บทเรียนจากภาวะ “ภัยแล้ง” ที่นับวันจะมีความถี่และช่วงเวลายาวนานขึ้น สร้างความเสียหายแก่ภาคเกษตรกรรมมหาศาล โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวนอกระบบชลประทาน ชาวนาเดือดร้อนเลือดตาแทบกระเด็น
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จึงมีนโยบายจูงใจให้พื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกข้าว ไปประกอบอาชีพเกษตรกรรมอื่นที่มีโอากสมากกว่า
ล่าสุด คณะรัฐมนตรีมติอนุมัติมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 รวม 5 โครงการ ใช้วงเงิน 15,597.340 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงกระบือรายละ 5 ตัว และปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวมาปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนรายละ 5 ไร่
2.โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงแม่โคเนื้อรายละ 5 ตัว และปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวมาปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนรายละ 5 ไร่
3.โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงแพะ รายละ 32 ตัว และปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมมาปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนรายละ 5 ไร่
4.โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้าเนเปียร์ เพื่อเป็นอาหารสัตว์และจำหน่ายในเชิงการค้ารายละ 5 ไร่
5.โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น โดยรัฐบาลจะให้เป็นเงินจ่ายขาดสำหรับชาวนาที่เสนอแผนเลิกปลูกข้าวไปทำอาชีพอื่นไร่ละ 5,000 บาท
กำหนดเป้าหมายลดพื้นที่นาข้าว 570,000 ไร่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจะสนับสนุนเงินกู้ โดยรัฐบาลอุดหนุนดอกเบี้ยให้ 3% และเกษตรกรออกเองอีก 2%
เป็นข้อเสนอภาครัฐในฐานะผู้ให้ แต่จะตอบโจทย์ตรงใจผู้รับอย่างไร
สุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ให้ความเห็นสนับสนุน เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีทางเลือกเพิ่มขึ้น แต่ฝากข้อเสนอแนะผ่านไปยังรัฐบาลว่า เวลาจะออกนโยบายอะไรออกมา อยากให้มาทำความเข้าใจและถามเกษตรกรก่อนว่าต้องการอะไร ไม่เช่นนั้นเมื่อนโยบายออกมาจริงๆ ผลประโยชน์อาจไม่ตกอยู่กับเกษตรกรโดยตรง อย่างมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับให้ชาวนารวมกันทำนาแปลงใหญ่ที่ ครม.อนุมัติเมื่อต้นปี ขณะนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ก็ยังไม่รับทราบและยังไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการเลย
คงฤทธิ์ บัวบุญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดมหาสารคาม ให้ความเห็นสนับสนุนว่าที่ผ่านมาผลผลิตข้าวออกมามากจนล้นตลาด ทำให้ข้าวขายไม่ได้ราคา ทำไปขาดทุนไป ฉะนั้นเกษรตรกรต้องปรับเปลี่ยนวิถีใหม่ เช่น เปลี่ยนมาเลี้ยงโค สัตว์เศรษฐกิจที่เกษตรกรสามารถกำหนดราคาได้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิพิเศษในเรื่องเงินมาลงทุนที่รัฐคิดดอกเบี้ย 5% ต่อปี โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% เกษตรกรจ่ายเพียงแค่ 2% เท่านั้น
สำหรับจังหวัดมหาสารคามหากไม่ปลูกข้าวก็เหมาะจะทำการปศุสัตว์ เพราะเป็นวิถีของชาวบ้านอยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มเติมความคิด และระบบเครือข่ายเพื่อที่จะพัฒนาไปใช้ อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนควรเป็นเรื่องของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการว่าต้องการเปลี่ยนไปทำอะไร ไม่ใช่ภาครัฐเป็นผู้กำหนดว่าเกษตรกรคนนี้ต้องทำแบบนี้ ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเกษตรกรเอง จะเลี้ยงอะไรก็ต้องให้เข้าวิถีชีวิตของตนเอง
ด้าน วลิต เจริญสมบัติ ประธานศูนย์ข้าวชุมชนจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดรัฐบาลครั้งนี้ ในฐานะเป็นผู้นำภาคการเกษตรไม่อยากเห็นการทำนาที่ว่าประเทศไทยจะต้องเป็นอันดับ 1 ของโลกในเรื่องการส่งออกข้าว ขณะที่ชาวนาไทยยังยากจนอยู่ หากสามารถจะปรับเปลี่ยนได้ขณะที่ตลาดโลกทุกวันนี้ทำไมต้องแข่งกับเพื่อนบ้าน เมื่อได้รวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว ทำไมจึงไม่ทำการตกลงแต่ละประเทศว่า ควรทำการผลิตแต่ละประเทศจำนวนเท่าไร เช่น โค กระบือ แพะ ทำอย่างไรไม่ให้ล้นตลาดออกไป
นอกจากนั้นโครงการปลูกหญ้าเนเปียร์ที่กำลังส่งเสริม หลังจากประเทศไทยเพิ่งประสบภัยแล้งปีที่แล้ว ทำให้ต้องหันกลับมาคิดแล้วว่าจะต้องเตรียมการอย่างไร เพื่อให้ไม่ประสบปัญหานี้อีก การปลูกหญ้าเนเปียร์จะมีข้อจำกัด ไม่ใช่ว่าให้เงินลงมาไร่ละ 2,000 บาท หรือ 5,000 บาท จำเป็นจะต้องให้องค์ความรู้ด้วย การหมักหญ้าเนเปียร์เป็นอาหารเสริมสำหรับเลี้ยงวัว เพื่อเป็นทางเลือกของอาหารปลอดภัยควรจะต้องทำอย่างไรบ้าง ไม่ใช่สนับสนุนปลูกหญ้าเนเปียร์ลงมาแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำด้านการตลาดว่า มีความต้องการมากน้อยแค่ไหน ลองคิดดูหากประเทศไทยเลิกทำนาข้าวประมาณ 20% แล้วหันไปทำหญ้าเนเปียร์ เกษตรกรจะเอาหญ้าเนเปียร์ไปไว้ตรงไหน จะขายให้ที่ไหน ไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหางูกินหางต้องมาแก้ไขกันอีก
ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือการวางแผนให้ดี เกษตรกรจะอยู่ดีมีสุข เพราะอย่างไรเสียเกษตรกรจะต้องปรับเปลี่ยนอาชีพ ราคาข้าวขณะนี้เกวียน 7 พันบาท คงอยู่ไม่ได้
ขณะที่ชาวนาตัวจริงเสียง ธวัชชัย เอี่ยมจิตร ชาวนาใน อ.เมืองชัยนาท มองว่า โครงการดังกล่าวของรัฐบาลถือเป็นแนวทางที่ดี สามารถช่วยชาวนาได้ในระยะหนึ่ง แต่ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ตอบโจทย์ของเกษตรกร เพราะการสนับสนุนให้เลิกทำนาโดยให้เงินอุดหนุนหรือให้ทุนไปปลูกพืชชนิดอื่น
ข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับเรื่องอุดหนุนหรือไม่อุดหนุน เพราะจุดอ่อนของเกษตรกรไทยคือเรื่องขององค์ความรู้ เกษตรกรไทยมีความรู้แบบเชิงเดี่ยว คือเกษตรกรที่ปลูกข้าว ก็จะปลูกข้าวเป็นอย่างเดียว เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดก็จะมีความชำนาญในการปลูกข้าวโพดเพียงอย่างเดียว จะให้เกษตรกรกลุ่มนี้ไปทำอาชีพอื่นๆ เช่น ให้คนปลูกข้าวหันไปปลูกผัก คนปลูกข้าวโพดจะให้หันไปเลี้ยงสัตว์ หรือกลุ่มที่เคยปลูกข้าวจะส่งเสริมให้ไปเลี้ยงปลาเลี้ยงกบ บอกได้เลยมีแต่ขาดทุนกับขาดทุน
เหตุที่เป็นอย่างนั้น เพราะเกษตรกรเหล่านั้นขาดองค์ความรู้ใหม่ที่จะไปเริ่มทำ เงินที่อุดหนุนลงมาไม่ว่าจะเป็นการให้หรือกู้ยืมก็รังแต่จะสร้างภาระให้เกษตรกร
การแก้ปัญหา คือ สร้างองค์ความรู้ให้กลุ่มเป้าหมายอย่างจริงจังเสียก่อน ต้องมีการตั้งกรอบเวลาที่ยืดหยุ่นให้คนเหล่านั้นมีเวลาปรับตัว เพื่อให้เห็นผลจริงในการปรับเปลี่ยน ไม่ใช่เข้าไปส่งเสริมเพียงครั้งคราวแล้วปล่อยทิ้ง
คนเหล่านั้นเมื่อทำสิ่งที่ไม่ถนัดก็จะขาดทุน เมื่อขาดทุนจะหันกลับมาทำอาชีพเดิม ปัญหาจะวนกลับมาวงจรเดิม
นอกจากการสร้างองค์ความรู้อย่างจริงจังถาวรแล้ว ความต่อเนื่องทั้งการเป็นพี่เลี้ยง เป็นที่ปรึกษา และการสร้างตลาดรองรับ รวมถึงการพัฒนาต่อยอดก็เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องมองมากกว่าเอาเงินลงไปถมด้วยการจ้างเลิกทำนา
ชาวนาปลูกข้าวมาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวด จะให้ปรับเปลี่ยนวิถีดั้งเดิมคงไม่ง่ายเหมือนพลิกฝ่ามือ
ที่สำคัญถามไถ่พวกเขาหรือยัง ต้องการอย่างไร
ที่มา : มติชน วันที่ 19 ส.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.