จิรสุดา สายโสม / กัญญารัตน์ จันตะ รายงาน
สัมภาษณ์พิเศษ รศ.กนกวรรณ มะโนรมย์ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลฯ ผู้ทำการศึกษาภูมิภาคอีสานและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ในเรื่องผลกระทบต่อชุมชนต่อการสร้างเขื่อน เรื่องที่ดินชายแดนและเรื่องเศรษฐกิจเกษตรกรอีสานจากระบบเกษตรพันธะสัญญา
กนกวรรณ มะโนรมย์ รองศาสตราจารย์สาขาสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีประสบการณ์ทำงานวิจัย 3 ประเด็นใหญ่ๆ ในภูมิภาคอีสานและลุ่มน้ำโขงทั้งเรื่อง เขื่อน ระบบชลประทาน ทั้งเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี ฝายหัวนาราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เรื่องที่ดินชายแดน ข้ามประเทศ และเรื่องเศรษฐกิจ เกษตรแบบพันธะสัญญา ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษเพื่อนำเสนอภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทอีสานในหลายๆ มิติว่าได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
มีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้สังคมอีสานเปลี่ยนไป
มองปัจจัยภายนอกก่อน คือโครงสร้างสังคมที่มันเปลี่ยน ในสังคมเราพัฒนาไปสู่ความทันสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ ยุคเสรีนิยม เศรษฐกิจแบบเสรีนิยม คืออนุญาตให้คนเคลื่อนย้ายแรงงานได้ง่ายมากขึ้น ประเทศไทยก็อยู่ในยุคเสรีนิยม เป็นการเปิดโอกาสแรงงานย้ายโดยเสรี คำว่าเสรีนิยม คือทำให้คนย้ายโดยเสรี เพื่อที่จะให้เข้าไปทำงานในพื้นที่ ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม ระบบโครงสร้างแบบนี้มันเลยทำให้คนชนบทถูกดึงเข้าในเมือง ดึงไปทำงานในเมืองใหญ่ นี่คือแนวคิดเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม เรื่องที่ 2 การพัฒนาเมือง การขยายตัวของเมือง เมื่อการขยายตัวของเมืองก็มีความต้องการแรงงานจากคนชนบทเข้ามาทำงาน เมืองก็จะขยายตัวไปสู่ชนบท วัฒนธรรมของเมืองก็จะไหลบ่าสู่ชนบท ผ่านสื่อ ผ่านการเข้ามาทำงานในเมืองของคนชนบท ก็เลยเกิดการรับค่านิยมของคนเมืองมา ซึมซับความเป็นคนเมือง ทัศนคติแบบคนเมือง เช่นต้องการความก้าวหน้า ความทันสมัย ชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้ที่ดีแบบคนเมือง เรื่องที่ 3 ยุคโลกาภิวัฒน์ซึ่งชาวบ้านมีการใช้เทคโนโลยีแบบคนเมือง มีอินเทอร์เน็ตเข้าถึงหมู่บ้านทำให้รู้ว่าอะไร เกิดขึ้น ที่ไหน อย่างไร? ทำให้ชาวบ้านตระหนักในเรื่องสิทธิของตัวเอง สิทธิมนุษยชน ข่าวสารจาก Line Facebook ต่างๆ ได้พูดถึงสิทธิ เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้เสพสื่อเหล่านี้ มีผลกระทบต่อวิธีคิดของชาวบ้าน นี่เป็นแค่ปัจจัยภายนอกเท่านั้น และในทางด้านการเมืองประชาธิปไต ย การเมืองในยุค 2540 มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เปิดโอกาสให้คนกล้าแสดงออก กล้าพูด มีสิทธิที่จะมีสิทธิ กล้าที่จะสื่อสารกัน จับกลุ่มเป็นกลุ่ม ชมรม เช่นกลุ่มสมัชชาคนจน สมาคม กลุ่มเหล่านี้ได้เติบโตมาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงออกมา ปัจจัยภายในตัวของชาวบ้านมีแรงปรารถนาที่จะมีความทันสมัย ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ทางการศึกษา ในฐานะปัจเจกบุคคล ระดับครอบครัว ระดับบุคคล
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของชนบทอีสานมีผลกระทบเกี่ยวกับวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ของชนบท อีสานหรือไม่ อย่างไร
มองเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานเป็นหลักเห็นความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงแน่ๆ สมมุติว่าลูกไม่อยู่ที่บ้าน ลูกต้องไปขายแรงงาน ในขณะที่พ่อแม่อยู่ที่บ้านก็จะเกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ต่อเนื่อง ความสัมพันธ์ที่มันขาดหายไป ความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกันมากขึ้น แต่มันจะเกิดเป็นความสัมพันธ์แบบใหม่ขึ้น คือ ความสัมพันธ์แบบระยะทางไกล แต่ในความสัมพันธ์เหล่านี้ไม่ได้บอกว่ามันจะดีหรือไม่ดี แต่มันเป็นความความสัมพันธ์แบบใหม่ เป็นความสัมพันธ์แบบระยะทางไกลผ่านการใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อกัน แต่ความแนบแน่นภายในครอบครัวก็ลดน้อยลง แต่อย่างน้อยในยุคโลกาภิวัฒน์ก็ช่วยทำให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวดีขึ้น พูดคุยกันได้ ถึงแม้ว่าอยู่ไกลกัน ประเด็นที่ 2 เรื่องการส่งเงินกลับบ้าน ลูกไปทำงานเป็นแรงงานส่งเงินกลับมาบ้านให้พ่อแม่เป็นเงินก้อน พ่อแม่ก็สามารถเอาเงินไปลงทุนในการเกษตร ด้านการศึกษา ซื้อที่ดินเพิ่มบ้าง เกิดความก้าวหน้า ความทันสมัยภายในชุมชนอันเนื่องมาจากคนมีทักษะเพิ่มมากขึ้น คนที่ไปขายแรงงาน คนที่มีการศึกษาจะมีทักษะชีวิตมากขึ้น คือคนชนบทมีทักษะ มีประสบการณ์แบบสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น สามารถตอบสนองกลไก สามารถตอบสนองเศรษฐกิจต่อครอบครัวก็ได้ เมื่อคนมีทักษะเหล่านี้ก็กลับมาเปิดร้านขายของ หรือมาทำธุรกิจเป็นของตัวเอง และคนชนบทก็จะมีทักษะมากขึ้นในการทำงานที่มีฝีมือมากขึ้น เพราะมีประสบการณ์จากการที่ไปทำงานต่างถิ่น ความสัมพันธ์ภายในก็เปลี่ยนแปลงในเชิงของวัตถุนิยมมากขึ้น การแลกเปลี่ยน การผลิต การบริโภค ก็จะเปลี่ยนไป พฤติกรรมการบริโภคก็จะเปลี่ยนไปค่านิยมแบบคนเมืองก็เข้ามาแทนที่ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคมชนบท
ในสังคมอีสานมีภาพซ้อนทับกันระหว่างชนบทในฐานะพื้นที่ของการบริโภคแบบเมือง และชนบทในฐานะพื้นที่ของการผลิตนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไร จากอดีตจนถึงปัจจุบันเหมือนกันไหมสิ่งไหน ที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจน
เป็นความสัมพันธ์ที่ไปด้วยกัน ควบคู่กัน เกิดขึ้นพร้อมกัน คิดง่ายๆเลย คือภายในครอบครัวมีคน 2 ยุค ในครอบครัวเดียวกันมีคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าก็ไม่ได้ออกไปไหน พ่อแม่ก็ผลิต ปลูกพริก ทำไร่ ไถนา ส่วนคนรุ่นใหม่ลูก หลานก็จะเป็นฝ่ายออกมาข้างนอกและก็บริโภค คือผลิตและบริโภคก็จะอยู่พร้อมๆกันไปเลย เช่น คนรุ่นเก่ามีลูกหลานไปทำงานต่างถิ่นซื้อตู้เย็น ซื้อโทรทัศน์เข้ามาบ้าน คำว่าบริโภค หมายถึงซื้อของเข้ามาใช้ไม่ว่าจะเป็นของกินของใช้ ในหมู่บ้านหนึ่งก็ต้องปลูกข้าว ต้องดูโทรทัศน์ แค่นี้ก็เห็นภาพซ้อนทับกันแล้วที่มันเกิดขึ้นพร้อมๆกันตลอดเวลา
วิถีชีวิตของคนชนบทกับคนในเมือง มีความแตกต่างกันมากไหม
วิถีชีวิตไม่แตกต่างกัน แต่จะแตกต่างกันในเรื่องของอาชีพ ความต่างระหว่างเมืองกับชนบท คือในเมืองจะไม่มีการทำการเกษตร แต่ชนบทมีการทำเกษตร หรือถนนก็ไม่ดีเท่าในเมือง การศึกษาของโรงเรียนการพัฒนาก็สู้ในเมืองไม่ได้ แสดงให้เห็นถึงความต่างอย่างชัดเจน
อะไรที่เป็นเงื่อนไขของคนอีสาน ที่อยากจะเข้ามาทำงานในเมือง ทั้งๆที่ ตัวเองก็สามารถเป็นเจ้าของผลผลิตของตนได้ ทัศนคติของคนแต่ละอำเภอ แต่ละหมู่บ้านเหมือนกันหรือเปล่า
เงื่อนไขก็คือ ผลผลิตทางการเกษตรมันไม่ได้แน่นอนไม่ยั่งยืน ถ้าเปรียบเทียบกับรายได้ประจำแล้ว รายได้ประจำกับการเกษตร ถ้าฝนฟ้าไม่ตก เกิดภัยแล้ง มันไม่ยั่งยืน ไม่เสถียร สินค้าทางการเกษตรมีความผันผวนตลอดเวลา พ่อแม่ก็จะมีความรู้สึกว่าอาชีพทำนามันไม่โดนใจ ไม่ใช่สิ่งที่จูงใจสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือสังคมเมือง และความเป็นอาชีพที่อยู่ในภาคเมือง ภาคอุตสาหกรรม แต่ต่อไป การเกษตรต่อไปจะกลายเป็นเกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
เหตุใดชาวนาในชนบทอีสานในปัจจุบันจึงไม่ได้ทำนาเพื่อเลี้ยงชีพเพียงอย่างเดียว แต่มุ่งผลิตเพื่อการค้าขาย และต้องการเป็นผู้ประกอบการ
ประเด็นแรกก็คือวิถีชนบทในเรื่องการผลิต ชาวบ้านไม่ใช่แค่ปลูกข้าว ทำนา ต่างมีอัตลักษณ์ที่หลากหลาย มีความสลับซับซ้อน การดำเนินชีวิตชาวนาไม่ใช่ผู้ที่ปลูกข้าวหรือทำนาผลิตอย่างเดียว แต่ในอีกมุมหนึ่งคือชาวนาในฐานะที่เป็นผู้บริโภคเราต้องมองควบคู่กันไป ประเด็นที่สอง ผลิตก็คือสร้างอาชีพใหม่ๆที่ไม่พึ่งพาการเกษตร ทำอาชีพอื่นๆที่สร้างรายได้
คนในชนบทอีสานมีเหตุผลอะไรที่เปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิต เช่นมีสิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องเรือน เครื่องอุปโภคบริโภค ที่คล้ายกับสังคมเมือง
มีความใฝ่ฝันที่จะมีชีวิตคล้ายสังคมเมือง มีแรงปรารถนาที่จะทันสมัย ในฐานะปัจเจกบุคคล ต้องการพ้นจากความยากจน
จากบทเรียน ที่ราบลุ่มราษีไศลพบความเปลี่ยนแปลงของชาวนาอย่างไร
คน ชนบทไม่ใช่แค่ทำนาเท่านั้น แต่ทำหลากหลายอาชีพ ชาวนามีความเข้มแข็ง มีการสร้างสมาคม สมัชชาชาวนา สร้างอัตลักษณ์ กำหนดวิถี ต่อสู้กับการสร้างเขื่อน ฝาย มีความคิดต่อรองกับรัฐ เป็นผู้ประกอบการ สร้างผลิตภัณฑ์เหมือนบริษัทแต่ไม่คิดว่าตนเป็นบริษัท
อะไรเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าคนในชนบท จังหวัดศรีสะเกษมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีเลิกจนหรือจนน้อยลง
ความยากจนในประเทศไทยเหลืออยู่ 6.7 ล้านคนในปัจจุบันนี้ ตอนนี้ประเทศไทยหลุดจากความยากจนไปแล้วในภาพรวม หลุดจากประเทศกลุ่มกำลังพัฒนาขึ้นไปสู่กลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ตั้งแต่ พ.ศ.2554 อัตราความยากจนก็ลดลงไปเรื่อยๆ เหลือ 6 ล้านคน ภาพรวมในประเทศไทยตอนนี้ออกมาดีแล้วเป็นประเทศที่ไม่ยากจน แต่ความเลื่อมล้ำยังคงอยู่ ความเลื่อมล้ำในสังคมไทยยังมีช่องว่างที่สูงมากระหว่างคนชนบทกับคนเมือง คนจนกับคนรวยในสังคมไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2530 จนถึงปัจจุบันความเลื่อมล้ำไม่ได้เปลี่ยนไปเลย อาจจะลดลงแค่นิดเดียวเท่านั้น แต่ในประเทศไทย ภาคอีสานมีความเลื่อมล้ำมากกว่าภาคอื่น ถ้าเทียบกับภาคกลางกับภาคอื่นๆแล้ว แม้ว่าความยากจนจะลดน้อยลง แต่ความเลื่อมล้ำในสังคมไทยยังใกล้เคียงกับ 25 - 30 ปีที่แล้ว
เพราะเหตุใดอาจารย์จึงเลือกศึกษา/ทำวิจัยเกี่ยวกับคนอีสานหมู่บ้านในอำเภอปรางค์กู่ อำเภอเมืองและอำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ
ในทางวิชาการคือ มีประเด็นที่น่าสนใจ เพราะในอำเภอปรางค์กู่ อำเภอเมืองศรีสะเกษเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องความยากจนที่สุด แห้งแล้งที่สุด และอยากรู้ว่าชาวบ้านมีวิธีการแก้ปัญหาและปรับตัวอย่างไร อำเภอกันทรารมย์เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนาราษีไศลและเขื่อนปากมูล
คิดว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชนบทอีสาน กรณีที่จังหวัดศรีสะเกษ ดีหรือไม่ดีอย่างไร
ได้นำเอาข้อมูลไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เขา เอาไปวางแผนทางด้านข้อมูล GIS (Geographic Information System) เพื่อการจัดการ และหน่วยงานก็ไปคุยกับรัฐบาลเอง เราไม่ได้คุยโดยตรง แต่ที่อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษได้ประโยชน์มาก เพราะกรมชลประทานได้ให้เงินมาทำวิจัยและก็เอาผลงานวิจัยส่งให้ทางกรมชลประทาน คิดวางแผน แก้ไข และทางกรมชลประทานก็ได้ให้เงินสนับสนุนชาวบ้านปีละ 4 ล้านบาท ในการพัฒนาและแก้ปัญหาจากฝายหัวนาราษีไศล ก็ได้ประโยชน์ตรงๆกับชาวบ้าน
จะมีวิธีที่จะสามารถเปลี่ยนความคิด สร้างความคิดใหม่ๆว่าคนชนบทก็มีความสำคัญไม่ได้เป็นอย่างที่คนเมืองคิดจะ แก้ไขได้หรือไม่
ถ้าจะถามว่ามีวิธีไหม จะแก้ไขได้หรือไม่ คิดว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดคนในชนบทอีสาน ทำให้คนเมืองได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนไปจากเดิม พัฒนามากขึ้น ชนบทอีสานมีศักยภาพมากยิ่งขึ้นในมุมมองต่างๆ สามารถเป็นผู้ประกอบการ เป็นผู้ผลิตได้ ชนบทอีสานไม่ได้เป็นชนบทอีสานที่ โง่ จน เจ็บ เหมือนแต่ก่อนแล้ว สิ่งเหล่านี้จะสามารถทำให้คนเมืองมองชนบทอีสานในมุมมองใหม่ๆ บ้าง
เกี่ยวกับผู้สัมภาษณ์ จิรสุดา สายโสม / กัญญารัตน์ จันตะ เป็นนักศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ที่มา : ประชาไท วันที่ 5 ก.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.