ชุมชนกับเขตป่า ( อนุรักษ์ ) เรื่องที่ถูกทำให้เป็นปัญหา “ ไก่ กับ ไข่ อะไรเกิดก่อน ”
“ ปัญหาด้านทรัพยากรป่าไม้ซึ่งเราแก้ไขกันไม่ตกทุกวันนี้ มีสาเหตุมาจาก 3 เรื่องใหญ่ คือ อันแรก เกิดจากความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง อันที่สอง เป็นเรื่องที่ได้รับข้อมูลผิด ๆ อันที่สาม มีนิทานโกหกค่อนข้างเยอะ ”
ผมได้ฟังมุมมองสั้น ๆ ข้างต้น จากนักวิชาการด้านป่าไม้ท่านหนึ่ง ในระหว่างไปร่วมเวทีของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรณีกรมอุทยานแห่งชาติฯและกรมป่าไม้ดำเนินคดีเรียกค่าเสียหาย ( คดีโลกร้อน ) กับประชาชนในเขตป่าอนุรักษ์เมื่อหลายวันก่อน เห็นว่าเป็นการมองปัญหาด้านป่าไม้ที่น่าสนใจ ก้าวพ้นไปจากปรากฏการณ์ที่ถกเถียงกันทั่วไป ...พื้นที่ป่าไม้ลดลงทุกปี ชาวบ้านบุกรุกทำลายป่าเพื่อทำเกษตร กลุ่มนายทุนลักลอบตัดไม้ บุกป่าทำรีสอร์ท เจ้าหน้าที่ป่าไม้ทุจริต เลือกปฏิบัติ ฯลฯ อีกด้านหนึ่งมันคือมุมมองที่สะท้อนถึงที่มาของทัศนคติหลักในการจัดการพื้นที่ป่าไม้ของรัฐและคนทั่วไปในสังคม จึงอยากจะขอแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นข้างต้นในบางแง่มุม
หลายปีก่อน ผมมีโอกาสได้เดินทางร่วมกับเพื่อน ๆ ที่ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรามคำแหง ขึ้นไปศึกษาปัญหาการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับซ้อนกับพื้นที่ของชุมชนเป็นครั้งแรก ผมจำชื่อหมู่บ้านได้ดี บ้านสบลาน อำเภอสะเมิงใต้ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านปเกอญอ หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในนามกะเหรี่ยงหรือชาวเขา แม้บ้านสบลานจะมีอยู่หลายสิบครอบครัว แต่สภาพทั่วไปยังล้อมรอบไปด้วยผืนป่าสมบูรณ์ มีการจัดโซนแบ่งพื้นที่ชัดเจน ตรงไหนเป็นไร่ เป็นนา ตรงไหนเป็นป่าใช้สอย เป็นป่าอนุรักษ์ เป็นบ้านที่อยู่อาศัย รวมทั้งมีการสร้างกติกา ข้อตกลงการใช้ทรัพยากรให้ทุกคนในหมู่บ้านถือปฏิบัติร่วมกัน คนบ้านสบลานส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำกินด้านการเกษตร ที่เขาเรียกกันว่า ไร่หมุนเวียน ขอเน้นครับ คือ การทำไร่ข้าวและพืช ผัก อาหารอื่น ๆ ในแปลงที่ดินเดิมที่ปล่อยให้ดินได้ฟื้นตัวโดยใช้เวลา 5 – 7 ปี ไม่ได้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าใหม่ ปัญหาอันเป็นที่หนักใจของคนที่นี่อย่างหนึ่ง คือ เกรงว่าการทำมาหากินแบบไร่หมุนเวียนของเขาจะต้องเปลี่ยนไปหรือถูกสั่งห้าม เนื่องจากทั้งหมู่บ้านถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติที่มาพร้อมกับการขอความร่วมมือให้ลดพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน
เราทั่วไปมักได้ยินได้ฟัง จากสื่อ จากตำราเรียน จากรัฐบาล จากกรมป่าไม้และผู้อ้างความเชี่ยวชาญด้านทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลายจนคุ้นหูว่า ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าโดยเฉพาะทางภาคเหนือ มาจาก การที่ชาวเขา ทำไร่เลื่อนลอย เผาป่า คือ การบุกเบิกพื้นที่ป่าสมบูรณ์ไปเรื่อย ๆ เพื่อทำเกษตรบ้าง หาของป่าบ้าง ปลูกฝิ่นบ้าง ซึ่งในประเด็นนี้หากใครอาศัยอยู่ชนบทหรือมีโอกาสไปสัมผัสอยู่บ้างก็จะพอทราบว่าปัจจุบันไม่น่าจะมีชุมชนไหนที่ยังอพยพย้ายหลักแหล่งไปเรื่อย ๆ อย่างที่กล่าวหากันอีกแล้ว จึงเป็นเรื่องน่าแปลกที่ความเชื่อว่าชาวเขาบุกป่าทำไร่เลื่อนลอย เผาป่าเพื่อหาสัตว์ และทำไร่ฝิ่น ยังคงเป็นคำตอบของการสูญเสียป่าและปัญหาหมอกควันมาจนถึงวันนี้ ผมเป็นคนใต้ ที่บ้านไม่มีป่า ไม่เคยรู้จักชาวเขาหรือชุมชนบนที่สูง นอกจากดูข่าวโทรทัศน์ ไม่รู้ว่าปัญหานี้มันมีที่มา และความซับซ้อนอย่างไร แต่เมื่อไปที่สบลานครั้งนั้นทำให้เห็นว่าชุมชนชาวเขาก็เป็นชุมชนธรรมดาไม่ได้มีชีวิตเร่ร่อนบุกรุกป่าเพื่อทำไร่ ปลูกฝิ่นตามที่ได้รับข้อมูลมา เห็นไหมครับว่า เพียงคำ “ หมุนเวียน กับ เลื่อนลอย” ก็ทำให้เราจินตนาการไปแตกต่างโดยสิ้นเชิงได้ และนี่ก็อาจเป็นตัวอย่างของ นิทานโกหกที่ถูกสร้างขึ้นมาจากข้อมูลที่ผิด ย่อมทำให้เรามีความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ไปได้โดยง่าย
พะตีแดง ผู้นำคนหนึ่งของบ้านสบลาน สะท้อนความรู้สึกกับพวกเราผู้ไปเยือนว่า “ สมัยก่อนพะตี เชื่อว่าพื้นที่ราบในเมืองนั้นคงมีป่าที่อุดมสมบูรณ์ไม่แพ้ที่บ้านสบลาน แต่คนเมืองไม่รักษาเอาไว้ ป่าไม้จึงหมด มาวันนี้ทำไมถึงมาเรียกร้องให้พวกเรารักษาป่า ป่าซึ่งเราไม่เคยคิดทำลายมาตั้งแต่บรรพบุรุษของเรา” ฟังดูเหมือนจะตัดพ้อแต่ทำให้เราได้ขบคิดครับว่า เป็นเรื่องน่าแปลกและไม่ถูกต้องที่เราปล่อยให้ภาครัฐและคนทั่วไปซึ่งส่วนใหญ่คงไม่ได้มีชีวิตสัมผัสอยู่กับผืนป่าโดยตรง ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับการรักษาป่านอกเหนือจากที่เรียนในตำรา แต่กลับให้มีอำนาจ มีปากมีเสียงไปสั่งให้ชาวบ้านที่เขาทำมาหากินอยู่ได้มาเป็นร้อยปี ว่า ต่อไปนี้พวกคุณห้ามตัดต้นไม้ ต้องช่วยกันดูแลป่า ต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำเกษตรให้เป็นมิตรกับธรรมชาติหรือที่หนักไปกว่านั้น คือ อาจต้องมีการย้ายชุมชนออกมาจากพื้นที่ต้นน้ำเพื่อรักษาผืนป่า คำถาม คือ แทนที่เราจะไปบอกว่าเขาควรทำอย่างไร เราควรไปศึกษามากกว่าว่าเขาอยู่กันอย่างไรเป็นร้อยปี แล้วยังมีป่าเหลืออุดมสมบูรณ์ให้เราได้พึ่งพาอยู่จนทุกวันนี้ไม่ใช่หรือครับ
หลายปีมาแล้วที่เราถกเถียงกันว่าด้วยคำถามที่ว่า ตกลงแล้ว คนหรือชุมชนกับเขตป่าอนุรักษ์ ใคร คือ ผู้อยู่มาก่อน ใครมาทีหลัง และใครสมควรได้สิทธิในการครอบครอง การตั้งโจทย์ทำนองนี้ ย่อมนำมาสู่ผลลัพธ์ที่ไม่อาจหาจุดร่วมและต้องมีผู้ได้สิทธิเพียงฝ่ายเดียว ภาครัฐโดยกรมป่าไม้ อ้างกฎหมายป่าไม้ มติคณะรัฐมนตรี ภาพถ่ายทางอากาศและการมีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ขณะที่ชุมชนอ้างประวัติศาสตร์ชุมชน วิถีชีวิตภูมิปัญญา คำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ หรือแม้กระทั่งขนาดและอายุของต้นไม้ที่ปู่ย่าตายายปลูกไว้ วันที่ 30 มิถุนายน 2541 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เรื่อง การแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ วางหลักเกณฑ์ กระบวนการที่เรียกกันสั้น ๆว่า การพิสูจน์สิทธิในที่ดิน เพื่อให้มีกระบวนการนำหลักฐานมาแสดงต่อสู้อย่างเป็นรูปธรรม เป้าหมายหลัก คือ การใช้เครื่องมือทางเอกสารและกฎหมายเพื่อสามารถควบคุม แบ่งแยก และผลักดันคนให้ออกจากเขตป่าอนุรักษ์ กว่าสิบปีที่ผ่านมาแนวคิดการพิสูจน์สิทธิภายใต้มติคณะรัฐมนตรีถูกนำไปดำเนินการโดยกรมป่าไม้และเชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถแก้ไขการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้เพิ่มเติม รวมทั้งปัญหาด้านสิทธิในการทำมาหากินของประชาชนก็ถูกคุกคามจากการบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะคงไม่ต้องสงสัยว่าผลการพิสูจน์สิทธิจะออกมาเป็นเช่นไร ในเมื่อเงื่อนไขการพิสูจน์ การดำเนินการและผู้ที่จะชี้ขาดว่าชาวบ้านหรือชุมชนกับเขตป่าอนุรักษ์ใครมาก่อน มาหลัง คือ หน่วยงานของภาครัฐ
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับเขตป่าอนุรักษ์ทำให้ผมนึกถึงสมัยเด็ก ๆ เราโต้เถียงกับเพื่อน ๆ ในเชิงล้อเล่น หรือบางท่านอาจเคยถกเถียงประเด็นนี้กันอย่างจริงจัง ไก่ กับไข่ อะไรเกิดก่อน ? ... ไม่มีแม่ไก่ ก็คงไม่มีไข่ไก่ แต่แม่ไก่มันมาจากไหนเล่า ถ้าไม่มาจากไข่ไก่ ถกเถียงกันเท่าไหร่สุดท้ายเราก็หาคำตอบที่ได้รับการยอมรับไม่ได้เพราะข้อเท็จจริงมันก็มีเพียงว่าไก่กับไข่มีอยู่และทั้งคู่ก็สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ผมคิดว่าการพยายามหาคำตอบเรื่องไก่กับไข่นี้มีลักษณะเด่นบางประการ คือ มันจะพาเราไปสู่ทางตันของการพูดคุยด้วยเหตุผลและสุดท้ายก็จะหาคำตอบไม่ได้ หรือมีคำตอบก็ไม่ได้รับการยอมรับและที่สำคัญที่สุด คือ ข้อถกเถียงนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรกับทั้งคนหาคำตอบและสังคมทั่วไป ผมคิดว่าความพยายามในการแก้ไขปัญหาชุมชนในพื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็นเขตป่าอนุรักษ์ ด้วยการตั้งโจทย์ว่าฝ่ายไหนมาก่อน ฝ่ายนั้นย่อมมีสิทธิครอบครอง มันอาจพาเราไปสู่ทางตันของการแก้ปัญหาในลักษณะเดียวกับกรณีไก่กับไข่อย่างที่ไม่ควรจะเป็น
หลายปีมาแล้วอีกเช่นกันที่ชุมชนและภาคประชาชนกลุ่มหนึ่งได้พยายามละทิ้งแนวคิดการต่อสู้พิสูจน์เพื่อที่จะมีสิทธิครอบครองพื้นที่แต่ฝ่ายเดียว โดยเสนอรูปแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้การยอมรับถึงสิทธิของชุมชนในการมีส่วนได้ใช้ประโยชน์ พร้อมทั้งต้องดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติไปด้วย มีการประยุกต์ประวัติศาสตร์ องค์ความรู้ ภูมิปัญญาของชุมชน รวมทั้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ในการอยู่ร่วมกับป่าและทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ออกมาเป็นกฎ ระเบียบและแผนการจัดการทรัพยากรของชุมชน ไม่เพียงจะบอกว่าเขาอยู่มานาน แต่สำคัญกว่านั้นเพื่อจะบอกกับสังคมว่านับจากนี้ชุมชนจะอยู่อาศัยและทำกินอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติอย่างไรให้มีความยั่งยืนและไม่กระทบกับความสมดุลของระบบนิเวศน์มากเกินไป ปี 2548 มีการระดมรายชื่อประชาชนเสนอร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่ก็ถูกคัดค้านจากหลายฝ่ายจนร่างกฎหมายฉบับนี้ตกไป ปี 2552 2553 2554 จนปัจจุบัน ประชาชนกลุ่มเดิมเสนอนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยยอมรับถึงสิทธิการมีส่วนร่วมของชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชนอันจะเป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งไปได้ในตัว แต่กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ หน่วยงานที่มีอำนาจดูแลป่าอนุรักษ์ซึ่งมีพื้นที่ถึง 1 ใน 3 ของเนื้อที่ทั้งหมดของประเทศไทยรีบออกมาบอกว่าพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไม่มีกฎหมายอนุญาตให้ประชาชนใช้ประโยชน์และจัดการในรูปแบบโฉนดชุมชน ความหมาย คือ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังคงยึดมั่นอยู่กับข้อมูลและความเชื่อที่ว่ากฎหมายและเขตป่าอนุรักษ์มาก่อนและมีความศักดิ์สิทธิ์ หน่วยงานภาครัฐเท่านั้นสามารถทำหน้าที่ครอบครองดูแลพื้นที่ป่าไม้ได้ แน่นอนว่ามีหน่วยงาน องค์กรเอกชนและผู้คนจำนวนมากเห็นด้วยกับกรมอุทยานแห่งชาติ ฯ
ผมไม่ปฏิเสธครับว่าพื้นที่ป่าไม้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ ช่วยปกป้องภัยพิบัติ และปัจจุบันกำลังถูกบุกรุกทำลายอย่างหนัก แต่หากเรายังคงตกอยู่ในวังวนของการแก้ไขปัญหาแบบแยกส่วนด้วยวิธีโต้เถียงกันด้วยโจทย์แบบไก่กับไข่อะไรเกิดก่อน ซึ่งถกเถียงกันไปก็ไม่ได้ก่อเกิดประโยชน์อันใดดังที่กล่าวไปแล้ว และผลที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงกับสังคมไทยต่อไปไม่เพียงชีวิตของประชาชนที่เขาทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกับเขตป่าอนุรักษ์ซึ่งประมาณกันว่ามีกว่า 2 ล้านคน จะถูกละเมิดคุกคามด้วยการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นมากขึ้น พื้นที่ป่าไม้ก็จะกลับถูกทำลายอย่างมหาศาลจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ รวมทั้งบุคคลและกลุ่มทุนที่ไม่ได้ต้องการแค่ที่ดินทำกิน 10 ไร่ 20 ไร่ อย่างที่เกษตรกรหลายคนและหลายชุมชนกำลังผลักดันเรียกร้องกันอยู่ เราไม่สามารถบอกได้ว่าปัญหาความขัดแย้งกรณีชุมชนกับเขตป่าอนุรักษ์จะยุติลงแบบไหน และเมื่อไหร่รัฐบาลหรือคนในสังคมจะให้ความสำคัญอย่างจริงจัง แต่สิ่งซึ่งผมมั่นใจประการหนึ่ง คือ หากรัฐบาลและสังคมไทยยังคงพอใจอยู่กับนิทานโกหก ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและความเชื่อแบบผิด ๆ ดังความเห็นของนักวิชาการที่ยกมาตั้งแต่ต้น เราก็จะยังคงวนอยู่กับการรักษาป่าไม้ด้วยการตั้งโจทย์แบบไก่กับไข่ซึ่งมันจะพาเราไปสู่ทางตันที่ไม่อาจพูดจาด้วยเหตุผล ผมไม่แน่ใจว่าอาจมีใครได้ประโยชน์จากการทำให้ปัญหานี้เป็นเรื่องไม่อาจหาคำตอบหรือไม่มีข้อยุติ แต่แน่ใจว่าทั้งคน ชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสังคมโดยรวมจะไม่ได้อะไร จากความพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการตั้งโจทย์แบบนี้ .
เขียนโดย กฤษดา ขุนณรงค์ 19 มีนาคม 2012
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.