระนาบ กล่าวคือ ในระนาบแรก ได้เกิดการเคลื่อนย้ายออกไปหางานนอกภาคเกษตรของคนหนุ่มสาว เพื่อหาแหล่งรายได้ใหม่ เช่น การเข้าไปเป็นแรงงานรับจ้างในภาคอุตสาหกรรมที่พึ่งเกิดขึ้นหลัง ปี 1977 (Silva et al., 1999) และในระนาบที่สอง คือ การควบรวมแหล่งรายได้ใหม่ควบคู่ไปกับแหล่งรายได้เดิมในภาคเกษตรกรรม เพื่อแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรดั้งเดิมที่ตกต่ำและผันผวน เช่น ข้าว (ราคาข้าวที่ตกต่ำเป็นผลจากการเปิดเสรีตลาดสินค้าเกษตรและการถอยห่างจากตลาดของรัฐ) ซึ่งทำให้เกิดความพยายามที่จะมองหาโอกาสในการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น เช่น ซีเรียล ข้าวโพด และผลไม้ (World Bank, 2003)
แน่นอนว่าการขยายไปสู่การปลูกพืชแบบใหม่ที่ให้ผลกำไรมากกว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในกระบวนการก่อรูปของผู้ประกอบการชนบทในทุกประเทศ อย่างไรก็ตามในศรีลังกานั้นลักษณะของการควบรวมแหล่งรายได้ใหม่กับแหล่งรายได้เดิมในภาคเกษตรกรรมของคนแต่ละกลุ่มกลับมีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างน่าสนใจ กล่าวคือ จากงานศึกษาของ Lasandahaso de Silva และ Sarath Kodithuwakku (2011) ได้แบ่งประเภทของผู้ประกอบการในชนบทของศรีลังกาออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็นเกษตรกรร่ำรวย (better-off) กับกลุ่มที่เป็นเกษตรกรยากจน (worse-off) โดยเกษตรกรทั้งสองกลุ่มมีแนวทางในการสร้างแหล่งรายใหม่เพื่อจัดการกับความไม่แน่นอนของตลาดที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น เกษตรกรร่ำรวยสามารถที่จะขยายพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปสู่การปลูกผลไม้ซึ่งมีราคาดีกว่าสินค้าเกษตรแบบดั้งเดิมได้มากกว่าเกษตรกรที่ยากจน เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านทรัพยากร เช่น การถือครองที่ดิน (Kodithuwakku and Rosa, 2002)
ในอีกด้านหนึ่งแม้ว่าเกษตรกรร่ำรวยในชนบทจะมีความสามารถในการขยายไปสู่การปลูกสินค้าเกษตรชนิดใหม่ๆได้มากกว่าเกษตรกรที่ยากจนในชนบท แต่แหล่งรายได้สำคัญของเกษตรกรร่ำรวยกลับไม่ได้มาจากการปลูกพืช แต่มาจากแหล่งรายได้อื่นๆที่ไม่ใช่การทำการเกษตรโดยตรง (Weerahewa et al., 2007) ยกตัวอย่างเช่น การปล่อยเงินกู้ให้กับเกษตรกรรายเล็ก โดยใช้ที่ดินเป็นเครื่องค้ำประกัน ซึ่งแน่นอนว่าในสภาพที่ตลาดสินค้าเกษตรในประเทศเต็มไปด้วยความไม่มั่นคง เกษตรกรรายเล็กจึงเริ่มสูญเสียที่ดินให้กับเกษตรกรรายใหญ่ และเกษตรกรรายใหญ่ก็จะนำที่ดินเหล่านี้ไปให้เกษตรกรรายเล็กเช่าต่อ (Silva และ Kodithuwakku, 2011) ในกระบวนการนี้แหล่งรายได้ที่ไม่ได้มาจากภาคเกษตรโดยตรง แต่ยังสัมพันธ์แนบแน่นกับภาคการเกษตรได้ก่อให้เกิดการขยายไปสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจขึ้นมา ทั้งนี้เกษตรกรที่ร่ำรวยไม่ได้หยุดขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจของตัวเองแค่เรื่องของการให้เช่าที่ดิน แต่พวกเขาปรับตัวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการเต็มตัวด้วยการพัฒนาเป็นนายหน้าในการซื้อขายที่ดินในชนบท การจัดตั้งโรงสีกับโรงงานแปรรูปข้าวเป็นแป้ง เพื่อเพิ่มมูลค้าให้กับข้าวซึ่งเป็นสินค้าเกษตรแบบดั้งเดิมที่ราคาไม่ดีนักให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งภายใต้กระบวนการดังกล่าวเกษตรกรร่ำรวยยังได้เริ่มเรียนรู้ที่จะเก็งกำไรสินค้าเกษตรที่ได้จากการแปรรูป ผ่านการกักตุนสินค้าไว้ในโกดัง (ที่สร้างพร้อมๆกับโรงสีข้าว) เพื่อขายสินค้าเกษตรแปรรูปในช่วงเวลาที่สินค้าขาดแคลน (ibid)
และในขณะที่เกษตรร่ำรวยค่อยๆขยายพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจของตนเองขึ้นมาในรูปของการขยายบทบาทไปสู่การแปรรูปสินค้าเกษตรและการจัดการที่ดิน เกษตรกรที่ยากจนก็มีการสร้างแหล่งรายได้ใหม่เพื่อมาเสริมแหล่งรายได้เดิมจากการขายสินค้าเกษตรดั้งเดิมเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงฤดูแล้งของศรีลังกา ที่เรียกว่าฤดู Yala คือช่วงตั้งแต่เมษายนจนถึงกันยายน เกษตรกรยากจนได้ใช้พื้นที่แล้งน้ำในนาขนาดเล็กของตนเองปลูกกล้วยซึ่งเป็นสินค้าเกษตรซึ่งสามารถส่งออกได้ (Weerahewa et al., 2007) นอกจากนั้นเกษตรกรยากจนยังได้ใช้ช่วงฤดู Yala ซึ่งพวกเขาไม่จำเป็นต้องดูแลที่นามากนัก ออกมาทำงานรับจ้างให้กับโรงสีและโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรขนาดย่อมของเกษตรกรที่ร่ำรวย (Silva และ Kodithuwakku, 2011)
กล่าวโดยสรุปลักษณะของการก่อรูปของผู้ประกอบการในชนบทและการขยายไปสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเกษตรกรในศรีลังกา เป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีพลวัตและสัมพันธ์อยู่กับผู้คนหลายกลุ่ม เพราะแม้ว่าเกษตรกรทุกกลุ่มในชนบทจะได้รับแรงกระตุ้นจากการเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาลศรีลังกาต่อภาคเกษตรในรูปแบบเดียวกัน คือ การเผชิญหน้ากับความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรในตลาดเสรี แต่เกษตรกรแต่ละกลุ่มกลับมีความสามารถและเส้นทางในการปรับตัวไปสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ดังนั้นตัวอย่างในการศึกษาภาคชนบทของศรีลังกาจึงให้ภาพของการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการในชนบทและการขยายสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจว่าไม่ได้เกิดขึ้นกับเกษตรกรทุกคนในชนบทในระนาบเดียวกัน แต่มีความแตกต่างและหลากหลายที่สัมพันธ์กับบริบทของเกษตรกรกลุ่มนั้นๆว่าจะอนุญาติให้พวกเขาสามารถปรับตัวไปได้ในทิศทางใด
กรณีศึกษาเกษตรกรผู้ปลูกเมล็ดกาแฟในเม็กซิโกกับการขยายสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
เม็กซิโกถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศผู้ผลิตกาแฟที่สำคัญของโลกโดยเฉพาะกาแฟพันธุ์ Arabica (Eakin et al., 2005) ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจเม็กซิโก และยังสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับชีวิตของเกษตรมากมายในชนบทของประเทศ อย่างไรก็ตามความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของเศรษฐกิจเม็กซิโกตั้งแต่ช่วงหลังทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากให้กับเกษตรกรที่ปลูกเมล็ดกาแฟ จนพวกเขาต้องปรับตัวเข้าสู่กระบวนการกลายเป็นผู้ประกอบการและขยายสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Padron and Burger, 2015)
สภาพทางเศรษฐกิจของประเทศเม็กซิโก โดยเฉพาะในพื้นที่เกษตรกรรมในชนบทก่อนทศวรรษ 1990 นั้น สัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับนโยบายการรักษาเสถียรภาพด้านราคา (price stabilization policies) ที่อยู่ภายใต้การกำกับขององค์การการค้าของรัฐบาล (state-trading enterprise) ที่ชื่อว่า CONASUPO (Compan ̃ı ́a Nacional de Subsistencias Populares) ซึ่งถูกตั้งขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1960 เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรในด้านของราคา เช่น การช่วยรับซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าราคาของสินค้าเกษตรในตลาดโลก หรือ การควบคุมโควต้าการนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศเพื่อไม่ให้กระทบกับราคาของสินค้าเกษตรภายในประเทศ (Avalos-Sartorio, 2006)
อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่ช่วงทศวรรษที่ 1980 รัฐบาลเม็กซิโกเริ่มเข้าสู่การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม ภายใต้การเปลี่ยนนโยบายจากที่เน้นการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรโดยรัฐบาล ไปสู่นโยบายที่ให้ตลาดเป็นตัวกำหนดการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าเกษตร (market-based agricultural economy) เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพกว้าง (Avalos-Sartorio, 2006) ทั้งนี้การเข้ามาของนโยบายใหม่ได้กระทำผ่านการผูกราคาสินค้าเกษตรในประเทศเข้ากับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก ด้วยความหวังที่ว่าการผูกราคาสินค้าเกษตรในประเทศเข้ากับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกจะช่วยให้ราคาสินค้าเกษตรในประเทศลดต่ำลง ซึ่งจะส่งผลโดยตรงกับการลดต้นทุนด้านอาหารของแรงงานในประเทศ นอกจากนั้นในกระบวนการดังกล่าวรัฐยังสามารถที่จะตัดงบประมาณจำนวนมหาศาลที่เคยใช้ไปกับการอุ้มภาคการเกษตร และช่วยภาคอุตสาหกรรมในเมืองควบคุมต้นทุนเรื่องค่าแรงไปในตัว (ibid)
สำหรับนโยบายการปฎิรูปเศรษฐกิจดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ผ่านการเข้าร่วมการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ North American Free Trade Agreement (NAFTA) ซึ่งส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาลต่อภาคการเกษตรของเม็กซิโก โดยเฉพาะเกษตรกรในชนบทที่ทำไร่กาแฟ (Padron and Burger, 2015)
การเปลี่ยนนโนบายเชิงเศรษฐกิจของรัฐบาลเม็กซิโกตั้งแต่ช่วงปี 1990 เป็นต้นมา ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญต่อเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในชนบทของเม็กซิโก กล่าวคือ รัฐบาลเม็กซิโกได้ลดการช่วยเหลือด้านราคากับเกษตรผู้ปลูกเมล็ดกาแฟและยกเลิกกฎเกณฑ์ที่เคยใช้ในการคุ้มครองตลาดเมล็ดกาแฟภายในประเทศ จนส่งผลเกิดการไหลทะลักเข้ามาของเมล็ดกาแฟจากบรรษัทผู้ผลิตเมล็ดกาแฟข้ามชาติ ซึ่งทำให้อุปทานของเมล็ดกาแฟภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และราคาของเมล็ดกาแฟที่ยังไม่ถูกแปรรูปของเกษตรกรในประเทศตกต่ำลงอย่างเฉียบพลัน (Padron and Burger, 2015)
นอกจากนั้นการผูกราคาของเมล็ดกาแฟในประเทศเข้ากับราคาของเมล็ดกาแฟในตลาดโลก ยังส่งผลกระทบในแง่ลบต่อเกษตรกรมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเมื่อข้อตกลงนานาชาติว่าด้วยเรื่องกาแฟ หรือ International Coffee Agreement (ICA) ยุติลงไปในปี 1989 ส่งผลให้ไม่เหลือองค์กรหรือความร่วมมือใดๆในระดับนานาชาติที่สามารถมีอำนาจในการควบคุมอุปสงค์ของกาแฟในตลาดโลกได้ นอกจากนั้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน คือช่วงปี 1990 เวียดนามได้เข้ามาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดเมล็ดกาแฟของโลก (เดิมมีเม็กซิโก ฮอลดูรัส และกัวเตมาลา) ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นส่งผลให้อุปทานของกาแฟในตลาดโลกปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินการควบคุม และส่งผลทางอ้อม คือ ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในเม็กซิโกต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติการของราคาเมล็ดกาแฟที่ตกต่ำลงอย่างกระทันหัน จนพวกเขาถูกบังคับให้ต้องปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลง
ในด้านหนึ่งการเผชิญหน้ากับวิกฤติกาแฟของเกษตรกรในชนบทที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990 ได้สร้างรูปแบบของการปรับตัวไปสู่ผู้ประกอบการขึ้นมาสองชุด คือ หนึ่งการปรับตัวไปสู่ผู้ประกอบการในชนบทผ่านการขยายไปสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแนวดิ่ง (vertical diversification) เช่น การขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปสู่การเพิ่มมูลค่าให้กับเมล็ดกาแฟดิบ กับสอง คือ การขยายไปสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแนวนอน (horizontal diversification) เช่น การออกไปรับจ้างงานนอกภาคการเกษตร และ การเปลี่ยนไปสู่การปลูกพืชผมทางการเกษตรชนิดอื่นๆ เป็นต้น (Barghouti, 2004)
ทั้งนี้จากการศึกษาของ Pardon และ Burger (2015) พบว่า เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่สูง ซึ่งไม่มีถนนหนทางที่เชื่อมต่อกับเมืองได้สะดวก และเป็นชุมชนที่คนส่วนใหญ่ปลูกกาแฟมาตั้งแต่ช่วงก่อนวิกฤติราคากาแฟในปี 1990 มักจะเลือกปรับตัวผ่านการขยายพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแนวดิ่ง เช่น การแปรรูปเมล็ดกาแฟดิบ ผ่านการตากแห้ง การคั่วกาแฟ และการขอใบรับรองคุณภาพกาแฟ ซึ่งภายใต้กระบวนการดังกล่าวเกษตรกรจะสามารถขยายจากการปลูกกาแฟดิบเพื่อส่งให้พ่อค้าคนกลาง ไปสู่การขายกาแฟที่ผ่านกระบวนการเพิ่มมูลค่าแล้วให้กับผู้บริโภคโดยตรง (พ่อค้าคนกลางเข้ามารับหน้าที่แทนรัฐเมื่อรัฐวิสาหกิจของรัฐตัดสินใจถอยออกจากตลาด แต่ก็ไม่ได้ช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากยกเลิกการคุ้มครองตลาดของรัฐได้)
สำหรับสาเหตุที่เกษตรกรที่อยู่ในชุมชนที่ปลูกกาแฟมาตั้งแต่ก่อน 1990 ตัดสินใจขยายไปสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแนวดิ่ง (ทั้งที่ราคาของกาแฟในตลาดตกลงอย่างต่อเนื่อง) สัมพันธ์อยู่กับปัจจัยหลายด้าน กล่าวคือ ในด้านแรกเกษตรกรกลุ่มนี้ไม่มีช่องทางในการเชื่อมต่อกับเมืองใหญ่ได้สะดวก ทำให้การขยายไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อยู่นอกเหนือพื้นที่ทางการเกษตรเป็นไปได้ยาก เช่น การเปิดร้านค้า หรือ การเข้าไปเป็นแรงงานในเมือง และสองการที่คนส่วนใหญ่ในชุมชนปลูกต้นกาแฟกันอย่างแพร่หลาย ทำให้การเข้าถึงเทคโนโลยีการแปรรูปกาแฟเกิดขึ้นได้ในราคาที่ไม่สูงมากนัก เพราะคนทั้งชุมชนสามารถลงทุนและใช้ปัจจัยการผลิตร่วมกันได้ ทำให้การเลือกแปรรูปกาแฟเป็นการปรับตัวที่มีต้นทุนต่ำที่สุดและผู้คนยังสามารถรักษาอัตลักษณ์ของการเป็นผู้ผลิตกาแฟต่อไปได้ (Padron and Burger, 2015)
ในทางตรงกันข้ามเกษตรกรที่เลือกจะขยายไปสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแนวนอน มักจะเป็นเกษตรกรรายใหญ่ ที่มีที่ดินเยอะ แต่ขาดแรงงานที่เพียงพอต่อการปลูกกาแฟ (กาแฟเป็นพืชที่ต้องอาศัยแรงงานในการผลิตอย่างเข้มข้นเมื่อเทียบกับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น) อันเนื่องมาจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เชื่อมต่อกับเมืองใหญ่ได้สะดวก ทำให้เกษตรกรบางส่วนในพื้นที่ตัดสินใจขยายไปสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกพื้นที่ทางการเกษตร เช่น การออกไปเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้แรงงานทางการเกษตรในพื้นที่ดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการปลูกเมล็ดกาแฟดิบ เกษตรกรรายใหญ่ในบริเวณดังกล่าว จึงเลิกปลูกต้นกาแฟที่ราคาตกต่ำ และขยายไปสู่การปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นที่ราคาดีกว่าและพึ่งพิงแรงงานที่ใช้ในการผลิตต่ำกว่า (Padron and Burger, 2015)
กล่าวโดยสรุปความเปลี่ยนแปลงจากการถอยออกจากคุ้มครองตลาดสินค้าเกษตรของรัฐ และการปล่อยให้ตลาดสินค้าเกษตรเคลื่อนไหวอย่างเสรีโดยอิงกับราคาของสินค้าเกษตรในตลาดโลก ได้ส่งผลโดยตรงกับเกษตรกรผู้ปลูกเมล็ดกาแฟดิบในชนบทของประเทศเม็กซิโก โดยความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดรูปแบบของการปรับตัวในลักษณะของการขยายไปสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย ทั้งในแนวดิ่งที่ยังคงสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับการผลิตกาแฟและในแนวระนาบที่เกษตรกรบางกลุ่มขยายออกไปจากพื้นที่ของการผลิตกาแฟ หรือในอีกความหมายหนึ่งก็คือ การก่อรูปของผู้ประกอบการในชนบทในประเทศเม็กซิโกนั่นเอง
จะเห็นได้ว่าการก่อรูปของความเป็นผู้ประกอบการในชนบทและการขยายตัวของพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ ล้วนสัมพันธ์กับบริบทและเงื่อนไขของประเทศนั้นๆ ดังนั้นการจะทำความเข้าใจของการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการในชนบทได้ จึงต้องมองลึงลงไปยังเงื่อนไขภายในและภายนอกสังคมนั้นๆ ที่อนุญาติให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทผ่านการก่อรูปของสังคมผู้ประกอบการ
0000
BANK, W. 2003. Sri Lanka Promoting Agricultural and Rural Non-farm Sector Growth, Washington, World Bank.
BARGHOUTI, S. M. 2004. Agricultural diversification for the poor: Guidelines for practitioners, Washington, Agriculture and Rural Development Department, World Bank.
BRUTON, H. J., ABESEKARA, G., SALLRATNE, N. & YUSOF, Z. A. 1992. The Political Economy of Poverty Equity and Growth: Sri Lanka and Malaysia, Oxford, Oxford University Press.
BUREAU, N. S. 2000. Statistics of Social Development in R.O.C. Taipei: National Statistics Bureau [Online]. Available: http://www.stat.gov.tw [Accessed].
C. C. O. 1999. Basic Agricultural Statistics, Taipei, COA.
CHEN, W. T. 1996. Joining WTO and adjustment of food policies. Journal of Scientific Agriculture, 44, 161-72.
DE VRIES, W. M. 1993. Farming with Other Gainful Activities in the Netherlands. Sociologia Ruralis, XXXIII.
EAKIN, H., TUCKER, C. M. & CASTELLANOS, E. 2005. Market Shocks and Climate Variability: The Coffee Crisis in Mexico, Guatemala, and Honduras. Mountain Research and Development, 25, 304-309.
FORESTRY), T. T. P. D. O. A. A. 1997. The Planning and Establishing Principles for Pick-Your-Own (PYO) Farms, Nantou, Taiwan.
GUNATILEKE, G. 1992. The Entrepreneur and the Emerging Economic order. PIM Conference of Management Studies (BMICH Colombo). Postgraduate Institute of Management, University of Sri Jayawardenapura.
GUNATILEKE, G., PERERA, M., WANIGARATNE, R. A. M. C., FERNANDO, R. E., LAKSMAN, W. D., CHANDRASIRI, J. K. M. D. & WANIGARATNE, R. D. 1992. Rural Poverty in Sri Lanka: Priority Issues and Policy Measures. Asian Development Review, 10.
HASHIM, F., RAZAK, N. A. & AMIR, Z. 2011. Empowering rural women entrepreneurs with ict skills: An impact study of 1nita project in Malaysia. Procedia - Social and Behavioral Sciences, 15, 3779-3783.
HSIAU, S. Y. 1984. Study on the Development and Problems of Pick-Your-Own Farms in Central and Northern Taiwan. Department of Horticulture, National Taiwan University.
KODITHUWAKKU, K. A. S. S. 1997. Entrepreneurial Processes in an Apparently Uniform Context: A Study Of Rural Farmers in Sri Lanka. PhD, University of Stirling.
KODITHUWAKKU, S. S. & ROSA, P. 2002. The Entrepreneurial Process and Economic Success in a Constrained Environment. Journal of Business Venturing, 17, 431- 465.
LEE, M.-H. 2005. Farm tourism Co-operation in Taiwan. In: HALL, D., KIRKPATRICK, I. & MITCHELL, M. (eds.) Rural Tourism and Sustainable Business. Clevedon: Channel View Publications.
MOORE, M. 1984. Categorizing Space: Urban-Rural or Core-Periphery in Sri Lanka. The Journal of Development Studies, 20.
PADRÓN, B. R. & BURGER, K. 2015. Diversification and Labor Market Effects of the Mexican Coffee Crisis. World Development, 68, 19-29.
R. DE SILVA, L. & KODITHUWAKKU, S. S. 2011. Pluriactivity, Entrepreneurship and Socio-economic Success of Farming Households. In: ALSOS, G. A. (ed.) The handbook of research on entrepreneurship in agriculture and rural development. Cheltenham: Edward Elgar
SAMARATHUNGA, P. A. & DISSANAYAKE, D. M. W. T. 1991. Potentials and Problems of Income and Employment Generation Through Small-Scale Processing of Coarse Grains, Pulses, Roots and Tubers in Sri Lanka. CGPRT Publication.
SILVA, K. T., DE SILVA, S. B. D., KODITHUWAKKU, S., RAZZAK, M. G. M., ANANDA, J., GUNAWADENA, I. M. & LUX, D. 1999. No Future in Farming ?; The Potential Impact of Commercialization of Non-Plantation Agriculture on Rural Poverty in Sri Lanka, Kandy, Centre for Intersectoral Community Health Studies.
WEERAHEWA, J., KODITHUWAKKU, S. & UDAYANGANIE, D. 2007. Agricultural Diversification in Sri Lanka. In: JOSHI, P., GULATI, A. & CUMMINGS, R. (eds.) Agricultural diversification and smallholders in South Asia. New Delhi: Academic Foundation.
ÁVALOS-SARTORIO, B. 2006. What can we learn from past price stabilization policies and market reform in Mexico? Food Policy, 31, 313-327.
ที่มา : ประชาไท วันที่ 28 ก.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.