คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก โดย ขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธสน.
ไต้หวันถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตสินค้าไฮเทคชั้นนำของโลกภายใต้แบรนด์สินค้าที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีอาทิAsus, Acer, HTC เป็นต้น ขณะเดียวกัน ไต้หวันยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการพัฒนาภาคเกษตรกรรม ดังเห็นได้จาก GDP per Capitaในภาคเกษตรกรรมของไต้หวัน อยู่ที่ราว 28,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และสูงกว่าไทยซึ่งอยู่ที่ราว 3,600 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ประมาณ 7 เท่า
สะท้อนถึงศักยภาพการผลิตภาคเกษตรกรรมของไต้หวันที่อยู่ในระดับสูง และแม้ไต้หวันมีข้อจำกัดของพื้นที่ประเทศที่มีขนาดเพียง 36,193 ตารางกิโลเมตร เล็กกว่าไทยราว 14 เท่า ขณะที่ไต้หวันอยู่ในพื้นที่ที่เกิดภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง ซึ่งไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก แต่ไต้หวันกลับเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลกในหลายกลุ่มสินค้า อาทิ กล้วยไม้ และมะม่วง เป็นต้น จึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า ไต้หวันมีแนวทางในการพัฒนาศักยภาพของภาคเกษตรกรรมอย่างไร ท่ามกลางข้อจำกัดที่มีมากมาย
ทั้งนี้ กลยุทธ์สำคัญที่ไต้หวันนำมาใช้ในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมสรุปได้ 3 ประการคือ 1.การนำเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของไต้หวันมาประยุกต์ใช้ในภาคเกษตรกรรมตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานเพื่อยกระดับศักยภาพการผลิตไม่ว่าจะเป็นการ นำความรู้ด้านBiotechnology มาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืช ภายใต้โครงการ Agricultural Biotechnology ระยะเวลา 5 ปี (2552-2556) การนำเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ไร้สายมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกการพัฒนาระบบสืบค้นย้อนกลับ (Traceability System) เพื่อให้สามารถสืบค้นที่มาของสินค้าเกษตรทุกชิ้นกลับไปถึงแหล่งเพาะปลูกได้ ซึ่งทำให้สินค้าเกษตรของไต้หวันได้รับการยอมรับด้านคุณภาพจากทั่วโลก
2.จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ(FreeEconomic Pilot Zone) ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะของอุตสาหกรรมเกษตร โดยรวมอุตสาหกรรมเกษตรต่าง ๆ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าไว้ด้วยกัน อาทิ ศูนย์วิจัยและพัฒนา หน่วยงานตรวจสอบมาตรฐานสินค้ารวมถึงโครงข่ายโลจิสติกส์ เป็นการช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งกว่า 90% เป็นผู้ประกอบการ SMEs
3.จัดตั้ง Taiwan Agricultural Research Institute ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างน วัตกรรมใหม่ ๆ ในการแปรรูปสินค้าเกษตรขั้นต้น ไปสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง อาทิ อาหารสำเร็จรูป ยารักษาโรค เครื่องสำอาง เป็นต้น
ทั้งนี้ ด้วยภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร รวมถึงไทยเป็นอย่างมาก โดยมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ขณะที่ราคาส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรของไทยลดลงเฉลี่ยปีละ 1% ในช่วงเวลาเดียวกัน
ขณะที่ไต้หวันกลับแทบไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยบั่นทอนต่าง ๆ ดังกล่าว โดยมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไต้หวันตั้งแต่ปี 2555 ยังขยายตัวเฉลี่ยปีละ 4.8% ขณะที่ราคาส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรของไต้หวันยังเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราวปีละ 4%
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยการปฏิรูปภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรนับว่ามีความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับคนเกือบ 60% ของประเทศ โดยนโยบายที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันและได้ยินกันบ่อย ๆ ได้แก่ Smart Farmer ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีความคล้ายคลึงเป็นอย่างยิ่งกับการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของไต้หวัน โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับภาคเกษตรกรรม รวมถึงการบริหารจัดการภาคเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยให้ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยเติบโตได้อย่างมั่นคงเฉกเช่นไต้หวัน ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.