โดย กิตตินันท์ นาคทอง
เมื่อประมาณ 5-6 ปีก่อน ผมรู้จักเพื่อนที่เป็นนักกิจกรรมอย่าง "น้องกร" สิริกร ลิ้มสุวรรณ มาตั้งแต่ที่เขาเรียนอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เพราะเคยทำกิจกรรมเยาวชน และกิจกรรมจิตอาสาด้วยกัน
กระทั่งเรียนจบ ทราบมาว่าเขาเป็นมนุษย์เงินเดือน ในตำแหน่งพนักงานธนาคาร ที่บ้านเกิดของเขาใน จ.กาญจนบุรี
จากนั้นสอง-สามปีต่อมา ทราบข่าวผ่านเฟซบุ๊กมาว่า เขาลาออกจากงานประจำ มาทำการเกษตรที่บ้าน กระทั่งกิจการของเขาก้าวหน้าตามลำดับ
ด้วยความสนใจ อยากเห็นกิจการของเพื่อนรุ่นน้องด้วยตัวเอง เมื่อปีที่แล้วก็เลยทักแชทไป
แต่ปรากฏว่าในช่วงนั้นงาน เขายุ่งมาก มีทั้งคณะนักเรียน นักศึกษามาศึกษาดูงาน มีทั้งภารกิจกิจส่วนตัว ทั้งในพื้นที่กาญจนบุรี และต่างจังหวัดไม่เว้นแต่ละวัน
กระทั่งเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ไปงานบวชเพื่อนที่ตัวเมืองกาญจนบุรี ประกอบกับเขากลับจากต่างจังหวัดพอดี เลยได้มีโอกาสพบกันอีกครั้ง หลังห่างหายไปนานกว่า 6 ปี
“น้องกร” ในวันนี้แม้หน้าตาจะยังดูไม่เปลี่ยน เมื่อเทียบกับตอนที่เป็นนักศึกษา
แต่สิ่งหนึ่งที่เขาเปลี่ยนไป คือ ความรับผิดชอบที่มากขึ้น
ระหว่างที่อยู่บนรถ บทสนทนาแรกที่ผมถามเขา นอกจากเรื่องสารทุกข์สุกดิบก็คือ อาชีพที่ทำอยู่ทุกวันนี้เรียกว่าเป็น “เกษตรกร” หรือเปล่า
เขาตอบว่า เวลาที่มีคณะมาศึกษาดูงาน เขายังเรียกตัวเองว่าเป็นเกษตรกร
แต่นิยามของ “Young Smart Farmer” ในความหมายที่แท้จริงไม่ใช่แค่เพียงปลูกพืช หรือเลี้ยงสัตว์เพียงอย่างเดียว
เขาต้องแปรรูปผลผลิตให้เป็นผลิตภัณฑ์ ต้องทำการตลาดเอง ทำเว็บไซต์ ทำเฟซบุ๊กเพจ และใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต เช่น จากข้าวมาเป็นแชมพูข้าว เป็นผงสครับจากข้าว ฯลฯ
ที่สำคัญ ต้องสร้างแบรนด์เป็นของตัวเองให้ได้
"บ้านรักษ์ดิน" ไร่ส่วนตัวของน้องกร บนพื้นที่ 8 ไร่ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรีประมาณ 2 กิโลเมตร ปัจจุบันถูกเนรมิตให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ และยังทำการเกษตรทั้งปลูกพืชผัก เลี้ยงไก่ไข่
รุ่นน้องวัย 27 ปีคนนี้พยายามเล่าถึงประสบการณ์การทำเกษตรอินทรีย์ ตลอดระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา
แน่นอนว่า กว่าจะผ่านมาถึงจุดนี้เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งทำงานธนาคาร เขาเล่าว่าจุดเปลี่ยนที่ทำให้ต้องออกจากมนุษย์เงินเดือนมีหลายเหตุผล
แต่หนึ่งในนั้นก็คือ แม่ของเขาเกิดเจ็บป่วย แล้วตัวเขาเองลางานไม่ได้
ก็เลยมีความคิดว่า สิ่งสำคัญที่สุดนอกจากเรื่องเงิน คือ “ครอบครัว”
เราลาออกไปคนหนึ่งเขาก็หาคนมาทำแทนได้ แต่ครอบครัวเสียแล้วเสียเลย เราหาใหม่ก็ไม่ได้
ในช่วงที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เขาก็นึกอยากจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของเกษตรกรที่ปลูกพืชโดยใช้สารเคมี มาทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ และให้คนทั่วไปได้บริโภคอาหารปลอดภัย ปลอดสารเคมี
เขาเริ่มต้นลองผิดลองถูกจากการเลี้ยงไส้เดือน แล้วนำมูลไส้เดือนมาทดลองทำเป็นปุ๋ยแจกให้กับเกษตรกร
หนึ่งในนั้น ตัดสินใจเอามาทดลองที่แปลงผักคะน้า โดยขอเกษตรกรทดลอง 1 แถว กำชับว่าไม่ต้องให้ปุ๋ยหรือยาปราบศัตรูพืชใดๆ
ไม่นานนัก เจ้าของแปลงผักคะน้า โทรศัพท์มาที่เขาบอกว่า "ผักของเอ็งตายหมดแล้ว"
เขาก็งงว่า เป็นไปได้ยังไง ก็เลยตามไปที่แปลงผักคะน้า ปรากฏว่า ผักมีหนอนกินจำนวนมาก
แตกต่างไปจากร่องอื่นๆ ที่ไม่มีหนอนกิน เพราะใช้ยาปราบศัตรูพืช
เจ้าของแปลงผักคะน้าบอกกับเขาว่า "ปุ๋ยมูลไส้เดือนทำให้ผักของเขาตายหมดแล้ว ถ้าเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ แล้วคะน้าตัดไม่ได้ภายในกำหนดจะทำยังไง?"
เขาค้นพบปัญหาว่า แปลงผักคะน้าแห่งนี้ใช้ยาปราบศัตรูพืช หนอนก็เลยหนีไปอยู่ในแปลงที่ใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือน ซึ่งโดยปกติคะน้าจะมีระยะเวลาในการปลูก 45 วัน เจ้าของแปลงผักคะน้าเกรงว่าจะควบคุมไม่ได้
อีกประการหนึ่ง คือ เกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้วิธีไปเอาปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช โดยลงเป็นเครดิตกับร้านขายเคมีภัณฑ์เกษตรไว้ก่อน เมื่อขายผลผลิตได้ ก็จะต้องเอาไปจ่ายให้กับทางร้านเหล่านั้น เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว ส่วนที่เหลือถึงจะเป็นกำไร
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เขาจึงกลับมาคิดทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า ตอนที่เราเอาปุ๋ยไปแจก เราคาดหวังว่าจะเปลี่ยนเกษตรกรที่ใช้สารเคมี มาเป็นเกษตรอินทรีย์
แต่ผลที่เกิดขึ้นทำให้เขาคิดได้ว่า "ในเมื่อให้คนอื่นเปลี่ยนไม่ได้ ก็ต้องเริ่มเปลี่ยนจากตัวเอง"
หลังจากวันนั้น เขาตัดสินใจสร้างศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ บนพื้นที่ 8 ไร่บริเวณชานเมืองกาญจนบุรี เพื่อให้ผู้ที่สนใจด้านเกษตรอินทรีย์เข้ามาเรียนรู้
ขณะเดียวกัน เขาก็เริ่มทดลองปลูกข้าวหอมนิล บริเวณบ้านท่าล้อ ก่อนถึงตัวเมืองกาญจนบุรี 7 กิโลเมตร เมื่อผลผลิตออกมาก็นำมาแปรรูปเป็นผงสครับ ผสมสมุนไพรเป็นแชมพูข้าว รวมทั้งถั่วเขียวก็นำมาทำเป็นผงสครับเช่นเดียวกัน
ในปัจจุบัน ที่บ้านรักษ์ดินมีผลิตภัณฑ์แปร รูปจากเกษตรอินทรีย์มากกว่า 30 รายการ โดยมีแหล่งผลิตในหลายพื้นที่ อาทิ นาข้าวหอมนิลที่บ้านท่าล้อ, นาข้าวหอมมะลิที่ อ.ท่าม่วง, แปลงผักและผลไม้เมืองหนาวที่ อ.ไทรโยค ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมีคอนแทคฟาร์ม (Contact Farm) ในเครือข่ายที่ผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน ไข่ไกอินทรีย์ และชาสมุนไพร
เขากล่าวว่า กลุ่มลูกค้ามีทั้งคนวัยทำ งานและผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ 70% สั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เว็บไซต์, เฟซบุ๊กเพจ และไลน์แอด ส่วนลูกค้าทั่วไป (On Ground) ที่พบเห็นสินค้าและให้ความสนใจมีอยู่ประมาณ 30%
แต่สำหรับสินค้าที่ขายดี และถูกพูดถึงมากที่สุดในขณะนี้ คือ “น้ำอบเชยกลั่น” เพราะมีคุณสมบัติแก้โรคเบาหวาน ลดน้ำตาลในเลือด
เขาอธิบายว่า การทำน้ำอบเชยกลั่น จะใช้วิธีต้มจากก้านอบเชย และสกัดด้วยวิธีการกลั่นยาวนานกว่า 6 ชั่วโมง จนได้น้ำอบเชยกลั่นที่ใส มีกลิ่นและรสชาติอบเชยแท้ๆ
เขาบอกว่า ถ้าหากคนที่ไม่ชอบกลิ่นอบเชยก็จะรู้สึกฉุน แต่ได้พยายามทำสูตรที่มีรสชาติเจือจางมากที่สุดเพื่อให้รับประทานง่าย เพราะเคยใช้ใบอบเชยมากลั่น ปรากฎว่าน้ำกลั่นที่ได้กลิ่นฉุนเตะจมูกมาก เวลาดื่มจะแสบคอเหมือนวาซาบิ
เมื่อถามถึงวิธีการรับประทาน ทีแรกตอนที่เห็นในเฟซบุ๊ก นึกว่าจะดื่มหมดทั้งขวดในคราวเดียว แต่เพื่อนบอกว่า รับประทานเพียงครั้งละ 1 ช้อนชาเท่านั้น ก็เลยลองชิมดู
ชิมไปหนึ่งช้อน พบว่ามีรสชาติของอบเชย แต่ไม่แสบคอหรือบาดคอใดๆ
ระหว่างที่มาเยี่ยมกิจการบ้านรักษ์ดิน เขาพาไปยังโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ซึ่งอยู่ใกล้กัน เมื่อเข้าไปในเล้าไก่ก็พบว่ามีไก่ไข่จำนวนมากกำลังวิ่งเล่นเข้าหาผู้คน เขาเก็บไข่ไก่เพื่อนำส่งให้ลูกค้า
เขาตั้งชื่อด้วยความตั้งใจว่า “ไข่ขบถ”
อธิบายว่า เหตุที่เรียกเช่นนี้ เพราะที่ผ่านมา ไก่ไข่ถูกเลี้ยงด้วยระบบเกษตรพันธสัญญาจากบริษัทเอกชน ต้องเลี้ยงในระบบฟาร์มปิด ต้องใช้หัวอาหารจากบริษัท
บางแห่งมีสารเคมีและสารเร่งการฟักไข่ ไก่เจ็บป่วยก็ใช้ยาปฏิชีวนะ เวลาขายก็กำหนดราคาเองไม่ได้ บริษัทเอกชนที่รับซื้อจะเป็นผู้กำหนด
แต่การเลี้ยงแบบเกษตรอินทรีย์ จะใช้อาหารตามธรรมชาติ ใช้ต้นกล้วย กากถั่วเหลือง รำข้าว และทำน้ำสมุนไพรชีวภาพให้แม่ไก่กิน แล้วพบว่าไก่ไข่ก็สามารถออกไข่ได้เหมือนกัน โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
“คนไม่เข้าใจว่าในหัวอาหารมีอะไรบ้าง แค่ไปค้นหาว่าในหัวอาหารมีอะไรที่เราสามารถหาได้จากธรรมชาติ แล้วเอาของจากธรรมชาติมาผสมรวมกันเพื่อเป็นอาหาร”
หัวใจสำคัญของเกษตรอินทรี ย์ ผู้เลี้ยงจะรู้ต้นทุนทั้งหมด จะกำหนดราคาขายได้เอง โดยคนขายจะส่งมอบ “เรื่องราว” และ “คุณค่า” จากการทำเกษตรอินทรีย์ โดยให้สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค
“สมมติว่ามีคนอยากได้ไข่ไก่ ก็มาดูที่ไร่ ดูวิธีการให้อาหาร วิธีการผสมอาหาร วิธีการเลี้ยงอย่างใกล้ชิด หลังจากนั้นถ้าสนใจ ก็จะให้ลูกค้าผูกปิ่นโต ชำระค่าไข่ไก่ล่วงหน้าเป็นรายเดือน เดือนละ 160 บาท จะได้ไข่ไก่สัปดาห์ะ 8 ฟองตลอดทั้งเดือน”
เขากล่าวว่า ปัจจุบันมีลูกค้าให้ความสนใจไข่ไก่ เกษตรอินทรีย์จำนวนมาก แต่ปริมาณผลผลิตมีไม่มากพอ มีไม่เกิน 200 ฟองต่อสัปดาห์เท่านั้น แต่ก็มีเกษตรกรอีก 2 รายที่เข้ามาร่มเป็นเครือข่ายแล้ว
ลูกค้าส่วนหนึ่งมีทั้งที่ครัวเรือน โรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และโรงเรียนที่ส่งให้ทุกวันพุธเป็นกรณีพิเศษ เคยมีบางรายขอยอดสั่งซื้อสัปดาห์ละ 150 ฟอง ซึ่งทำไม่ได้ เพราะผลผลิตยังน้อย ถ้าทำตามออเดอร์ ลูกค้ารายอื่นก็จะไม่ได้บริโภคกัน
ระหว่างที่คุย เขาลงมือบรรจุไข่ไก่ที่เก็บมาจากโรงเรือนมาบรรจุใส่กล่อง สังเกตจากกล่องที่เขาใช้ เป็นกล่องแบบชานอ้อย พร้อมกับใส่ถุงพลาสติกชนิดที่ย่อยสลายตามธรรมชาติ
เขาบอกว่า เป็นคอนเซปต์ที่ต้องการรักษาสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอน
ก่อนที่เขาจะขับรถทยอยส่งไข่ไก่ไปยังลูกค้าในตัวเมืองกาญจนบุรี ที่บอกรับสมาชิกไข่ไก่จากเขาด้วยตัวเอง
การจะร่วมสร้างสังคมเกษตรอินทรีย์ ด้วยการเปลี่ยนชีวิตมาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่าย
เขาเริ่มต้นอธิบายว่า ที่ผ่านมา “ข้าว” และ “ยางพารา” เป็นสินค้าการเมือง แต่พืชผักที่เรากินอยู่ทุกวันกลับไม่มีใครมากำหนดราคากลาง ทำให้เกษตรกรไม่มีหลักประกัน
เช่น ผักชี บางวันขายในราคาถูกมาก 3 บาทต่อกิโลกรัม บางวันแพงขึ้นเป็น 120 บาทต่อกิโลกรัม
หรือมะนาว ในช่วงที่ผลผลิตมีน้อยขายเป็นลูก แต่เมื่อผลผลิตล้นตลาดก็ขายเป็นกิโลกรัม
แต่ถึงแม้ข้าวกับยางพาราจะมีราคากลางที่กำหนด เกษตรกรก็ถูกกดราคาอยู่ดี ทั้งจากพ่อค้าคนกลางหรือโรงสี
อย่าง ข้าว ย้อนกลับไปสมัยตันละ 15,000 บาท แต่ชาวนาได้จริงๆ 8,000 - 9,000 บาท หรือพูดง่ายๆ ตกกิโลกรัมละ 8-9 บาท เพราะถูกหักค่าความชื้น ข้าวหัก ข้าวแตก
ตอนนี้มันถูกลงกว่านั้น ตกตันละ 7,000 – 8,000 บาท
แต่นายทุน อย่างโรงสี และบริษัทค้าข้าวรายใหญ่ กลับคิดราคาข้าวถุงอย่างน้อยๆ ตกกิโลกรัมละ 20 บาท
“คิดดูว่ามันเหลื่อมล้ำขนาดไหน คนซื้อข้าวคือคนที่กินเพื่ออยู่ ยังซื้อแพงขนาดนี้ แต่ชาวนากลับจนลงทุกวัน” เขากล่าว
ปัญหาที่สำคัญของการทำเกษตรอินทรีย์ เช่น ปัญหาเชิงพื้นที่ ลูกค้าที่มีกำลังซื้อจะอยู่ในตัวเมือง แต่พื้นที่ตัวเมืองไม่มีพื้นที่ให้ผลิตแล้ว ก็ต้องไปผลิตยังนอกเมือง เช่น อ.ไทรโยค อ.ท่าม่วง ฯลฯ
เขายกตัวอย่างข้าวแต่ละสายพันธุ์ ควรจะปลูกให้ห่างกัน เพื่อไม่ให้เกิดการ “กลายพันธุ์” เช่น ข้าวหอมมะลิปลูกที่ อ.ท่าม่วง แต่ข้าวหอมนิลปลูกที่บ้านท่าล้อ ชานเมืองกาญจนบุรี เพราะถ้าปลูกรวมกันข้าวก็จะปนกันและกลายพันธุ์
เว้นเสียแต่ว่าจะใช้ตาข่ายคลุมโดยรอบ แต่ชาวนาส่วนใหญ่ไม่มีทุนมากพอที่จะทำเช่นนั้น
อุปสรรคที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ดิน ฟ้า อากาศ ที่ผ่านมาในช่วงฤดูร้อน จ.กาญจนบุรีก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง แหล่งผลิตพืชผักผลไม้เมืองหนาวที่ อ.ไทรโยคก็เพาะปลูกไม่ได้ ต้องละเว้นการเพาะปลูกชั่วคราว
ปัญหาภัยแล้งทำให้เขายังกังวลว่า ปีหน้าจะมีวิธีการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร แม้ว่าจะมีวิธีที่ทำให้ปลูกพืชผักผลไม้เมืองหนาวได้ตลอดทั้งปี แต่ต้องใช้ต้นทุนสูงมาก และทำได้เฉพาะในพื้นที่จำกัด
การทำเกษตรอินทรีย์ นอกจากเกษตรกรจะต้องรู้จักแปรรูป ทำการตลาด ใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าผลผลิต และกำหนดราคาโดยใช้เรื่องราวและคุณค่าแล้ว สิ่งสำคัญที่สุด ดือ “การสร้างความเชื่อมั่น”
เขาอธิบายว่า ระบบสังคมทุกวันนี้ถูกแยกส่วน แต่ละคนไม่รู้จักกัน แต่การทำเกษตรอินทรีย์ต้องทำเป็นเครือข่าย รวมทั้งผู้บริโภค
อย่างเวลาที่เขาขายไข่ไก่อินทรีย์ ก็ให้ลูกค้ามาเยี่ยมชมการเลี้ยงด้วยตัวเอง ต้องทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นก่อน
รวมทั้งสร้างความไว้ใจระหว่างกันและกัน ด้วยการ “สร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า” อย่างเหนือความคาดหมาย
เขายกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งเวลาส่งของให้ลูกค้า ปรากฏว่าลูกค้าแจ้งว่า ของที่ส่งไปบรรจุภัณฑ์เสียหายระหว่างขนส่ง เขาตัดสินใจส่งสินค้าให้ใหม่ โดยที่ลูกค้าไม่ต้องเอาสินค้ามาคืน
ทั้งที่ลูกค้าเข้าใจและบอกว่าไม่ต้องเอามาคืนให้ก็ได้
หรืออย่างการบรรจุหีบห่อ เขาจะเน้นบรรจุลงในหีบห่ออย่างแน่นหนาจนแกะยาก ลูกค้าก็จะนึกว่าทำไมต้องทำให้ยุ่งยากขนาดนี้
แต่เขาในฐานะผู้ขายมองว่า ระหว่างขนส่งไม่รู้ว่าจะต้องเจออะไรบ้าง ทั้งถูกโยน กระแทก รวมทั้งถูกกระทืบ
จึงต้องคิดถึงคนที่อยู่ปลายทาง ว่าสินค้าจะปลอดภัยจนถึงมือลูกค้า
ถ้าถามถึงรายได้ที่ได้รับหลังจากทำเกษตรอินทรีย์มานานกว่า 3 ปี เขาตอบว่า รายได้ปัจจุบันมากกว่ามนุษย์เงินเดือน ที่ได้เงินเดือน 15,000 บาท
แต่สิ่งที่ได้นอกจากเงินเดือน คือ การที่ได้ทำเกษตรอยู่กับบ้านอย่างมีความสุข
“ตอนที่ทำงานประจำ เวลานอนไม่อยากนอน เวลาตื่นไม่อยากจะตื่น เพราะมันไม่มีความสุข ไม่อยากให้วันพรุ่งนี้มาถึง แต่พอมาเป็นนายตัวเอง รู้สึกว่าทุกวันมันมีความหมาย เวลานอนไม่อยากนอน เวลาตื่นก็ไม่อยากนอน เพราะวันทั้งวันมันมีความหมาย มันมีความสุข ไม่อยากให้วันนี้หมดไป”
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อาจมีหลายคนอยากจะเปลี่ยนจากมนุษย์เงินเดือน มาเป็นเกษตรกรแบบนายตัวเองเหมือนเขาบ้าง เลยถามว่าถ้าคนที่คิดแบบนี้จะทำอย่างเขาบ้าง ต้องทำอย่างไร
เขาตอบว่า “สิ่งสำคัญคือ ลงมือทำเลย เพราะเดี๋ยวนี้ข้อมูลความรู้มันจะชนหน้าอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะทำหรือไม่ทำ”
ส่วนจะเริ่มต้นยังไงนั้น เขาถามกลับไปว่า จะทำ “การเกษตรเพื่อธุรกิจ” หรือ “เกษตรแบบพอเพียง”
ถ้าทำเกษตรแบบพอเพียง ก็ “ปลูกทุกอย่างที่เรากิน กินทุกอย่างที่ปลูก” ถ้าเหลือก็เอาไปขาย
แต่ถ้าทำเป็นธุรกิจ เราต้องเอาการตลาดนำการผลิต คือ “ลูกค้าต้องการอะไร เราก็ปลูกอันนั้น”
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเขา คือ “การทำเกษตรอินทรีย์เพื่อเปลี่ยนสังคม”
มันจะมองข้ามช็อตของ ทำการเกษตรเพื่อธุรกิจ ที่เอากำไรเป็นตัวตั้ง แต่เขาเอาปัญหาสังคมเป็นตัวตั้ง และสร้างโปรดักส์ (Product) ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหานั้น เมื่อโปรดักส์แก้ปัญหาได้ กำไรก็จะตามมา
มากกว่าสิ่งใด เขาทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า
“คนที่ทำไม่ได้ คือ คิดเยอะ เอาแต่คิด แต่ไม่ลงมือทำซักที”
...
การได้มาเห็นกิจการเกษตรอินทรีย์ที่ จ.กาญจนบุรีของเพื่อนรุ่นน้องในครั้งนี้ น่าดีใจตรงที่วันนี้กิจการของเขาเป็นที่ยอมรับ สิ่งสำคัญคือ ยังได้รับรู้ประสบการณ์ในฐานะเกษตรกรอีกมาก
ถ้านำมาเขียนในที่นี้ก็คงจะเขียนไม่หมด
อย่างน้อยก็น่ายินดีที่คนกาญจนบุรีมีทางเลือกในการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ ปลอดสารเคมี แตกต่างจากคนกรุงเทพฯ ที่ทุกวันนี้ผักผลไม้ในซูเปอร์มาร์เก็ต แม้แต่ที่ได้รับตรารับรองจากภาครัฐ ก็ยังมีข่าวว่าพบสารเคมีตกค้าง
แต่สิ่งหนึ่งที่เราได้เห็นอย่างชัดเจน คือ วันนี้เขามีความสุขกับสิ่งที่เขาเป็น และเขาไม่อายใครที่จะบอกตัวเองว่าทำการเกษตรอยู่กับบ้าน
เพราะการเกษตรที่เขาทำนั้น ไม่ใช่เพียงแค่หลังสู้ฟ้า หน้าสู่ดิน
แต่จากความเหนื่อยยากลำบากกายนั้น แฝงไปด้วยคุณค่าและมีความหมายอยู่ในตัว
ขอขอบคุณ : บ้านรักษ์ดิน โดย คุณสิริกร ลิ้มสุวรรณ ต.บ้านแพรก อ.เมืองฯ จ.กาญจนบุรี
โทรศัพท์ 08-5917-7531 เฟซบุ๊ก facebook.com/baanrakdinorganicfarm เว็บไซต์ baanrakdin.com
ที่มา : ASTV ผู้จัดการ วันที่ 30 ก.ค. 2559