กฤตภัค งามวาสีนนท์
ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทที่สำคัญตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาก็คือ การเปลี่ยนผ่านของสังคมชนบทจากสังคมชาวนาสู่สังคมของผู้ประกอบการชนบท โดยความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากการเกิดขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆในชนบท เช่น การที่เกษตรกรเปลี่ยนจากการเป็นชาวนาที่มีรายได้มาจากการทำนาบนที่นาของตนเองเพียงอย่างเดียวไปสู่การเป็นผู้จัดการนาที่รับจ้างสัญญาในการทำนาในที่ดินของเกษตรกรรายอื่นอย่างครบวงจรตั้งแต่การเตรียมนาไปสู่การเก็บเกี่ยว หรือการที่เกษตรกรเปลี่ยนจากการหารายได้จากการเป็นชาวนา ไปสู่การหารายได้จากการนำรถเกี่ยวข้าวของตนเองไปรับเกี่ยวข้าวนอกชุมชนของตนเอง จนรายได้จากการรับเกี่ยวข้าวกลายเป็นรายได้หลักแทนการทำนาบนที่ดินของพวกเขา (ประภาส และ ตะวัน, 2558)
อย่างไรก็ตามความน่าสนใจของกระบวนการดังกล่าวก็คือ ผู้ประกอบการชนบทเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และอะไรคือเงื่อนไขของการเกิดผู้ประกอบการชนบท และเพื่อตอบคำถามดังกล่าวบทความชิ้นนี้จะมุ่งไปที่การศึกษาการเกิดขึ้นของพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (pluriactivity) หรือการเกิดขึ้นของการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย (diversification) ในฐานะองค์ประกอบที่สำคัญของการเป็นผู้ประกอบการชนบท
โดยการขยายตัวไปสู่การประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลายของเกษตรกร หรือ พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ถือเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญกับการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการชนบท เนื่องจากพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คือ การสร้างความหลากหลายในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กว้างขวางไปกว่าการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม เช่น ชาวนาไม่จำเป็นต้องปลูกข้าวอย่างเดียวเหมือนในอดีต แต่ชาวนาสามารถขยายไปสู่การใช้ที่นาของตัวเองเปิดเป็นโฮมสเตย์ หรือ การปล่อยเครื่องมือทางการเกษตรของตนเองให้เกษตรกรรายอื่นเช่า เป็นต้น (Knickel et al., 2003) ในขณะที่การเกิดขึ้นของผู้ประกอบการชนบท คือ การปรับตัวของเกษตรกรเข้าสู่การประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย และการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ที่อยู่นอกเหนือการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม (non-agricultural activities) จนในที่สุดแหล่งรายได้ใหม่ดังกล่าว ได้เข้ามาแทนที่แหล่งรายได้หลักในภาคการเกษตรแบบดั้งเดิม (Durand and Huylenbroeck, 2003; McElwee, 2008)
จะเห็นได้ว่าพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเกิดขึ้นของการเป็นผู้ประกอบการชนบท เป็นกระบวนการที่สัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น จนอาจกล่าวได้ว่าทั้งสองกระบวนการ คือ กระบวนการเดียวกัน ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทจากสังคมชาวนาสู่สังคมของผู้ประกอบการ ด้วยเหตุนี้การศึกษาเงื่อนไขการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการชนบท เพื่อให้สามารถเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของชนบท จึงสามารถทำได้ผ่านการศึกษาบริบทการเกิดขึ้นของพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเริ่มต้นจากการศึกษาเงื่อนไขของความเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในภาพกว้าง โดยเฉพาะในโลกตะวันตก ที่มีอิทธิพลต่อการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการชนบทและพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจในลักษณะต่างๆ ทั้งนี้การศึกษาเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในภาพใหญ่จะช่วยให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจโลกสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจชนบทอย่างไร และความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้นำไปสู่การสร้างแหล่งรายได้ใหม่ๆอย่างไรบ้าง และในส่วนสุดท้ายของการอธิบายความสัมพันธ์ดังกล่าว จะเป็นการนำตัวอย่างของการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการชนบทและพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจในส่วนอื่นๆของโลกที่นอกเหนือไปจากสังคมตะวันตก เช่น อเมริกากลาง เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออก มาใช้อธิบายเพื่อให้เห็นภาพการคลี่คลายไปสู่สังคมผู้ประกอบการชนบทและการเกิดขึ้นของพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
การเกิดขึ้นของผู้ประกอบการและพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจสัมพันธ์อย่างแนบแน่นอยู่กับการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ในสองด้าน คือ หนึ่งการเปลี่ยนโมเดลทางเศรษฐกิจจากการเน้นการผลิตอย่างเข้มข้น (productivist) ไปสู่ยุคหลังการผลิตอย่างเข้มข้น (post-productivist) ที่การผลิตทางเกษตรกรรมไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ การผลิตเพื่อให้ได้จำนวนสินค้าทางการเกษตรจำนวนมหาศาล แต่เน้นไปที่ความปลอดภัยและคุณภาพของสินค้าเกษตร ซึ่งยังรวมไปถึงการตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม อันส่งผลให้การผลิตทางการเกษตรแบบดั้งเดิมที่เน้นการผลิตสินค้าทางการเกษตรเชิงปริมาณค่อยๆหมดความสำคัญลง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านอื่นๆที่นอกเหนือไปจากการผลิตสินค้าทางการเกษตรเชิงปริมาณ ค่อยๆขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว (Sharpley and Vass, 2006) นอกจากนั้นความเปลี่ยนแปลงอีกด้านหนึ่งที่ส่งผลต่อการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการในชนบทก็คือ การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ (liberalization) ที่ส่งผลให้เกิดการทะลักล้นเข้ามาของสินค้าเกษตรราคาถูกจากประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา จนส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรในประเทศที่พึ่งเปิดเสรีทางเศรษฐกิจตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ร่วมไปกับข้อจำกัดของการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจที่ทำให้รัฐบาลของประเทศนั้นๆ ไม่สามารถที่จะเข้าไปช่วยพยุงราคาของสินค้าเกษตรได้ง่ายเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรต้องสร้างกลยุทธ์ใหม่ขึ้นมาเพื่อปรับตัวให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง ผ่านการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการสร้างแหล่งรายได้ที่กว้างขวางไปกว่าการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม (Lee, 2005; Padron and Burger, 2015) ในอีกด้านหนึ่งการขยายตัวของแนวคิดเสรีนิยิมใหม่ (neo-liberal) ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจในชนบทอย่างเฉียบพลัน (Chase, 2010) เพราะการที่รัฐถอยห่างจากตลาด และปล่อยให้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจ ได้ทำให้เกษตรกรมีตุ้นทุนอย่างมหาศาลในการปรับตัวให้เข้ากับทิศทางใหม่ของตลาด ทำให้เกษตรกรตัดสินใจเลือกกลยุทธ์ในการปรับตัวที่เป็นไปได้มากกว่า ซึ่งนั่นก็คือก็ตัดสินใจมุ่งสู่ทิศทางของการสร้างพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการยกระดับจากชาวนาไปเป็นผู้ประกอบการ
สำหรับบริบทของการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการในชนบทและพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านแรก สัมพันธ์อยู่กับการเปลี่ยนผ่านของโมเดลทางเศรษฐกิจที่เคยเน้นการผลิตอย่างเข้มข้นไปสู่สภาวะหลังการผลิตอย่างเข้มข้น กล่าวคือ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างมีนัยยะสำคัญในชนบทของประเทศอังกฤษ (Marsden and Murdoch, 1998) เนื่องจากการขาดแคลนอาหารในช่วงสงคราม ทำให้รัฐบาลอังกฤษมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ภาคชนบทกลายเป็นพื้นที่ของการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร (securing food supply) ของประเทศ (Burton, 2004) ทำให้เกิดความพยายามที่จะสร้างระบบซึ่งช่วยให้สามารถกระตุ้นให้เกิดการผลิตอาหารและสินค้าเกษตรอย่างเข้มข้น (maximising food production) โดยอาศัยการส่งเสริมเทคโนโลยีทางการผลิตให้เกษตรกรสามารถผลิตได้ในจำนวนมหาศาล ผ่านการให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อให้มีความชำนาญในการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เฉพาะอย่าง เช่น เกษตรกรที่ปลูกมันฝรั่งก็ปลูกมันฝรั่งอย่างเดียว หรือ เลี้ยงวัวนมก็เลี้ยงวันนมอย่างเดียว รวมทั้งจัดแบ่งพื้นที่ทางการผลิตให้แต่ละภูมิภาคมีความชำนาญในผลิตสินค้าเกษตรเฉพาะด้าน ทำให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าทางการเกษตรเฉพาะอย่างได้ในจำนวนครั้งละมากๆ (Sharpley and Vass, 2006)
อย่างไรก็ตามในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 โมเดลของการเน้นผลิตสินค้าเกษตรอย่างเข้มข้นเริ่มหมดพลังลง และได้ถูกท้าทายจากปัญหาด้านต่างๆ เช่น ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด (oversupply) ปัญหาการขาดแคลนงบประมาณของรัฐบาลที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริมด้านราคา ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากสินค้าเกษตรที่อาจเกิดการปนเปื้อนอันเนื่องมาจากการผลิตอย่างเข้มข้นที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการใช้สารเคมีที่ล้นเกินหรือคุณภาพในการผลิต และยังรวมไปถึงกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มองว่าโมเดลที่เน้นการผลิตสินค้าเกษตรอย่างเข้มข้น ได้ก่อปัญหามากมายต่อธรรมชาติและสุขภาพของมนุษย์ (Lowe et al., 1993) ทั้งหมดนี้จึงได้นำไปสู่การสับเปลี่ยนมุมมองและนโยบายของรัฐบาลอังกฤษต่อชนบทและภาคเกษตรกรรม ไปสู่ยุคหลังการผลิตอย่างเข้มข้น
สำหรับโมเดลทางเศรษฐกิจยุคหลังการผลิตอย่างเข้มข้นสัมพันธ์อยู่กับแนวความคิดที่ว่า การผลิตสินค้าเกษตรจะต้องมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมด้านคุณภาพมากกว่าเรื่องของปริมาณ เช่น การปลูกพืชปลอดสารพิษ และมุ่งเน้นให้เกิดการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในชนบท (sustainable rural development) ทั้งนี้มุมมองดังกล่าวได้ขยายไปสู่ปฏิบัติการณ์เชิงนโยบาย เช่น การประกาศใช้นโยบาย Single Farm Payment ในยุโรป ซึ่งเป็นการสนับสนุน (subsidy) ด้านเงินทุนแก่เกษตรกร (ที่ยอมทำตามข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิของสัตว์ และสุขภาพของผู้บริโภค) โดยเงินสนับสนุนจากรัฐจะแปรผันตามจำนวนการถือที่ดินในฟาร์ม (EU-LEX, 2016) ซึ่งหมายความว่าเงินที่เคยได้รับจากการประกันราคาพืชผลทางการเกษตรเฉพาะอย่าง หรือ การเข้าไปแทรกแซงตลาดด้านราคาของรัฐจะหมดไป ทำให้เกษตรกรไม่สามารถที่จะผลิตอย่างเข้มข้นได้เหมือนในช่วงก่อนทศวรรษ 1970s ที่รัฐเคยเข้ามาช่วยพยุงราคาของพืชผลทางการเกษตรเพื่อที่จะกระตุ้นให้เกิดการผลิตอาหารอย่างเข้มข้น หรือในอีกนัยยะหนึ่งก็คือรัฐพยายามที่จะลดการสนับสนุนด้านราคาแก่เกษตรกรลง เพื่อจัดการกับปัญหาผลผลิตที่ล้นตลาดของสินค้าเกษตร ซึ่งทำให้การผลิตอย่างเข้มข้นแบบดั้งเดิม (traditional agriculture) ซึ่งเคยเป็นรายได้หลักทางเดียวของเกษตรกร ไม่สามารถที่ดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้นการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคหลังการผลิตอย่างเข้มข้น ยังทำให้เกษตรกรต้องเผชิญหน้ากับความเข้มงวดของกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น (environmetal regulation) รวมไปถึงความพยายามของรัฐที่ต้องการจะดึงภาคเกษตรเข้ามามีส่วนร่วมกับการจัดการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในชนบท (Sharpley and Vass, 2006) ส่งผลให้เกษตรต้องแสวงหาแนวทางในการปรับตัวร่วมกับรัฐ ซึ่งนั่นก็คือการเกิดขึ้นของนโยบายที่จะสนับสนุนเกษตรกรให้ก้าวข้ามการผลิตแบบดั้งเดิม ไปสู่การประกอบพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ของการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (เช่น การปลูกพืขผักออกานิค) การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร การเป็นผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวในชนบท และยังรวมไปถึงว่าเกษตรกรที่ไม่สามารถปรับตัวต่อนโยบายใหม่ทางการเกษตรของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะออกไปหางานนอกภาคการเกษตรทำ เช่น การรับจ้าง หรือ การทำทั้งงานในภาคเกษตรร่วมกับงานนอกภาคเกษตร เพื่อสร้างแหล่งรายได้เพิ่มเติมให้เพียงพอต่อการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคหลังการผลิตอย่างเข้มข้น (Ilbery and Bowler, 1998; Burton, 2004)
ในอีกด้านหนึ่งการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการในชนบทสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา กล่าวคือ การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจได้ทำให้บรรษัทข้ามชาติ (private international trade) โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าเกษตร เข้ามาทำตลาดในประเทศต่างๆ ทำให้เกษตรกรที่เคยได้เปรียบจากการคุ้มครองด้านราคาโดยรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับบรรษัทข้ามชาติ (Padron and Burger, 2015)
โดยการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจนั้น สัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับการยอมรับข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่ต้องการให้สินค้าต่างๆสามารถหมุนเวียนได้อย่างเสรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของสินค้าเกษตร ซึ่งประเทศที่มีกำลังแรงงาน (labour force) มากกว่า จะมีความได้เปรียบด้านต้นทุนในการผลิตต่อหน่วย ทำให้ราคาสินค้าเกษตรในประเทศดังกล่าวมีราคาถูกมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีขนาดเล็กที่มีขนาดของกำลังแรงงานต่ำกว่า เช่น สินค้าเกษตรราคาถูกที่นำเข้ามาจากประเทศจีน (Lee, 2005) ดังนั้นเมื่อประเทศที่มีขนาดของกำลังแรงงานที่เล็กกว่าในเชิงเปรียบเทียบ ตัดสินใจเปิดเสรีทางการค้า ก็จะส่งผลโดยตรงกับเกษตรกรในกลุ่มประเทศดังกล่าว ที่ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติราคาสินค้าเกษตรในประเทศตกต่ำอย่างเฉียบพลัน อันเนื่องมาจากการไหลทะลักเข้ามาของสินค้าเกษตรจากกลุ่มประเทศที่มีขนาดของกำลังแรงงานใหญ่กว่า ส่งผลให้เกษตรกรในประเทศที่มีกำลังแรงงานขนาดเล็กกว่า ต้องถูกบังคับให้ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการผลิต ผ่านการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ที่กว้างขวางไปกว่าการผลิตในรูปแบบเดิม (ibid)
นอกจากนั้นการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจกับการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการในชนบทยังสัมพันธ์อยู่กับการขยายตัวของแนวคิดเสรีนิยมใหม่ (neo-liberal) ที่มุ่งเน้นให้รัฐค่อยๆถอยห่างออกจากตลาด และปล่อยให้กฎไกของตลาดเป็นตัวกำหนดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจในชนบท (Chase, 2010) โดยแนวคิดเสรีนิยมใหม่ส่งผลกระทบโดยตรงกับราคาสินค้าเกษตร เนื่องจากเมื่อรัฐตัดสินใจถอยห่างออกจากตลาด ก็เท่ากับว่ารัฐจะไม่เข้าไปแทรกแซงหรือช่วยเหลือด้านราคาแก่เกษตรกรอีกต่อไป และปล่อยให้ราคาของสินค้าเกษตรไปผูกอยู่กับกลไกของตลาด
การผูกราคาของสินค้าเกษตรไว้กับกลไกตลาด จะทำให้ราคาของสินค้าเกษตรตกต่ำลงในทันที โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่เคยสัมพันธ์อยู่กับการผลิตแบบดั้งเดิม เช่น ฝ้ายหรือข้าว เนื่องมาจากว่าอุปทานของสินค้าเกษตรมีมากเกินกว่าความต้องการของตลาด (เป็นผลจากนโยบายเก่าที่เน้นการผลิตสินค้าเกษตรเฉพาะอย่างอย่างเข้มข้น) ด้วยเหตุนี้เกษตรกรจึงมีทางเลือกในการปรับตัวอยู่สองทาง คือ หนึ่งเกษตรกรต้องหันไปปลูกสินค้าเกษตรชนิดใหม่ที่สามารถส่งออกได้ (export crops) ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องอาศัยความรู้และเทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่ ที่แตกต่างไปจากความรู้ดั้งเดิมที่เกษตรกรเคยมี ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนจากการปลูกฝ้ายมาสู่การปลูกมันฝรั่ง ซึ่งเป็นพืชคนละประเภท เกษตรกรจำเป็นที่จะต้องหาตลาดใหม่ องค์ความรู้ใหม่ และเทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่ ซึ่งการปรับตัวในลักษณะนี้จะมีต้นทุนที่สูง เนื่องจากเกษตรกรไม่ได้มีรัฐคอยช่วยเหลือเหมือนที่ผ่านมา ในขณะที่ทางเลือกที่สอง คือ การที่เกษตรกรเริ่มขยายไปสู่ทางเลือกในการสร้างรายได้ที่หลากหลาย โดยเฉพาะการก้าวข้ามการพึ่งพารายได้จากการผลิตสินค้าเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจชนิดอื่น หรือในอีกความหมายหนึ่งก็คือ การที่เกษตรกรตัดสินใจก้าวข้ามจากการเป็นชาวนาที่ต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากรัฐอย่างเข้มข้น ไปสู่การเป็นผู้ประกอบการในชนบท ที่มีแหล่งรายได้จากการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กว้างขวางไปกว่าการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม (Graziano da Silva, 2001; Steward, 2007)
การเกิดขึ้นของผู้ประกอบการในชนบท คือ การที่เกษตรกรหรือชาวนาเริ่มเข้าสู่การสร้างพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผ่านการขยายแหล่งรายได้ที่มาจากการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ (side venture) ที่นอกเหนือไปจากการผลิตทางการเกษตรแบบดั้งเดิม (Ferguson and Olofsson, 2011) โดยเฉพาะการเปลี่ยนจากการผลิตพืชผลทางเกษตรกรรมหรือปศุสัตว์อย่างเข้มข้นแบบดั้งเดิม ไปสู่การผลิตแบบใหม่ที่เน้นการเพิ่มมูลค่า (value-added) ของสินค้าและบริการ ยกตัวอย่างเช่น การเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการในด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น การสร้างฟาร์มสัตว์แบบเปิดที่ให้สัตว์สามารถอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ (free-range farm) เพื่อขายเนื้อสัตว์ในตลาดบนที่ผู้บริโภคเน้นการบริโภคเพื่อสุขภาพ (ปลอดยาปฏิชีวินะ ปลอดจีเอ็มโอ ปลอดการใช้ฮอร์โมน) หรือ การเปลี่ยนไปสู่ฟาร์มแบบออกานิค เพื่อขายผักปลอดสารพิษในราคาสูง เป็นต้น (Barlas et al., 2001; Damianos and Skuras, 1996) ทั้งนี้การเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการยังอาจรวมไปถึง การเพิ่มมูลค่าผ่านการแปรรูปสินค้าเกษตร (processing) เช่น การแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นสินค้าแช่แข็ง หรือการสร้างบรรจุภัณฑ์ (packaging) แบบใหม่เพื่อใช้ในการขายสินค้าเกษตรในตลาดและกลุ่มผู้บริโภคที่กว้างขวางมากขึ้น (Mahoney and Barbieri, 2003)
นอกจากการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการแล้ว ลักษณะของการเป็นผู้ประกอบการในชนบทยังรวมไปถึงการขยายบทบาทของเกษตรกรจากผู้ผลิตพืชผลทางการเกษตรไปสู่บทบาทของการเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้า ซึ่งหมายถึงการที่เกษตรกรเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมกับการทำตลาด (merchandising activities) เช่น การเริ่มมีหน้าร้านของตนเองในฟาร์ม (on-farm retailing) การใช้ช่องทางใหม่ๆ เช่น อินเตอร์เน็ต ในการโฆษณาสินค้าเกษตรของตนเอง เพื่อที่จะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง และยังรวมไปถึงการสร้างตลาดที่กว้างขวางและหลากหลาย ซึ่งลักษณะของพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจเช่นนี้ ย่อมแตกต่างไปจากการผลิตอย่างเข้มข้นแบบเดิมที่เกษตรกรเป็นเพียงผู้ผลิตให้กับพ่อค้าคนกลางเพื่อนำสินค้าออกไปสู่ตลาดอีกทอดหนึ่ง (McNally, 2001)
ในอีกด้านหนึ่งลักษณะของการกลายมาเป็นผู้ประกอบการของเกษตรกรในชนบท ยังอาจรวมไปถึงการขยายการใช้พื้นที่ทางการเกษตร ที่แต่เดินจำกัดอยู่เพียงแค่การผลิตพืชผลทางการเกษตรเชิงเดี่ยวอย่างเข้มข้น ไปสู่การใช้ที่ดินในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่นอกเหนือไปจากกิจกรรมทางการเกษตรแบบเดิม เช่น การเปลี่ยนฟาร์มให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาพักและใช้ชีวิตได้ในช่วงวันหยุด ซึ่งหมายความว่าพื้นที่ของฟาร์มแบบดั้งเดิมได้ถูกขยายให้กลายเป็นแหล่งรายได้ใหม่ ที่กว้างขวางกว่าการเป็นเพียงพื้นที่ของการผลิตพืชผลทางเกษตรกรรมอย่างเช้มข้น (Barbieri and Mshenga, 2008)
นอกจากนี้การกลายมาเป็นผู้ประกอบการในชนบทของเกษตรกร ยังนับไปถึงการขยายบทบาทของเกษตรกรในฐานะของชาวนาหรือชาวสวน ไปสู่บทบาทของการเป็นผู้ให้เช่า ทั้งการปล่อยเช่าที่ดินให้แก่เกษตรกรรายอื่นๆ หรือ การเป็นผู้ให้เช่าอุปกรณ์การผลิตที่ใช้ในการทำการเกษตร (Mahoney and Barbieri, 2003) ซึ่งยังรวมไปถึงการรับจ้างทำการผลิตตามสัญญา (contact services) เช่น การทำเกษตรพันธะสัญญากับบรรษัทเกษตร การเป็นแรงงานรับจ้างในการปลูกพืช การเป็นแรงงานรับจ้างในการดูแลสัตว์ และการรับจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยเจ้าของรถไถหรือเจ้าของอุปกรณ์เกษตร (Turner et al., 2003)
อย่างไรก็ตามลักษณะของการกลายมาเป็นผู้ประกอบการในชนบท หรือ การขยายเข้าสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเกษตรกร ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้บริบท แต่สัมพันธ์อยู่กับเงื่อนไขและบริบทภายในของสังคมนั้นๆ (McNally, 2001) ยกตัวอย่างเช่น เกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจจะมีโอกาสในการขยายไปสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อยู่นอกเหนือพื้นที่ทางเกษตรกรรม (non-agricultural activities) ได้มากกว่าเกษตรกรที่เน้นการปศุสัตว์ เพราะเกษตรกรที่เน้นการผลิตพืชเศรษฐกิจจะมีช่วงเวลาระหว่างฤดูกาลเก็บเกี่ยว ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถว่างเว้นจากการทำงานในภาคการเกษตร และขยายการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกไปนอกพื้นที่ทางการเกษตรได้ เช่น การรับจ้างสัญญาของเกษตรกรรายอื่นมาทำ หรือ การออกไปรับจ้างงานนอกภาคเกษตร (Ilbery et. al., 1997) ขณะที่เกษตรกรที่เน้นการปศุสัตว์อาจจะขยายไปสู่กิจกรรมทางทางเศรษฐกิจในลักษณะอื่นๆได้ แต่ก็จะจำกัดอยู่ในพื้นที่ของฟาร์ม เช่น ฟาร์มโคนมในตอนเหนือของอังกฤษ ได้ปรับพื้นที่บางส่วนในฟาร์มโคนมให้เป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว โดยพวกเขาก็ไม่ได้เลิกกิจการโคนม แต่ทำกิจการโคนมซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักต่อไป ควบคู่ไปกับกิจกรรมการท่องเที่ยว (Glover, 2011)
นอกจากนั้นขนาดของฟาร์มก็ยังมีอิทธิพลต่อลักษณะของการเป็นผู้ประกอบการในชนบท ยกตัวอย่างเช่น ฟาร์มขนาดใหญ่ในอังกฤษและเวลส์ จะมีโอกาสที่จะขยายไปสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เน้นไปในด้านของการให้เช่าเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตรได้ มากกว่าฟาร์มที่มีขนาดเล็กอย่างมีนัยยะสำคัญเพราะฟาร์มขนาดใหญ่ครอบครองทรัพยากรไว้มากกว่า แต่เมื่อเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวและการให้บริการด้านการพักผ่อนย่อนใจ (recreation) ฟาร์มขนาดเล็กและขนาดกลางกลับมีความสามารถในการขยายไปสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านนี้ไม่แตกต่างไปจากฟาร์มขนาดใหญ่ เนื่องจากการขยายไปสู่พื้นที่ของการท่องเที่ยวไม่ได้เรียกร้องการครอบครองปัจจัยในการผลิตที่มีราคาสูงเหมือนกับการให้เช่าเครื่องมือทางการเกษตร (McNally, 2001)
ดังนั้นในแง่หนึ่งลักษณะของการเป็นผู้ประกอบการและประเภทของพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงมีส่วนสัมพันธ์อย่างยิ่งกับปัจจัยภายใน คือ บริบทและเงื่อนไขของเกษตรกรในแต่ละสังคม
สำหรับบริบทและเงื่อนไขในระดับปัจจัยภายนอกก็คือ บริบททางเศรษฐกิจสังคมและความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค ซึ่งส่งผลต่อการขยายไปสู่การประกอบพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจและลักษณะของการเป็นผู้ประกอบการ ยกตัวอย่างเช่น การปรับลดชั่วโมงการทำงานของรัฐบาลในไต้หวัน จากที่เคยกำหนดให้ต้องทำงานอาทิตย์ละ 6 วัน เป็น 5 วัน ทำให้ผู้คนเริ่มเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ประกอบกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและพัฒนาระบบขนส่งภายในประเทศ ส่งผลให้การท่องเที่ยวในชนบทขยายตัวและเกษตรกรปรับตัวมาเป็นผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในชนบท (Lee, 2005) หรือในกรณีตัวอย่างของการเปิดเสรีเมล็ดกาแฟในเม็กซิโก ที่ทำให้บรรษัทข้ามชาตินำเมล็ดกาแฟราคาถูกเข้ามามากจนราคาเมล็ดกาแฟในประเทศตกต่ำ และทำให้เกษตรกรที่ปลูกเมล็ดกาแฟดิบในเม็กซิโก ต้องปรับตัวและขยายการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจสู่การแปรรูปเมล็ดกาแฟและกลายมาเป็นผู้จัดจำหน่ายเมล็ดกาแฟสำเร็จรูปไปในที่สุด (Padron and Burger, 2015)
ดังนั้นลักษณะของการเป็นผู้ประกอบการในชนบทและประเภทของพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ จึงสัมพันธ์อยู่กับเงื่อนไขและบริบทของปัจจัยภายในและภายนอกภาคชนบท ที่ทำให้เส้นทางของการก่อรูปเป็นผู้ประกอบการในชนบทของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นในส่วนถัดไปของบทความชิ้นนี้ จะนำกรณีศึกษาการขยายตัวของพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ มาเป็นตัวอย่างในการอธิบายให้เห็นลักษณะของการก่อรูปขึ้นเป็นผู้ประกอบการผ่านการขยายตัวของสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ
0000
ALSOS, G. A. & CARTER, S. 2006. Multiple business ownership in the Norwegian farm sector: Resource transfer and performance consequences. Journal of Rural Studies, 22, 313-322.
ALSOS, G. A., SARA LJUNGGREN, ELISABET WELTER, FRIEDERIKE 2011. Introduction: Researching Entrepreneurship in Agriculture and Rural Development. In: ALSOS, G. A. (ed.) The handbook of research on entrepreneurship in agriculture and rural development. Cheltenham: Edward Elgar.
BARBIERI, C. & MSHENGA, P. 2008. The role of firm and owner characteristics on the performance of agritourism farms. Sociologia Ruralis, 48, 166–183.
BARLAS, Y., DAMIANOS, D., DIMARA, E., KASIMIS, C. & SKURAS, C. 2001. Factors influencing the integration of alternative farm enterprises into the agro-food system. Rural Sociology, 66, 342–358.
BURTON, R. 2004a. Seeing through the “good farmer’s” eyes: towards developing an understanding of the social symbolic value of “productivist” behaviour. Sociologica Ruralis, 44, 195-215.
BURTON, R. J. F. 2004b. Seeing Through the ‘Good Farmer's’ Eyes: Towards Developing an Understanding of the Social Symbolic Value of ‘Productivist’ Behaviour. Sociologia Ruralis, 44, 195-215.
CANTILLON, R. 1755. Essai sur la nature du commerce en ge\0301ne\0301ral. Traduit de l'anglois. [By R. Cantillon.], Londres [Paris].
CARTER, S. 1998. Portfolio entrepreneurship in the farm sector: indigenous growth in rural areas. Entrepreneurship and Regional Development, 10, 17-32.
CHASE, J. 2010. The place of pluriactivity in Brazil's agrarian reform institutions. Journal of Rural Studies, 26, 85-93.
DAMIANOS, D. & SKURAS, D. 1996. Farm business and the development of alternative farm enterprises: an empirical analysis in Greece. Journal of Rural Studies, 12, 273-283.
DEVELOPMENT), O. O. F. E. C.-O. A. 1994. Tourism Strategies and Rural Development. Paris: OECD
DURAND, G. & HUYLENBROECK, G. V. 2003. Multifunctionality and Ru- 165
ral Development: A General Framework. In: GUIDO VAN HUYLENBROECK & DURAND, G. (eds.) Multifunctional Agriculture. A new paradigm for European Agriculture and Rural Development. USA: Ashgate Publishing Company.
FERGUSON, R. & OLOFSSON, C. 2011. The Development of New Ventures in Farm Businesses. In: ALSOS, G. A. (ed.) The handbook of research on entrepreneurship in agriculture and rural development. Cheltenham: Edward Elgar.
GRANDE, J. 2011. Entrepreneurial efforts and change in rural firms: three case studies of farms engaged in on-farm diversification. In: ALSOS, G. A. (ed.) The handbook of research on entrepreneurship in agriculture and rural development. Cheltenham: Edward Elgar.
GRAZIANO DA SILVA, J. 2001. Quem Precisa de uma Estrate ́gia de Desenvolvimento? Projeto Rurbano UNICAMP, Sa ̃o Paulo, Campinas.
ILBERY, B. & BOWLER, I. 1998. From agricultural productivism to post- productivism. In:
ILBERY, B. (ed.) The geography of rural change. Harlow: Longman.
KIRZNER, I. M. 1979. Perception, opportunity and profit : studies in the theory of entrepreneurship, Chicago ; London, University of Chicago Press.
KNICKEL, K., VAN DER PLOEG, J. D. & RENTING, H. 2003. Multifunktionalitat der Landwirtschaft und des landlichen Raumes: Welche
Funktionen sind eigentlich gemeint und wie sind deren Einkommens – und
Beschaftigungspotenziale einzuschatzen? GEWISOLA – Tagung 2003. Universitata Hohenheim.
LEE, M.-H. 2005. Farm tourism Co-operation in Taiwan. In: HALL, D., KIRKPATRICK, I. & MITCHELL, M. (eds.) Rural Tourism and Sustainable Business. Clevedon: Channel View Publications.
LEX, E. 2016. Single Farm Payment (SFP) [Online]. Available: http://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/?uri=URISERV%3Al11089 [Accessed].
LOWE, P., MURDOCH, J., MARSDEN, T., MUNTON, R. & FLYNN, A. 1993. Regulating the new rural spaces: the uneven development of land. Journal of Rural Studies, 9, 205-222.
MAHONEY, E. & BARBIERI, C. 2003. Farm and Ranch Diversification: Engaging the Future of Agriculture. The Graduate Institute of Leisure, Recreation, and Tourism Management. National Chiayi University.
MARSDEN, T. & MURDOCH, J. 1998. The shifting nature of rural governance and community participation. Journal of Rural Studies, 14, 1-4.
MCELWEE, G. 2008. A taxonomy of entrepreneurial farmers. International Journal of Entrepreneurship and Small Business, 6, 465-478.
MCNALLY, S. 2001. Farm diversification in England and Wales – what can we learn from the farm business survey? Journal of Rural Studies, 17, 247–257.
PADRÓN, B. R. & BURGER, K. 2015. Diversification and Labor Market Effects of the Mexican Coffee Crisis. World Development, 68, 19-29.
SAY, J. B. 1964. A treatise on political economy : or the production, distribution and consumption of wealth, New York, Augustus M Kelley, Bookseller.
SCHUMPETER, J. A. 1934. The theory of economic development : an inquiry into profits, capital, credit, interest, and the business cycle, Cambridge, Mass., Harvard U.P.
SHARPLEY, R. & VASS, A. 2006. Tourism, farming and diversification: An attitudinal study. Tourism Management, 27, 1040-1052.
SILVA, L. R. D. & KODITHUWAKKU, S. S. 2011. Pluriactivity, entrepreneurship and socio-economic success of farming households. In: ALSOS, G. A. (ed.) The handbook of research on entrepreneurship in agriculture and rural development. Cheltenham: Edward Elgar.
STEWARD, A. 2007. Nobody farms here anymore: livelihood diversification in the Amazonian community of Carva ̃o, a historical perspective. Agriculture and Human Values, 24, 75–92.
TURNER, M., WINTER, D., BARR, D., FOGERTY, M., ERRINGTON, A. & LOBLEY, M. R., M., 2003. Farm Diversification Activities 2002: Benchmarking Study. In: DEFRA, T. U. O. E. A. P. T. (ed.) CRR Research Report. UK: University of Exeter.
ประภาส ปิ่นตกแต่ง, ตะวัน วรรณรัตน์. การเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจการเมืองในชุมชนชนบทและการปรับตัวของชุมชนภาคกลางบางแห่ง. ใน: พงศกร เฉลิมชุติเดช, เกษรา ศรีนาคา, บรรณาธิการ. ชุดโครงการวิจัยเรื่อง ความเปลี่ยนแปลง "ชนบท" ในสังคมไทย: ประชาธิปไตยบนความเคลื่อนไหว. กรุงเทพ: สกว, 2558.
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. "ชนบท": ประชาธิปไตยบนความเคลื่อนไหว. ใน: พงศกร เฉลิมชุติเดช, เกษรา ศรีนาคา, บรรณาธิการ. ชุดโครงการวิจัยเรื่อง ความเปลี่ยนแปลง "ชนบท" ในสังคมไทย: ประชาธิปไตยบนความเคลื่อนไหว. กรุงเทพ: สกว, 2558.
ที่มา : ประชาไท วันที่ 26 ก.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.