โดย...ทศพล หงษ์ทอง
ข้าวผลผลิตทางการเกษตรขุมทรัพย์สำคัญของชาติอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิตหลักรายใหญ่ของโลกที่อยู่ในซีแอลเอ็มวีที (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนามและไทย) ที่จากนี้ไปจะต้องเร่งพัฒนาพร้อมยกระดับผลผลิตให้สอดคล้องกับตัวแปรต่างๆ ที่เข้ามากระทบอุตสาหกรรมเกษตรในอนาคต
ทซึโทมุ มิยาโกชิ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวที่เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นนักวิจัยให้กับรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตให้กับเกษตรกรญี่ปุ่นจนประสบความสำเร็จ ทั้งด้านคุณภาพและการสร้างมูลค่าจนสามารถผลิตข้าวพันธุ์นิโคมารุที่มีราคาแพงมากที่สุดในโลกราว 600 บาท/กิโลกรัม (กก.) ก่อนผันตัวมาเป็นนักลงทุนและนักวิจัยโดยมุ่งหวังที่จะนำความรู้และความสำเร็จดังกล่าวเข้าไปช่วยเหลือชาวนาในอาเซียน
ข้าวนับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อรองรับความต้องการบริโภคในเอเชีย รวมถึงแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ห่วงโซ่อุปทานของโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีที ซึ่งได้เปรียบด้านความหลากหลายของธรรมชาติ ความพร้อมของวัตถุดิบและค่าแรงงานด้านการเกษตร
ทซึโทมุ กล่าวถึงปัญหาหลักของชาวนาในอาเซียน โดยเฉพาะผู้ผลิตข้าวในซีแอลเอ็มวีอยู่ที่มาตรฐานของสินค้า ทั้งเรื่องของปริมาณการผลิตและคุณภาพที่ขาดเสถียรภาพ เพราะไม่มีการนำเทคโนโลยีเข้าไปพัฒนาการผลิตจนทำให้เสียเปรียบการแข่งขันในตลาดโลก ทั้งที่ภูมิภาคดังกล่าวเต็มไปด้วยแรงงานหนุ่มสาวที่มีศักยภาพด้านการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ โดยแนวทางแก้ไขนั้นมองว่าต้องเริ่มจากการยกระดับรายรับของเกษตรกรให้คงที่ มีเสถียรภาพตลอดทั้งปี
ปัจจุบันญี่ปุ่นมีกำลังการผลิตข้าวสารต่อไร่อยู่ที่ 675 กก. แต่สามารถเพิ่มมูลค่าจนมีราคาสูงที่ สุดในโลกอยู่ที่กิโลกรัมละ 600 บาท การปลูกข้าวจำนวน 3 ไร่ สามารถสร้างรายได้มากถึง 2.4 ล้านบาท ต่อการทำนา 1 ครั้ง ซึ่งเป็นรายรับต่อปีที่เทียบเท่ากับพนักงานบริษัทชั้นนำในโตเกียว ควบคู่ไปกับการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ได้รสชาติดี โดยอาศัยการทำโครงการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อการเฟ้นหาและผสมดีเอ็นเอพันธุ์ข้าวดีที่สุด ซึ่งข้าวที่มีรสชาติดีสามารถตีตลาดพรีเมียมในเอเชีย เจาะกลุ่มประชากรรายได้สูงอย่างในสิงคโปร์ ฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ได้ไม่ยาก
เขากล่าวว่า อาเซียนต้องยกระดับการทำนาเป็นแบบนาแปลงใหญ่ เพื่อรวมกลุ่มในการลงทุนด้านเทคโนโลยีการผลิตรูปแบบใหม่ รองรับการเข้าสู่เกษตรไฮเทคหรือเกษตรกรรม 4.0 เปลี่ยนรูปแบบการปลูกข้าวเป็นแบบไดเรกต์ซีดดิ้ง เป็นการปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวแบบใช้การหยอดสามารถลดระยะเวลาการทำงานลงได้ 60% ทั้งยังลดปริมาณเมล็ดพันธ์ุข้าวจากเดิมที่ใช้ประมาณ 10-20 กก./7 ไร่ จะลดลงเหลือเพียง 3 กก. ซึ่งใช้นวัตกรรมแบบไอรอน-โค้ทติ้ง การเคลือบเหล็กบนเมล็ดพันธ์ุข้าวก่อนทำการเพาะปลูก เพื่อแก้ปัญหาการล้มตายของข้าว เอื้อต่อการควบคุมศัตรูพืชรวมถึงป้องกันสัตว์รบกวนต้นข้าวอีกด้วย
สำหรับการเลือกใช้เทคโนโลยีเข้ามาทุ่นแรงในการผลิต สอดคล้องกับเทรนด์ชาวนาอาเซียนที่หลายประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้เทคโนโลยีการเกษตรเข้ามามีบทบาทในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะใน
ซีแอลเอ็มวีที่มีความได้เปรียบเรื่องจำนวนแรงงานหนุ่มสาวที่มีอยู่ โดยสิ่งที่นักลงทุนญี่ปุ่นต้องการคือพัฒนาการผลิตไปสู่การทำเกษตรแปลงใหญ่ รวมถึงการใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้านำไปสู่การสร้างแบรนด์ผลผลิตประจำชาติ
จากตัวเลขสถิติพบว่าชาวนาญี่ปุ่นมีต้นทุนการผลิตข้าวอยู่ที่ไร่ละ 4,714 บาท มีรายรับอยู่ที่ 7,500 บาท ขณะที่ประเทศไทยมีต้นทุนการปลูกข้าว เฉลี่ยต่อไร่ที่ 9,763 บาท สามารถขายข้าวได้ 11,319.37 บาท ส่งผลให้มีเงินเหลือเก็บที่ 1,555.97 บาท ทำให้ชาวนาของไทยถูกจัดอันดับให้จนที่สุดในอาเซียนตามหลังเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาและเวียดนาม
เป็นความแตกต่างที่ชี้ให้เห็นว่าประเทศเราขาดการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการผลิตสินค้าหลักอย่างข้าว แม้จะพยายามก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 5 ส.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.