โดย...องอาจ ตัณฑวณิช
ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สถานการณ์การผูกขาดด้านพันธุกรรม ทั้งพืชไร่และพืชสวน
บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเมล็ดพันธุ์ทั้งสัญชาติไทยและต่างชาติ ได้เข้ามาตั้งฐานการผลิต วิจัยปรับปรุง พัฒนาพันธุกรรมกันอย่างจริงจังในประเทศไทย ด้วยเหตุปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาพันธุ์ เช่น ฐานทรัพยากรพันธุกรรมท้องถิ่นที่หลากหลายสภาพภูมินิเวศที่เหมาะสม หรือนโยบายจากทางภาครัฐที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านพันธุกรรม ซึ่งมีการประเมินว่า ธุรกิจการค้าเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทยมีมูลค่าสูงกว่าหมื่นล้านบาท และกำลังขยายบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อบริษัทข้ามชาติ ยักษ์ใหญ่ระดับโลกเข้ามาตั้งฐานการผลิตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทรัพยากรพันธุกรรมภายในประเทศถูกนำมาใช้ เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัทยักษ์ใหญ่ปรับเปลี่ยนให้เป็นพันธุ์ลูกผสมหรือพยายามทำให้เป็นพันธุ์ตัดแต่งพันธุกรรม และจำหน่ายให้แก่เกษตรกรในราคาที่สูงกว่าพันธุ์พื้นบ้าน ลดการพึ่งตนเองของเกษตรกรเรื่องพันธุกรรมเนื่องจากพันธุ์ลูกผสมมีข้อด้อยที่ว่าไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เป็นพันธุ์ต่อในรอบการผลิตถัดไปได้ หรือแม้แต่เทคโนโลยีการตัดแต่งพันธุกรรมเอง ก็มีเรื่องของสิทธิบัตรพันธุ์พืชเข้ามา
ควบคุมไม่ให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ประโยชน์ต่อได้ เมื่อเกษตรกรไม่สามารถเก็บรักษาปรับปรุง พัฒนาพันธุกรรมเองได้ก็เท่ากับว่าความรู้ภูมิปัญญาในการจัดเก็บรักษาและใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมท้องถิ่นสูญหายไปด้วย เมื่อเกษตรกรไม่สามารถควบคุมหัวใจหลักในการเพาะปลูกได้ก็เท่ากับว่าเกษตรกรเป็นเพียงผู้รับจ้างปลูกเท่านั้น ความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมถูกถอดออกจากระบบการผลิต ปรับเปลี่ยนมาใช้วิธีการผลิตตามแบบฉบับอุตสาหกรรมการเกษตรที่ต้องพึ่งปัจจัยการผลิต เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี สารปราบวัชพืช รวมทั้งการตลาด จากระบบอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์
ทางกลุ่มเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านได้เห็นสภาพปัญหาเรื่องการพยายามเข้ามายึดครองทรัพยากรพันธุกรรมของทุนอุตสาหกรรมเกษตร จากมือเกษตรกร ตัดขาดวิถีวัฒนธรรมการผลิตการพึ่งตนเองเรื่องพันธุกรรม แรงงาน การค้า ส่งเสริมให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวเก็บเกี่ยวพร้อมกัน ขายพร้อมกัน ส่งผลให้ราคาสินค้าตํ่า เพราะสินค้าเกษตรออกมามากในช่วงเดียวกัน กดทับไม่ให้กระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรและชุมชนที่มีความหลากหลายของฐานพันธุกรรมได้เติบโต ด้วยกระบวนการทางกฎหมายพันธุ์พืช กฎหมายพาณิชย์และความเป็นนักวิชาการเกษตรตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัย โดยไม่คำนึงถึงประสบการณ์วิชาชีพที่เกษตรกรผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน พันธุกรรมพื้นบ้านจะถูกคุกคามยึดครองเข้าไปอยู่ในมือของบริษัทอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ กอบโกยผลประโยชน์จากความหลากหลายสายพันธุ์พืชท้องถิ่นโดยการต่อยอดทางพันธุกรรมปรับปรุงเล็กน้อย นำไปขึ้นทะเบียนเป็นสายพันธุ์ใหม่ หากใครจะนำไปใช้ต้องซื้อหาด้วยเงินเท่านั้น ตัวอย่างเช่น กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ พัฒนาศักยภาพตนเองจนสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำหน่ายให้เกษตรกรทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ แต่กลับไม่ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานใดๆ ของทั้งภาครัฐและเอกชน มิหนำซํ้าเกษตรกรเหล่านั้นยังถูกจับดำเนินคดีทางกฎหมายพันธุ์พืช เห็นได้ชัดว่าสถานการณ์เมล็ดพันธุ์ในบ้านเราตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบริษัทอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ จึงจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูอนุรักษ์ส่งเสริมวิถีภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวเนื่องกับการจัดการการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้มาอยู่ในวิถีชีวิตระบบการผลิตของเกษตรกรเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและฐานทรัพยากรความมั่นคงทางอาหารให้อยู่ประเทศไทยต่อไป
กำเนิดกลุ่มเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน
ประมาณปี 2553 ทางกลุ่มเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านได้ศึกษารวบรวมข้อมูลด้านพันธุกรรมพื้นบ้านและต่อยอดแตกประเด็นมาจากแผนงานความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมให้เกิดการรวบรวมสายพันธุ์พืชพื้นบ้านและทำการปลูก ปรับปรุง พัฒนา คัดเลือกสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ของตนเอง แสวงหาแนวร่วมจากพื้นที่ต่างๆ ภายในประเทศเข้ามาทำงานร่วมกันภายใต้เครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม ขณะนี้เครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม
รวบรวมสายพันธุ์พืชพื้นบ้านไว้ได้ประมาณ 150 สายพันธุ์จากทั่วประเทศ และสามารถปลูกปรับปรุง พัฒนา คัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ตนเอง จัดตั้งศูนย์พันธุกรรมชุมชนแจกจ่าย ช่วยเหลือเกษตรกรและผู้บริโภคที่ประสบภัยพิบัติ เช่น การทำโครงการผ้าป่าพันธุกรรมพื้นบ้านฟื้นฟูพื้นที่นํ้าท่วมในปลายปี 2554 จนถึงปัจจุบัน รวมถึงเป็นตลาดทางเลือกของเกษตรกรและผู้บริโภคที่สนใจปลูกพืชด้วยเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านเพื่อเก็บรักษาสายพันธุ์ไว้ใช้เองต่อไป สนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกร ชุมชนแต่ละกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านอินทรีย์ขายในท้องถิ่นโดยการรับรองคุณภาพจากเครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม มีมาตรฐานคุณภาพของเครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม รับรองตรวจสอบกันเองและผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมรับรองมาตรฐานให้กับแต่ละท้องที่ต่อไป โดยกลุ่มเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านจะดำเนินการหลักเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม มีพื้นที่ทำงานฐานพันธุกรรม คือ BioThai Seed Exchange เป็นฐานพันธุกรรม และจัดอบรม สัมมนา ให้ความรู้
กับสมาชิกเครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรมตามขั้นตอน เช่น วิธีการผลิตพันธุ์พืช การจัดเก็บพันธุ์พืช การเก็บรักษาพันธุ์พืชพื้นบ้านอย่างถูกต้อง โดยร่วมมือกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและนักวิชาการที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน เช่น มูลนิธิข้าวขวัญ และประสานงานกลุ่มเมล็ดพันธุ์พันธุ์พื้นบ้านออกบู๊ธเผยแพร่พันธุกรรมพื้นบ้านกับผู้บริโภค ในงานมหกรรมอาหารและสุขภาพวิถีไทย และงานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน
การเก็บเมล็ดพันธุ์
รวบรวมเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านจากเกษตรกร ชุมชนท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ภายใต้เครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม แผนงานสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารเพื่อสุขภาวะ สำรวจ ตรวจสอบตัวเองว่ามีพันธุกรรมอะไรอยู่ในมือ แล้วนำมาปลูกคัดเลือกขยายพันธุ์และนำมาแลกเปลี่ยนกันในงานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน และงานสมัชชาวิชาการความมั่นคงทางอาหาร กระจายสายพันธุ์ของแต่ละท้องถิ่นไปสู่มือเกษตรกรของแต่ละภูมิภาคนำกลับไปปลูก คัดพันธุ์และนำมา
แลกเปลี่ยนกันในโอกาสต่างๆ ของเครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม เมื่อมีกิจกรรมทางด้านความมั่นคงทางอาหาร นำพันธุกรรมมาแลกเปลี่ยนกันทั้งสายพันธุกรรมและชุดความรู้การผลิต การปลูกและปัญหาในแต่ละพื้นที่เพื่อพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้มีมาตรฐานเท่าเทียมกันเพื่อพัฒนาให้แต่ละกลุ่มสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองและแจกจ่ายแลกเปลี่ยน รวมถึงแบ่งจำหน่ายให้เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจเป็นทางเลือกการปลูกพืชจากเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน
คุณสุบิน ฤทธิ์เย็น นักสังคมศาสตร์ ผู้ผันตัวมาเป็นเกษตรกรผู้ทำนาและผักอินทรีย์ แห่งอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรมกลุ่มเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน กล่าวให้ฟังว่า “กลุ่มเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน หรือ BioThai SeedExchange อยู่ภายใต้แผนงานสนับสนุนของมูลนิธิชีววิถี ได้ก่อตั้งกลุ่มเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ด้วยความตระหนักถึงคุณค่าของเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน โดยมีเครือข่ายจากจังหวัดฉะเชิงเทรา อุทัยธานี สิงห์บุรี พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช และจังหวัดพิษณุโลก ทำการอนุรักษ์เก็บรักษาพืชพรรณท้องถิ่นไว้เพื่อปลูกเอง แจกจ่าย แลกเปลี่ยน และจำหน่ายแก่ผู้สนใจ”
การจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจส่วนใหญ่จะเป็นการออกบู๊ธกิจกรรมงานทางสังคมและให้ความรู้เรื่องเกษตรกรรมยั่งยืนกับความมั่นคงทางอาหาร เช่น งานวันสมุนไพรแห่งชาติ งานวันเกษตรอินทรีย์ ที่เมืองทองธานี และผ่าน facebook.com/SeedExchange แลกเปลี่ยนพันธุกรรมพื้นบ้านเป็นหลัก และอีกส่วนหนึ่งสามารถหาซื้อได้ที่ ร้านพลังบุญ ถนนเกษตรนวมินทร์ กรุงเทพฯ
เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านที่ปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์สามารถตอบสนองต่อปุ๋ยอินทรีย์ได้ดี เช่นเดียวกับเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกด้วยเกษตรเคมีก็สามารถเจริญเติบโตได้ดีในระบบเกษตรเคมี การนำเมล็ดพันธุ์ในระบบเคมีมาปลูกในระบบอินทรีย์ถือว่าผิดฝาผิดตัวเกษตรกรที่เพาะปลูกในระบบอินทรีย์จำเป็นที่จะต้องเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เอง เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ที่เก็บในแปลงของตัวเองจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในผืนดินกำเนิดของตัว
เองยิ่งกว่าเมล็ดพันธุ์ชนิดเดียวกันที่มาจากต่างถิ่น ถึงแม้จะอยู่ในระบบเกษตรอินทรีย์ด้วยกันก็ตาม
ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 11 มิ.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.