สารเคมีที่ปนเปื้อนในผลผลิตการเกษตร คือมฤตยูเงียบที่สั่งสมในร่างกาย นำไปสู่โรคภัยที่คร่าชีวิตชาวไทยไปมากมาย ซึ่งผลผลิตบางอย่างกระทั่งผู้ปลูกเองก็ยังไม่กล้ากิน
ผลิตภัณฑ์ "ออร์แกนิก" จึงเริ่มเป็นทางเลือกของผู้บริโภคยุคใหม่ เพราะมั่นใจในความปลอดภัยมากกว่า แต่เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่หยิบผลิตภัณฑ์แปะป้ายออร์แกนิกขึ้นมาแล้วต้องเปลี่ยนใจวางคืนที่เดิม พร้อมคำถามในใจว่า "ทำไมถึงแพงขนาดนี้"
"ประชาชาติธุรกิจ" ไขคำตอบจากเกษตรกรตัวจริงในจังหวัดจันทบุรี เพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไปว่า การทำเกษตรแบบออร์แกนิกนั้นปลูกยาก เก็บยาก หายากอย่างไร ผลผลิตที่มาถึงมือผู้บริโภคปลายทางจึงได้ราคาสูงนัก
3 ปีแรกวัดใจไปต่อไหม
"ทรง วุฒิ สมพันธุ์" เจ้าของสวนบ้านกุน-ระกา เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ออร์แกนิกในอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรีกล่าวว่า การปลูกพืชออร์แกนิกมีข้อกำหนดต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นข้อกำหนดเรื่องพื้นที่ วิธีการปลูก การให้สารบำรุง ซึ่งแม้ต้นทุนการผลิตจะลดลงจากการปลูกแบบเคมี แต่ต้นทุน "การจัดการ" กลับเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังจัดการยากขึ้นเพราะต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ปริมาณมากกว่าปุ๋ยเคมีหลายเท่า
รวมทั้งค่าแรงที่สูงกว่า เช่น การจ้างแรงงานตัดหญ้า และเหตุที่ไม่สามารถใช้ยาได้ เมื่อแมลงลงก็ต้องสู้กับใจตัวเองว่าจะฉีดหรือไม่ เพราะออร์แกนิกห้ามใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชอย่างเด็ดขาด
"ทรงวุฒิ" กล่าวว่า ช่วงปรับสภาพดินที่มีสารเคมีสะสมมาเป็นดินที่มีความบริสุทธิ์ ไม่มีสารตกค้าง ต้องใช้เวลานับ 10 ปีจึงจะหมดจดจริง ๆ โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีแรกที่ถือเป็นช่วงวิกฤต เพราะผลผลิตจะลดลงอย่างมาก
เกินครึ่ง รายได้จึงหายไปจำนวนมาก และระหว่างนั้นเกษตรกรก็ต้องศึกษาหาวิธีบำรุงดินด้วยอินทรีย์ควบคู่กันไปด้วย เพราะการปล่อยให้ฟื้นฟูตามธรรมชาตินั้นช้าเกินไป ซึ่งหากมีเงินทุนไม่ถึง ต้นไม้อาจโทรมและตายได้
ในกรณีของทรงวุฒินั้น จากเดิมสวนทุเรียนเคมี 40 ไร่ มีผลผลิตราวปีละ 14 ตัน หลังจากเปลี่ยนมาเป็นออร์แกนิกพื้นที่ 20 ไร่แล้ว ผลผลิตก็ทยอยหายไปกว่า 10 ตัน ต้นไม้ก็ ตายไปไม่น้อย ก่อนจะค่อย ๆ ปรับเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดเป็น 1 ตัน เพิ่มเป็น 1 ตันครึ่ง ปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 5 ผลผลิตก็เริ่มปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2 ตันแล้ว ด้วยขั้นตอนที่ยากเหล่านี้ประเมินว่าในเมืองไทยมีพื้นที่ปลูกพืชออร์แกนิกมีน้อยมากเพียง 0.001% เท่านั้น
คนมองตกไซซ์-ขายรวมเคมี
แม้ราคาผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่สูงก็น่าจะชดเชยกับผลผลิตที่หายไปได้ แต่ "ทรงวุฒิ" บอกว่า เขาต้องนำทุเรียนออร์แกนิกไปขายรวมกับทุเรียนเคมี เพราะระยะแรก ๆ ยังไม่มีตลาดมารองรับ และการไม่ใช้สารเคมีปล่อยให้โตตามธรรมชาติ ทำให้ทุเรียนออร์แกนิกมีขนาดเล็ก ผิวไม่สวย เมื่อขายรวมกับทุเรียนเคมีจึงกลายเป็นของตกไซซ์ ราคาถูก ประกอบกับผลผลิตที่มีจำนวนไม่มาก ทำให้รายได้จากเฉพาะสวนผลไม้ออร์แกนิกในแต่ละปีจึงไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ จึงยังต้องปลูกพืชอื่น ๆ อาทิ ยางพารา อยู่ด้วย
"ต้องใช้ใจล้วน ๆ เพราะหากทำอินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เอาตัวเงินมาตั้งไม่มีทางไปรอด เพราะกว่าจะไปถึงจุดที่ใช้คำว่าออร์แกนิกได้ต้องผ่านการรับรอง ตรวจสอบมากมาย ซึ่งระหว่างนั้นแหละจะสามารถอยู่รอดได้หรือเปล่า ต้องเปลี่ยนก่อนว่า ทำอย่างไรให้ปลอดภัย อยู่ได้ ขายได้ แบบนั้นจึงจะพอไปรอด" ทรงวุฒิกล่าว
ขณะที่ "นงลักษณ์ มณีรัตน์" ประธานกลุ่มท่องเที่ยวรักษ์เขาบายศรี ตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรีกล่าวว่า การปลูกผลไม้ออร์แกนิกเป็นเรื่องที่ทำได้ลำบากมากสำหรับเกษตรกร เพราะพืชบางประเภทอย่างเช่น ทุเรียน เป็นพืชที่อ่อนไหวต่อโรคและแมลง เช่น เพลี้ยแป้ง ซึ่งต้องใช้สารเคมีในการกำจัด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตนก็ได้ลดการใช้สารเคมีลงครึ่งหนึ่ง และใช้อย่างระมัดระวังมากขึ้น หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์อย่างเช่น ปุ๋ยคอก อีกครึ่งหนึ่ง
รุกเปิดตลาดคนกรุง
ขณะที่ "จักรกฤษณ์ พูลสวัสดิ์กิติกูล" หัวหน้าโครงการเชื่อมโยงผลผลิตอินทรีย์และอาหารสุขภาพ บริษัท สวนเงินมีมา จำกัด กล่าวว่า ช่วงวิกฤต 3 ปีแรกของการปรับเป็นออร์แกนิก หากเป็นเกษตรที่มีหนี้สินมักไปไม่รอด จึงอยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุน เช่น การให้กู้เงินลงทุนดอกเบี้ยต่ำ และมีนโยบายในการสร้างตลาดอินทรีย์ที่เป็นกลุ่มเป็นก้อน เช่น
มีนโยบายรับซื้อสินค้าออร์แกนิกในหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ หรือส่งเสริมให้เกษตรกรอินทรีย์เกิดการรวมกลุ่มกัน รวมทั้งการสนับสนุนการรับรองอย่างมีส่วนร่วม หรือ PGS (Participatory Guarantee Systems) อย่างจริงจัง
"เคย ขายมังคุดออร์แกนิก กก.ละ 150 บาท คนมาถามก็หันหลังเลย แต่ออร์แกนิกกินได้ทุกลูก เพราะเกษตรกรใส่ใจมาก ลูกที่ตกพื้นสวยขนาดไหนก็ไม่เก็บ เพราะแรงกระแทกจะทำให้ผลเสีย นอกจากนี้ การจะเป็นออร์แกนิกได้นั้นต้องเป็นธรรมชาติล้วน ๆ ไม่ใช่แค่ปลอดภัยที่หมายถึงยังใช้สารเคมีแต่อยู่ในระยะที่ปลอดภัย แม้แต่การปลูกแบบไฮโดรโพนิกส์ก็ยังมีสารเคมีที่วิ่งผ่านน้ำ ผลผลิตที่ได้ก็แตกต่างกัน อย่างทุเรียนออร์แกนิกกลิ่นไม่แรง กินแล้วร้อนในน้อยกว่า ไม่มีสารตกค้าง รสชาติดีกว่า ต้องกินทีละพูเพราะสุกไม่พร้อมกัน เนื่องจากไม่ป้ายเคมี และจะตัดที่ความแก่ 90% ซึ่งเป็นเวลาที่หวานเต็มที่ จากทุเรียนเคมีทั่วไปตัดที่ 70%" จักรกฤษณ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มมีผู้บริโภคบางกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับที่มาของผลผลิตมากกว่ารูปลักษณ์ภายนอก ทางบริษัทที่ได้งบฯสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเข้ามาช่วยทำช่องทางการตลาดให้ โดยรับซื้อสินค้าออร์แกนิกไปจำหน่ายในตลาดถนอมมิตรกรุงเทพมหานคร ที่เปิดพื้นที่ให้ฟรี เริ่มดำเนินการมาประมาณ 6 เดือน และได้รับผลตอบรับที่ดี แต่ผลผลิตยังมีน้อยและไม่ต่อเนื่อง จึงต้องพยายามขยายเครือข่ายเพิ่มเพื่อให้มีสินค้าทั้งปี ส่วนการจำหน่ายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดนั้นทำได้ลำบาก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง และผลผลิตไม่ต่อเนื่อง
เห็นความทุ่มเทของเกษตรกรเช่นนี้ น่าจะช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ว่า ราคาผักผลไม้ออร์แกนิกคุ้มค่ากับเม็ดเงินและสุขภาพที่จะต้องจ่ายไปหรือไม่
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 18 ก.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.