“เราคงทำข้าวแบบเดิมไม่ได้ เพราะข้าวที่เรามีอยู่ ไม่ได้ปลูกเป็นหมื่นๆ ไร่ ฉะนั้นควรทำอะไรที่จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย”
คมคิดของ “อุไรวรรณ ภู่วัตร” กรรมการผู้จัดการ หจก.ข้าวสร้างสุข ลูกหลานเกษตรกรในชุมชน บ้านต๊ำพระแล ต.บ้านต๊ำ อ.เมือง จ.พะเยา ที่เข้ามาทำงานด้านเทคโนโลยีอยู่เมืองกรุง เธอเรียนมาทางด้านวิทยาศาสตร์ เลยเห็นโลกของเกษตรต่างไปจากโลกใบเก่า ไม่ใช่โลกที่ชาวนาปลูกข้าวแล้วยิ่งจน แต่คือการที่เกษตรกรจะอยู่อย่างยั่งยืนได้
นั่นคือที่มาของการแปรรูปข้าว สู่ข้าวกล้องกรอบ ชาข้าวก่ำ และน้ำข้าวกล้อง กับผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอีกหลากหลาย ภายใต้กลุ่ม “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มชาข้าวก่ำ(ข้าวลืมผัว)” ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 ก่อนพัฒนาสู่ “หจก.ข้าวสร้างสุข” เมื่อปี 2557
“ข้าว ลืมผัว ปลูกยากกว่าจะได้ผลผลิต แถมกำไรแทบจะไม่มีเหลือ เพราะต้องไปส่งเขาอีก เราเลยเริ่มคิดเรื่องการแปรรูป โดยเริ่มจากทำเป็นชาข้าว ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มจากการขายข้าวปกติได้กว่า20 เท่า!”
เธอบอกความน่าสนใจของการใช้นวัตก รรมไปจัดการกับข้าว โดยเริ่มจากทำชา แล้วพบว่าตลาดแคบ เลยแตกไลน์มาสู่ เครื่องดื่มข้าวกล้อง และข้าวกล้องกรอบ ซึ่งตอบโจทย์ตลาดทั้ง แตกต่าง และอร่อย แถมอยู่ในแพคเก็จจิ้งที่น่าจับต้องมากขึ้น
ในอดีตข้าวสร้างสุขยังใช้ชื่อแบรนด์พื้นๆ อย่าง “น้องโอม” แถมยังใส่กระปุกน้ำพริกขาย ทว่าวันนี้เราได้เห็น “แบรนด์ iRice” (ไอ ไรซ์) ใส่ซองบรรจุภัณฑ์อย่างดี และยืดอายุสินค้าได้นานขึ้น ทั้งหมดไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ แต่อาศัยการปรับตัว และเลือกเข้าหาหน่วยงานต่างๆ อย่าง กรมการข้าว มูลนิธิข้าวไทย สถาบันการศึกษา สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) อุทยานวิทยาศาสตร์ (Science Park) ฯลฯ สารพัดหน่วยงานที่จะเชื่อมจิ๊กซอว์ธุรกิจให้กับเกษตรกรตัวเล็กๆ ได้
สิ่งที่การันตีความสุดยอด คือในเวลาเพียงปีเศษๆ พวกเขาสามารถคว้ารางวัลระดับประเทศ มาได้ถึง 6 รางวัล อาทิ รางวัลชนะเลิศ ประเภทนักธุรกิจนวัตกรรม จากการประกวดรางวัล NSP Innovation Awards 2015 ระดับพื้นที่ภาคเหนือ โดย สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ MOST Innovation Awards 2015 ประเภทนักธุรกิจนวัตกรรม จากหน่วยงานเดียวกัน และ รางวัล “สุดยอดนวัตกรรม 7Innovation Awards ประจำปี 2016 (ด้านสังคม)” เหล่านี้เป็นต้น
ข้าวสร้างสุขเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่หวังจะพัฒนาชุมชนไปแบบยั่งยืนและมีความสุข เราเลยได้เห็นโมเดลธุรกิจที่แตกต่างไปจากกิจการทั่วไป นั่นคือไม่ได้เริ่มจากตลาด แต่มามองว่าในชุมชนผลิตอะไรได้ แล้วนำมาใส่เติมนวัตกรรมเพื่อให้เป็นสินค้าที่ต้องการของตลาดขึ้นมาได้
“บางคนปลูกข้าวไม่ได้มีสวนยาง ก็เอากาแฟไปลง เลยจะมาพัฒนากลุ่มกาแฟอีกประมาณ 20 ราย มีบางคนปลูกขิง เราบอกถ้าอย่างนั้นปีนี้จะทำขิงพันธุ์ ก่อนสัก 3 แปลง เพื่อเป็นแม่พันธุ์ ปีหน้าจะได้ขยายสเกลในการปลูก คิดจากว่าชาวบ้านว่ามีอะไร แล้วต่อยอดและหาตลาดให้ เพราะข้าวปลูกได้แค่ปีละหน เขายังมีเวลาไปทำอย่างอื่นอีกมาก” เธอสะท้อนมุมคิด
นอกจากคิดนวัตกรรมจากความต้องการของชุมชน ข้าวสร้างสุขยังให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์สีเขียวและพลังงานทดแทน โดยตั้งแต่เริ่มต้น พวกเขาก็คิดไปถึงเรื่อง “Zero Waste” แนวคิดของเสียเหลือศูนย์ เรียกว่า ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกไปจนแปรรูปเป็นสินค้า ต้องไม่มีขยะเหลือทิ้ง ขณะที่ในกระบวนการผลิตมีการนำพลังงานทดแทนมาใช้ เช่น การใช้พลังงานชีวมวล และการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซล เหล่านี้เป็นต้น
ผลจากความตั้งใจจริง คือวันนี้สามารถต่อยอดมาสู่การทำเยื่อกระดาษจากฟางข้าว ที่สามารถพัฒนาเป็นแพคเก็จจิ้งผลิตภัณฑ์ ทั้งใช้กับสินค้าของตัวเอง และส่งขายให้กับแบรนด์อื่นได้ด้วย
“เรามีฟางข้าวเหลือจำนวนหนึ่ง สมัยก่อนเอาไปทำปุ๋ย ไม่ก็ไถกลบไป แต่วันนี้เรามาพัฒนาเป็นเยื่อกระดาษ ซึ่งทำได้ ถึง 20-30 แบบ และยังทำโครงการร่วมกับโรงเรียนในชุมชน เพื่อให้เด็กๆ ได้มาฝึกอาชีพ ซึ่งต่อไปเราจะใช้แรงงานมดเหล่านี้ทำงานให้” เธอบอกความฝันที่อยากสร้างงานสร้างรายได้ ให้ไหลเวียนอยู่ในชุมชน ไม่ต้องเสียดุลไปที่ไหน
ในวันนี้การทำงานของข้าวสร้างสุข ดูไปไกลกว่าวันเริ่มต้นมาก โดยล่าสุดพวกเขาลงทุนซื้อที่กว่า 30 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ 10 ไร่ เป็น “Green Industry” สำหรับทำ “โรงงานสีเขียว” รับหน้าที่ผลิตสินค้านวัตกรรมทางการเกษตร ทั้งที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหาร และแน่นอนว่าจะไม่ได้มีแค่ข้าวเท่านั้น แต่จะเป็นผลิตภัณฑ์อะไรก็ได้ที่ชุมชนมีป้อนให้
ขณะอีก 20 ไร่ จะทำเป็น “Innovation Training Center” ศูนย์อบรมด้านนวัตกรรมการเกษตร
“เรา ทำมากว่า 3 ปี ต้องวิ่งหาคนอื่นตลอด ทุกวันนี้คิดว่า สิ่งที่เรามี จะด้วยองค์ความรู้ ประสบการณ์ และรางวัลการันตีต่างๆ ที่ได้มานั้น น่าจะเป็นมาตรฐานอะไรบางอย่างได้ เลยตั้งใจทำที่นี่ให้เป็นศูนย์เทรนนิ่ง ที่ไม่ว่าจะหน่วยงาน องค์กร หรือเกษตรกรรายใดสนใจก็สามารถมาเรียนรู้ได้ และจะเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ ให้ด้วย” เธอบอกพันธกิจใหม่ของข้าวสร้างสุข
ข้าวสร้างสุข นิยามตัวเองว่าเป็น “วิสาหกิจเอสเอ็มอี” คือเอสเอ็มอีที่เริ่มจากชุมชนและสนใจความเป็นอยู่ของ ชุมชน แต่พร้อมจะเติบโตไปในเชิงธุรกิจ เธอว่า สองคำนี้ไม่จำเป็นต้องแยกจากกัน หรือทิ้งอันใดอันหนึ่งไป ก็ในเมื่อชุมชนเก่งเรื่องต้นน้ำ ชำนาญการผลิต ก็ให้ทำไป ขณะที่พวกเขาก็ค่อยไปส่งเสริมในส่วนที่ขาด เพื่อปรับสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น
ทำงานบริษัทในหน่วยงานขนาดใหญ่ รายได้ดี ชีวิตก้าวหน้า แต่ทำไมถึงตัดสินใจมามุ่งมั่นกับงานที่เหนื่อยกว่า อุไรวรรณ ตอบทิ้งท้ายแค่ว่า
“ทุกวันนี้ เราไม่ได้อยากปลูกข้าวเป็นหมื่นไร่ มีพนักงานเป็นพันๆ คน มียอดขายเป็นพันเป็นหมื่นล้าน ก็แค่อยากเป็นศูนย์อบรมที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนอื่นๆ เพื่อที่คนเหล่านั้นจะได้กลับไปพัฒนาบ้านเกิดเขา เราจะได้มีแบรนด์แบบ ไอ ไรซ์ เกิดขึ้นทั่วประเทศ” เธอฝากความหวังไว้
เพื่อให้นวัตกรรม “ความสุข” งอกงามอยู่ทุกพื้นที่ของประเทศไทย
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 ส.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.