ทิศทางการพัฒนาประเทศในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ได้มีการวางกรอบแนวคิดและหลักการในการกำหนดแผนที่สำคัญๆ ไว้ 4 ประการ ได้แก่ 1) การน้อมนำและการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 2) คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม 3) การสนับสนุนและส่งเสริมแนวคิดการปฏิรูปประเทศ และ 4) การพัฒนาสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
แต่กระนั้นปัญหาและข้อท้าทายสำหรับการพัฒนาประเทศที่ทุกคนต้องตระหนักและให้ความสำคัญคือ ปัญหาและข้อท้าทายอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ อาทิ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเปิดเศรษฐกิจเสรีและเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ เข้าด้วยกัน
ประเทศไทยเองก็กำลังดำเนินนโยบายเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจของประเทศเข้ากับระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนผ่านนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอันจะส่งผลต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้นทุกขณะ
เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) เป็นพื้นที่ที่จัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะตามกฎหมาย เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริม สนับสนุน และอำนวยความสะดวก รวมทั้งให้สิทธิพิเศษบางประการในการดำเนินกิจการต่างๆ ของภาคอุตสาหกรรม ภาคพาณิชยกรรม ภาคการบริการ หรือกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่ 1/2558 ลงวันที่ 19 มกราคม พุทธศักราช 2558 เรื่องกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ กำหนดให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขึ้นในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว เขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา และเขตเศรษฐกิจพิเศษตราด
ต่อมาได้มีประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนา เศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 ลงวันที่ 24 เมษายน พุทธศักราช 2558 เพิ่มเติมอีก 5 จังหวัด ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย เขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม และเขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี รวมเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมด 10 พื้นที่จากการออกประกาศทั้งสองครั้ง
จังหวัดสระแก้วเป็นจังหวัดที่ได้มีการประกาศให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในกลุ่มระยะแรก จังหวัดสระแก้วเป็นจังหวัดชายแดนที่มีพื้นที่ติดกับประเทศกัมพูชาและเวียดนาม โดยมีมูลค่าการค้าชายแดนในรอบปีที่ผ่านมา (2557) มากกว่า 70,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยศักยภาพด้านทำเลที่ตั้ง และสภาพภูมิประเทศที่เหมาะแก่การส่งเสริมในการเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการขนส่งที่จะเชื่อมโยงภูมิภาคอินโดจีน
รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษจึงกำหนดให้ท้องที่ตำบลท่าข้าม ตำบลบ้านด่าน ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ และตำบลผักขะ อำเภอวัฒนานคร เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว โดยทั้ง 4 ตำบลมีพื้นที่รวมมากกว่า 200,000 ไร่ ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในหลายๆ ด้านด้วยกัน
ประเด็นสำคัญคือการแก้ปัญหาเรื่องแรงงาน ซึ่งในปัจจุบันมีแรงงานวัยหนุ่มสาวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในประเทศไทยจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีแรงงานอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งถูกมองข้ามไปและเป็นแรงงานที่ไม่เป็นที่ต้องการและสามารถเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและการลงทุนตามแนวนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ นั่นคือ “แรงงานผู้สูงอายุ”
กลุ่มแรงงานผู้สูงอายุกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะยังคงใช้แรงงานในภาคการเกษตร และจัดเป็นแรงงานนอกระบบกลุ่มหนึ่ง ในจังหวัดสระแก้วมีจำนวนแรงงานผู้สูงอายุนอกระบบที่ยัง คงทำงานอยู่อีกจำนวนมาก ทั้งภาคการเกษตร ภาคการบริการ และอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 33,000 ราย และคาดว่าจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลักษณะโครงสร้างทางประชากรของประเทศที่กำลังจะเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ”
คุณูปการของการขับเคลื่อนนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้วมีอยู่มากมายหลายประการ ไม่มีกลุ่มคนใดคัดค้านการเข้ามาของเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ แม้แต่แรงงานผู้สูงอายุนอกระบบที่ไม่ได้สิทธิพิเศษต่างๆ จากนโยบายนี้เฉกเช่นนักลงทุนและแรงงานกลุ่มอื่นๆ เลย คุณูปการเหล่านี้ ได้แก่ ประการแรก ราคาที่ดินในจังหวัดสระแก้วโดยเฉพาะพื้นที่ที่ถูกกำหนดเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัวนัก ราคาที่ดินในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มสูงขึ้นจากการเข้ามากว้านซื้อของนายทุน เพื่อการเก็งกำไร นักลงทุนมีความสนใจในการเข้ามาลงทุนประกอบการอุตสาหกรรมมากขึ้น เพราะได้รับสิทธิพิเศษจากการประกาศเป็นเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นด้านการให้สิทธิลดหย่อนด้านภาษี การหักค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นต้น
ประการที่สอง เส้นทางการคมนาคมขนส่งมีการตัดขยายและเพิ่มช่องทางการจราจรเพื่อเชื่อมไปยังด่านชายแดนกัมพูชาและการนิคมอุตสาหกรรมโอเนียง
และประการที่สาม แรงงานหนุ่มสาวรวมไปถึงแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ลาว และพม่าจะหลั่งไหลเข้ามาสู่ระบบอุตสาหกรรมที่กำลังจะขยายตัวและด้วยราคาค่าจ้างแรงงานที่ของประเทศไทยสูงกว่าประเทศเหล่านั้นมากนัก โดยเฉพาะแรงงานหนุ่มสาวในพื้นที่จังหวัดสระแก้วจะได้รับการจ้างงานและไม่ต้องเดินทางไปทำงานต่างพื้นที่หรือต่างจังหวัด รวมไปถึงวัยแรงงานที่ตอนนี้ทำงานอยู่นอกพื้นที่จะได้ย้ายกลับมาทำงานในพื้นที่ได้ด้วย การที่วัยแรงงานในพื้นที่เดินทางไปทำงานต่างพื้นที่เงินรายได้ที่หามาต้องหมดไปกับการเช่าห้องพัก ค่าอาหาร ค่าเดินทาง เหลือส่งกลับมาให้ทางบ้านและพ่อแม่ที่เป็นวัยผู้สูงอายุไม่เท่าไหร่
แต่กระนั้น ผลกระทบในด้านลบของการขับเคลื่อนนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สะท้อนให้เห็นถึงภาพความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ตอกย้ำสู่กลุ่มแรงงานผู้สูงอายุนอกระบบในเขตเศรษฐกิจพิเศษยิ่งชัดมากขึ้น
ประการแรก การรู้ไม่เท่าทันนายทุนในการเข้ามากว้านซื้อที่ดินก่อนการประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งได้ขายที่ดินให้กับกลุ่มนายทุนไปในราคาถูก ดังที่ผู้สูงอายุรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า
“แต่ มันมาเสียอีตรงที่ว่า ขายที่กันไปมาก แล้วได้ราคาถูกก็ขาย ตอนนั้นที่ขายไปสองหมื่นกว่าบาท ที่มีโฉนดทั้งนั้นเลย ที่ขายมาเนี่ย ประมาณสี่ห้าปีมาหรือเปล่า พ.ศ. อะไรนะ ที่เขาหาซื้อที่ พ.ศ. สี่สิบกว่ามั้ง ประมาณสี่สิบแปดสี่สิบเก้า ราวๆ นี้แหละ”
การขายที่ดินออกไปของกลุ่มเกษตรกรเจ้าของที่ดิน เพื่อหวังเงินก้อนจำนวนมาก จะขาดที่ดินทำกินไปตลอด และไม่ใช่เพียงคนรุ่นผู้สูงอายุที่เป็นเกษตรกรเพียงรุ่นเดียวที่จะประสบปัญหา แต่คนรุ่นหลัง รุ่นลูกรุ่นหลานก็จะไม่มีที่ดินทำการเกษตรในอนาคต ซึ่งการทำการเกษตรเป็นอาชีพหลักของพื้นที่อยู่แล้ว
“…ลูกๆ หลานๆ ไปมันจะกระทบ บางพื้นที่ขายแล้วก็แบ่งให้ลูก แบ่งให้ลูกเป็นเงิน แล้วเงินมันจะใช้ได้นานขนาดไหน ทีนี้พอเงินหมดแล้วลูกจะไปเอาที่ไหนมาใช้ จะไปเอาที่ไหนมากิน ต่อลูกไปอีกหลานไปอีกจะไปกินยังไงกัน ผลกระทบมันจะไปเห็นตอนโน้นไง ทรัพย์สมบัติขายกินกันหมด เงินมันจะอยู่ได้นานขนาดไหน มันไม่เหมือนที่ดินนะครับ…”
ประการที่สอง ผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในตำบลและตำบลข้างเคียงจะก่อให้เกิดทั้งมลพิษทางน้ำและทางอากาศ ซึ่งในปัจจุบันแรงงานที่เป็นผู้สูงอายุที่ทำงานอยู่ในภาคการเกษตรเมื่อว่างจากการทำงานก็จะพักผ่อนอยู่กับบ้าน แต่จะได้รับการรบกวนจากเรื่องของมลพิษทางอากาศ และมลพิษทางน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ หน่วยงานราชการและนักลงทุนมีมาตรการใดบ้างที่จะเข้ามารับผิดชอบหรือหามาตรการในการป้องกันล่วงหน้าไม่ให้เกิดผลกระทบกับสภาพแวดล้อมขึ้น ซึ่งยังไม่เห็นข้อมูลส่วนนี้ในนโยบายแห่งรัฐเลย เสียงสะท้อนของแรงงานผู้สูงอายุหลายรายที่วิตกว่า
“…ผลกระทบถ้ามีมาก ก็ตกอยู่ที่คนแก่มาก เพราะคนแก่อยู่กับบ้าน…”
“…แต่โรงงานน้ำตาลที่เขาซื้อที่ไว้ นั่น จำนวนมากเลย ถ้าเขาทำขึ้นมา ผู้สูงอายุก็มีผลกระทบ กลิ่น แล้วก็น้ำ คูคลอง ผลกระทบต้องไปถึงอรัญประเทศด้วย น้ำเพราะว่าแหล่งน้ำเดียวกัน พรหมโหดเดียวกัน…”
โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะไม่จ้างแรงงานผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นการเข้ามาของนักลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ จึงไม่ได้ส่งผลดีโดยตรงต่อแรงงานผู้สูงอายุ แต่อาจกลับสร้างมลพิษให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานในภาคการเกษตรเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ประการที่สาม การเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษจะนำไปสู่การเปิดเขตการค้าเสรีตามแนวชายแดน อันจะนำมาซึ่งผลิตผลทางการเกษตรเข้ามาจำหน่ายในพื้นที่ หรือเกิดโรงงานอุตสาหกรรมที่รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากประเทศกัมพูชา ซึ่งเมื่อเทียบกันกับผลผลิตทางการเกษตรของสระแก้วจะเสียเปรียบเพราะปัจจัยเรื่องน้ำในการทำการเกษตรที่ไม่เพียงพอ ผลผลิตทางการเกษตรจึงมีขนาดเล็กและสมบูรณ์น้อยกว่าของประเทศกัมพูชา และรวมไปถึงเรื่องค่าแรง ค่าปุ๋ย ค่ายาสำหรับการเกษตรของประเทศกัมพูชาที่มีราคาถูกกว่ามากทำให้ต้นทุนทางการเกษตรต่ำกว่า และทำให้พ่อค้าหรือนักลงทุนหันไปนำเข้าผลิตผลทางการเกษตรจากประเทศกัมพูชาเข้ามาในประเทศ
ผลกระทบนี้ยังคงตกอยู่กับแรงงานผู้สูงอายุในภาคการเกษตรที่ต้องต่อสู้กับการนำเข้าผลิตผลทางการเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านอยู่ต่อไป และไม่เพียงแต่ผลิตผลทางการเกษตรที่จะหลั่งไหลเข้ามาแล้ว โรคระบาดจากกลุ่มแรงงานข้ามชาติจะแฝงเข้ามาตามช่องทางนี้ด้วยเช่นกัน
ประการที่สี่ แหล่งน้ำที่เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและการทำการเกษตร จากเดิมที่พื้นที่ของอำเภอวัฒนานคร และอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เป็นเขตที่ประสบปัญหากับภัยแล้งเมื่อถึงฤดูกาลแล้ง แหล่งน้ำในพื้นที่มีจำกัด การเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ตามนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ อาจเป็นการแย่งใช้ทรัพยากรน้ำกับประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่แรงงานผู้สูงอายุยังคงทำการเกษตรเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตเป็นอาชีพหลักที่ต้องใช้น้ำในการเพาะปลูกอยู่ และในสภาพความเป็นจริงก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว การแย่งชิงทรัพยากรน้ำกับผู้เข้ามาใหม่ตามแนวนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษจะเกิดขึ้นและแก้ไขปัญหาอย่างไร มีหน่วยงานใดเตรียมการบ้าง เป็นสิ่งที่น่าขบคิดอยู่ไม่น้อย
ประการสุดท้าย การเกิดขึ้นของเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นการเข้าใช้พื้นที่ของคนกลุ่มใด เป็นข้อสงสัยของผู้สูงอายุในพื้นที่ ซึ่งคำตอบก็หนีไม่พ้น หน่วยงานที่มีอำนาจกับกลุ่มนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ สองกลุ่มเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์มหาศาลโดยตรงจากการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ส่วนแรงงานหนุ่มสาวและแรงงานข้ามชาติอาจจะได้ประโยชน์บ้างแต่ก็เป็นส่วนน้อยนิดเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าและการลงทุนที่เกิดขึ้น และกลุ่มคนกลุ่มใดจะถูกกดทับและซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น ซึ่งคำตอบก็หนีไม่พ้น “ชาวบ้านที่เป็นแรงงานผู้สูงอายุ” ซึ่งรวมไปถึงแรงงานผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นระยะเวลายาวนานที่อาจจะถูกขับไล่ออกจากพื้นที่เพื่อการนำพื้นที่ไปพัฒนาเขตอุตสาหกรรมและระบบการขนส่ง ที่ดินทำการเกษตรจะถูกเวนคืนไปทำโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง สถานที่ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น
ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำในสิทธิที่ดินของแรงงานผู้สูงอายุเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว
ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำในสิทธิที่ดินของแรงงานผู้สูงอายุนอกระบบในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ พื้นที่ดินที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและทำการเกษตรของแรงงานผู้สูงอายุเป็นพื้นที่ดินในเขตป่าสงวน แต่แรงงานผู้สูงอายุในพื้นที่ยืนยันว่า รุ่นพ่อรุ่นแม่ของตนเองได้เข้ามาจับจองเป็นพื้นที่ทำการเกษตรก่อนที่จะมีการประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวน และเมื่อเกิดการเวนคืนที่ดินเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ แรงงานผู้สูงอายุเหล่านี้จึงไม่มีสิทธิในการเรียกร้องค่าเวนคืนใดๆ จากรัฐได้
ในกรณีที่มีการเวนคืนที่ดินผ่านที่ดินทำกินของตนเอง เพราะที่ดินไม่มีโฉนด ไม่ใช่ น.ส.3ก. เพราะเป็นเพียงการเสียภาษีบำรุงท้องที่เป็นแบบ ภบท.5 เท่านั้น แต่ที่ดินดังกล่าวแรงงานผู้สูงอายุซึ่งเป็นเด็กเล็กได้เข้ามาอยู่อาศัยกับครอบครัวกันเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว ตั้งแต่รุ่นพ่อแม่และตนเองเป็นเด็กๆ จนปัจจุบันประชาชนเหล่านั้นเข้าสู่วัยผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้ว แต่ยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่ดินดังกล่าวประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรอยู่เหมือนเดิม แต่ไร้ซึ่งสิทธิที่ดินใดๆ แม้จะมีการต่อสู้เรียกร้องมานานก็ตาม
ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสิทธิที่ดินของแรงงานผู้สูงอายุเป็นปัญหาใหญ่ในพื้นที่เพราะครอบคลุมอาณาบริเวณ 7 หมู่บ้านใน 2 ตำบล 2 อำเภอของเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว ปัญหาที่ดินนี้ครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างมาก
ในพื้นที่หลายหมู่บ้านทั้งใน ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศและตำบลบ้านด่าน อำเภอวัฒนานคร จำนวน 1 หมู่บ้าน และในตำบลป่าไร่ จำนวน 6 หมู่บ้านที่ประสบปัญหา ได้แก่ หมู่ 2 บ้านป่าไร่ หมู่ 3 บ้านหนองหญ้าเมย หมู่ 4 บ้านหนองหญ้าปล้อง หมู่ 5 บ้านภูน้ำเกลี้ยง หมู่ 8 บ้านป่าไร่ใหม่ และหมู่ 9 บ้านใหม่ดีงาม ที่ไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ (ยกเว้นหมู่ 1 บ้านโคก หมู่ 6 บ้านหนองหมากบี้ และหมู่ 7 บ้านดงงู ที่พื้นที่ดินมีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดและ น.ส.3ก. จะได้รับสิทธิต่างๆ ในกรณีที่มีการเวนคืนที่ดินเพื่อไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเขตอุตสาหกรรมหรือการคมนาคมขนส่ง)
และในตำบลบ้านด่าน ได้แก่ หมู่ 7 บ้านไทยสามารถ ที่พื้นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิเช่นเดียวกัน รากเหง้าของปัญหาเกิดขึ้นมานานก่อนปี พ.ศ.2500 และการประกาศเป็นเขตป่าสงวน ปี พ.ศ.2507 และยิ่งตอกย้ำความเจ็บปวดในการให้ได้สิทธิของนักลงทุนตามนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษจากหน่วยงานภาครัฐ แต่ในขณะเดียวกันแรงงานผู้สูงอายุที่มาอยู่ก่อนกลับไม่มีสิทธิใดๆ เลย
หน่วยงานรัฐในระดับนโยบายท้องถิ่นและประเทศต้องเข้ามาดูแลเยียวยาไม่ให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งขยายตัวและซ้ำเติมกลุ่มแรงงานผู้สูงอายุนอกระบบมากขึ้น
ในฐานะที่พวกเขาเหล่านั้นก็เป็นคนไทยคนหนึ่งแต่ไร้ซึ่งสิทธิในที่ดินทำกินที่บรรพบุรุษเข้ามาจับจองก่อนรัฐจะประกาศนโยบายใดๆ เสียอีก
การเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ในความคิดของแรงงานผู้สูงอายุนอกระบบในพื้นที่ของทั้ง 4 ตำบล เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ควรจะมีความพิเศษต่อนักลงทุนและเจ้าของโรงงานเพียงฝ่ายเดียวที่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการกำหนดนโยบายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ หากแต่ควรสร้างสิทธิพิเศษต่างๆ ให้กับแรงงานผู้สูงอายุนอกระบบในพื้นที่ที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วยเช่นกัน
ข้อมูลบทความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “การพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบในเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม : กรณีศึกษาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว” สนับสนุนทุนการวิจัยจาก “งานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ ด้านการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการแก้ปัญหาความยากจน” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่เห็นความสำคัญในประเด็นความเหลื่อมล้ำของกลุ่มแรงงานผู้สูงอายุนอกระบบในภาคการเกษตรกลุ่มนี้ด้วย
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.