“ข้าวต้องปลูก เพราะอีก 20 ปี ประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าวจะไม่พอ ถ้าลดการปลูกข้าวไปเรื่อยๆ ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไรประชาชนคนไทยไม่ยอม คนไทยนี้ต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องปลูก”
ความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการพัฒนาพื้นที่บ้านโคกกูแวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส พ.ศ.2536
“นาแปลงใหญ่” พลิกวิกฤติข้าวไทย เส้นทางชาวนาให้เดินหน้าได้อย่างยั่งยืน เป็นประเด็นที่ต้องมานั่งพูดคุยกันในวันนี้
อนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว บอกว่า หัวใจสำคัญของนาแปลงใหญ่เป็นการปรับระบบการส่งเสริมการเกษตรเท่านั้น จากเดิมที่ส่งเสริมเป็นเกษตรรายย่อยก็มีแนวนโยบายส่งเสริมแบบรวมกลุ่มกัน
“นาแปลงใหญ่...กรมการข้าวทำมาสักสองปีได้แล้ว เอาชาวนามารวมกัน บริหารทรัพยากรร่วมกัน วางแผนการผลิตร่วมกัน เพื่อจะลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น...พอมาเป็นนโยบายท่านรัฐมนตรีว่าการฯ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ ก็พยายามเน้นเรื่องการบริหารจัดการ การเชื่อมโยงกับตลาด”
พุ่งเป้า “ลดต้นทุน เพิ่มการแข่งขัน”
หลักใหญ่ใจความเดิมที่เน้นเรื่องการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนขับเคลื่อนดำเนินไปได้พอสมควร แต่ว่ามาถึงวันนี้การเดินหน้าเต็มกำลังในการบริหารจัดการ การเชื่อมโยงตลาด บูรณาการร่วมกันมีมากขึ้น
“แผนข้าวครบวงจร” รวมสรรพกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้โครงการนาแปลงใหญ่เชื่อมโยงกับโรงสี ทำให้ระบบการเชื่อมโยงกับตลาดดีขึ้น ปัญหามีว่า...ฤดูการผลิตนี้ปลูกข้าวไปก่อนที่จะเชื่อมโยงก็เลยยังไม่ชัดเจน
“โรงสีพบเกษตรกรแปลงใหญ่ การันตีคุณภาพข้าว แต่ความต้องการยังไม่ตรง ด้วยชาวนาปลูกไปแล้ว แต่ก็ซื้อขายกันได้ โรงสีให้ราคาสูงกว่าตลาดปกติตันละ 200-400 บาท ชาวนาก็มั่นใจมากขึ้น”
“ต้นทุน” ที่ลดลง อยู่ราวๆ 15-20 เปอร์เซ็นต์...ลดเรื่องปัจจัยการผลิต ไม่ใช่รวมกันซื้อปุ๋ย ยาเท่านั้น ยังเป็นเรื่องของ “เมล็ดพันธุ์” ผลิตเอง สมมติว่า รวมแปลงใหญ่กว่า 3,000 ไร่ ก็จะมีกลุ่มหนึ่งผลิตเมล็ดพันธุ์ 100-200 ไร่ ป้อนให้กลุ่ม
เวลาปลูก ก็ใช้วิธีหยอด ไม่ได้หว่านแบบเดิม ก็ลดต้นทุนได้อีกมากทีเดียว...หว่านใช้ 15–30 กิโลกรัมต่อไร่ หันมาหยอดใช้แค่ 8–10 กิโลกรัมเท่านั้น...ลดเหลือแค่ 1 ใน 3
ปัจจัยการผลิตด้านอื่นๆ กลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์...กลุ่มอารักขา ป้องกันการระบาด โรคพืช...กลุ่มบริหารจัดการเครื่องจักรกล รถไถ เครื่องหยอด วางแผนการใช้ให้สอดคล้องอย่างมีประสิทธิภาพ
“ปีที่แล้วเรื่องลดต้นทุน กรมฯทำ 30 แปลง...ปีนี้ขยายเป็น 300 แปลง 58 จังหวัด ขยายผลเรื่องการบริหารจัดการผลผลิต เชื่อมโยงตลาด ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง อีสานเหนือ...แหล่งปลูกข้าวหลัก”
ประสบการณ์รอบปลูกข้าวที่ผ่านมา บวกกับปีนี้ ต้องดูผลกันต่อไปว่า ต้นแบบที่ทำมาขยายผลครบวงจรตั้งแต่ “ต้นน้ำ”...“กลางน้ำ” ไปจนถึง “ปลายน้ำ” แล้วจะเป็นเช่นใดต่อไป
อนันต์ บอกอีกว่า เกษตรกรที่พัฒนาสั่งสมประสบการณ์ ภูมิปัญญามาแต่อดีตเน้นภาคการผลิต ชาวนาเราทำข้าวได้ดีทั้งในแง่เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนได้มีประสิทธิภาพ แต่ไม่เคยคิดเลยว่าที่ทำนั้นกำไรหรือขาดทุน ไม่เคยคิดในเรื่องการบริหารจัดการ ความต้องการของตลาด...ไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญ
พอรวมกลุ่มเป็น “นาแปลงใหญ่” บทบาทในการบริหารจัดการผลผลิต การเชื่อมโยงตลาดจะทำมากขึ้น เป็นทิศทางที่ถูก น่าจะไปได้ดี
“ถ้าเราวางแผนปลูกข้าว รับความต้องการของโรงสีตั้งแต่ก่อนปลูก...เรียนรู้ตลาดมากขึ้น ประสบการณ์มากขึ้น ก็จะขยายผลความสำเร็จ พัฒนาการบริหารจัดการได้มากขึ้นเรื่อยๆ”
ระยะยาว...อนาคต จะวางแผนเดินหน้าไปอย่างไรต่อไป มุมมองส่วนตัวอธิบดีกรมการข้าวในวันนี้ ถึงแม้ว่าจะขยายผลนาแปลงใหญ่กว่า 300 แปลงแล้ว แต่ปริมาณก็เพียงแค่เสี้ยวเดียวของการผลิตข้าวทั้งประเทศในภาพรวม ยังต้องขยายต่อไปอีก “ชาวนา”...ขยายเองโดยที่ภาครัฐไม่ต้องเข้าไปขับเคลื่อนมาก
“นาแปลงใหญ่” เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติ เดินหน้าพัฒนาการทำนาในประเทศให้มีศักยภาพ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในทิศทางการส่งเสริมการเกษตรที่ดี พัฒนารูปแบบการจัดการคล้ายๆสหกรณ์ จะให้รวมกลุ่มกันบริหารกัน โดยมีพี่เลี้ยงจากหลายหน่วยงานช่วยประคอง อาทิ กรมส่งเสริการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
“ข้าว” กับประเทศไทย...วิถีชีวิตคนไทย มีหลายมิติที่ต้องมองให้ลึกซึ้งรอบด้าน
“ถ้าเรามองข้าวที่พูดถึง...ในมิติเป็นพืชเศรษฐกิจ ทำรายได้ส่งออก แต่ในอีกหลายมุมยังมีมิติของความเป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม สังคม ค่อนข้างจะลึกซึ้ง...ส่วนใหญ่จะเป็นมิติทางสังคม วัฒนธรรมมากกว่า
แผนข้าวครบวงจรที่ทำ คนชอบพูดว่า...ทำไม?ให้ปรับลดการปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม จึงอาจจะไม่สอดคล้อง สวนทางกัน ถ้ามองในมิติของเศรษฐกิจน่ะ...ใช่ เพราะพื้นที่นั้นไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว ต้องลด แต่ในมิติสังคม วัฒนธรรม...ตรงนั้นเป็นสิ่งจำเป็น”
“โซนนิ่ง” ที่กำหนดลงไปพอระบุว่าไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวก็เลยสวนทางกัน
ฉะนั้น อีกหนึ่งความพยายามของ “กรมการข้าว” ก็คือการสร้างความสมดุลระหว่างความสำคัญในมิติเศรษฐกิจกับมิติทางสังคม
“เดิม...ใช้สภาพดิน ฟ้า อากาศ...สภาพดิน สภาพฝน สภาพน้ำ ดูความต้องการที่เหมาะสมของข้าวที่จะปลูก ถ้าปลูกได้ ทำได้ก็เรียกว่าพื้นที่ตรงนั้นเหมาะสม แหล่งผลิตพร้อม โรงสีรับซื้อก็พร้อม...แต่มีความจำเป็นที่จะต้องมองมิติทางสังคมประกอบเข้าไปด้วย”
“ข้าว”...เป็นเรื่องใหญ่ ปีที่แล้วประสบปัญหา “ภัยแล้ง” ไม่มีน้ำก็พยายามลดพื้นที่ปลูกข้าวไม่ให้ชาวนาทำนา แก้ปัญหา ปรับเปลี่ยน ย้อนแย้ง เปลี่ยนวิถีชีวิตไปในทันทีทันใด จะให้จบอย่างสวยงาม คงไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ...อาจจะแก้ปัญหาหนึ่งได้ผล แต่อีกหลายๆปัญหาที่ตามมาไม่แน่ว่าจะต้องตาม
แก้กันอีกหลายเรื่อง
“พื้นที่สูง...ชาวเขาปลูกข้าวไม่พอกิน กรมฯก็เร่งไปพัฒนาพันธุ์ เทคนิคการผลิตดีขึ้น...ให้มีผลผลิตเพียงพอบริโภค จะเอาข้าวพันธุ์ใหม่ไปให้ปลูกเขาก็ไม่เอา ต้องพันธุ์ที่บริโภคอยู่เท่านั้น บางแห่งแต่ก่อนทำข้าวไร่เลื่อนลอย ก็ปรับเปลี่ยนเป็นนาขั้นบันได...เพื่อความยั่งยืน”
“ข้าวไร่” เป็นข้าวที่มีโภชนาการสูง ยุคกระแสรักสุขภาพมาแรงคนในเมืองก็นิยมบริโภคเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอ เป็นเรื่องที่ดี สร้างรายได้ แต่ต้องสร้างความสมดุลให้เกิดในพื้นที่ การปลูกข้าวยังต้องเดินหน้าต่อไปตามมิติทางสังคม วัฒนธรรม
อนาคต “ข้าว” ไทย...ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น...“อู่ข้าวอู่น้ำ” จำเป็นต้องก้าวให้ทันกระแสเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลง แต่ต้องไม่ทิ้งวิถีชีวิตชาวนาในอดีตที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 20 ก.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.