โดย...ก้องภพ อารีราษฎร์
นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษบีบชาวบ้านเวนคืนที่ดินในนามของการพัฒนา ชาวบ้านวังตะเคียนเผยเจอทั้งทหารพกอาวุธ ทั้งข่มขู่จะฟ้องด้วย พ.ร.บ.คอมพ์ ยันไม่คัดค้านเขต ศก.พิเศษ แต่ไม่ต้องการอุตสาหกรรมหนักที่ก่อมลพิษ ฟาก จนท.รัฐ ระบุที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นสมบัติของพลเมืองทุกคน การครอบครองที่ดินของชาวบ้านทำรัฐเสียหาย
เกษตรกรทำไร่ในพื้นที่ติดกับสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ข้ามแม่น้ำเมย ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านของไทยโดยตรง
หยาดฝนกระหน่ำหลังคาดีบุกเก่าคร่ำ ดุจเสียงประโคมกลองที่ชาวบ้านหลาย คนเฝ้ารอ ล่าสุดหลังจากภัยแล้งหลายเดือน มรสุมก็เดินทางมาเยือนในที่สุด ถึงเวลาเริ่มเพาะปลูก แต่เพ็ญ วงศ์กาศ ชาวนาวัย 72 ปีจะไม่ซื้อเมล็ดพันธุ์ในปีนี้ เพ็ญบอกว่า “ฉันยังไม่ทราบว่าหว่านเมล็ดพันธุ์แล้วจะสามารถเก็บเกี่ยวได้หรือไม่" ขณะที่จ้องมองสายฝนอย่างไร้จุดหมาย ชะตากรรมของครอบครัวอย่างน้อย 97 ครัวเรือน ณ หมู่บ้านวังตะเคียน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ต้องเผชิญอนาคตแบบเดียวกับเพ็ญ อนาคตที่หม่นทะมึนดุจอากาศอวลไอหมอกหนาในหมู่บ้านของเธอเอง
รัฐบาลทหารพยายามผลักดันเศรษฐกิจไทยที่ซบเซา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งที่ 17/2558 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ขนาดใหญ่ตามแนวชายแดนเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีการกำหนดกฎระเบียบด้านอุตสาหกรรมและการลดภาษีเพื่อจูงใจนักลงทุน หมู่บ้านวังตะเคียน หมู่บ้านเล็กๆ ในตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่ตั้งอยู่บนทางแยกระหว่างชายแดนไทยและพม่า ซึ่งเป็นที่อาศัยชาวบ้านที่ทำไร่ทำนาเกือบ 100 ครอบครัว จะถูกเวนคืนที่ดิน เพื่อปูทางสำหรับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจที่รัฐบาลทหารวาดฝัน
เมื่อการพัฒนากลายเป็นฝันร้าย
เมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำรัฐบาลทหารและนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จภายใต้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทยฉบับชั่วคราว ประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ในเดือนพฤษภาคม 2558 ชาวบ้านวังตะเคียน หวังว่า ชีวิตของตนจะดีขึ้น ทว่าหลังจากนั้น ชาวบ้านตระหนักว่ารายละเอียดเขตเศรษฐกิจพิเศษซ่อนปัญหามากมาย ความหวังของชาวบ้านกลับถูกทลายลงในพริบตา
สุนทร ศรีบุญมา แกนนำคนแม่สอดรักถิ่น เล่าว่า “ตอนแรกก็ดีใจที่ได้ทราบว่าจะได้มีน้ำประปาและถนนพร้อมสะพานข้ามแม่น้ำเมยเข้าพม่า หวังว่าเราเเละลูกหลานจะมีงานทำมากขึ้น" กลุ่มคนแม่สอดรักถิ่นเป็นกลุ่มนักกิจกรรมท้องถิ่น เกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากแผนเขตเศรษฐกิจพิเศษ “เรายินดีต้อนรับการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด แต่ไม่มีใครอยากถูกขับไสไล่ส่งและถูกยึดพื้นที่การเกษตรของตัวเองหรอก"
ภายใต้แผนปัจจุบัน ที่ดินเกือบ 2,200 ไร่ ในตำบลท่าสายลวดอยู่ภายใต้เขตเศรษฐกิจพิเศษ สุนทรจะสูญเสียบ้านและพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 15 ไร่ ในหมู่บ้านวังตะเคียน ซึ่งสุนทรอาศัยมานานหลายทศวรรษ
สุนทร ศรีบุญมา แกนนำคนแม่สอดรักถิ่น กลุ่มกิจกรรมในท้องถิ่นเพื่อต่อต้านคำสั่งเวนคืนที่ดิน
ไม่ไกลจากบ้านสุนทร เพ็ญ วงศ์กาศ ทำมาหากินบนที่ดินมรดกที่ดิน 36 ไร่ สืบทอดมาจากพ่อแม่ ร่วมกับสมาชิกอีกสามคนในครัวเรือน เพ็ญได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ให้ย้ายออกจากที่ดิน เพราะที่ดินของเธออยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพ็ญบอกว่า ถ้าถูกไล่ก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ถ้าไม่มีที่ดินที่ครอบครัวหาเลี้ยงชีพด้วยการปลูกถั่ว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง เพ็ญกล่าวว่า “ฉันใช้ชีวิตและหากินบนที่ดินแห่งนี้ตั้งแต่เกิดไม่รู้จะไปอยู่ที่อื่นได้อย่างไร พอคุยเรื่องนี้ก็ไม่อยากพูด พูดแล้วก็ปวดหัว”
สุนทรและเพ็ญคือตัวอย่างชาวบ้านวังตะเคียนทั่วๆ ไป ทั้งคู่มีที่ดิน แต่ที่ดินส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านครอบครองมีแค่เอกสารรับรองการเสียภาษี ภทบ.5 ที่ออกให้ผู้เสียภาษีที่ดินท้องถิ่น ตามการใช้ประโยชน์ ที่ดินแปลงอื่นๆ มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.3) และใบแจ้งการครอบครองที่ดิน (สก.1) ดังนั้นในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่สามารถเรียกที่ดินคืน แม้โดยข้อเท็จจริงแล้วชาวบ้านส่วนใหญ่ตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่ พ.ศ.2470
เพ็ญ วงศ์กาศ เกษตรกรอายุ 72 ปี ทำกินอยู่บนที่ดิน 36 ไร่ ในวังตะเคียนตั้งแต่เธอเกิด
“อดรู้สึกไม่ได้ว่าถูกคุกคามเมื่อเห็นทหารพกอาวุธ”
ไม่นานหลังจากรัฐบาลทหารออกคำสั่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 ให้เวนคืนที่ดินของกรมธนารักษ์ เพื่อเตรียมก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด เจ้าหน้าที่รัฐร่วมกับตำรวจและทหารทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบแวะเวียนมาตรวจตราหมู่บ้านวังตะเคียนเสมอๆ เจ้าหน้าที่เข้ามาทำเครื่องหมายที่ดินและผลักดันให้ชาวบ้านย้ายออก
สุนทรเล่าว่า ทหารติดอาวุธหลายนายเข้ามาหมู่บ้านบ่อยๆ และมาพูดคุยกับชาวบ้าน โดยเฉพาะสมาชิกกลุ่มคนแม่สอดรักถิ่น ชาวบ้านรู้สึกว่าถูกเจ้าหน้าที่คุกคาม สุนทรเสริมว่า สมัยนายสมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ ยังเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เจ้าหน้าที่เคยมา ‘เยี่ยม’ ถี่ๆ
“เรายินดีต้อนรับการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด แต่ไม่มีใครอยากถูกขับไสไล่ส่งและถูกยึดพื้นที่การเกษตรของตัวเองหรอก"
จุฑารัตน์ อุ่นรวง แม่เลี้ยงเดี่ยววัย 38 ปี ที่กำลังต่อสู้การเวนคืนที่ดินกล่าวกับประชาไทว่า ทหารที่พกอาวุธมักจะมากับเจ้าหน้าที่ที่ดินและเจ้าหน้าที่ธนารักษ์ มาทำเครื่องหมายที่ดิน บ้าน และที่จอดรถของเธอ จุฑารัตน์กล่าวว่า “แม้ว่าหน่วยงานอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ดิฉันอดรู้สึกไม่ได้ว่าถูกคุกคามเมื่อเห็นทหารพกอาวุธ"
จุฑารัตน์ อุ่นรวง ชาวบ้านนักสู้ปัญหาที่ดินหมู่บ้านวังตะเคียนนั่งอยู่หน้าบ้านของตน อีกไม่นานเธออาจสูญเสียบ้านและที่จอดรถ
จุฑารัตน์ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับสุนทร เธออาจจะเสียทั้งบ้านและที่จอดรถบนที่ดินประมาณ 10 ไร่ ที่อยู่ในแผนการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ จุฑารัตน์บอกประชาไทว่า “ตอนแรกดิฉันได้ยินข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษดิฉันวางแผนจะเปิดร้านขายของชำบริเวณที่จอดรถ และคิดว่าเราจะมีลูกค้ามากขึ้น แต่ตอนนี้สามีดิฉันเสียชีวิตและตัวเองอาจถูกเวนคืนที่ดินเร็วๆ นี้ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรค่ะ"
บทความเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดตาก ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของมูลนิธิไฮน์ริช เบิล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า ปราณี เมืองสุข นักกิจกรรมท้องถิ่นเล่าว่า เธอถูกทหารเรียกให้รายงานตัวและถูกขู่ว่า หากเธอยังวิพากษ์วิจารณ์การจัดการความขัดแย้งด้านที่ดินเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดของผู้ว่าราชการจังหวัด จะมีการใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเดี่ยวกับคอมพิวเตอร์อันอื้อฉาวเล่นงานเธอ
ในเวทีของประชาชนเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ สุนทรบอกประชาไทว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ามารอบๆ เวที และชาวบ้านรู้สึกว่าการแสดงความคิดเห็นของตนถูกจำกัด ระหว่างที่ผู้นำรัฐบาลทหารเข้าเยี่ยมชมพื้นที่เมื่อปีที่ผ่านมา หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกั้นไม่ให้ชาวบ้านส่งหนังสือร้องทุกข์ต่อหัวหน้ารัฐบาลทหาร โดยอ้างอำนาจตามพระราชบัญญัติการชุมนมสาธารณะและยึดป้ายที่ชาวบ้านถืออยู่
แปลงที่ดินว่างเปล่าในหมู่บ้านวังตะเคียน ตำบลท่าสายลวด ซึ่งได้รับการหักล้างเตรียมไว้ก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ถือเป็นปกติที่เจ้าหน้าที่จะออกกฎหมายกำหนดมาตรการดังกล่าว เนื่องจากชาวบ้านไม่มีโฉนดแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ครอบครองอยู่และเจ้าหน้าที่ถือว่าชาวบ้านรุกล้ำที่ดินสาธารณะ แนวคิดนี้สะท้อนมุมมองของสมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ซึ่งกล่าวกับประชาไทว่า “หากรัฐบาลปล่อยปละชาวบ้านไปง่ายๆ ในอนาคต คนอื่นๆ จะบุกรุกที่ดินสาธารณะเช่นกัน ที่ดินเหล่านี้เป็นที่ดินสาธารณะ ชาวบ้านไม่ได้มีเอกสารสิทธิ์แสดงความเป็นเจ้าของที่ดิน" สมชัยฐ์เสริมว่าในระยะยาวคนในแม่สอดจะได้ประโยชน์จากเขตเศรษฐกิจพิเศษ จากการสร้างงาน และโอกาสทางธุรกิจในพื้นที่
ยืดหยัดต่อสู้
แม้ชาวบ้านหลายกลุ่มยังไม่ยอมรับคำสั่งให้ย้ายออกจากพื้นที่ แต่บริษัทชั้นนำของไทยได้แสดงความสนใจเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด เนื่องจากตั้งอยู่ชายแดนไทย-พม่า รายชื่ออุตสาหกรรมที่อาจจะดำเนินกิจการในพื้นที่ ได้แก่ อุตสาหกรรมสารเคมี โลจิสติก และอุตสาหกรรมการเกษตร
จัน ทา กานมเขียว ชาวนา วัย 64 ปี มีฟาร์มหมูขนาดเล็กบนที่ดิน 4 ไร่ ในวังตะเคียน จันทาเล่าให้ประชาไทฟังว่า ตนเองและเพื่อนบ้านไม่เพียงแต่ต่อสู้กับการไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่เท่านั้น แต่พวกตนไม่ต้องการให้มีอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษในพื้นที่ จันทากล่าวว่า “เรายินดีที่จะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษและโครงสร้างพื้นฐานที่มาพร้อมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่เราไม่เอาอุตสาหกรรมหนัก ซึ่งอาจก่อให้เกิดมลพิษจำนวนมากในพื้นที่”
จันทา เกษตรกร วัย 64 หนึ่งในสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มคนแม่สอดรักถิ่น ถ่ายภาพหน้าบ้านของตัวเอง พร้อมป้ายเขียนว่า 'คนวังตะเคียนไม่เอาเขตอุตสาหกรรม
ประชาไทถามว่า เขาคิดว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษจะสามารถสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่น ตามที่หน่วยราชการกล่าวไว้หรือไม่ จันทากล่าวว่า “ผมก็อยากเชื่อแบบนั้น แต่คนที่มีความสุขอยู่แล้ว เขามีที่ดินที่ไว้เพาะปลูกมาหลายชั่วอายุคน ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเยาวชน มีแต่คนวัยกลางคน เนื่องจากคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ออกไปทำงานในเมืองและจังหวัดอื่นๆ" จันทาเสริมว่า หนึ่งในเหตุผลหลักที่จะตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ชายแดนคือ ต้องการใช้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านในพม่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติกฎหมายแรงงาน [มาตรา 14 พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551] เพื่อลดกฎระเบียบการจ้างแรงงานข้ามชาติ โดยอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติมาทำงานรายวันหรือตามฤดูกาลในเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ ดังนั้น จึงมีโอกาสน้อยที่อุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษจะจ้างคนไทยในท้องถิ่น
ทวีศักดิ์ มณีวรรณ ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กลุ่มภาคประชาสังคมเพื่อการส่งเสริมสิทธิในที่ดินในภาคเหนือของประเทศไทย กล่าวว่า การเวนคืนที่ดินที่ชาวบ้านอาศัยอยู่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นยาวนานในประเทศไทย ตั้งแต่การตรากฎหมายพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 “เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติป่าไม้ กฎหมายกำหนดพื้นที่ขนาดใหญ่ให้เป็นป่าสาธารณะ แม้จะมีข้อเท็จจริงที่ว่า มีชุมชนและชาวบ้านอาศัยอยู่บนที่ดินอยู่ก่อนแล้ว" ทวีศักดิ์กล่าว
ด้วยอำนาจของรัฐบาลทหารภายใต้มาตรา 44 [ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว] และคำสั่งอื่นๆ เช่น คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ และคำสั่ง คสช. ที่ 3/2559 ที่ยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ในขณะนี้จึงเป็นเรื่องง่ายมากที่หน่วยงานจะผลักดันแผนสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ให้รุดหน้า ทวีศักดิ์ชี้ว่า ภายใต้รัฐบาลพลเรือน โครงการนี้ถูกชะลอออกไปเป็นเวลาหลายปี
ทวีศักดิ์ มณีวรรณ ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เป็นผู้ช่วยเหลือชาวบ้านวังตะเคียนในการต่อสู้การเวนคืนที่ดินชาวบ้าน
ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือกล่าวว่า "หน่วยงานรัฐที่เสนอพื้นที่ต่อนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ว่าพื้นที่ใดที่เหมาะสมที่จะจัดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษคิดว่าพื้นที่วังตะเคียนนั้นมีเพียง 5 ครอบครัว ถ้าชาวบ้านจะถูกเวนคืนที่ดิน ก็สามารถจ่ายค่าชดเชยได้ง่ายๆ แต่เขาประเมินคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปมาก"
ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว สุนทรในฐานะผู้นำกลุ่มคนแม่สอดรักถิ่นและชาวบ้านคนอื่นๆ ได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรมที่ดิน และศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย เพื่อพยายามหยุดยั้งการเวนคืนที่ดิน ทว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีสัญญาใดๆ หรือการตัดสินใจจากหน่วยงานใดๆ ในการแก้ปัญหากรณีพิพาทที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
สุนทรกล่าวว่า มีข้อเสนอเพื่อชดเชยชาวบ้านในอัตรา 7,000-12,000 บาทต่อไร่ และให้ชาวบ้านได้มีที่ดินสำหรับตั้งถิ่นฐานในจังหวัดตาก แต่สุนทรกล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ต้องการที่จะย้ายและราคาที่ดินในอำเภอแม่สอดตามราคาตลาดสูงถึงไร่ละเกือบ 1 ล้านบาท ชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นว่าค่าชดเชยที่เสนอมาเป็นเรื่องตลก
วิรัช เกียรตินวม หัวหน้าสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ตากกล่าวกับประชาไทว่า จนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังพยายามประนีประนอมกับชาวบ้าน และได้จัดตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ไม่มีการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม เขาเชื่อมั่นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ มีเพียงที่ดินเพียง 9-10 แปลงในหมู่บ้านวังตะเคียนที่มีเอกชนเป็นเจ้าของ วิรัชกล่าวว่า “ที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นสมบัติของพลเมืองทุกคน การครอบครองที่ดินของชาวบ้านสร้างความเสียหายให้กับรัฐ”
สุวินทร์ เกษตรกรในหมู่บ้านวังท่าตะเคียน ปลูกกล้วย มะนาว หน่อไม้ อ้อย มะม่วงและข้าวโพด บนที่ดิน 23 ไร่ เขาอาจจะเสียที่ดินไปในอนาคตอันใกล้
เมฆมืดทะมึนตั้งเค้าเหนือบ้านน้อยๆ ในเรือกสวนบนเนินเขา สุวินทร์ ช่างธรรม ชาวไร่ วัย 54 ปี หันศีรษะไปยังเสียงรบกวนดังก้องจากรถบรรทุกขนหินปูนที่ขุดมาจากภูเขาในท่าสายลวด เพื่อเตรียมก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ "ผมเป็นเกษตรกรตั้งแต่ยังเป็นเด็ก บางทีเขตเศรษฐกิจพิเศษอาจพาการพัฒนาเข้ามาในพื้นที่ แต่ก็ไม่ใช่สำหรับเรา“ สุวินทร์กล่าวพลางจ้องมองไปทางเมฆดำมืดที่ตั้งเค้าอยู่เบื้องบน
ที่มา : ประชาไท วันที่ 16 ส.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.