ปัจจุบันเทรนด์การดูแลสุขภาพของคนทั่วโลกยังคงมาแรง ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องของการเล่นกีฬา และออกกำลังกายนานาชนิดแล้ว ยังรวมไปถึงการบริโภคอาหารที่ดี มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งจะเป็นการดูแลสุขภาพจากภายในสู่ภายนอก อย่างที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยครั้งกับประโยคที่ว่า “กินอาหารให้เป็นยา”
นั่นจึงเป็นเหตุผลทำให้ตลาดอินทรีย์เติบโตเร็วที่สุดในภาคอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลก โดยจากข้อมูลล่าสุดพบว่าสินค้าอินทรีย์ในตลาดโลกมีมูลค่ารวมสูงถึง 2.3 ล้านล้านบาท และประเทศที่มีส่วนแบ่งการ ตลาดมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา สัดส่วน 45% รองมาคือสหภาพยุโรป 36% จีน 6% แคนาดา 4% สวิตเซอร์แลนด์ 3% ญี่ปุ่น 2% และตลาดอื่นๆ อีก 4% ในด้านการผลิต ปัจจุบันมีจำนวนเกษตรกรกว่า 2 ล้านครอบครัวทั่วโลก ที่ผลิตระบบ เกษตรอินทรีย์ มีพื้นที่รวมกันกว่า 273.125 ล้านไร่ ประเทศผู้ผลิตอินทรีย์มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ อินเดีย 650,000 ฟาร์ม ยูกันดา 190,552 ฟาร์ม และเม็กซิโก 169,703 ฟาร์ม
ขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่ เกษตรอินทรีย์ รวม 235,000 ไร่ จำนวนประชากรที่ทำ เกษตรอินทรีย์ 9,961 ฟาร์ม มีการขยายพื้นที่โดยรวมประมาณ 3.8% ผลผลิตหลักคือ ชา กาแฟ ขยายตัวสูงสุด 10.2% รองมาเป็นผัก ผลไม้ 6.9% และพื้นที่ปลูกข้าว 0.6% ส่วนตลาดส่งออก เกษตรอินทรีย์ ที่สำคัญของไทยคือ สหภาพยุโรป สหรัฐ และสิงคโปร์
“สินค้าอินทรีย์ของไทยยังมีข้อจำกัด คือ ยังไม่สามารถผลิตในลักษณะเกษตรกรรมขนาดใหญ่ได้ จึงมีราคาสูง ส่วนการส่งออกมีอุปสรรคสำคัญ โดยเฉพาะปัญหาการรับรองมาตรฐานการผลิตตามหลัก เกษตรอินทรีย์ ของภาครัฐที่น่าเชื่อถือในระดับสากล ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กมีโอกาสน้อยที่จะเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ แต่เชื่อว่า หากร่วมกันแก้ปัญหาไปได้ก็จะเป็นโอกาสของไทยในการขยายตลาด สอดรับกับนโยบายครัวของโลก” นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
สินค้าอินทรีย์ที่ไทยส่งออกมาก ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ รองมาคือ กลุ่มผัก ผลไม้ ชา และที่เหลือเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร และอื่นๆ ส่วนสินค้าที่มีโอกาสขยายตลาดส่งออกได้มากคือ ข้าวอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ข้าว โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ที่ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อส่งออกสูงถึง 96% และเป็นสินค้าที่ตลาดยุโรปต้องการอย่างมาก
สำหรับตลาดอินทรีย์ในประเทศยั
งจำกัดอยู่ในกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ และมีรายได้สูง แหล่งจำหน่ายส่วนมากอยู่ในห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าเฉพาะทางที่มีอยู่มากในเขตกรุงเทพฯ ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จึงมีนโยบายขยายตลาดไปยังผู้ซื้อระดับกลาง หรือผู้ซื้อในท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น โดยการสนับสนุนให้จัดตลาดนัดสีเขียวในส่วนภูมิภาค และงานแสดงสินค้าในภูมิภาค เพื่อกระตุ้นให้เกิดกระแสการบริโภคสินค้าอินทรีย์ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาตลาดสินค้าอินทรีย์ วางแนวทางการขับเคลื่อนระยะ 5 ปี ระหว่างปี 2559-2564 รวม 4 ยุทธศาสตร์หลัก ประกอบด้วย 1.สร้างการตระหนักรับรู้คุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับจากการทำอินทรีย์ให้แก่เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และส่งเสริมเกษตรกรให้ตระหนักถึงความสำคัญของการปรับการผลิต สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค พร้อมทั้งปลูกฝังสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับ เกษตรอินทรีย์ ให้แก่เด็กและเยาวชน เพื่อให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับ เกษตรอินทรีย์ อย่างถูกต้อง
2.ผลักดันการผลิตตามมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรอง เกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เกษตรอินทรีย์ และช่องทางการเข้าสู่ตลาด ยกระดับสินค้า เกษตรอินทรีย์ ของไทยให้ได้รับรองมาตรฐานสากล โดยผลักดันผ่านกลุ่มที่ได้ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานสากล และกลุ่มที่ได้ผ่านการตรวจรับรองระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS และที่ได้รับเครื่องหมาย Organic Thailand
3.เพิ่มช่องทางการจำหน่ายและขยายสินค้า เกษตรอินทรีย์ ในประเทศ ผลักดันการส่งออก ขยายตลาดสินค้า เกษตรอินทรีย์ ในต่างประเทศ และยกระดับการจัดงานแสดงสินค้าอินทรีย์ของไทยสู่ระดับสากล
4.พัฒนาและสร้างมูลค่าให้สินค้าอินทรีย์ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ศึกษาการเพิ่มมูลค่าสินค้าอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่ และอำนวยความสะดวกและพัฒนาโครงการพื้นฐานที่เอื้อต่อการสร้างมูลค่าสินค้าอินทรีย์
“การจัดทำยุทธศาสตร์ดังกล่าวกระทรวงได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำด้านการผลิต การค้า และการบริโภคสินค้าอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน และหากไทยสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตสินค้าอินทรีย์ก็จะสามารถเพิ่มยอดการส่งออก เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาด ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลได้เพิ่มขึ้น” นางอภิรดีกล่าวและว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวกระทรวงยังได้จัดให้มีงานออร์แกนิก แอนด์ เนเชอรัล เอ็กซ์โป 2016 ระหว่างวันที่ 28-31 กรกฎาคมนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในธีม “สังคมอินทรีย์ ชีวิตดี อย่างยั่งยืน”
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 20 ก.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.