สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือส.ป.ก. จากที่ได้ชี้พื้นที่เป้าหมาย 431 แปลง...เนื้อที่กว่า 430,000 ไร่ ไปให้ ส.ป.ก.จังหวัดต่างๆปฏิบัติการทวงที่ดินคืนจากผู้ครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. โดยมิชอบ เร่งผลักดันให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี
ด้วยกฎหมายตามมาตรการยาแรง คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 36/2559 ผลคืบหน้าในวันนี้...ปรากฏว่า ส.ป.ก.สามารถยึดที่ดินคืนกลับมาได้จำนวน 252 แปลง...เนื้อที่ 111,480 ไร่
ความคืบหน้าต่อจากนี้ พุ่งเป้าไปที่ผืนแผ่นดินที่ยึดคืนกลับมาได้ หลายคนจับจ้องให้ความสนใจว่า “รัฐ” หรือ “ส.ป.ก.” จะมีแผนบริหารจัดการที่ดินจำนวนมากเหล่านี้ต่อไปอย่างไร?
สรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการ ส.ป.ก. บอกว่า ส.ป.ก.ได้แบ่งขนาดที่ดินออกเป็น 2 ขนาด...ขนาดที่มีเนื้อที่มากกว่า 300 ไร่ มีจำนวน 132 แปลง เนื้อที่ 93,882 ไร่ และขนาดที่มีเนื้อที่น้อยกว่า 300 ไร่ มีจำนวน 120 แปลง เนื้อที่ 17,598 ไร่ จากนั้นจะจัดทำแผนพัฒนาแปลงที่ดินที่ได้จากการยึดคืนพื้นที่
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วางนโยบายไว้ว่า...เกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินต้องสามารถเข้าอยู่อาศัยและทำกินได้เลย ประการต่อมา ต้องสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างพอเพียงตามแนวปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“ในเบื้องต้นก่อนที่รัฐจะเข้าดำเนินการจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกร จะต้องมีการวางผังแปลงที่ดินให้เหมาะสมก่อน...ควรทำอะไร ตรงไหน และอย่างไร เช่น ที่ดินแปลงที่ยึดมาได้ตรงนั้นเหมาะสมที่จะปลูกพืชหรือไม่ พืชอะไร ถ้าไม่เหมาะสมกับพืชก็ต้องส่งเสริมให้เป็นแปลงโครงการเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก...”
หัวใจสำคัญก็คือการพิจารณาตามความเหมาะสม ศักยภาพของสภาพดินในแปลงจัดสรรนั้น จะใช้ แผนที่การพัฒนาเกษตรกรรมเชิงรุก (AgriMap)
สรรเสริญ ย้ำว่า แผนที่ที่ว่านี้...กรมพัฒนาที่ดินได้ทำการวิเคราะห์ไว้แล้วว่า พื้นที่ใดเป็นดินชนิดใด มีลักษณะอย่างไร เหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดใด เป็นพืชไร่หรือพืชสวน หรือไม่เหมาะสมกับการปลูกพืช ซึ่งก็จะต้องหันไปส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก หากดินไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชก็ยังสามารถปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ได้
กรอบการปฏิบัติในพื้นที่ ส.ป.ก. “รัฐ” จำเป็นต้องกำหนดกรอบการประกอบอาชีพหลักๆเอาไว้เป็นเบื้องต้น ส่วนเกษตรกรจะปลูกพืชชนิดใดบ้างก็จะมีชนิดพืชที่เหมาะสมให้เลือกหลากหลายชนิด
เพื่อแก้ปัญหาในอดีตที่เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกพืชตามๆกันไป อะไรดีก็แห่กันปลูก หรือปลูกตามความเคยชินต่อๆกันมา ขาดการวิเคราะห์ความเหมาะสมของดิน ผลสุดท้าย... “เมื่อที่ดินไม่เหมาะสม เกษตรกรยิ่งปลูกก็ยิ่งจน สุดท้ายก็ขายที่ดิน...ย้ายไปบุกรุกที่ดินของรัฐแห่งใหม่เรื่อยไป”
เมื่อกำหนด “พืช” หรือ “สัตว์” เป็นกรอบให้เกษตรกรใช้เป็นทางเลือกแล้ว ก็จะมากำหนด “ขนาดของแปลง” จัดสรรแต่ละแปลงว่าควรมีขนาดกี่ไร่ ที่อยู่อาศัยกี่ไร่ และจะกำหนดผังรวมของที่ดิน
“บริเวณใดควรกำหนดให้เป็นส่วนของแปลงเกษตรกรรมที่จะต้องทำกินในบริเวณเดียวกัน เพื่อเกิดการลดต้นทุนในการจ้างเครื่องจักร หรือจ้างแรงงานในการประกอบการเกษตร...ส่วนใดเป็นแปลงที่อยู่อาศัยที่จะต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อความปลอดภัยในชีวิต...ทรัพย์สิน ประหยัดงบในการจัดทำสาธารณูปโภค”
พัฒนาเป็นระบบไปอีกขั้น ด้วยการกำหนดพื้นที่ส่วนรวมของเกษตรกร ทำผังแปลงจัดสรร ทำถนนสายหลัก สายซอย ปรับสภาพที่ดิน ขุดรากถอนตอเพื่อความพร้อมในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของเกษตรกรผู้ได้รับการจัดสรร
นอกจากนี้ ยังจะจัดเตรียมแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคให้เพียงพอ ส่วนแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพื่อการเกษตร จะต้องทำงานบูรณาการกับกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเรื่องแหล่งน้ำบาดาล เพื่อความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์
“โครงการนี้จะเสนอต่อรัฐมนตรีฯ เพื่อขอนโยบายนำพื้นที่ที่มีขนาดเกินกว่า 300 ไร่ ส่งมอบให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ...ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนำไปจัดสรรในรูปของสหกรณ์การเกษตร”
สำหรับพื้นที่ขนาดที่ดินไม่เกิน 300 ไร่ จะขอดำเนินการจัดสรรตามกฎหมายปฏิรูปที่ดินต่อไป เนื่องจากมีขนาดแปลงเล็กเกินที่จะรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตร อาจทำให้เกิดปัญหาการบริหารจัดการ
ทั้งหมดเหล่านี้เป็นการวางระบบครอบคลุมเพื่อความยั่งยืน ตรงตามวัตถุประสงค์ “ที่ดิน ส.ป.ก. ...ใช้ทำเกษตรกรรมได้เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้และห้ามทำการซื้อขาย แต่สามารถโอน หรือตกทอดทางมรดกให้แก่ทายาทโดยชอบธรรมหรือบุคคลในครอบครัวได้”
บอกกล่าวให้รู้โดยทั่วกัน นี่คือความชัดเจนของการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. สำหรับ “เกษตรกรยากจน” ที่ไม่มีที่ดินทำกิน จะขอรับการจัดสรรที่ดินได้อย่างไรนั้น สรรเสริญ บอกว่า เนื่องจากการจัดที่ดินที่ยึดมาได้ครั้งนี้ เป็นการจัดที่ดินตามแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
“เกษตรกร” ที่ได้รับส่วนหนึ่งมาจากเกษตรกรที่ถูกผลักดันให้ออกจากพื้นที่สงวนหวงห้ามของรัฐ เช่น อุทยานแห่งชาติ หรือป่าสงวนแห่งชาติ เกษตรกรเหล่านี้จะได้รับการจัดสรรก่อน นอกจากนี้ เกษตรกรที่มีภูมิลำเนาในอำเภอ...จังหวัดที่ที่ดินตั้งอยู่ก็จะได้พิจารณาก่อนเกษตรกรนอกเขตจังหวัดที่แปลงจัดสรรตั้งอยู่
ที่สำคัญ ส.ป.ก.จะจัดเกษตรกรรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาด้านเกษตรกรรมและผ่านการอบรมตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการก็จะได้รับการจัดสรร แต่ไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรทั้งหมดและเนื้อที่ไม่เกินครึ่งหนึ่งของเกษตรกรทั่วไปที่ได้รับการจัดสรร
“เกษตรกรรุ่นใหม่” จะเป็นตัวอย่างให้กับ “เกษตรกรรุ่นเก่า” ที่ได้รับการจัดสรรในคราวเดียวกัน ร่วมกันเดินหน้าไปบนเส้นทางการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมที่มีระบบการบริหารจัดการที่ดีและมั่นคง
ข้อกังวลใจมีเรื่องเดียว “งบประมาณ”...การพัฒนาแปลงที่ดิน ถ้าไม่จัดที่ดินที่ยึดมาให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ส.ป.ก.จะไม่สามารถป้องกันที่ดินเหล่านี้จากกลุ่มเกษตรกรบางกลุ่ม บางคณะหรือผู้มีอิทธิพลได้...เห็นควรว่าควรขอใช้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินที่มีสภาพคล่องอยู่กว่า 1,000 ล้านบาท
จัดสรรให้เกษตรกรภายใน 1 ปี โดยคิดราคางานตามมาตรฐานที่สำนักงบประมาณกำหนด ไร่ละไม่เกิน 10,000 บาท...จำนวน 100,000 ไร่ เป็นเงิน 1,000 ล้านบาท ส.ป.ก.ดำเนินการเอง 30,000 ไร่ ที่เหลือจะขอความร่วมมือจากหน่วยทหารช่างหรือทหารเพื่อการพัฒนามาช่วยดำเนินการ
คาดว่าจะมีเกษตรกรได้รับจัดสรรที่ดินไม่น้อยกว่า 25,000 ครอบครัว
งานใหญ่ระดับประเทศจะสำเร็จได้ ขอให้ยึดพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2550 เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน... “งานของแผ่นดินนั้นเป็นงานส่วนรวมมีผลเกี่ยวเนื่องถึงความเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงของบ้านเมืองและสุขทุกข์ของประชาชนทุกคน ข้าราชการผู้ปฏิบัติบริหารงานของแผ่นดินจึงต้องสำนึก ตระหนักในความรับผิดชอบที่มีอยู่ และตั้งใจพยายามปฏิบัติหน้าที่โดยเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความเข้มแข็งสุจริต และด้วยปัญญารู้คิดพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นความเจริญ สิ่งใดเป็นความเสื่อม อะไรเป็นสิ่งที่ต้องทำ อะไรเป็นสิ่งที่ต้องละเว้นและกำจัดอย่างชัดเจน ถูก ตรง”
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 21 ก.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.