อย่าปล่อยให้ผืนดิน เป็นสินค้าในมือนายทุน
นับจากปี 2528 ที่ประเทศไทยกู้เงินธนาคารโลกเพื่อดำเนินการสำรวจรังวัดที่ดิน เป็นสัญญาณแห่งหายนะของการเปลี่ยนโฉมหน้าของผืนดินแห่งอาหารในมือเกษตรกรมาสู่การเป็นสินค้าเก็งกำไรเพิ่มมูลค่าในมือของนายทุน
กรณีปัญหาที่ดินจังหวัดลำพูน เป็นภาพสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งจากขบวนการแย่งชิงผืนดินเพื่อการเกษตรจากมือเกษตรกรโดยมิชอบทางกฎหมาย ตัวอย่างเช่น ในปี 2530 พบว่ามีการขบวนการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน การนำที่สาธารณะประโยชน์ที่ชาวบ้านเคยใช้ประโยชน์ร่วมกันไปออกเอกสารสิทธิ์เป็นจำนวนมากโดยที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีโอกาสรับรู้ข้อมูลมาก่อน อย่างในกรณีที่ดินที่บ้านหนองปลาสวาย จำนวน 15,000 ไร่ มีการออกโฉนดที่ดินให้เป็นของเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ จัดสรรที่ดินขาย และในช่วงนั้นก็เริ่มมีการกว้านซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไรกันเป็นจำนวนมาก และที่ดินที่ถูกกว้านซื้อเหล่านั้นกลายเป็นสภาพที่ดินถูกทิ้งร้างไม่มีการทำประโยชน์ และนับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา เกษตรกรในพื้นที่จำนวนมากต้องกลายเป็นเกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน เนื่องจากขบวนการกว้านซื้อที่ดินและการกดดันจากอิทธิพล และปัญหาทางกฎหมายประกอบกับภาวะเศรษฐกิจ เมื่อการเรียกร้องให้ให้ทางราชการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นผล ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเข้าทำกินในที่ดินรกร้างว่างเปล่า ตามสิทธิความเป็นคนที่ต้องมีที่ดินผลิตอาหารและความอยู่รอด ซึ่งต่อมากลุ่มนายทุนก็ฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้านที่เข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ถูกทิ้งร้าง กลายเป็นปมปัญหาความขัดแย้งที่ต้องการแนวทางคลี่คลายที่เป็นธรรม....
กระแสสังคมในขณะนั้นหลายฝ่ายไม่เพียงแต่ขบวนการประชาชนและคนทำงานพัฒนาในองค์กรพัฒนาเอกชน ทั้งนักวิชาการ สื่อมวลชนต่างก็เห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จนผลักดันให้เกิดการแก้ไขในระดับนโยบายด้านการกระจุกตัวที่ดิน การออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ไปจนถึงนำไปมาสู่การผลักดันให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินอย่างพอเพียง และการออกโฉนดชุมชน เป็นต้น การก่อเกิดสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เพื่อการเคลื่อนไหวผลักดันให้รัฐบาลปฏิรูปที่ดินโดยการนำที่ดินของเอกชนมากระจายให้เกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกิน มีขบวนการเคลื่อนไหวจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ต่อมาในปี 2544 สกน.สามารถผลักดันแนวทางการแก้ปัญหาโดยมีข้อตกลงร่วมกับกับรัฐบาลทักษิณในการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน และเริ่มโครงการนำร่องปฏิรูปที่ดินเอกชนในเชียงใหม่ –ลำพูน แต่แล้วขณะที่การดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวยังไม่สามารถดำเนินการได้ลุล่วง รัฐบาลชุดเดียวกันนี้ กลับมี มติครม.ในเดือนเมษายน 2545 ให้ดำเนินการทางกฎหมายกับชาวบ้านที่เข้าทำกินในที่ดินเอกชน จึงมีการไล่กวาดจับชาวบ้านเป็นจำนวนมาก พื้นที่ อ.บ้านโฮ่ง อ.ป่าซาง และกิ่ง อ.เวียงหนองล่องใน จ.ลำพูน มีทั้งสิ้น 47 คดี จำนวนถึง 125 คน
มาถึงวันนี้เวลาผ่านไปกว่า 10 ปี แม้เกษตรกรที่เป็นผู้จุดประกายการแก้ไขปัญหาการกระจุกตัวของที่ดิน และกระแสการขับเคลื่อนปัญหาที่ดินอย่างกว้างขวาง พวกเขากลับต้องเผชิญกับการถูกดำเนินคดีมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ที่ จ.ลำพูนมีการดำเนินคดีกับเกษตรกรจำนวนกว่า 100 คน ปัจจุบันดำเนินคดีไปแล้ว 21 คน และต้องเสียชีวิตในห้องขังจำนวน 1 ราย
รวมทั้งคดีที่จะถูกพิพากษาในชั้นศาลฎีกาในวันที่ 6 มิถุนายน 2555 นี้ (ซึ่งยังไม่รู้ว่าผลการพิพากษาในชั้นศาลฎีกาจะออกมาเช่นไร) โดยคดีดังกล่าวเกิดในพื้นที่บ้านพระบาท อ.ป่าซาง จ.ลำพูน หลังจากที่ชาวบ้านถูกจับแล้ว ก็ไม่มีการเข้าทำกินในพื้นที่นั้นอีกเลย ปัจจุบันเจ้าของที่ดินบางคนมาสร้างบ้านพักตากอากาศ บางคนทำเป็นฟาร์มพืชเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และส่วนใหญ่ผืนดินยังคงถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าไม่มีการทำประโยชน์แต่อย่างใด แต่มีคนที่ถูกเรียกว่า “แกนนำ” จำนวน 3 คน กลับต้องยังคงถูกตัดสินดำเนินคดีต่อไปในชั้นศาล ซึ่งคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้น(ตัดสินโทษจำคุก 6 ปี) และศาลอุทธรณ์ (ตัดสินโทษจำคุก 4 ปี)
ผู้ที่ถูกฟ้องดำเนินคดีนี้ มีจำนวน 3 คน คือ นายประเวศน์ ปันป่า (อายุ 64 ปี) ลุงแดงเป็นคนแก่ที่มีโรคประจำตัวคือโรคความดัน ซึ่งต้องทานยาเป็นประจำ ลุงแดงดูร่างกายไม่แข็งแรงนัก เดินช้า และอ่อนเพลียง่าย และเมื่อต้องเผชิญกับปัญหานี้ ทำให้ลุงแดงและภรรยาอยู่ในสภาวะจิตใจที่ย่ำแย่ เครียด และซึมเศร้า
นายรังสรรค์ แสนสองแคว (56 ปี) อ้ายสรรค์ แม้จะยังคงดูแข็งแรงดี แต่อ้ายสรรค์ก็มีโรคประจำตัวคือน้ำในหูไม่เท่ากัน จะมีอาการวิงเวียนและโลกหมุนไม่สามารถลุกเดินเป็นปรกติได้ถ้ามีอาการนี้ อ้ายสรรค์เองยอมรับว่า “กลัวสภาพที่ต้องอยู่ในห้องขังแออัดสี่ห้าคน ทั้งนอนทั้งถ่ายในห้องขังไม่ไหว... อีกทั้งในเรือนจำลำพูนไม่มีการแยกประเภทของผู้ต้องหา ดังนั้นในห้องที่เราอยู่ก็จะมีผู้ต้องหาที่หลากหลายไม่รู้ว่าเค้าไปทำอะไรมาบ้าง....”
นายสืบสกุล กิจนุกร (อายุ 39 ปี) ซึ่งเป็นคนทำงาน(เจ้าหน้าที่ขององค์กรพัฒนาเอกชน) ต๊อกเป็นคนทำงานรุ่นใหม่ที่อยู่แถวหน้าของการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมแก่เกษตรกรมาโดยตลอด เขาร่วมขบวนการต่อสู้กับพี่น้องอย่างไม่เคยเหน็ดเหนื่อย และแน่นอน การที่ถูกต้องคดีไปกับชาวบ้านด้วยนั้นเป็นสิ่งที่ยืนยันแล้วว่าเขาไม่ใช่คนทำงานเพื่อสังคมที่ห่วงตัวเองและปล่อยให้ชาวบ้านต้องโดดเดี่ยว ขณะนี้ต๊อกเป็นห่วงลูกสาวและภรรยามากที่สุด แม้ว่าเขาจะทำใจที่จะต้องไปอยู่ในสภาพนั้นไว้บ้างแล้ว แต่ภรรยาของต๊อกซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นกำลังท้องแก่ 6 เดือน และต้องต่อวีซ่าทุกๆปี ลูกสาวคนแรกกำลังอยู่ในวัยเรียนรู้อายุเพียงสามขวบกว่า และมีพ่อเป็นเหมือนเพื่อนสนิทดูแลใกล้ชิดในยามที่แม่ท้องอยู่ เธอจึงติดพ่อมาก เธอคงต้องเหงาและถามหาพ่อทุกวัน ทุกๆวันที่พ่อไม่อยู่....
การที่ผู้ที่เคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมทางสังคมที่ไม่ได้เป็นคนก่อคดีอาชญากรรมทำร้ายใคร แต่ต้องเข้าไปสู่ห้องขังที่ไม่ต่างจากอาชญากรทั่วไป ทั้งด้านการกินอยู่ และการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังมีครอบครัว ทั้งลูก ภรรยา พ่อแม่ พี่น้องที่ต้องดูแล ค่าใช้จ่ายที่เกิดหลังจากที่เกษตรกรต้องตกเป็นผู้ต้องหานั้น หากจะพิจารณาตั้งแต่เริ่มต้น พวกเขาต้องเดินทางไปขึ้นโรงขึ้นศาล ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายในการประกันตัว และมาจนถึงวันที่ถูกตัดสินให้ถูกดำเนินคดี ก็จะมีภาระทั้งในส่วนที่ต้องดูแลครอบครัว ขณะเดียวกันเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในห้องขังก็มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ทั้งค่าอาหาร ยารักษาโรค (ยังไม่นับรวมสภาพจิตใจที่ย่ำแย่)
การระดมทุนเพื่อช่วยเหลือครั้งนี้ เป็นการนำเงินกองทุนไปช่วยเหลือทั้งผู้ต้องขัง และครอบครัว ซึ่งคนเหล่านี้ได้มีส่วนช่วยผลักดันนโยบายสาธารณะที่ดินและป่าไม้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการประทังความเดือดร้อนของเกษตรกร แกนนำ และครอบครัว ระหว่างที่การแก้ไขทางนโยบายยังดำเนินไป โดยแผนการระดมทุนระยะเริ่มต้น จะนำเงินที่ได้ส่วนหนึ่งมาจัดทำสินค้าเพื่อการรณรงค์และเป็นการระดมทุนเพิ่ม เช่น เสื้อยืดรณรงค์ กระเป๋าผ้า หมวก และสินค้าที่จะเป็นสัญลักษณ์แห่งการให้กำลังใจ รวมทั้งร่วมขับเคลื่อนการต่อสู้ การผลักดันการแก้ไขปัญหาการกระจายการถือครองที่ดินแก่เกษตรกรที่เป็นธรรมต่อไป
เขียนโดย Wara Lakana / 15 พฤษภาคม 2012
ภาพจากphichit.go.th
กรุณาร่วมระดมทุนโดยการโอนเงินสมทบกองทุนช่วยเหลือคดีที่ดิน
ชื่อบัญชี ช่วยเหลือคดีที่ดิน เลขที่ 521-0-43383-8
ธนาคารกรุงไทย สาขาถนนสุเทพ ประเภท ออมทรัพย์
หรือติดต่อที่ กป.อพช. ภาคเหนือ เฉิดฉันท์ ศรีพานิช 086-9158704
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.