เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2559 เวลา 13.30 น. ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จัดงานสัมมนา CSR 360 องศา "ธุรกิจเพื่อสังคมบริบทใหม่ สร้างไทยให้ยั่งยืน" โดยในช่วงบ่ายมีเสวนาพิเศษในหัวข้อ “ผสานพลังธุรกิจ ยกระดับชนบทไทย” ซึ่งมีนักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำของไทยมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้แก่ ศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น , ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) , วิเชียร พงศธร กรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัทพรีเมียร์และ วาสนา ลาทูรัส เจ้าของผู้ก่อตั้งผลิตภัณฑ์นารายา โดยบรรยากาศงาน เป็นไปอย่างคึกคักมีประชาชน นักธุรกิจเข้าร่วมฟังจำนวนมาก
ศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่าปัจจุบัน เครือเจริญโภคภัณฑ์มีพนักงานมากกว่า 350,000 คน ใน 12 ประเทศทั่วโลก นับเป็น ชุมชนหนึ่งที่จำเป็นต้องมีการปรับตัวทั้งระดับประเทศและสากล
สิ่งที่บริษัทต้องทบทวนต่อเนื่อง คือ 3 สิ่งหลักนี้ คือ 1) คุณธรรมในการทำธุรกิจและวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งเป็นหลักยึดในการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากการสื่อสารต่อคนจำนวนมาก ต้องยึดโยงคุณค่าเดียวกัน 2 ) ศักยภาพของบุคลากร โดยเฉพาะการพัฒนาผู้นำให้กระตือรือร้น มีสัญชาตญาณของนักบุกเบิกและพัฒนา และ 3 ) นวัตกรรม ถือเป็นสิ่งสำคัญของบริษัทที่จะอยู่ได้ต้องปรับตัวและนำเสนอสิ่งที่มีคุณค่าให้กับชุมชนและตลาดโลก
ศุภชัย กล่าวต่อว่า ถ้ามองไทยในภาพที่ใหญ่ขึ้น จากอดีตถึงปัจจุบันจะมองเห็นความแตกต่างในพื้นที่การค้าท่าเรือติดชายทะเลจะ มีความเจริญและเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าพื้นที่ห่างไกล ระบบน้ำไม่สมบูรณ์ก็ จะเจริญน้อยลงเราต้องพิจารณาว่าในระยที่ผ่านมาทำไมจีดีพีบ้านเราเติบโตน้อย มากเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและเกาหลีใต้ที่พัฒนาอย่าง ก้าวกระโดดในช้วง 20 ปีมานี้
ปัจจัยด้านความเป็นอยู่โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของจีดีพี ถูกบีบราคาเอาไว้ และหากไม่สามารถสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงแล้ว การกระจายรายได้ก็ไม่เกิดขึ้น ความเหลื่อมล้ำห่างออกไปเรื่อยๆ ทำให้การพัฒนาในพื้นที่เกษตรกรรมไล่ตามไม่ทันในช่วงรอยต่อนี้
แม้ทุกประเทศจะเริ่มต้นด้วยการเป็นประเทศเกษตรกรรมและเครื่องนุ่งห่มถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ แต่พอเข้าสู่ยุปฎิวัติอุตสาหกรรม หลายอย่างปรับตัว ยกเว้นภาคเกษตร อาจจะมีปรับตัวบ้างทางด้านปศุสัตว์ ผลิตของได้มากขึ้น ใช้คนน้อยลง แต่เราหลีกเลี่ยงปรับในด้านพืชผลซึ่งเป็นของเกษตรกรสวนใหญ่ของประเทศ ทำให้ในส่วนนี้ปรับตัวไม่ทัน
มองดูการปรับตัวของยุโรปโดยการรวมตัวกันเป็น “สหกรณ์” จุดเด่นของเขาคือการผู้นำชุมชนมีความกระตือรือร้นสูงมาก ด้านอเมริกาเข้าสู่คอนแทคฟาร์มมิ่ง การเกษตรถูก absorb เข้าไปในอุตสาหกรรม
“การที่เราบอกว่าเราจะกระจายรายได้ ต้องมีสองอย่าง 1.ราคาพืชผลต้องสะท้อนต้นทุนของเกษตรกร ที่เขามีความเสี่ยงทั้งภัยธรรมชาติ ราคา เกษตรกรจะไปรับความเสี่ยงตรงนี้ได้ อย่างไร 2.เกษตรกรจะต้องมีองค์ความรู้ การบริหารจัดการ มีตลาด แต่การเป็นระดับจุลภาค จะยั่งยืนได้ต้องเข้าระบบสหกรณ์ มีระบบ ซึ่งระบบสหกรณ์บ้านเราบางอันยังไม่ค่อยเวิร์ก"
บ้านเรายังเกิดขึ้นช้าและปัจจุบันประชากร 40 เปอร์เซ็นต์ยังอยูในภาคเกษตร ระบบสหกรณ์ในเมืองไทยยังไม่มีประสิทธิภาพ มากนัก เขาจะเติบโตขึ้นได้อย่างไร จะใช้เครื่องทุนแรง เข้าสู่การผลิตและแปรสภาพ ได้อย่างไร จึงจำเป็นต้องมีการใช้โมเดลที่เหมาะสมในโดยใช้โซเซียลอินเตอร์ไพร์ซเพื่อการพัมนาชุมชน เป็นสเต็ปในการกระจายรายได้ในพื้นที่ที่ห่างไกล
ศุภชัย กล่าวต่อว่า สำหรับการพัฒนาให้ยั่งยืน ต้องพัฒนาคนและการศึกษาต้องไปควบคู่กัน หากมองในภาพเศรษฐกิจตลาดโลก ทุกคนมีความฝันและต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น ต้องกลับมาเริ่มต้นจากประเทศไทยว่าเราจะให้อะไรกับภูมิภาค ให้อไรกับโลก จากเดิมที่เรามองแค่ว่าเราจะเติบโตอย่างไร แต่ทุกวันนี้โลกเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว ข้อมูลจากที่หนึ่งไปทั่วโลกแค่ชั่วโมงหรือแค่นาทีเท่านั้น
ไทย ทำอะไรให้กับเพื่อนบ้านได้ เราเป็นศูนย์กลางในเรื่องอะไร มองจุดอ่อนจุดแข็งให้ออก เช่นการท่องเที่ยว การผลิตรตยนต์ การแพทย์หรืออาหารและการเกษตร จำเป็นต้องกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ รวมถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทุกด้านไม่ใช่แค่ด้านโทรคมนาคม
ยกตัวอย่างเช่น กำหนดไปเลยว่าภาคเหนือ ภาคอีสาน มีจุดอ่อนและจุดแข็งอย่างไร ภาคเหนือภูเขาเยอะไม่เหมาะแก่การเกษตร สู้การปลูกที่ราบไม่ได้ แต่วิกฤตพลิกโอกาส เช่นหันมาปลูกพืชบางอย่างที่จำเป็นต้องปลูกที่ภูเขา เช่น ชา กาแฟ เป็นต้น
“ถ้าจีนเริ่มหันมากินกาแฟ อีก 10 ภาคเหนือก็ไม่พอ แล้วอุตสาหกรรมเหล่านี้จะดึงรายได้ของแต่ละท้องที่ขึ้นมาได้และจะต้องส่งเสริมกันอย่างไร ส่วนภาคอีสานผมมองว่ามีชื่อเสียงที่สุดคือข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวหลายสายพันธุ์ เราต้องทำการวิจัยพันธุ์ให้มีความทนมากขึ้น ปลูกได้หลายจังหวัดมากขึ้น และมีระบบชลประทานที่ดี อย่างไรก็ตามเมื่อเกษตรกรเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม งานที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรลดน้อยลง แต่ไปเพิ่มรายได้โดยการทำงานฝีมือ ส่วนลูกหลานเป็นแบบเดียวกันทั่วโลก คือจะเข้าไปในเมือง ถ้าจะกลับชนบทคือกลับมาด้วยการเป็นนักท่องเที่ยว เราจะไปบังคับคนรุ่นใหม่ไม่ได้”
หากไม่ใช่ฤดูแล้ง ข้าวไทยจะล้นตลาดถึง 1 ใน 3 แต่การอุ้มชูของภาครัฐไม่เคยทำให้สิ่งเหล่านี้ยั่งยืน ประเทศเราจะสร้างฮับเพื่อภูมิภาคเพื่อโลก และสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ไปควบคู่กันให้ได้
ศุภชัย ชี้แนะว่ารัฐต้องช่วยปรับปรุงเงื่อนไขให้สามารถทำได้จริง ชุมชนเขามีปัญหาด้านโครงสร้างและกฎหมายด้วย ประชารัฐทำให้เอกชนเริ่มเห็นปัญหาในระดับประเทศ จากเดิมที่ทำธุรกิจของให้ของมันไป แต่มิติเหล่านั้นมันล้าสมัยไปแล้ว จึงต้องมองว่าประเทศไทยอยู่ตรงไหนในเวทีโลก โดยเฉพาะการพัฒนามนุษย์
“การศึกษาไทยต้องเปลี่ยนวิธี ให้นักเรียนเป็นจุดศูนย์กลาง ตอนนี้เด็กมีปัญหาว่าครูและผู้ปกครองไปตัดสินว่าเด็กเขาเป็นอย่างไร เราต้องกลับมาคิดว่า ทำอย่างไรให้เด็กรักที่จะตั้งคำ ถาม วิเคราะห์ และลงมือทำ สมัยก่อนต้องท่องจำนะ วันนี้ไม่ใช่ ต้องดึงศักยภาพของเขาออกมา เขารู่แล้วว่าเขาคือใคร ให้ความรัก ความเอาใจใส่ และเด็กรู้สึกได้ การเรียนการสอนนั้นเด็กรับได้แค่ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่อีก 80 เปอร์เซ็นนั้นมากจากการรับรู้จากผู้ใหญ่ ดังนั้นการเป็นตัวอย่างที่ดีเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง” รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าว
ด้านนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการที่เอกชนรวมพลังกันเพื่อยกระดับชุมชนว่า ตั้งแต่ต้นปีบริษัทไทยเบฟเวอเรจและภาคธุรกิจหลายภาคส่วนได้ช่วยกันทำงานสานพลังประชารัฐ ซึ่งมี 12 คณะ ซึ่งคณะของผมรับผิดชอบการพัฒนาฐานรากประชารัฐ
เป้าหมายของโครงการคือเพิ่มรายได้ของคนในชุมชน ให้ประชาชนมีความสุข เน้นไปถึงระดับหลังคาเรือนและตัวบุคคล โดยมียุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ธรรมาภิบาล นวัตกรรม คุณภาพคน และการมีส่วนร่วมในการเจริญเติบโตของคน โดยมุ่งไปที่สามกลุ่มใหญ่การ เกษตร แปรรูป การท่องเที่ยวในชุมชน มีเป้าหมายทั่วประเทศ ยกเว้นกรุงเทพมหานคร โดยดำเนินการผ่าน 5 กระบวนการ ได้แก่ 1.การเข้าถึงปัจจัยการผลิต 2.การสร้างองค์ความรู้ 3.การตลาด 4.การสื่อสารการรับรู้เพื่อความยั่งยืน 5.การบริหารจัดการ
“ผมเชิญชวนบริษัทเอกชนรายใหญ่เข้ามาถือหุ้นคนละหนึ่งเปอร์เซ็นต์ เอกชนรายใหญ่ได้แสดงสปิริตเข้าร่วม สะท้อนว่าเอกชนให้ความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ทั่วประเทศไทยในการวางรูปแบบ โครงข่ายที่สามารถเผยแพร่ความรู้การบริหารจัดการการเข้าถึงการตลาดนี่คือ ตัวอย่างที่ภาคเอกชนสามารถเข้ามาช่วยเชื่อมโยงกับชุมชนเพื่อยกระดับชุมชน”ฐาปนกล่าว
ด้านนายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการพรีเมียร์ กรุ๊ป กล่าวว่า เวลาเราพูดถึงความยั่งยืนและ ความสุขของคนในสังคม ในใจของเราหมายถึงอะไร ความยั่งยืนหมายถึงอะไร ถ้าเราดูความเป็นมาในอดีต ในบริบทและกรอบความคิดในอดีต เราอาจจะคิดว่าความยั่งยืนของฉัน ความยั่งยืนของเรา ความยั่งยืนของภาคธุรกิจ ชุมชนก็คิดถึงความยั่งยืนของชุมชน ต่างคนต่างมีเป้าหมายความยั่งยืนในแบบของตัวเอง
สถิติของโลกนับจาก 60 ปีที่แล้ว ประชากรโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า เศรษฐกิจเติบโต 10 เท่า ใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 5 เท่า ใช้น้ำมากขึ้น 5 เท่า ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้น 10 เท่า พืชและสัตว์ที่สูญพันธุ์เพิ่มขึ้น 10 เท่า ใช้ที่ดินเพิ่มขึ้น 8 เท่า สะท้อนให้เห็นว่า ภาคส่วนเดียวที่ยั่งยืนคือภาคเศรษฐกิจที่โตขึ้นต่อเนื่อง
"สำหรับประเทศไทย ในช่วงเวลาเดียวกัน ในรอบ 60 ปี ป่าประเทศไทยหายไปครึ่งหนึ่ง การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจทวีคูณ ความมั่งคั่งของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ประชากรที่ยากจน ถึงแม้มีลดลงบ้าง แต่จำนวนหัวไม่ได้ลดลง ความเหลื่อมล้ำในสังคมก็ยังไม่ได้เปลี่ยน การศึกษา เราไม่ได้ดีขึ้น เทียบกับประเทศอื่นแล้วเราถอยหลัง ที่สำคัญคือธรรมาภิบาลในสังคมถดถอยไปเยอะมาก เห็นจากปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น"
สิ่งเหล่านี้มันอาจจะมาจากความคิดแบบความยั่งยืนของใครของมัน แทนที่จะมองความสำเร็จร่วมกัน ถ้าจะแก้ปัญหาได้ กรอบความคิดต้องเปลี่ยนไปจากเดิมที่ว่ามือใครยาวสาวได้สาวเอา ถ้าเราไม่เปลี่ยนว่าเราต้องไปด้วยกัน ได้ดีด้วยกัน ยั่งยืนด้วยกัน มันก็ส่งผลโดยรวมให้ความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจลดลงไป
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เผยว่า สำหรับแนวปฏิบัติที่เป็นไปได้ในความตั้งใจขององค์กรของเรา มี 2 เส้นทาง หนึ่งคือในการดำเนินธุรกิจปกติ เราทำสิ่งที่สร้างเสริมสังคม ระมัดระวังมากขึ้นว่าเรามีส่วนทำร้ายทำลายหรือไม่ คนในห่วงโซ่ของเราควรมีส่วนสร้างเสริมร่วมกัน และยั่งยืนไปด้วยกัน คนที่เกี่ยวโยงกับเราคือทุกคนในสังคมไทย เราต้องขยายกรอบความคิดออกไปให้ทั่วห่วงโซ่ สองคือเราไม่ทำเององค์กรเดียว เราสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาระบบนิเวศทางสังคม ให้สังคมมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคม เพื่อให้ผลสำเร็จขยายใหญ่
ขณะเดียวกัน ทางวาสนา ลาทูรัส เจ้าของผู้ก่อตั้งผลิตภัณฑ์ “นารายา” เปิดเผยว่า ในส่วนของแบรนด์นารายาถ้าเทียบกับองค์กรขนาดใหญ่งาน ของนารายายังเป็นงานทำมือ เช่น กระเป๋าหนึ่งใบยังทำมือ ชาวบ้านเป็นผู้ผลิต โดยมีสาขาในประเทศไทย 24 สาขา ปลายปีนี้ไปจนถึงต้นปีหน้าจะเพิ่มอีก 6 สาขา และมีสาขาต่างประเทศประมาณ 10-12 สาขา วางแผนจะขยายไปตามมาเลเซีย เวียดนาม ต่อไป
ปัจจุบันมีชาวบ้านที่ทำงานกับนารา ยา 3 กลุ่ม บริษัทจะฝึกชาวบ้าน อาทิ ทอเสื่อ เย็บจักร โดยผลิตภัณฑ์จะเป็นกระเป๋า ของใช้ในครัว ของใช้เด็ก โดยเพิ่มกลุ่มลูกค้าด้วยการเพิ่มผลิตภัณฑ์ของผู้ชาย เพิ่มเครื่องประดับ อีกทั้งมีโครงการใหม่คือการสนับสนุนผ้าไหมไทยภายใต้ชื่อ Lalama by Naraya
เจ้าของผลิตภัณฑ์นารายากล่าวอีกว่า โครงการร่วมรัฐบาลของบริษัทคือ โครงการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมชนบท โดยทางโครงการมีเบี้ยเลี้ยงให้และอบรมชาวบ้าน 45 วัน สอนทำตั้งแต่เสื้อผ้า เครื่องประดับ รองเท้า ซึ่งโครงการจะดำเนินการนำชาวบ้านมาอยู่กับบริษัทสอนให้ชาวบ้านเป็นเถ้าแก่ เมื่อสิ้นสุดการอบรมหากชาวบ้านฝีมือดีนารายาจะรับซื้อผลิตภัณฑ์ของชาวบ้าน
“ชาวบ้านจะต้องรู้วิธีบริหารเงินและธุรกิจได้ ถ้าทำกระเป๋าก็ต้องคิดและวางแผนได้ว่าจะขายให้บริษัทเท่าไหร่ ถ้าเขาทำงานได้แล้ววันหนึ่งเขาไม่อยากขายให้เราก็ไม่ว่าอะไร จะเห็นว่าในส่วนของนารายาเป็นเพียงภาคเล็กๆ สอนพัฒนาคน นำเครื่องจักรไปให้ชาวบ้านผ่อนเพื่อใช้ ตัดผ้าไปให้เกิดความสะดวกสบายและมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านจะได้ไม่ต้องเข้ามาแย่งทำมาหากินที่กรุงเทพ” วาสนากล่าว
ทั้งนี้โครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จอาทิ โครงการลำโดมน้อย ที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยการผลิตกระเป๋ามีการตั้งกลุ่มคน แต่งตั้งตำแหน่งเพื่อทำหน้าที่ในโครงการ แต่เมื่อมีเงินเข้าโครงการหลายแสนผู้จัดการก็นำเงินไปใช้ส่วนตัวทำให้ต้องปิดโครงการ เพราะชาวบ้านจะกลัวเรื่องการตั้งกลุ่มใหม่กลัวว่าจะได้รับผิดชอบหากเกิดความเสียหาย
อีกกลุ่มคือ บริษัทอบรมโดยตรง มีอยู่ทุกภาคทั่วไทย ตัวอย่างชาวบ้านที่จังหวัดปัตตานีที่มาทำงานมีทั้งศาสนาอิสลามและพุทธ ซึ่งชาวบ้านไม่มีอคติกับศาสนา สามารถอยู่ร่วมกันทำให้เกิดความหลากหลาย มีความสามัคคี แต่เมื่อมีเหตุการณ์ระเบิดที่กลางตลาดปัตตานีซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการส่งผลให้โครงการจำต้องยกเลิกไป
“คนประมาณ 8,000 คนในตอนนี้สามารถเลี้ยงลูกหลานได้ เราเป็นเหมือนคนส่งเขาให้ทำงานเป็น สร้างอาชีพให้ส่งผลให้วิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้มีความเป็นอยู่ที่มั่นคงอย่างยั่งยืน” เจ้าของนารายากล่าว
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 24 ส.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.