เสรี พงศ์พิศ
บริษัทประชารัฐกำลังเริ่มต้น ผู้เกี่ยวข้องจากภาครัฐและเอกชนต่างก็ออกมาให้คำอธิบาย เพื่อขจัดความระแวงว่า เป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจเอกชน “ฮุบ” ผลประโยชน์จากชุมชนได้ง่ายขึ้น ซึ่งคำอธิบายบางอย่างก็ฟังดูดี บางอย่างก็ไม่แน่ใจว่ามีความเข้าใจตรงกันในเรื่อง “วิสาหกิจเพื่อสังคม” หรือไม่
เพราะวิสาหกิจเพื่อสังคมสามารถจัดสรรผลประโยชน์ให้ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของกำไร และต้องนำผลกำไรไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ไปลงทุนในกิจการ หรือใช้เพื่อผลประโยชน์ของเกษตรกร ผู้ยากจน คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมอื่น ๆ
ถ้าหากบริษัทประชารัฐจะไม่แบ่งผลกำไรให้ผู้ถือหุ้นเลย (อย่างที่ผู้เกี่ยวข้องอธิบาย) ก็ต้องบอกให้ชัดว่า จะทำเช่นนี้ไปตลอดไปหรือนานเท่าไร และรายละเอียดอื่นๆ เพื่อป้องกันการครหาว่าเอื้อประโยชน์ให้นายทุน หรือผู้ถือหุ้นจากภาครัฐและเอกชนก็ควรทำให้ชัดเจน
เป็นเรื่องดีที่คัดเลือกเอา 350 วิสาหกิจชุมชนจาก 80,000 แห่งเพื่อพัฒนาให้เป็นต้นแบบ แต่ก็อยากเรียนว่า การสร้าง “เถ้าแก่” หรือ “ผู้ประกอบการ” จากชุมชนไม่ใช่เรื่องง่าย ความจริงบุคคลเหล่านี้มีอยู่แล้วมากมาย แต่เป็นปัจเจกจากในหมู่บ้านหรือจากภายนอกที่รวบรวมผลผลิต แปรรูป ทำการตลาด โดยชาวบ้านก็ยังเป็น “แรงงาน” ถูกๆ ให้ “เถ้าแก่ชุมชน” เหล่านี้อยู่เช่นเดิม
บางกรณี เถ้าแก่หรือแม่ค้าเหล่านี้ก็อาจจะเฮกันไปตามกระแสและพากันเจ๊งก็มีไม่น้อย อย่างกรณีบรรดา “แม่กิม” ทั้งหลายที่เพชรบุรี ที่วันนี้ถูกยกให้เป็นจังหวัดนำร่องของบริษัทประชารัฐด้วย บริษัทประชารัฐไม่ควรพลาดแบบเดียวกับที่บรรดาแม่กิมทั้งหลายทำ เฮกันเปิดตลาดข้างถนนขายขนมเมืองเพชร เรียกรถทัวร์รถตู้รถโดยสารให้แวะเข้าจอดซื้อของซื้อขนม วันนี้เหลือกี่แห่งก็น่าไปนับดู
บริษัทประชารัฐกำลังทำเรื่องการพัฒนาผลผลิต การแปรรูป หีบห่อ การตลาด ซึ่งล้วนแต่เพิ่มมูลค่าให้ผลผลิต โดยมีกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายคือคน ชั้นกลางขึ้นไป น่าวิเคราะห์ให้ดีว่า คนกลุ่มนี้มีมากเท่าใด มีกำลังซื้อมากน้อยเพียงใด ในยามเศรษฐกิจตกต่ำ บริษัทประชารัฐอาจจะรอด แต่ “ชุมชน” จะรอดไหม
ยังไม่เห็นว่า รัฐให้ความสนใจกับเศรษฐกิจชุมชนของ “ชาวบ้าน” จริงๆ เท่าไรเลย อาจจะคิดว่าเป็นอะไรที่เล็กน้อยใน ชีวิตประจำวัน แต่ท่านทราบไหมว่า ข้อมูลที่เคยสำรวจในการทำ “ประชาพิจัย” เพื่อทำแผนแม่บทชุมชนกว่า 1,500 ตำบลทั่วประเทศในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ ทุกตำบลมีรายจ่ายระหว่าง 50 ถึง 200 ล้านบาทต่อปี
เป็นรายจ่ายรวมทุกอย่างของครัวเรือน ที่ได้ทำการสำรวจ ตั้งแต่อาหารการกิน เสื้อผ้า หยูกยา ข้าวของเครื่องใช้ ค่าน้ำมันรถ ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเล่าเรียนลูก รวมทั้งค่าภาษีสังคม กฐิน ผ้าป่า งานบวช งานศพ งานแต่งงาน แต่ที่มากที่สุด คือ ค่าอาหาร เครื่องดื่ม ขนม รวมไปถึงของใช้ในครัวเรือนที่นึกว่าไม่มาก อย่างสบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า ซักล้าง และที่สำคัญค่า “พลังงาน” ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน
รวมไปถึงเงินที่ต้องนำไปใช้หนี้ทั้งในระบบนอกระบบ ตำบลต่างๆ เป็นหนี้ระหว่าง 50-500 ล้านบาท (หนี้สูงส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างอ้อย มันสำปะหลัง ที่ตกเขียวกับนายทุน)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอนเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ว่า หมายถึงการพึ่งพาตนเองและมีความสุข แต่การพึ่งตนเองไม่ได้แปลว่าไม่ต้องพึ่งใครเลยแบบต้องทำกินทำใช้เองหมด ทรงบอกว่า พึ่งตนเองไม่ใช่ทั้งหมด แม้แต่ครึ่งหนึ่งก็ไม่ต้อง สักเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ
พระปรีชาญาณของพระองค์ทรงเล็งเห็นหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานที่ว่า ถ้าหากชาวบ้านทำกินทำใช้เอง เงินก็หมุนเวียนภายในชุมชน ไม่ใช่เพียง 2 เท่า แต่อาจเป็น 3 เท่า 4 เท่า ถ้าเอา 4 ไปคูณที่ชุมชนทำกินทำใช้เอง ลดค่าใช้จ่ายลงก็จะได้ 100%
ปัญหาวันนี้ คือ ชาวบ้านไม่ได้ทำกินทำใช้เอง มีแต่หาเงินซื้อกินซื้อใช้เกือบทุกอย่าง ทั้งๆ ที่ดินก็มี น้ำก็มี แดดก็มี เวลาก็มี แรงกายก็มี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะทำแล้วเหลือกินเหลือใช้ไม่รู้จะเอาไปขายที่ไหน ไม่มีการส่งเสริมตลาดชุมชน จึงมีเรื่องประหลาดที่คนที่ปลูกเลี้ยงมากหน่อยนำไปขายในเมือง คนในหมู่บ้านไปซื้อของที่ตลาดในเมืองกลับมาขายในหมู่บ้าน
สิ่งที่ชุมชนต้องการวันนี้ คือ การเรียนรู้เพื่อจัดระบบการกินการอยู่ของตนเอง อะไรที่ทำกินทำใช้เองได้ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดภายนอก อะไรที่จำเป็นก็ยังต้องซื้อต่อไป เครื่องมือการเรียนรู้มีอยู่ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใช้หรือไม่เท่านั้น อย่างการทำประชาพิจัยเพื่อทำแผนแม่บทชุมชน ซึ่งรัฐนำไปใช้เผยแพร่ แต่กลับไปให้ชาวบ้านทำโครงการของบประมาณเหมือนเดิม ไม่ใช่เครื่องมือการเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง
ถ้ารัฐบาลอยากช่วยชาวบ้านจริงๆ นอกจากจะร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชน เพื่อทำบริษัทประชารัฐเพราะเชื่อว่า “พ่อค้า” มีความรู้ความชำนาญในการทำธุรกิจ ทำไมรัฐบาลนี้ไม่ร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ชอบเรียกว่า เอ็นจีโอ เพื่อส่งเสริม “เศรษฐกิจชุมชน” “เศรษฐกิจฐานราก” ของคนรากหญ้าจริงๆ ไม่ใช่ไปต่อยอดแต่คนที่มีสถานภาพดีในชุมชนด้วยวิสาหกิจเพื่อสังคม
เอ็นจีโอมีหลากหลาย ไม่ได้มีแต่องค์กรสิทธิมนุษยชน แต่มีองค์กรพัฒนาชุมชนอย่างมูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิบูรณชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และอีกนับหมื่นมูลนิธิและสมาคม ที่ทำงานกับคนจนในแบบที่ภาครัฐและภาคธุรกิจทำไม่ได้
ถ้า “โลกนี้มิได้อยู่ด้วย มณีเดียวนา ทรายและสิ่งอื่นมี ส่วนสร้าง” อย่างที่ท่านอังคารว่า สังคมไทยไม่สามารถพัฒนายั่งยืนได้ถ้าไม่ให้ความสำคัญกับคนเล็กๆ
ที่มา: สยามรัฐ วันที่ 4 ก.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.