เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2559 ที่สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน กรุงเทพมหานคร มีเวทีเสวนา “การลงทุนข้ามพรมแดนกับการอพยพแรงงานในอาเซียน :ความข้องเกี่ยวของอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยกับแรงงานข้ามชาติกัมพูชา” จัดโดยความร่วมมือของโปรเจกต์เสวนา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Project SEVANA)/ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย/เครือข่ายเกษตรกรพันธะสัญญา/มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) และ องค์กรยุติธรรมกัมพูชา (Equitable Cambodia) โดยมีตัวแทนภาคเอกชน ภาครัฐ องค์กรด้านสิทธิ์ และเครือข่ายชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากการลงทุนข้ามแดน ประเทศกัมพูชา และตัวแทนเกษตรกรไทย เข้าร่วมประมาณ 50 คน
นายเอียง วุดที ผู้อำนวยการโครงการยุติธรรมกัมพูชา กล่าวว่า สิทธิในที่ดินของกัมพูชาตกเป็นของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนเกือบ 80 เปอร์เซ็น ที่เหลือกว่า 20 เปอร์เซ็นเป็นที่ดินที่ประชาชนพอจะใช้เพื่อการทำการเกษตรประทังชีวิตเท่านั้น นอกนั้นในการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรส่วนมากเป็นการใช้ที่ดินในรูปแบบสัมปทานมากกว่า เพราะรัฐที่ส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ จะปล่อยที่ดินให้เอกชนสัมปทานระยะเวลาเช่าก็สูงสุด 99 ปี เหมือนประเทศไทย และด้วยระบบผูกขาดด้านที่ดินนี้ส่งผลให้รัฐบาลกัมพูชาและเอกชนมีกำไรมหาศาล จากผลผลิตที่เกิดขึ้น โดยสินค้าการเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม ในประเทศยกเว้นอาวุธ ที่มีฐานการผลิตในกัมพูชานั้นจะได้รับการยกเว้นภาษีส่งออกไปยังสหภาพยุโรป และบางประเทศที่ลงทุนในกัมพูชาระยะยาว เรียกว่า โครงการ Everything But Arms (EBA) ประชาชนที่ทำเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงชีพจึงมักต้องยื้อแย่งที่ดินจากส่วนนี้ และเกิดเป็นปัญหาระดับประเทศในที่สุด
นายเอียงกล่าวว่า กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ อุตสาหกรรมน้ำตาลที่ลงทุนโดยบริษัทเอกชนของไทย ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงมา ในประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะที่จังหวัดเกาะกง และโอดอเมียนเจย (อุดอนมีชัย ) สร้างปัญหาอย่างใหญ่หลวง เพราะช่วงปี2008 นั้น มีบางหมู่บ้านถูกเผาทำลาย อย่างเช่น หมู่บ้านโอบัดเมือน จังหวัดโอดอเมียนเจย จนเกิดปัญหาการแย่งยึดที่ดิน ประชาชนได้รับผลกระทบเกิดการอพยพแรงงานเข้าสู่ประเทศไทยจำนวนมาก ดังนั้นประชาชนที่ได้รับผลกระทบจึงรวมตัวกันเคลื่อนไหว และฟ้องศาลที่ประเทศอังกฤษ เพื่อให้สมาคมผู้รับซื้อสินค้าจากกัมพูชา ได้รับผิดชอบ และยกเลิกการรับซื้อสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตและจ้างงานที่ละเมิดสิทธิประชาชน และร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและช่วยเรียกร้องให้บริษัทน้ำตาลของไทยได้รับผิดชอบกับกรณีการสูญเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งทางบริษัทได้ประกาศถอนตัวออกไปในต้นปี 2015
ด้านนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีต กสม. กล่าวว่า ถึงสิทธิการถือครองที่ดินของเอกชนในประเทศกัมพูชาจะถือครองได้ไม่เกิน 1 หมื่นเฮกตาร์หรือประมาณ 5 พันไร่ แต่รัฐบาลกัมพูชาให้สัมปทานกับเอกชนเป็นแสนไร่ โดยผ่านนอมินี เหตุการณ์แทบทุกประเทศมีปัญหาคล้ายกันทั้งในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า ไทย ลาว และกัมพูชา ล้วนแล้วแต่เผชิญปัญหาคล้ายกันในด้านการแย่งชิงทรัพยากร โดยกรณีไทยก็เห็นได้จากสัมปทานแร่ และล่าสุดเป็นแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ด้านนางสาวเรโกะ ฮาริมา ผู้ประสานงานภูมิภาคเครือข่ายแรงงานแม่น้ำโขง (Mekong Migrant Network : MMN) กล่าวถึงผลการศึกษาการย้ายถิ่นอพยพของแรงงานกัมพูชาจำนวนมาก มีปัญหาที่ประเทศต้นทาง ไม่มีที่ดิน ทำกินจึงต้องย้ายถิ่นเพราะปัญหาปากท้อง และเศรษฐกิจรากหญ้า ถือว่า เป็นผู้อพยพทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการเร่งพัฒนาประเทศโดยอุตสาหกรรมหรือเกษตรพันธนาการ ไม่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเศรษฐกิจเลยแม้แต่น้อย จากการศึกษาพบว่า การสนับสนุนอุตสาหกรรมในกัมพูชาสร้างปัญหาแรงงานข้ามชาติหลั่งไหลเข้ามาในไทยมากขึ้น ทางเครือข่ายจึงมีคำแนะนำให้กัมพูชาแก้ไขด้านการพัฒนาประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกไม่ต้องย้ายถิ่น รวมถึงการเสริมสร้างพลังทางสังคม ชุมชน และเพิ่มบทบาทรัฐบาลกัมพูชาในการเจรจาต่อรองกับประเทศไทย เพื่อให้แรงงานข้ามชาติมีสถานภาพการทำงานที่ดีขึ้น ทั้งสิทธิแรงงาน การจ้างงาน รวมถึงอาเซียนควรหารือกันคุ้มครองแรงงานข้ามชาติร่วมกันอย่างเป็นระบบร่วมกัน ซึ่งหากประเทศในภูมิภาคทำได้ระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคลุ่มน้ำโขงก็จะดีขึ้น
นางฮอย เมย แรงงานข้ามชาติจากหมู่บ้านโอบัดเมือน ที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมน้ำตาล ให้สัมภาษณ์ว่า ตนและลูกชายคือ นาย อัน อุน ย้ายมาอยู่ประเทศไทยหลังเกิดวิกฤติน้ำเสีย สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ และไร้ที่ดินทำกิน โดยช่วงปี 2008 นั้นภายหลังที่ดินถูกทหารยึดคืนและเผาบ้านเรือน ตนได้ไปอาศัยอยู่บ้านญาติในหมู่บ้านใกล้เคียงและเลี้ยงหลาน แล้วให้ลูกชายกับภรรยาเดินทางลักลอบเข้าเมืองมายังประเทศไทย แต่ต่อมามีเครือข่ายสิทธิเข้าไปช่วยเหลือ ตนจึงได้มีโอกาสเดินทางไปหลายประเทศเพื่อเล่าปัญหาและร่วมให้ปากคำกับศาลอังกฤษ เกี่ยวกับกรณีอุตสาหกรรมน้ำตาล ช่วงปี2010-2015 ตนแทบไม่ได้พักต้องเดินทางไปหลายที่ ทั้งที่ใจอยากกลับบ้าน แต่ทำไม่ได้เพราะไม่มีที่ทำกิน ดินเสีย และรัฐกับเอกชนที่ลงทุนไม่ยอมคืนสิทธิที่ดินให้ ระยะหลังจึงย้ายมาอยู่กับลูกชายที่เมืองไทย
“เมื่อก่อนเราปลูกมะขาม หามัน หาของป่ากิน ปลูกข้าวได้ดี แต่พอโรงงานเข้ามาก็มายึดที่เรา ที่ๆ รัฐบาลเคยแบ่งให้ครอบครัวละ5เฮกตาร์ ต้องบอกก่อนว่า กว่าจะได้ที่ดินมาทำกินก็ใช้เวลาขอกับรัฐบาลนานมาก เพิ่งได้มาตอนปี 2003 ดีใจมากได้ทำนา ทำไร่ ปลูกผักพอกิน แต่ปี2008 บริษัทก็มาเอาไป ทำให้ชาวบ้าน 214ครัวเรือน ต้องบ้านแตก แยกย้ายกันไป ส่วนมากหนีเข้าประเทศไทย” นางฮอย กล่าว
นายอัน อุน แรงงานกัมพูชา อายุ 30ปี กล่าวว่า ตนเพิ่งได้ทำบัตรแรงงานถูกกฎหมายในประเทศไทยเมื่อปี 2013 ได้รับค่าแรงประมาณเดือนละ 8,000 บาท โดยระยะหลังที่มีข่าวแม่และชาวบ้านจากโอดอเมียนเจย เริ่มเคลื่อนไหวต่อสู้ที่ดินในระดับโลก ตนก็เริ่มมีความหวังในการต่อสู้และหวังจะพาครอบครัวกลับประเทศ แต่ตอนนี้รัฐบาลกัมพูชายังไม่คืนสิทธิที่ดินให้ ดังนั้นพวกตนจึงต้องรออย่างไร้ความหวัง เพราะแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏออกมาแล้วว่าบริษัทละเมิดสิทธิที่ดินทำกินและยอมถอนตัวออกไป แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีใครเยียวยา ทั้งฝ่ายรัฐและเอกชน ตนจึงอยากฝากถึงรัฐบาลถึงทุนไทย ว่า หากจะมีการลงทุนที่เอาเปรียบกันเช่นนี้ ก็พิจารณาให้ดี และให้คนไทยระวังไว้ว่าทุนข้ามชาติอันตราย
นางสาวเปรมฤดี ดาวเรือง ผู้ประสานงานโปรเจคเสวนา เอชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า หากเทียบการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน พบว่า ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านได้ถูกทุนจำนวนมากเข้ามารุกราน โดยอ้างการพัฒนาเป็นหลัก ซึ่งหากในอนาคตไม่มีการสร้างความตระหนักเรื่องดังกล่าว สังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเข้าสู่วิกฤติหนักกว่าเดิม
ที่มา : สำนักข่าวชายขอบ วันที่ 14 ก.ค. 2559