พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่า“การปฏิรูปที่ดิน” เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเองได้
ด้วยพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตา นำความสงบสุขร่มเย็น ตลอดจนความเจริญก้าวหน้าแก่ประเทศชาติ ปวงพสกนิกรชาวไทยตลอดมานับตั้งแต่ทรงริเริ่มโครงการการปฏิรูปที่ดินตัวอย่าง ก่อนที่พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2518 จะประกาศใช้และได้พระราชทานที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จำนวน 44,396 ไร่ 2 งาน 79 ตารางวา ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา นครปฐม ปทุมธานี นครนายก พระนครศรีอยุธยา
ต่อมา...ได้กันพื้นที่บางส่วนออกไปเนื่องจากไม่ได้ใช้เพื่อการเกษตรและมีภาระผูกพันหน่วยราชการอื่น จึงคงเหลือพื้นที่ดำเนินการปฏิรูปที่ดินได้ 43,902 ไร่
ส.ป.ก.ได้นำที่ดินเหล่านี้มาดำเนินการเพื่อการปฏิรูปที่ดิน น้อมนำแนวพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินมายึดถือ เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานจวบจนถึงทุกวันนี้ โดยมีผลการจัดที่ดินทั้งของรัฐ... เอกชน ให้แก่เกษตรกรทั้งประเทศ รวม 2.75 ล้านราย เนื้อที่ 35.52 ล้านไร่ พลิกแฟ้มข้อมูลวันนี้...กรณีการยึดที่ดิน ส.ป.ก.คืนจากผู้ครอบครองโดยมิชอบ ตามมาตรา 44...มีผลการดำเนินงานถึงไหนอย่างไรแล้วบ้าง?
สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ชี้พื้นที่เป้าหมายแปลงที่ดินที่ มีผู้ครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. เกินกว่า 500 ไร่ ทั้งสิ้น จำนวน 431 แปลง เนื้อที่ 437,297 ไร่ ใน 27 จังหวัดและปรากฏผลการตรวจสอบเบื้องต้น สรุปว่า
1) ที่ดินที่ไม่มีผู้คัดค้านทั้งแปลง จำนวน 28 แปลง เนื้อที่ 27,874 ไร่
2) ที่ดินที่มีผู้คัดค้านบางส่วนของแปลงจำนวน 268 แปลง เนื้อที่รวม 293,125 ไร่ แยกเป็นมีผู้คัดค้าน 220,850 ไร่ ไม่มีผู้คัดค้าน 72,275 ไร่
3) ที่ดินที่มีผู้คัดค้านทั้งแปลงและบางส่วน (รวมบางส่วนตามข้อ 2) จำนวน 403 แปลง เนื้อที่รวม 340,905 ไร่ แยกเป็นคัดค้านโดยเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน 127,172 ไร่ เอกสาร ภบท.5 และอื่นๆ 225,400 ไร่
ขณะนี้ ส.ป.ก.จังหวัดต่างๆได้ทำการตรวจสอบพื้นที่เป้าหมายเสร็จสิ้นแล้ว 430 แปลง (คงค้างแปลงสนามกอล์ฟไมด้า) ผลการตรวจสอบมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในข้อ 1 และข้อ 2 ขณะเดียวกันมีรายงานผลการตรวจสอบเพิ่มเติมขึ้นในกรณีแปลงพื้นที่เป้าหมายที่มีการคัดค้าน ดังนี้
หนึ่ง...ที่ดินที่ไม่มีผู้ใดคัดค้านทั้งแปลง คงเหลือจำนวน 24 แปลง เนื้อที่ 20,578 ไร่ ทั้งนี้ เนื่องจากหลังจาก ส.ป.ก.ไปทำการปักป้ายยึดมีผู้มายื่นคำคัดค้านโดยใช้โฉนดที่ดิน/น.ส.3 หรือเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 ทำให้เนื้อที่ลดลง 7,031 ไร่
สอง...ที่ดินที่ไม่มีผู้คัดค้านบางส่วนของแปลง จำนวน 268 แปลง เนื้อที่ 72,275 ไร่ เมื่อได้ทำการรังวัด เพื่อแยกส่วนที่ไม่มีผู้คัดค้านแล้ว จำนวน 268 แปลง เนื้อที่เพิ่มขึ้นเป็น 108,553 ไร่
กรณีนี้จึงสามารถสรุปได้ว่า ส.ป.ก.สามารถยึดที่ดินคืนโดยไม่มีผู้คัดค้านเลย จำนวน 292 แปลง เนื้อที่ 129,131 ไร่ ทั้งนี้ ส.ป.ก.จะต้องไปดำเนินการปักป้ายเพื่อทำการยึดที่ดินดังกล่าวคืนต่อไป ซึ่งในขั้นตอนนั้นก็อาจมีการยื่นคำคัดค้านโดยอาศัยโฉนดที่ดินหรือ น.ส.3 ทำให้เนื้อที่อาจลดลงบ้างเล็กน้อย
สาม...ในส่วนของผู้คัดค้านทั้งในส่วนที่เต็มแปลงและบางส่วนของแปลงเป้าหมาย จำนวน 403 แปลง ปรากฏว่าคำคัดค้านฟังขึ้นไม่สามารถยึดได้ตามหลักฐานเอกสารของกรมที่ดิน เนื้อที่ 111,466 ไร่
คำ คัดค้านฟังขึ้นไม่ควรยึดคืน เพราะเป็นเกษตรกรรายย่อย จำนวน 7,845 ราย เนื้อที่ 186,241 ไร่ และคำคัดค้านฟังไม่ขึ้น จะทำการยึดคืนต่อไป จำนวน 62 ราย เนื้อที่ 15,796 ไร่
ทั้งนี้ เอกสารการดำเนินการทั้งหมดจะต้องส่งให้เลขาธิการ ส.ป.ก. เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนจึง เป็นอันยุติ ดังนั้น...หากที่ดินแปลงใดที่ ส.ป.ก.จังหวัดเห็นว่าไม่ควรยึด แต่เลขาธิการ ส.ป.ก.เห็นว่า “ควรยึดหรือจะต้องตรวจสอบใหม่”...ก็จะต้องยึดคืนหรือทำการตรวจสอบใหม่จนเป็นที่ประจักษ์
ปมสงสัยคลางแคลงใจใครหลายคนในประเด็นที่ว่า...จากผลการยึดที่ดิน ส.ป.ก. คืนตามมาตรา 44 เหตุไฉน? ไม่พบ “นักการเมือง” หรือ “ผู้มีอิทธิพล”
“ผมอยากจะบอกว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 36/2559 ที่ออกตามมาตรา 44 ครั้งนี้ เป็นกฎหมายที่ให้ความเป็นธรรมกับผู้ครอบครองที่ดินอย่างมาก โดยให้ผู้ครอบครองที่ดินสามารถพิสูจน์ความเป็นเจ้าของที่ดินตามมาตรฐานหรือหลักเกณฑ์เดียวกับที่ศาลยุติธรรมใช้ในการพิจารณาคดี”
สรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการ ส.ป.ก. บอกอีกว่า กฎหมายนี้เพียงแต่ร่นระยะเวลาและขั้นตอนการตรวจสอบเพื่อให้ที่ดินกลับมาเป็นของรัฐได้เร็วขึ้น แต่โดยที่ผู้ครอบครองที่ดินโดยมิชอบทั้งหลายเป็นผู้มีความรู้ทางกฎหมายดีและสามารถแยกแยะผิดถูกได้เป็นอย่างดี
“...รู้ว่าการเข้าไปครอบครองที่ดินของรัฐเป็นจำนวนมากๆนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อต้องมาเจอกับคำสั่งฯดังกล่าวที่นับว่าเป็นยาแรงที่ท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.บรรจงปรุงขึ้น ทำให้ผู้มีอิทธิพล...นักการเมืองยอมรับ และยอมคืนที่ดินให้ส.ป.ก.โดยดีไม่ออกมาคัดค้าน”
อีกทั้งคงทราบแล้วว่าที่ดินเหล่านี้จะถูกนำไปจัดสรรให้เกษตรกรผู้ยากไร้ จึงให้ความร่วมมือด้วยดี โดยไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.คนใดถูกข่มขู่หรือทำร้ายเลยแม้แต่คนเดียว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่มีผู้คัดค้านที่เป็นรายใหญ่นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นนายทุนที่ได้กว้านซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตรขนาดใหญ่ ก็เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะขอรับการตรวจสอบ และเป็นหน้าที่ของ ส.ป.ก.ต้องพิสูจน์ ตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อไป
คำถามต่อจากนี้ คงต้องมองกันยาวๆต่อไปว่าจะทำอย่างไร จึงจะรักษาพื้นที่ที่ได้ยึดคืนมาไว้ได้โดยไม่ถูกกลุ่ม “เกษตรกร” หรือ “ผู้มีอิทธิพล” บุกรุกเอาคืน?
สรรเสริญ มองด้วยความเป็นห่วงว่า...ที่ที่ยึดคืนมาแสนกว่าไร่มีสภาพเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ก็กังวลว่ามีความล่อแหลมที่กลุ่มเกษตรกรที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวเกเรจะบุกเข้าไปยึดที่ของ ส.ป.ก. ไปทำประโยชน์เฉพาะกลุ่มของตน อันจะทำให้เกษตรกรที่ดีและอดทนรอการจัดสรรจากรัฐต้องเสียประโยชน์
อีกส่วนหนึ่งคือ “นายทุน” หรือ “ผู้มีอิทธิพล” จะฉวยโอกาสรุกเข้าไปเอาที่ดินคืนอีก ซึ่งก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมายปกติที่จะต้องใช้เวลาอีก 7-10 ปี ส.ป.ก.ห่วงเรื่องนี้มาก
ดังนั้น...จึงจำเป็นต้องรอการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐเพื่อใช้ในการจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรภายใน 1 ปี หากไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ส.ป.ก.ก็อาจต้องจัดสรรหางบประมาณในการล้อมรั้ว
“หากเป็นแบบลวดหนาม 2 เส้น แสนไร่เท่ากับ 62 ล้าน ถ้าไม่มีลวดหนามจะเป็นเงิน 11 ล้าน ซึ่ง ส.ป.ก.เองก็ยังไม่มั่นใจว่าจะป้องกันได้มากน้อยแค่ไหน”
ยุคที่ฟ้ามีตา เรื่องไม่ถูกต้อง...สีเทา สีดำ เป็นเงื่อนปัญหาเรื้อรังมายาวนานจะต้องได้รับการสะสาง อนาคตจะเป็นอย่างไร “คนไทย” ทุกคนต้องช่วยกัน อย่าให้คนผิด กระทำผิดได้อย่างลอยนวล
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 15 ก.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.