เกษตรกรที่เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ มาวันนี้ดูเหมือนว่ากระดูกเริ่มผุพังไม่มั่นคง คนรุ่นใหม่อาชีพเกษตรกรรมกลายเป็นอาชีพที่ลำบากยากจน เป็นหนี้สิน ไร้ศักดิ์ศรีไม่มีความสุข มีแต่ปัญหา เยาวชนคนหนุ่มสาวยอมทิ่งไร่ทิ้งนาเข้าสู่ป่าคอนกรีต อาชีพเกษตรกรรมจึงไร้ผู้สืบทอด ท้องไร่ท้องนาถูกทิ้งร้างว่างเปล่าไร้คนดูแล โครงการทายาทเกษตรกรมืออาชีพ ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมกับมูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค (มจส.) ร่วมกันจัดขึ้นโดยมอบหมายให้สถาบันเพื่อพัฒนาการเกษตรและชนบท จำเนียร สาระนาค (สจส.) เป็นผู้ดำเนินการ จึงเป็นอีกทางเลือกของคนรุ่นใหม่ที่เข้าสมัครอาชีพภาคการเกษตรอย่างมืออาชีพ
กัณภคณัฐ แท่งทองหลาง วัย 30 เศษ แห่งบ้านขามทุ่ง ต.หนองหลวง อ.จักราช จ.นครราชสีมา ดีกรีปริญญาโทด้านการจัดการจากรั้วพ่อขุน หนึ่งในเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ อันเป็นอานิสงส์มาจากโครงการทายาทเกษตรกรมืออาชีพ ปัจจุบันนอกจากเป็นกำลังหลักของครอบครัวในการต่อยอดวิถีชาวนาจากรุ่นพ่อแม่ แต่ยังเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนวิถีชาวนายุคใหม่ เน้นการใช้เทคโนโลยีและปลอดสารเคมีให้แก่คนในชุมชน พร้อมนำผลผลิตข้าวที่ได้มาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสัญลักษณ์ “ข้าวขวัญจักราช”
แม้วันนี้กัณภคณัฐจะเข้าสู่วิถีเกษตรอย่างเต็มตัว หากแต่เมื่อย้อนไปในวัยเด็กเธอกลับไม่สนใจไยดีอาชีพนี้มากนัก เนื่องจากกัณภคณัฐเกิดและเติบโตในครอบครัวข้าราชการครู คิดและฝันอยากรับราชการหรือไม่ก็ทำงานออฟฟิศที่มีรายได้เลี้ยงตัวเอง ไม่เคยคิดเข้าสู่วิถีเกษตรที่มีแต่ความยากลำบาก ถึงแม้การทำนาเป็นอาชีพหลักของครอบครัวที่สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
“หนูมีพี่น้องทั้งหมด 3 คน หนูเป็นคนโต ผู้หญิงหมด พ่อเป็นครู ครอบครัวหนูและญาติๆ มีแต่รับราชการในกลุ่มข้าราชกา รครู ส่วนแม่อยู่บ้านทำนา ตอนเด็กๆ จะอยู่กับพ่อเป็นส่วนใหญ่ ตามพ่อไปโรงเรียน เป็นคนชอบอ่านหนังสือ สมัยประถม มัธยมสอบได้ที่ 1 มาตลอด ไม่ได้ถูกบังคับว่าต้องเรียนอะไร แต่เรารู้ของเราเองว่าเรื่องเรียนสำคัญ”
กัณภคณัฐ ย้อนอดีตในวัยเยาว์ก่อนเข้ามาต่อสู้ชีวิตในเมืองหลวงไม่ต่างจากเด็กบ้านนอกทั่วไปที่มุ่งมั่นตั้งใจอยากมีชีวิตที่สะดวกสบาย หลังจบ ม.ปลาย (สอบเทียบ) ก็เข้าสู่รั้วพ่อขุนทันที โดยมุ่งเป้าไปที่คณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด พร้อมๆ กับทำงานเป็นพนักงานแนะนำสินค้าเพื่อหารายได้ระหว่างเรียน โดยไม่รบกวนเงินจากทางบ้านและช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ในการส่งเสียน้องอีก 2 คน เธอใช้เวลาเรียน 4 ปีครึ่งเพราะทำงานไปด้วย ในที่สุดก็สำเร็จการศึกษาสมความตั้งใจ จากนั้นก็เข้าทำงานบริษัทจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสารยักษ์ใหญ่ในสมัยนั้น (ฮัทชินสัน) เริ่มจากพนักงานขาย มีความเติบโตก้าวหน้าจนก้าวมาสู่ตำแหน่งรองผู้จัดการสาขาดูแลลูกค้าในพื้นที่ภาคกลางทั้งหมด
“ทำฮัทชินสันอยู่ 5 ปีก็ลาออก ที่ออกเพราะต้องไปประจำที่ต่างจังหวัด ไม่อยากไป อยากทำอยู่ในกรุงเทพฯ จากนั้นก็มาอยู่ที่ยูนิลีเวอร์ ดูแลการตลาดเหมือนเดิม ระหว่างนี้ก็ลงเรียนโทที่ ม.ราม ไปด้วย สาขาการจัดการ ตอนนั้นคิดว่าสายงานเราถ้าเราจะเติบโตในสายงานที่รับผิดชอบนี้เราต้องมีอะไรที่ต่างจากเพื่อนก็เลยตัดสินใจเรียนต่อโท ตอนนั้นยังไม่มีเคยคิดเรื่องเกษตรเลย ยังสนุกอยู่กับงานที่ยูนิลีเวอร์”
กว่า 8 ปีในการทำงานกับยูนิลีเวอร์ทำให้เธอได้เรียนรู้งานสายการตลาดแบบครบวงจร ก่อนมาถึงจุดเปลี่ยนในชีวิตอีกครั้งหลังเจอช่างภาพหนุ่ม อดีตพนักงานยูนิลีเวอร์ที่ลาออกไปก่อนหน้าและเข้ามาลาเจ้านายเก่าและอดีตเพื่อนร่วมงานก่อนเข้ามาทักทายเธอจนเกิดความประทับใจและคบหาดูใจกันจากนั้นเป็นต้นมา พร้อมทั้งเป็นคู่คิดถึงชีวิตในอนาคตที่บทสุดท้ายหนีไม่พ้นกับการเป็นคนเกษตร ในฐานะลูกหลานเกษตรกร กัณฑ์นณัฎฐ์ ศรีอำไพ แฟนหนุ่มในขณะนั้นคือคนสำคัญที่มีอิทธิพลต่อเธอก้าวมาสู่วิถีเกษตรในเวลาต่อมา
“หนูไม่มีความรู้เรื่องเกษตรหรอก เขานั่นแหละเป็นคนช่วยกระตุ้นความคิดนี้ มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาชวนมาถ่ายงานรวมปราชญ์ 4 ภาคที่วัดชัยมงคลพัฒนา อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี ซึ่งเขารับงานมา เขาถ่ายงานไปเราก็นั่งฟังปราชญ์แต่ละคนพูดถึงแนวพระราชดำริของ พระราชากับอาชีพเกษตร ได้ฟังข้อคิดจาก อ.ยักษ์ (วิวัฒน์ ศัยกำธร) อ.เดชา (เดชา ศิริภัทร) และอีกหลายท่าน ทำให้มานั่งคิดว่าวาระสุดท้ายก็ต้องกลับ ไปอยู่บ้านเราที่จักราช ครอบครัวมีที่นาพร้อม พ่อแม่ก็เริ่มจะทำไม่ไหว น้องสาวสองคนก็รับราชการ แต่งงานมีครอบครัวไปแล้วคงยากที่จะกลับมา ก็มีเราเพียงคนเดียวที่จะกลับมาอยู่บ้านเพื่อสานต่ออาชีพนี้”
หลังคิดใคร่ครวญดีแล้วในที่สุดเธอและแฟนหนุ่มก็ตัดสินใจไปอบรมวิธีการทำนาที่โรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญของ อ.เดชา ศิริภัทร ที่ จ.สุพรรณบุรี ก่อนนำองค์ความรู้ที่ได้มาทดลองปฏิบัติจริงในแปลงนาของครอบครัวที่บ้านเกิด ขณะเดียวกันก็ยังคงทำงานอยู่ที่บริษัยูนิลีเวอร์ โดยมีแฟนหนุ่มและผู้เป็นบิดาคอยดูแลจัดการให้ตามองค์ความรู้ที่ได้รับจากการอบรม จากนั้นก็ลาออกจากยูนิลีเวอร์เพื่อมาสวมหมวกชาวนาอย่างเต็มตัว กระทั่งสมัครและได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการทายาทเกษตรกรมืออาชีพรุ่น 2 ใช้เวลาในการฝึกอบรมอยู่ 9 เดือน ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการทำเกษตรแบบครบวงจรทั้งภาคทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติจริง โดยเริ่มจากการวางแผนชีวิต การทำแผนธุรกิจ แผนการตลาด การแปรรูป แผนการลงทุนการเงิน ตลอดจนแผนการสร้างเครือข่ายและการร่วมลงมือปฏิบัติจริงกับผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ โดยใช้เวลาประมาณ 6 เดือนเต็ม
“มันก็ย้ำเรื่องความคิดว่าเรามาถูกทางแล้วนะ ทางโครงการเขาให้อิสระเราว่าเราอยากเรียนรู้เรื่องอะไร อยากจะไปเรียนรู้แบบกลุ่มหรือปราชญ์คนเดียวกับอาจารย์ท่านใด เขาก็จัดการให้แนะนำว่าใครทำอะไรที่ไหน ส่วนเราก็หาข้อมูลเบื้องต้นว่าสน ใจใครเป็นพิเศษ ตอนนั้นหนูไปหาอาจารย์ชาตรี (ต่วนศรีแก้ว) ที่บางเลน นครปฐม ไปเรียนรู้การทำเกษตรผสมผสาน ไปหาอาจารย์รวม (ศรีสุวรรณ) ที่ราชบุรี ไปไร่สุขพ่วง รายนี้เขาเก่งเรื่องการตลาดและแพ็กเกจจิ้ง ไปเรียนรู้กับเขามาหมด” กัณภคณัฐเผย
จากนั้นนำองค์ความรู้มา ทดลองทำที่บ้าน เริ่มต้นจากเนื้อที่ 4 ไร่ ปีต่อมาเพิ่มเป็น 6 ไร่และ 9 ไร่ตามลำดับ ปัจจุบันมีเนื้อที่ทำนาทั้งสิ้น 16 ไร่ โดยเป็นของครอบครัว 9 ไร่และเช่าพื้นที่ของญาติเพิ่มอีก 7 ไร่สำหรับการปลูกข้าวอินทรีย์ โดยมีทั้งข้าวพื้นเมืองและข้าวลูกผสม ประกอบด้วยข้าวหอมเวสสันตะระ เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างหอมมะลิกับข้าวพื้นเมือง เหลืองประทิว ไรซ์เบอร์รี่และหอมมะลิ 105 ช่วงว่างเว้นจากการทำนา (นาปี) ก็ปลูกพืชผักสมุนไพรเพื่อจะมีรายได้ตลอดทั้งปี โดยผลผลิตทั้งหมดที่ได้จะนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสัญลักษณ์ทางการค้า “ข้าวขวัญจักราช”
กัณภคณัฐ แท่งทองหลาง นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จของเกษตรกรรุ่นใหม่อันเป็นอานิสงส์มาจากโครงการทายาทเกษตรกรมืออาชีพที่ก้าวมาสู่วิถีชาวนาอย่างเต็มตัวในวันนี้
เส้นทางสู่ “ทายาทเกษตรกร”
เอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานมูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค (มจส.) และผู้อำนวยการสถาบันเพื่อพั
ฒนาการเกษตรและชนบทจำเนียร สาระนาค (สจส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นหนึ่งผู้ที่มุ่งมั่นผลักดันในเรื่องการสร้างคนรุ่นใหม่สู่ภาคเกษตรกรรมผ่านโครงการทายาทเกษตรกร ระบุว่าประเทศไทยกำลังเดินมาสู่จุดวิกฤติเช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นที่ขาดคนรุ่นใหม่เข้าไปรับช่วง ต่ออาชีพการเกษตรจากพ่อแม่ ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด (2558) พบว่าเกษตรกรญี่ปุ่นกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ มีอายุ 80 ปีขึ้นไป อีก 38% อายุระหว่าง 40-80 ปี เหลือเพียงแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ซึ่งขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นกังวลเรื่องนี้อย่างมากและออกมาตรการการสนับสนุนคนหนุ่มสาวเข้ามาทำการเกษตร โดยจัดงบอุดหนุนให้ฟรีคนละ 5 ล้านเยนในช่วงระยะเวลา 5 ปี ปีละ 1 ล้านเยน ส่วนกรณีรวมกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรัฐจ่ายงบสนับสนุนทันทีปีละ 5 ล้านเยน ยังไม่นับเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ ที่จะเข้าไปอุดหนุนอย่างเต็มพิกัด
“โครงการทายาทเกษตรมืออาชีพก็เป็นอีกแนวทางที่ ธ.ก.ส.จะสร้างคนให้แก่แผ่นดิน คล้ายๆ กับญี่ปุ่น แม้คนรุ่นใหม่จะมีน้ำอดน้ำทนน้อยกว่าเกษตรกรรุ่นเก่าๆ แต่ข้อดีของคนรุ่นใหม่สามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้เร็วกว่า มีข้อมมูลวิจัยดีมาเป็นตัวช่วย ที่สำคัญสามารถนำสินค้าที่ตัวเองผลิตได้ไปวางขายในตลาดโลกผ่านตลาดอีคอมเมิร์ซได้ทันที นี่คือศักยภาพของคนรุ่นใหม่และขณะนี้ ธ.ก.ส.กำลังเปิดรับสมัครคนหนุ่มสาวเข้าร่วมโครงการ ผู้สนใจสามารถติดต่อกับสำนักงานสาขา ธ.ก.ส.ทั่วประเทศครับ” ประธาน มจส.กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 9 ก.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.