ยุทธศาสตร์ “ประเทศไทย 4.0” เน้นปฏิวัติอุตสาหกรรมสู่ยุค 4.0 และเศรษฐกิจ “ดิจิทัล อีโคโนมี” เกษตรกรรมก็มุ่งไปในทิศสร้างฟาร์มรวมพื้นที่ขนาดใหญ่ ใช้เทคโนโลยีสูง น่าห่วงว่า ยุทธศาสตร์นี้จัดวาง “เกษตรกรรายย่อย” ไว้ในตำแหน่งใด ? เมื่อรวมพื้นที่การผลิตแล้ว เกษตรกรรายย่อยจะเป็นสมาชิกในสหกรณ์การผลิตนั้นๆ หรือว่าเป็นแรงงานรับจ้างขององค์กรที่มาควบคุมการผลินในพื้นที่ฟาร์มใหญ่นั้นๆ คิดวางแผนกันให้รอบคอบ เพราะพลเมืองไทยส่วนใหญ่ เป็น “เกษตรกรรายย่อย”
ปัญหาของเกษตรรายย่อยเป็นปัญหาใหญ่ของชาติ นอกจากจะเป็นปัญหาของพลเมืองไทยที่เป็นเกษตรกรแล้ว ยังจะเป็นปัญหาของชาติเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร ปัญหาความมั่นคงด้านอาหารนี้ กำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ของโลก ประเทศไทยโชคดีที่มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีรากฐานทางการเกษตรที่เข้มแข็ง ถ้าพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว ประเทศไทยจะเป็นแหล่งอาหารแหล่งสำคัญของโลก อันจะทำให้เกษตรกรไทยมีฐานะมั่นคงได้
แต่ถ้ารัฐไม่มีมาตรการที่ดีแล้ว ประเทศไทยก็อาจกลายเป็นประเทศที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ จนเกษตรกรไทยอดอาหารเสียเองก็เป็นไปได้ การดูแลทรัพยากรทุกส่วน นับตั้งแต่สภาพแวดล้อม ดิน น้ำ ภูมิอากาศ พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ทรัพยากรบุคคล ฯลฯ ยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือ เกษตรกรต้องพึ่งตนเองได้จากอาหารในท้องถิ่นตัวเอง ลดการใช้สารเคมีไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ฯ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอาหารและเกษตร และที่สำคัญต้องเร่งสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ เพราะขณะนี้เยาวชนละทิ้งอาชีพเกษตรกรกันมาก อ่ยุเฉลี่ยของคนทำอาชีพเกษตรกรรมสูงขึ้น ๆ นั่นสะท้อนว่าลูกหลานของเกษตรกรทิ้งอาชีพเกษตรไปทำงานในเมืองกันมากนั่นเอง
สำหรับภาครัฐนั้น ต้องปรับปรุงการทำงานมาก จะต้องปรับวิสัยทัศน์ของข้าราชการ ต้องบูรณาการงานบริหารจัดการทุกด้าน เพื่อแก้ไขปัญหาแต่ต้นมือ ปัญหาที่สำคัญขณะนี้คือ ประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรของไทยต่ำเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ การลงทุนด้านวิจัยมีน้อยเมื่อเทียบกับความเรียกร้องต้องการการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
รัฐจะต้องช่วยเหลือด้านการพัฒนา การผลิตในภาคส่วนการแปรรูปสินค้าเกษตร เพิ่มมูลค่า การคมนาคมขนส่ง การกระจายสินค้า อันจะส่งผลดีต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมถึงการส่งออกไปต่างประเทศ และงานที่จำเป็นต้องพึ่งภาครัฐมากคือการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเกษตร ซึ่งลายสิบปีมานี้รัฐทำไม่ต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเรื่องการชลประทาน ประเทศไทยเริ่มทำชลประมานตามระบบสมัยใหม่มาตั้งร้อยปี แต่พื้นที่ชลประทานยังน้อยมาก ปัญหาที่รัฐควรปรับปรุงยังมีอีกมาก ข้อเสนอแนะของนักวิชาการเขานำเสนอไว้ไม่น้อยแล้ว แต่ปัญหาคือฝ่ายการเมืองมักจะไม่ดำเนินการถูกต้องตาม “ข้อมูลความรู้” ที่นักวิชาการศึกษาวิจัยมา
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 12 ก.ค. 2559