ผู้เขียน : เชาวนีฐ์ โคมแก้ว
คุณไพบูลย์ สวัสดิ์จุ้ย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านคลองโยง อยู่บ้านเลขที่ 31 หมู่ที่ 1 ต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เบอร์โทร. 08-7009-2860 เล่าว่า เหตุที่จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านคลองโยงขึ้น เนื่องจากสมาชิกเล็งเห็นถึงความสำคัญของสุขภาพ มีใจรักชื่นชอบสนใจเกี่ยวกับการผลิตพืชผักเกษตรอินทรีย์เหมือนกัน ที่สำคัญคือ มีอุดมการณ์ร่วมกัน นั่นก็คือ “ไม่เอาเงินเป็นที่ตั้ง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
ต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม มีดินน้ำอุดมสมบูรณ์ มีศักยภาพในการผลิตพืชผักหลากหลายชนิด แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงผลิตพืชผักเน้นเพื่อการค้า มีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชในปริมาณสูง ซึ่งส่งผลทำให้สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ พืชผักมีสารพิษตกค้าง และเกษตรกรผู้ผลิตได้รับสารพิษโดยตรงจากการใช้เคมีดังกล่าว สมาชิกอายุก็เริ่มเยอะขึ้นทุกวัน ถึงเวลาแล้วที่จะหันมารักสุขภาพกันมากขึ้น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สุขภาพดี นั่นก็คือ อาหาร หรือสิ่งที่เราบริโภคเข้าไป นอกจากนี้ การที่ผลิตพืชผักอินทรีย์ให้ผู้อื่นได้บริโภคนั้นได้บุญ ประกอบกับพืชผักอินทรีย์กำลังได้รับความนิยม เป็นทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพ และความต้องการของตลาดผู้รักสุขภาพมีมากขึ้น จึงมีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านคลองโยงขึ้นมา
ใครจะเชื่อพื้นที่ห่างจากเมืองหลวงเพียงไม่กี่กิโลเมตร สามารถปลูกพืชผักอินทรีย์ได้ผลผลิตดี มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านคลองโยงมีการปลูกพืชผักกว่า 20 ชนิด ผสมผสานในพื้นที่ประมาณ 7 ไร่ พืชผักที่ปลูก ได้แก่ ตะไคร้ ข่า พริก คะน้า ผักชีฝรั่ง กวางตุ้ง กล้วย โหระพา ถั่วพู ผักบุ้งจีน ผักสลัด ฝรั่ง เป็นต้น ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มกท. Organic Thailand และระบบเกษตรอินทรีย์ IFOAM มีใบรับรองคุณภาพ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านคลองโยง มีการจัดจำหน่ายผลผลิตโดยตรง และมีตลาดรองรับที่แน่นอนไปยังตลาดสำคัญๆ อาทิ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่งพา (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ตลาดสุขใจ (อินทรีย์สุขใจ) โรงแรมโรสการ์เดนท์ อำเภอสามพราน จุดจำหน่ายผักอินทรีย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท ไทวิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ส่งออกไปประเทศไต้หวัน)
คุณสมทรง ม่วงพารา เลขานุการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านคลองโยง อยู่บ้านเลขที่ 44/3 หมู่ที่ 1 ต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เบอร์โทร. 08-6833-9003 เล่าว่า แรกเริ่มก็ทำการเกษตรเพื่อการค้า ก็ทำเหมือนคนอื่นๆ ทั่วๆ ไป ใส่ปุ๋ยเคมีมาก ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง เห็นแมลงเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัด ไม่รู้ว่าแมลงชนิดไหนมีประโยชน์ในการช่วยควบคุมแมลงศัตรูพืช เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นยิ่งสนใจในเรื่องของสุขภาพ จึงเริ่มต้นศึกษาหาความรู้จากแหล่งต่างๆ เริ่มทำการเกษตรปลอดภัย GAP ก่อน จากนั้นได้สนใจทำเกษตรอินทรีย์ ได้เข้าร่วมกับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่งพา (ภาฯ) ยามยาก ตลาดสุขใจ (อินทรีย์สุขใจ) ประกอบกับการส่งเสริมแนะนำของเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอพุทธมณฑล สำนักงานเกษตรจังหวัดนครปฐม จากกรมวิชาการเกษตรได้ศึกษาหาข้อมูล จากมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทำความเข้าใจ มีความตั้งใจจริง อดทน ไม่เอาเงินเป็นที่ตั้ง ที่สำคัญมีความสุขที่ได้ทำ ปลอดภัยทั้งคนทำ คนบริโภค และสิ่งแวดล้อม
คุณสมทรง เล่าต่อว่า การทำแปลงพืชผักเกษตรอินทรีย์ต้องทำอย่างประณีต มีการเก็บตัวอย่างดิน นำไปวิเคราะห์พร้อมกับหาชนิดและปริมาณธาตุอาหารที่อยู่ในดิน มีแหล่งน้ำอิสระ ต้องเก็บตัวอย่างน้ำไปวิเคราะห์เพื่อหาสารปนเปื้อนว่าขัดต่อหลักการผลิตพืชอินทรีย์หรือไม่ มีตากดิน วางรูปแบบแปลง โดยมีการขุดร่องล้อมรอบแปลงเพื่อกักน้ำ หรือป้องกันน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีที่อาจจะไหลบ่ามาท่วมในฤดูฝน มีการปลูกหญ้าแฝกริมร่อง เพื่อให้รากหญ้าแฝกเป็นกำแพงกรองน้ำเสียให้กลายเป็นน้ำดี
ส่วนใบของหญ้าแฝกก็สามารถนำไปคลุมแปลงพืชผัก อีกทั้งสามารถปรับสภาพดินได้ด้วย ในการเตรียมแปลงนั้นจะใช้แรงงานคนขุด วางรูปแบบแปลงไปตามตะวัน เนื่องจากพืชใช้แสงแดดปรุงอาหารและช่วยฆ่าเชื้อโรค ใช้พืชตระกูลถั่วมาหว่านคลุมดิน เพื่อเป็นปุ๋ยพืชสดปรับปรุงบำรุงดิน โดยรอบแปลงจะมีการปลูกพืชสมุนไพรที่ช่วยกันแมลง เช่น พริก ข่า ตะไคร้ กะเพรา โหระพา เป็นต้น แปลงจะมีการยกร่องเพื่อปลูกพืชผัก โดยก่อนปลูกต้องมีการปรับปรุงสภาพดิน โดยใช้ปุ๋ยคอก เช่น ขี้วัว จะต้องเป็นวัวที่กินพืชตามธรรมชาติ มีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองในกลุ่มตามหลักมาตรฐานที่กำหนด
ส่วนเมล็ดพันธุ์ผักที่นำมาปลูกต้องนำไปล้างน้ำที่มีความร้อน ประมาณ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที นำขึ้นมาคลุกกับกากสะเดาก่อนแล้วนำไปหว่านลงแปลง การปลูกพืชผักอินทรีย์ต้องปลูกพืชสมุนไพรก่อนและต่อเนื่อง มีการปลูกพืชหมุนเวียนสลับกันไป ไม่ปลูกพืชผักชนิดเดิมๆ ในแปลงเดิม จะทำให้ได้ผลผลิตที่ดี ก่อนรดน้ำควรขยี้ให้สมุนไพรช้ำจะได้มีกลิ่นไล่แมลง นอกจากนั้น พืชสมุนไพรที่ปลูกยังสามารถนำไปขายเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย เมื่อเก็บเกี่ยวพืชผักแล้ว ต้องรีบทำความสะอาดแปลง เศษพืชที่เป็นโรคให้รีบทำลายนอกพื้นที่ปลูก ส่วนที่ไม่เป็นโรคก็สามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยต่อไปได้ กลุ่มจะใช้ทรัพยากรในแปลงให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Zero waste)
คุณไพบูลย์ เล่าว่า ทุกวันนี้กลุ่มมีความภาคภูมิใจที่ได้ผลิตพืชผักอินทรีย์ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค คนผลิตสุขภาพก็ดีขึ้น ไม่ต้องจ่ายเงินรักษาตัว สิ่งแวดล้อมก็ดี รายได้ก็แน่นอน ราคาดี มีตลาดรองรับ ขอแค่มุ่งมั่น ตั้งใจ อดทน อยู่บนพื้นฐานของมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ อาทิ ที่ดินไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่ำกว่ามาตรฐานกำหนด พื้นที่ปลูกต้องไม่มีสารเคมีสังเคราะห์ตกค้าง ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ในกระบวนการผลิต ไม่ใช้เมล็ดพันธุ์ที่คลุกสารเคมีสังเคราะห์ ไม่ใช้สิ่งที่ได้จากการตัดต่อทางพันธุกรรม ไม่ใช้มูลสัตว์ที่เลี้ยงอย่างผิดมาตรฐาน ปัจจัยการผลิตต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน กระบวนการผลิตต้องปราศจากสิ่งปนเปื้อนสารเคมีสังเคราะห์ ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม และต้องได้รับการรับรองมาตรฐานอย่างเป็นทางการ
ที่มา : เทคโนโยลีชาวบ้าน วันที่ 23 ก.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.