เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
โลกวันนี้มีอะไรใหม่ให้วิ่งไล่ตามอยู่ทุกวัน อย่างการเกิดขึ้นของ Uber และ AirBnb สะท้อนให้เห็นว่า มีคนที่คิดได้ว่า ทำไมผู้คนถึงใช้รถยนต์กันแบบไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ตอนเช้ารถติด ตอนเย็นรถติด เพราะใครๆ ก็ขับรถไปทำงาน ขับรถกลับบ้าน ส่วนใหญ่ไปคนเดียว ทั้งๆ ที่มีที่นั่งว่างอีกตั้ง 3-4 ที่ หรือมากกว่า ถึงได้เกิดอูเบอร์และบริษัทที่คล้ายกันนี้ที่เอารถธรรมดามาให้คนเช่านั่งไปด้วย หรือเป็นรถที่จัดไว้เพื่อบริการแต่สามารถรับคนตามทางได้ด้วย เพื่อแบ่งเบาค่าโดยสาร หรือเอารถส่วนตัวที่ไม่ใช้งานวันหยุด หรือกลางวันไปให้บริการ
ในเมืองและในชนบท ครอบครัวใหม่สร้างบ้านใหม่ บ้านเก่าก็เหลือแต่พ่อแม่แก่ๆ มีห้องว่างอยู่อีกหลายห้องที่ลูกๆ เคยอยู่ ทำไมไม่ให้คนอื่นมาเช่ามาใช้ รายเดือนรายปีไม่เอา รายวันดีกว่า ถึงเกิดบริษัทอย่างแอร์บีเอ็นบี และลักษณะเดียวกันนี้ไปทั่วโลก มีห้องพักมากกว่าโรงแรมทั้งหลายรวมกัน
ทั้งอูเบอร์และแอร์บีเอ็นบีทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเศรษฐกิจแบบเดิมเริ่มสูญเสียรายได้ผลประโยชน์ ไม่ว่าแท็กซี่หรือโรงแรม หรือแม้กระทั้งบ้านเช่าในหลายประเทศก็ขาดแคลน เนื่องจากเจ้าของบ้านเอาไปเข้าแอร์บีเอ็นบีกันหมด เพราะเช่ารายวันรายได้ดีกว่ารายเดือน
คนมีวิสัยทัศน์มองการณ์ไกลต่างก็เห็นพ้องต้องกันมานานแล้วว่า โลกไม่สามารถอยู่รอดได้ถ้าหากยังพัฒนาในลักษณะนี้ที่ล้างผลาญทรัพยากร ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายความสัมพันธ์ของผู้คน คนมือยาวสาวได้สาวเอา มีคนรวยเพียงร้อยละ 10 แต่เป็นเจ้าของทรัพยากรถึงร้อยละ 90 ได้อย่างไร
ไม่ว่าเมืองไหนประเทศไหนก็ไม่สามารถสร้างถนนหนทางรองรับปริมาณรถยนต์ที่ออกใหม่มาวิ่งวันละเป็นแสนเป็นล้านคันอย่างนี้ได้ หลายเมืองหลายประเทศ มีรถยนต์มากกว่าจำนวนประชากร มลภาวะไม่ได้ลดลงอย่างที่วางเป้าหมายกันไว้
โลกวันนี้ต้องคิดใหม่ทำใหม่ให้มีความเป็นธรรมมากกว่านี้ เป็นธรรมกับตนเอง กับผู้อื่น กับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เป็นเศรษฐศาสตร์ใหม่และนวัตกรรมที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ไม่แต่เพียงสำหรับประเทศพัฒนาแล้ว แต่กำลังพัฒนาอย่างไทยก็มีอะไรให้คิดให้ทำได้มาก
มีอยู่อย่างน้อย 2 เรื่องที่สังคมไทยต้องคิดใหม่เองและพัฒนาเป็นเศรษฐศาสตร์ใหม่ เรื่องที่หนึ่ง คือ การใช้ที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดสำหรับสังคมที่มีพื้นฐานการเกษตรอย่างไทย เป็นประเทศอุดมสมบูรณ์ มีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองและเป็นครัวของโลกได้สูงยิ่ง
เรื่องที่ดินเป็นอะไรที่รัฐบาลนี้ให้ความสนใจและพยายามหาทางแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะยึดคืนพื้นที่อุทยาน ป่าสงวน หรือสปก. ซึ่งก็มักจะโทษชาวบ้านว่าไปรุกป่ารุกที่ ซึ่งเป็นปลายแถวปลายเหตุ นโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาลหนึ่ง นายทุนหนึ่ง ล้วนเป็นต้นเหตุสำคัญ ชาวบ้านเป็นเครื่องมือและแพะ
ที่ดินปกติทั่วไปตกไปอยู่ในมือของนายทุน ส่วนหนึ่งเป็นมานานหลายสิบปี เจ้าของที่ดินเก่าในภาคกลางภาคเหนือได้กลายเป็นประเด็นการประท้วงและการต่อสู้หลัง 14 ตุลาฯ ต่อมา ชาวบ้านที่ยังพอมีที่ดินก็เริ่มสูญเสียไปเรื่อยๆ ถูกยึดบ้าง ขายไปเพื่อใช้หนี้และไปหาที่ทำกินใหม่บ้าง
จึงไม่แปลกที่วันนี้มีนายทุนใหญ่ บริษัทใหญ่ เป็นเจ้าของที่ดินนับแสนๆ ไร่ทั่วประเทศ มีคนที่ไม่ใช่เกษตรกรแต่ครอบครองที่ดิน สปก.มากกว่า 500 ไร่ อยู่นับพันราย และที่ดินอื่นๆ ทั้งที่มีเอกสารสิทธิและไม่มีอีกอย่างน้อย 30 ล้านไร่ ตัวเลขที่รัฐบาลบอกว่าจะยึดคืน
มีความพยามปฏิรูปที่ดินด้วยระบบภาษี แต่แม้จะมีกฎหมายออกมาก็คงไม่สามารถบังคับใช้ได้ผลอะไรนัก ที่ดินรกร้างว่างเปล่าจึงมีอยู่หลายสิบล้านไร่ทั่วไปเต็มแผ่นดิน ทั้งๆ ที่คนจน คนไม่มีที่ทำกินมีอยู่หลายล้านครอบครัว นอกนั้นก็มีคนละ 5 ไร่ 10 ไร่
โฉนดชุมชนมที่เกิดขึ้นในรัฐบาลก่อนๆ ก็เป็นทางเลือกทางออกหนึ่งที่น่าจะเป็นจริงได้ในแนวคิดเศรษฐศาสตร์ใหม่ที่มีเอกลักษณ์ที่ “การแบ่งปัน” เพียงแต่เป็นการจัดการใหม่ที่ไม่ใช่แบ่งปันแบบโบราณ
แต่ประเด็นใหญ่อยู่ที่การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีสิทธิและอำนาจหน้าที่ในการจัดการทรัพยากรมากขึ้น ทำให้ชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น มีระบบการตรวจสอบดูแลให้มีธรรมาภิบาล ให้ท้องถิ่นเป็น “เจ้าของ” ทรัพยากร”ร่วมกัน” อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคงยั่งยืน ไม่ตกไปอยู่ในมือของนายทุนหรือผู้มีอิทธิพลไม่ว่าระดับไหน จากในหรือนอกประเทศ แต่ก็ไม่ใช่ระบบ “สังคมนิยมคอมมิวนิสต์”
เรื่องที่สอง คือ เรื่องพลังงาน วันนี้ทั่วโลกเริ่มหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานแสงอาทิตย์ ประเทศไทยไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างจริงจัง เพราะแรงต้านของ “นายทุน” ไม่ว่านรัฐวิสาหกิจหรือเอกชนที่กุมอำนาจในการผลิตไฟฟ้าแบบฟอสซิล ไม่ว่าน้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน ที่กำลังหมดยุคไปแล้ว
แต่อย่างไรก็ต้านกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ได้ ผู้รู้บอกนานแล้วว่า ถ้าบ้านคนไทย 3 ล้านหลัง ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ประเทศไทยไม่ต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่ และในอนาคตอาจหมดไปและมีระบบไฟฟ้าใหม่ที่รับจากหลังคาบ้าน หลังคาอาคารสถานที่ที่เหลือใช้อย่างที่หลายประเทศเริ่มทำไปแล้ว
มลภาวะจะลดลงไม่ใช่เพราะเราปลูกต้นไม้เท่านั้น แต่เพราะคนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า และจำนวนรถก็จะลดลงเพราะมีการใช้รถยนต์แบบ “แบ่งปัน” กันมากขึ้น นี่คือเศรษฐศาสตร์แบ่งปัน เศรษฐศาสตร์แบบกระจายไปสู่มวลชน ไม่ใช่กระจุกรวมศูนย์อีกต่อไป
การสร้างความร่ำรวยแล้วสงเคราะห์ช่วยเหลือคนจนก็ดี การมี CSR ก็ดี คงไม่เพียงพออีกต่อไป ความเป็นธรรมในสังคมต้องการระบบและรูปแบบใหม่ เศรษฐศาสตร์แบ่งปันแบบไหนเหมาะกับสังคมไทย ทุกฝ่ายต้องช่วยกันคิดและช่วยกันพัฒนาแล้วครับ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.