โดย...สุมาลี โพธิ์พยัคฆ์
เมื่อวันที่ 12-13 กันยายนที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งปีที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เปิดประตูบริการสังคมด้วยการประสานความร่วมมือกับองค์กรเครือข่าย โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานองค์กรพัฒนาเอกชนอีสาน จัดงานสัมมนาเพื่อเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบ นำเสนอปัญหาและมีนักวิชาการ พร้อมด้วยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมกันคิด ร่วมกันแก้ ภายใต้หัวข้อ 'เศรษฐกิจอีสาน กับความเป็นธรรมในสังคม' โดยปีนี้เป็นปีที่ 5 แล้ว พร้อมกับความฝันการก้าวผ่านยุคทุนนิยม ด้วยการปลุกกระดมเศรษฐกิจแนวใหม่อย่างเศรษฐกิจคุณธรรม ให้ฝังรากสู่สังคมอีสานบ้านเฮา
เบื้องแรกเปิดเวทีโดยองค์ปาถกฐาพิเศษ บำรุง คะโยธา นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนคนอีสาน ที่ขึ้นเวทีบอกเล่าถึงผลกระทบของคนอีสานที่ได้รับจากการพัฒนาจนทำให้กลายเป็นเหยื่อ ส่งผลให้ยากจนลงกว่าเดิม ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยอยู่กันแบบพึ่งพาอาศัยตนเอง ธรรมชาติ และเป็นสังคมแห่งการแบ่งปัน แต่นโยบายการพัฒนาของรัฐทำให้สังคมอีสานเปลี่ยนไป เข้าสู่สังคมทุนนิยม ดิ้นรน และผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นหลัก จนทำให้บางยุคบางสมัยคนอีสานทนไม่ไหวกับนโยบายที่รัฐมาส่งเสริม เพราะผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้สวยงามอย่างที่วาดฝัน ทั้ง โครงการมะม่วงหิมพานต์ วัวพลาสติก อ้อย ปอ มัน จนกระทั่งมาถึงหายนะจากยางพารา บำรุงทิ้งปัญหาเอาไว้ให้คนในห้องประชุมขบคิด
จากนั้นเป็นการเปิดเวทีให้นักวิชาการ นักพัฒนา และปราชญ์ชาวบ้าน ได้ร่วมกันนำเสนอถึงแนวคิดว่า จากปัญหาที่คนอีสานเป็นเหยื่อของการพัฒนาในยุคเศรษฐกิจทุนนิยมแล้ว คนอีสานจะหลุดพ้น และ นำไปสู่เศรษฐกิจในฝันอย่างเศรษฐกิจแบบคุณธรรมได้หรือไม่ โดยการเสวนาช่วงนี้มีนักเขียนซีไรต์ อย่าง ไพฑูรย์ ธัญญา หรือ รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ มาเป็นผู้ดำเนินรายการ และมี พ่อคำเดื่อง ภาษี สถาบันฟื้นฟูภูมิปัญญาไทย, ผศ.ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ผศ.ดร.ชูพักตร์ สุทธิสา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน และสุมาลี สุวรรณกร บรรณาธิการศูนย์ข่าวเดอะเนชั่นภาคอีสาน ร่วมเสนอความคิดเห็น
พ่อคำเดื่อง บอกว่า เศรษฐกิจเชิงศีลธรรมคุณธรรมนั้น แท้จริงอยู่ในการดำเนินวิถีชีวิตที่เราปฏิบัติมาอยู่แล้ว เหมือนคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง ไม่แตกต่างกับคำว่าเศรษฐกิจเชิงศีลธรรมแต่อย่างใด คือการหาอยู่หากินแบบไม่เอาเปรียบ ไม่โกหกหลอกลวง ไม่หวังผลกำไรมากเกินไป เศรษฐีสมัยก่อนคือคนมีเงินแล้วบริจาคทาน แต่เศรษฐีทุกวันนี้คือคนเอาเปรียบคนอื่น แล้วทำให้ร่ำรวย
ผศ.ดร.สมชัย เล่าว่า ในสมัยศตวรรษที่ 18 การปกครองทางกลุ่มประเทศยุโรปเกิดการจลาจล กลุ่มคนจนลุกขึ้นประท้วงเพราะทนไม่ไหวที่มีคนรวยมีอำนาจขายสินค้าราคาแพง ทั้งที่ทุกคนลำบาก ควรจะเอามาแบ่งปันกัน จึงเกิดเหตุการปล้นยุ้งข้าวของคนรวยเอามาแบ่งปันคนจนได้กิน ซึ่งเห็นชัดเจนว่าคนรวยละเมิดศีลธรรม เป็นคนไม่ดี เอารัดเอาเปรียบ ในอีสานชาวนาก็มีการลุกขึ้นต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินทำกินกับภาครัฐมาโดยตลอด รัฐให้เช่าที่ดินเพื่อทำกินและอยู่อาศัย จัดเก็บภาษีแพงเกินไป ชาวนาไม่ได้รับความเป็นธรรมทำให้ทนไม่ไหว เวลาที่เกิดความแห้งแล้งรัฐจะต้องดูแลชาวนาเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม สภาพบริบทสังคมอีสานการทวงสิทธิมีมาตั้งแต่สมัยก่อน ทั้ง ‘กบฏผีบุญ’ การลุกขึ้นมาสู้ของกลุ่มสมัชชาเกษตรกรรายย่อยอีสานและอื่นๆ ล้วนเพื่อต้องการทวงคืนความเป็นธรรมจากชนชั้นปกครองและจากสังคมทุนนิยม
ผศ.ดร.ชูพักตร์ บอกว่า โดยพื้นฐานเดิมสังคมไทยพึ่งพาอาศัยกันแบบพี่น้อง แต่เศรษฐกิจเชิงศีลธรรมวันนี้น่าจะเป็นทางออกสังคม ทำอย่างไรจะสามารถลดความเสี่ยง การดำรงชีพควบคู่การพัฒนาชุมชน และพลังชุมชน เชื่อมโยงสัมพันธ์ ‘ดิน น้ำ ป่า’ แต่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมรุกเข้ามาทำลายชุมชนสังคมไทยจนทำให้สังคมอ่อนแอ พึ่งตนเองไม่ได้ ต้องหาอยู่หากินเพื่อปากท้อง จนแทบทำให้สังคมแตกสลายไป
สุมาลี บอกว่า ทุนนิยมเข้ามาพร้อมกับนโยบายการพัฒนาของภาครัฐ สังคมอีสานเปลี่ยนไปเพราะนโยบายการพัฒนา ความล้มเหลวของสถาบันครอบครัวที่เกิดจากปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจ การเอารัดเอาเปรียบเกิดขึ้นจากผู้มีอำนาจมากกว่า คนอีสานที่ยากจนเป็นเพียงเหยื่อของการพัฒนาและนโยบายของรัฐทั้งสิ้น และหากจะแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องให้คนอีสานยืนอยู่ได้ในอนาคต เศรษฐกิจเชิงศีลธรรมหรือเศรษฐกิจคุณธรรมน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดและโอกาสจะเป็นไปได้ก็ไม่ได้ยาก เพียงแต่ทุกคนเปลี่ยนตัวเองไม่เอารัดเอาเปรียบ หันมาเป็นผู้ผลิตที่มีคุณธรรม เพื่อให้เกิดการค้าแบบคุณธรรม ยกตัวอย่างเช่นที่บ้านนาโส่ อ.กุดชุม จ.ยโสธร การผลิตข้าวคุณธรรมของกลุ่มชาวนาบ้านนาโส่ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เมื่อสมาชิกอยู่ในศีลกินในธรรมผลิตข้าวปลอดสารพิษ ได้รับการการันตีจากสมาชิกการส่งขาย การตลาดก็ได้รับการต้อนรับทำให้มีรายได้ดี จนเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ
ปิดท้ายที่ สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน บอกว่า เศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรม สิทธิพลเมือง ชุมชนผูกติดไปกับระบบการตลาด นอกจากเศรษฐกิจคุณธรรม เราควรจะหันไปดูเศรษฐกิจเชิงนิเวศ ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายธรรมชาติ เพื่อใช้ชีวิตพึ่งพิงธรรมชาติได้ มีป่า มีแหล่งหาอยู่หากินเศรษฐกิจนิเวศ วิถีชาวบ้านได้พึ่งพาอาศัยป่าชุมชน หาของป่าออกมาขาย หากินในป่าชุมชนมีกินตลอด แต่วันนี้ไทยเรากำลังก้าวสู่เศรษฐกิจ 4.0 ที่พึ่งพานักลงทุนต่างชาติ เขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้น ไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินทำกิน แบบนี้ก็ยากที่จะคนเล็กคนน้อยจะหวนคืนพึ่งพาธรรมชาติ เพราะนโยบายผู้บริหารไม่ได้เอื้อและตอบสนอง
เวทีเสวนาในเช้าวันนั้น จบลงด้วยความท้าทายของคนในห้องประชุมเพื่อจะได้กลับไปตระหนักคิดเรื่องเศรษฐกิจศีลธรรม คุณธรรม และนำกลับไปปรับใช้กับชุมชนของตนเอง แม้จะเป็นเพียงมโนทัศน์ที่คิดเอาไว้ แต่หลายคนก็แอบหวังว่ามันจะเป็นไปได้ในอนาคต หากเริ่มต้นจากคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างพวกเราทุกคน
ที่มา : เนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 16 ก.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.