ละม้าย เสนขวัญแก้ว บอกว่า นับตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรที่มีหนี้สินอยู่ประมาณ 500,000 ราย มูลหนี้ประมาณ 84,000 ล้านบาท
เกษตรกรในที่นี้หมายถึง เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ซึ่งเขาในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารและจัดการหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูฯ ต้องหาวิธีแก้ไขให้ได้มากที่สุด
ละม้าย เสนขวัญแก้ว อดีตสมาชิกสภาจังหวัด อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช และรองนายกองค์กรบริหารส่วนจังหวัดฯ เมื่อหมดวาระเขากลับไปทำนาบนที่ดินของตัวเองหลายสิบไร่ และปลูกเฉพาะข้าวพันธุ์ไข่มดริ้นเท่านั้น
ปี2558 เขาเสนอตัวลงสมัครเป็นผู้แทน เกษตรกรโซน 4 ภาคใต้ 14 จังหวัด และได้รับเลือกเป็น 1 ใน 20ทั่วประเทศ (ภาคใต้ 4 คน ภาคกลาง 4 คน ภาคเหนือ 5 และอีสาน 7 คน) เข้าเป็นคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
กองทุนฟื้นฟูฯ ก่อตั้งเมื่อปี 2542 ตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ปี 2542 ซึ่งเป็นนิติบุคคล กำหนดให้มีบอร์ดบริหาร 41คน มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง แต่นายกฯ จะมอบอำนาจให้รองนายกฯ เป็นประธาน ปัจจุบัน มี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธานกรรมการ
นอกจากผู้แทนเกษตรกรภาคต่างๆ คณะรัฐมนตรียังแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 11คน ซึ่งมาจากภาคราชการ 5 คน กับบุคคลภายนอกอีก 6 คน
ผู้แทนเกษตรกร 20 คน มีวาระทำงาน 2 ปี และทุกคนมี 2 สถานะ คือเป็นผู้แทนประจำภาคต่างๆ กับกรรมการบริหารหรือบอร์ดปัจจุบันละม้ายดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารและจัดการหนี้สินของเกษตรกร
“คณะกรรมการชุดนี้มี 21 คน มีปลัดกระทรวงเกษตรฯ กับปลัดสำนักนายกฯ อยู่ 2 กระทรวง ผู้แทนเกษตร 9 คน ผู้แทนสำนักงบฯ ผู้แทนกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. จาก 21 คน เขาจะเลือกคนเป็นประธาน ซึ่งได้ผมเป็นประธานจัดการหนี้ หน้าที่ก็คือ ไปวางกฎเกณฑ์ไปดูแลเรื่องภาระหนี้สินของเกษตรกร”
กองทุนฯ ประสบปัญหาการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรให้มีอาชีพ เพราะว่าเขามีภาระหนี้สินรัฐบาลจึงแก้ไขเพิ่มเติมเป็นพระราชบัญญัติปี 2544 ให้ไปดูแลจัดการหนี้เกษตรกรด้วย
หนี้มีหลายระดับ ได้แก่ หนี้ล้มละลาย, เคยถูกบังคับยึดทรัพย์ดำเนินคดี, หนี้ผิดนัดชำระและหนี้ปกติ เป็นต้น “คณะกรรมการจัดการหนี้ต้องแก้ปัญหาให้เกษตรกรก่อนเข้าสู่ขบวนการของการฟื้นฟูอาชีพใหม่ ไปวางกฎเกณฑ์ วางกรอบ วิธีการโดยสำนักงานสาขา ร่วมกับอนุกรรมการจังหวัด ซึ่งสาขาแต่ละจังหวัดรวบรวมรายชื่อหนี้ที่ขึ้นทะเบียน แล้วใครขอให้เราจัดการหนี้ ถ้าอยู่ในเกณฑ์จัดการ หนี้ถูกยึด หนี้ถูกฟ้อง หนี้ถูกบังคับคดี ถูกดำเนินคดีจะต้องเกิดขึ้นจาก ‘เงื่อนไขของการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเท่านั้น’ กรรมการจัดการหนี้จะเสนอบอร์ดใหญ่ขอความเห็นชอบ หลังจากนั้นเราจะเข้าไปดูแลจัดการหนี้ให้”
ขณะนี้คณะกรรมการชุดของละม้ายได้แก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรโดยใช้เงินของกองทุนฟื้นฟูฯ ทั่วทั้งประเทศราวๆ 5,000 กว่าล้าน เกษตรกรประมาณ 28,000 ราย
“เราดูแลรักษาที่ดินทำกินของพี่น้องเกษตรกรกว่า 100,000 ไร่ ไม่ให้ถูกยึด ถูกบังคับคดี ไม่ให้ขายทอดตลาด”
ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติคณะกรรมการชุดนี้ปฏิบัติเหมือนกันทั่วประเทศ “เราเอาหนี้ NPL ที่เขาบังคับหรือขายทอดตลาด กับหนี้ NPA ที่ถูกขายไปแล้วและเขายินดีที่จะขายคืนแก่เกษตรกรประมาณ 1,000 ล้าน โดยเราจะเอาหนี้เหล่านี้มาไว้ที่สำนักงานกองทุนฯ ให้หมด ส่วนหนี้ที่เหลือเราจะไปแบ่งกลุ่ม แล้ววิเคราะห์มูลเหตุที่มาที่ไปของหนี้ เราอาจไปร่วมมือกับพี่น้องเกษตรกรพัฒนาอาชีพเพื่อหาเงินมาใช้หนี้คืน ซึ่งน่าจะเป็นเป้าหมายสูงสุดของกองทุนฯ ในการพัฒนาอาชีพของเกษตรกรให้ดูแลหนี้ได้ เพราะว่าจริงๆ หนี้สุดท้ายเกษตรกรต้องมาไถ่คืน ทีนี้ถ้าเรายังไม่ได้ดูแลฟื้นฟูอาชีพ การเอาหนี้มาไว้ที่กองทุนฯ ก็ไม่มีความหมาย เราจึงเสนอสโลแกน ‘การฟื้นฟูเกษตรกรเท่ากับการฟื้นประเทศ’ เป้าหมายเราชัดเจน การฟื้นฟูอาชีพเป็นเป้าหมายหลัก การดูแลหนี้เป็นเป้าหมายรอง เราคงไม่ไปจัดการให้เขาทั้งหมด แต่เราไปจัดการฟื้นและพัฒนา ค่อยๆ ปรับกันไป”
การที่เกษตรกรจะฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ ละม้าย บอกว่าเกษตรกรต้องปรับตัวเข้าสู่กระบวนการผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้นเพื่อให้แข่งขันกับผลผลิตที่มาจากต่างประเทศได้ เขาว่าถ้าภาคเกษตรกรรมของเราไม่ปรับตัวในอนาคตก็จะล้มหายไป
ผมถามว่า การปรับตัวจะเริ่มจากอะไร เขาตอบทันทีว่า...”การปรับความคิดในการทำเกษตรรอบใหม่ที่ไม่ผูกมันตัวเองไว้กับวิธีแบบ เก่า ผมทำนาข้าวอย่างมีเป้าหมาย ทำอย่างมีคุณภาพและมีตลาด ขายได้ราคาดี ผมทำนาปลูกข้าวเองกินเอง เวลาขายผมไม่ขายข้าวเปลือก ผมจะขายข้าวสาร ผมทำ 50 กว่าไร่ ใช้ข้าวพื้นเมืองพันธุ์ไข่มดริ้น ข้าวของเมืองนครมาแต่โบราณ”
นาข้าวของเขาเป็นนาอินทรีย์ ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ฉีดยาปราบศัตรูพืช แต่เน้นความสำคัญเชิงภูมิศาสตร์ธรรมชาติ
“สิ่งที่มันเกิดขึ้นในเชิงภูมิสาสตร์ พอเหมาะสม การเรียนรู้ในเชิงภูมิศาสตร์ ดินฟ้าอากาศ ดินน้ำลมไฟ ทั้งหมดมันต้องสอดคล้องกับถิ่นของตัวเอง”
เขาว่าก่อนนี้ภาคเกษตรเดินผิดทิศทาง โดยเฉพาะการส่งเสริมจากเบื้องบนให้ผลิตเชิงพาณิชย์ ที่ใช้ต้นทุนสูงปลูกพืชที่ไม่ได้เกิดในถิ่น
“ผมปลูก 1 ไร่ ใช้พันธุ์ 8 กิโล บางคนใช้ 20-25 กิโล หว่านได้ 1 เดือนแล้วใส่ปุ๋ย ฉีดยา ของผมข้าวไข่มดริ้นมันเกิดในสภาพภูมิอากาศอย่างนี้ พื้นที่อย่างนี้ ปุ๋ยไม่ต้องใส่ ต้นทุนคือธรรมชาติที่สอดคล้องกับพืช ผลนี้ ---วิธีทำนาของผม ผมเตรียมดิน ไถแล้วหว่านปอเทือง จากนั้นก็ไถกลบ หว่านข้าว เราไม่เติมอะไร น้ำเราไม่ใส่ เคมีไม่ใส่ น้ำแห้งคนอื่นชักน้ำใส่ เราไม่ชัก เพราะว่าฤดูกาลจะมาตามธรรมชาติของมัน รอสักพักฝนก็ตก ข้าวเป็นพืชทนน้ำ มันจะใช้น้ำมากตอนตั้งท้องแล้วจะออกรวง มันจะสอดคล้องกับธรรมชาติ คือโตภายใต้เงื่อนไขที่มันตั้งท้องตอนน้ำท่วมพอดี เราลงรอบเดียว แล้วข้าวเราเอามาขายได้ในราคาที่ค่อนข้างดีเพราะเรามาสีเป็นข้าวสารขาย กิโลละ 50 บาท กลายเป็นว่าเราขายข้าวตันละ 30,000 กว่าบาท เราไม่จำเป็นต้องไปทำปีละ 3 หน เราได้พักดิน...
“แต่ในแปลงนาผมมันมีหลายอย่าง มีผักปลาข้าว แล้วข้าวงานอย่างสมัยปู่ย่าตาทวด พอตัดข้าวแล้วก็วิดหนองเอาปลา ได้ปลามากิน ไม่หมดก็ใส่เกลือทำปลาร้าเอาไว้กิน ต้นไม้ผักหญ้าตามข้างเรือนก็กินได้หมด วิถีอย่างนี้ทำรายได้ให้เกิด เพราะว่าเราไม่ต้องจ่ายเงินซื้อหลายอย่าง การไม่จ่ายเท่ากับมีรายได้ วิธีคิดอย่างนี้ภาคเกษตรต้องกลับมาทบท วนใหม่ เราจะทำให้สมาชิกมีรายได้ รายเดือน รายปี รายได้สอง-สามปีจะนำไปคืนทุนได้ ใช้หนี้ได้ กองทุนฯ ที่เอาหนี้คุณไปไว้ คุณจะจ่ายเมื่อไรก็ตกลงกัน ไม่ใช่จะผ่อนรายเดือน...ถ้าเราพัฒนาการอย่างนี้ได้ สมาชิกภาคเกษตรสามารถพัฒนาการทางความคิดได้มากขึ้น เรียนรู้ได้มากขึ้น การดำเนินด้วยวิธีอย่างนี้ทำให้เขาสร้างคุณภาพได้ เริ่มจากการผลิตไปสู่ตลาด...”
ละม้าย มองว่า การผลิตของภาคเกษตรดีพอสมควร แต่ยังมีปัญหาเรื่องการตลาด “กองทุนฯ ต้องไปช่วยดูแลเรื่องการตลาด เขาจะได้ใช้หนี้คืนเอาแผ่นดินของเขากลับมาให้ลูกหลาน”
ข้าวไข่มดริ้นของละม้าย ออกแบบบรรจุภัณฑ์สวยงาม และเขียนข้างถุงอย่างภาคภูมิใจ ว่า.. ‘ข้าวไข่มดริ้น ถิ่นกำเนิดนครศรีธรรมราช’ เป็นข้าวกินดี มีคุณค่าทางโภชนาการ “เวลาไปหุงซึ่งผ่านความร้อน พวกวิตามินจะลดค่าลง แต่ข้าวไข่มดริ้นลด 10 เปอร์เซ็นต์ ข้าวอื่นบางพันธุ์ลด 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ แสดงว่าไข่มดริ้นทนความร้อนดีมาก”
ที่มาภาพประกอบ : เฟซบุ๊ก ละม้าย เสนขวัญแก้ว และ getkaset.com
ที่มา : เนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 8 ก.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.