โดยความเป็นจริงในช่วงเวลาครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเรามีความเจริญก้าวหน้าเติบโตมาในทุก ๆ ด้านมิใช่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงปริมาณและในเชิง "วัตถุธรรม"
แม้ว่าในเชิงคุณภาพและหลายสิ่งที่เป็นนามธรรม อาจจะไม่มีความก้าวหน้า หรือแม้กระทั่งในบางกรณีก็ดูเหมือนจะเสื่อมโทรมลงไปกว่าที่เคยเป็นอยู่แต่เดิม
คนไทยที่เป็นนักคิด มีความรอบรู้ มีจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ ที่บังเอิญได้เฝ้ามองเมืองไทยอย่างใกล้ชิดมาเกือบหนึ่งร้อยปี ย่อมจะมีทรรศนะที่สอดคล้องกันตามที่กล่าวข้างต้น และที่เป็นความคิดเห็นค่อนข้างจะตรงกันก็คือ จุดอ่อนของสังคมไทยที่ปรากฏในปัจจุบัน จะรวมถึง"คุณภาพ" ของคนไทยเราเอง ซึ่งคงจะไม่หมายถึงวิชาความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ ที่อาจจะเรียนทันกันหมดถ้ามีโอกาส หากแต่จะเจาะจงลงไปที่ความไม่ค่อยจะถูกต้องของ "หลักที่ใช้คิด" อีกทั้งความบกพร่องใน "จิตสำนึก" ที่คนมีการศึกษาพึงจะต้องมี
ด้วยเหตุนี้การปรับปรุง "คุณภาพ" ของคนไทยตามนัยข้างต้น จึงสมควรที่จะเป็น "ยุทธศาสตร์" หลักของประเทศ เพราะหากมองข้ามความสำคัญของประเด็นดังกล่าว บรรดา "ยุทธศาสตร์" ที่หรูหราและปลุกเร้าในสำนวนโวหารก็จะล้มเหลวหมด รวมทั้งความใฝ่ฝันที่จะได้เห็นประเทศไทยหลุดพ้น "กับดัก" ของประเทศรายได้ปานกลางด้วย
ว่าไปทำไมมี การที่เมืองไทย คนไทยมีรายได้ปานกลาง ก็ไม่ควรที่จะเดือดเนื้อร้อนใจแต่ประการใด เพราะรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่เป็นอ ยู่ในปัจจุบัน คนไทยทุกคนไม่อดอยาก มีเครื่องนุ่งห่มบริบูรณ์ มีที่อยู่อาศัยตามควรแก่อัตภาพ มีบริการทางการแพทย์ สาธารณสุข และการศึกษาอย่างทั่วถึง การคมนาคม การขนส่ง และการสื่อสาร รวมถึงบริการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการก็ครบครันไม่ขาดแคลน
นอกจากนั้น ก็ยังมีสันทนาการและนันทนาการในขอบเขตที่กว้างขวาง ด้วยขีดความสามารถในการสร้าง "มูลค่าเพิ่ม" ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คนไทยอาจดำรงและดำเนินชีวิตอย่างสงบสุขถ้วนหน้า หากมีหลักที่ใช้คิดในเรื่องต่าง ๆ ที่ถูกต้อง และไม่บกพร่องใน "จิตสำนึก"
เมืองไทยไม่จำเป็นจะต้อง "มั่งคั่ง" ขอแต่ให้ "มั่นคง" และ "พอเพียง" อย่าง "ยั่งยืน" เท่านั้นเอง
ถึงแม้จะต้องยอมรับว่าสังคมไทยยังมี "ความเหลื่อมล้ำ" อยู่มาก ซึ่งฐานรากของปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ก็คือ "เศรษฐกิจ" ซึ่งมีความสลับซับซ้อนโดย ธรรมชาติเกินไปกว่าที่ "การเลือกตั้ง" "อำนาจพิเศษ" "กระทรวง ทบวง กรม" "สภาพัฒน์" "แบงก์ชาติ" หรือสถาบันทุนนิยมต่าง ๆ จะ "บงการ" หรือแม้กระทั่ง "เสนอแนะ" ให้ดูแลแก้ไขได้ ถึงกระนั้นบรรดาฝ่ายที่หมกมุ่นอยู่กับความมั่งคั่งก็ยังปรารถนาที่จะเห็นประเทศไทยก้าวข้ามรายได้ปานกลางไปสู่รายได้ที่สูงขึ้นขั้นต้นๆ
ยุทธศาสตร์เป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่มุ่งให้บรรลุความใฝ่ฝันจะเป็นประการใดย่อมอยู่ที่จินตนาการของบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเสรีภาพสากลที่ไม่จำเป็นจะต้องบัญญัติไว้ในเอกสารฉบับใด หากการปลด "กับดัก" เป็นสิ่งที่สมควรจะกระทำ
ไม่ว่าจะด้วยเป้าหมายที่จะให้เมืองไทยมั่งคั่งมีรายได้สูง หรือเพียงจะมุ่งไปที่ "ความพอเพียง" อย่างยั่งยืน อันเป็นเป้าหมายที่มีความเป็นไปได้สูง หากกำหนดยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องและเหมาะสม
ยุทธศาสตร์ที่สมควรพิจารณาให้เป็นกลไกหลักในการ "ปลดกับดัก" เศรษฐกิจตามที่กล่าวข้างต้น ประกอบด้วย 1.ยุทธศาสตร์ในการสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจสำหรับครอบครัวเกษตรกร ประมาณ 3 ล้านครอบครัว ที่มีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ด้วยการให้รวมตัวกันเป็น "สหกรณ์อเนกประสงค์" หรือ "สหกรณ์เศรษฐกิจชุมชน" ทำหน้าที่หน่วยประกอบการเศรษฐกิจของครอบครัวเกษตรกรที่มีศักยภาพจำกัด ซึ่งจำเป็นจะต้องร่วมกันผลิต ร่วมกันจำหน่าย ตลอดจนร่วมกันพัฒนาประสิทธิภาพ ผลิตภาพ และขีดความสามารถ
ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถแข่งขันในระบบทุนนิยม โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มทุน และแม้กระทั่งการแทรกแซงของรัฐ 2.ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาขีดความสามารถการพึ่งตนเองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับการผลิต "ชีวปัจจัย" เพื่อสนองความต้องการภายในประเทศ ส่วนขีดความสามารถนอกเหนือไปจากนั้น ก็จะต้องเร่งรัดพัฒนาตามนโยบายวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
หากยุทธศาสตร์ทั้งสองประการนี้ ดำเนินการประสบผลสำเร็จ ประเทศไทยก็มีความพร้อมที่จะก้าวข้ามไปสู่ความเป็นประเทศที่มีรายได้สูงขั้นต้น เพราะได้ทำการ "ปลดกับดัก" ประเทศรายได้ปานกลางออกไปแล้ว แต่จะไปถึงระดับนั้นหรือไม่ เมื่อใด ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 13 ส.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.