ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ..ได้ผ่านความเห็นชอบจากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยจะมีผลบังคับในปี 2560 อย่างไรก็ดีเกิดคำถามขึ้นมากมายว่า กฎหมายภาษีฉบับนี้เป็นการอุ้มกลุ่มคนรวยหรือไม่ เหตุใดจึงยกเว้นภาษีบ้านที่อยู่อาศัยมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ทำให้รัฐจัดเก็บรายได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ , กฎหมายฉบับนี้ จะเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสปรับขึ้นค่าเช่าหรือไม่
ทั้งหมดนี้มีคำตอบจากนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ดังนี้
เพิ่มฐานรายได้ภาษีทรัพย์สิน
ปกติ รายได้ภาษีจัดเก็บจะอยู่บน 3 ฐานภาษีหลัก คือ 1. จัดเก็บจากฐานทรัพย์สิน ซึ่งที่ผ่านมาคือ ภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือน 2.จัดเก็บจากฐานรายได้ ได้แก่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล และ 3. เก็บจากฐานบริโภค ได้แก่ภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ซึ่งในประเทศที่เจริญแล้ว ฐานรายได้จัดเก็บจากทรัพย์สิน จะเป็นฐานที่ใหญ่สุด ขณะที่ไทย มีการจัดเก็บรายได้จากฐานทรัพย์สินเพียง 1% ของฐานรายได้ภาษีรวม ส่วนฐานภาษีที่มาจากเงินได้ บวกกับภาษีเพื่อการบริโภคหรือแวต รวมกันมีสัดส่วนถึง 99%
ทั้งที่โดยหลักการที่ถูกต้อง รัฐควรจะกระจายความเสี่ยงในการจัดเก็บรายได้ โดยเพิ่มสัดส่วนการจัดเก็บบนฐานทรัพย์สินเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่ท้องถิ่นมีรายได้จากภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือน รวมกันต่อปีที่ 3 หมื่นล้านบาท แต่หลังจากที่นำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้แทนที่แล้ว จะจัดเก็บรายได้เพิ่มจากปัจจุบันอีกไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท หรือเป็นวงเงินราว 6.4 หมื่นล้านบาท
ยันรัฐไม่ได้ถังแตก
ดังนั้นถามว่าใครกันที่ได้ประโยชน์จากตรงนี้ ก็คือท้องถิ่นทั้ง 100% เนื่องจากภาษีที่จัดเก็บได้ทุกบาททุกสตางค์ ไม่มีการนำส่งคลังหรือภาครัฐแต่อย่างใด และยืนยันได้ว่ารัฐบาลไม่ได้ถังแตก เห็นได้จากยอดการจัดเก็บช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2559 (1 ต.ค.58-30 เม.ย.59) ที่สูงกว่าเป้าหมายถึง 7 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้รายได้ที่รัฐคาดจะเพิ่มจากเดิมถึง 2 เท่าหรือกว่า 3 หมื่นล้านบาท มาจาก 1.คนที่เคยเสียภาษีอยู่แล้ว มาเสียในราคาประเมินใหม่ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2.จากกลุ่มที่ใช้ที่ดินเชิงพาณิชย์ จากเดิมที่อาจเสียไว้ถูกหรือไม่เคยเสียเลย ก็จะเริ่มมาเสียภาษีเพิ่มขึ้น และ 3.รายได้ที่มาจากที่ดิน ที่เป็นที่รกร้างว่างเปล่า
คิดภาษีโดยอิง”มูลค่า”แทนพื้นที่
อย่างไรก็ดี เดิมกฎหมายภาษีบำรุงท้องที่ รัฐจะยกเว้นให้กลุ่มเกษตรกรที่มีกรอบว่ามีจำนวนกี่ไร่ก็นับเป็นที่อยู่อาศัย กล่าวคือจะยกเว้นภาษีให้ผู้ที่อยู่ในเมืองที่มีที่ดินไม่เกิน 100 ตารางวา และหากเป็นเขตนอกเมืองให้ขยายเพิ่มเป็น 1ไร่ แต่หลังจากที่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบังคับใช้ จะปรับโดยยกเว้นภาษีให้ในลักษณะของ “มูลค่าราคา”แทนพื้นที่
“คือเริ่มต้นที่ 50 ล้านบาทแทน ดังนั้นถามว่าเกษตรกรที่มีที่ดินทำนาเกิน 50 ล้านบาท มีกี่เปอร์เซ็นต์ ตอบได้เลยว่ามีไม่ถึง 1% ซึ่งน้อยมาก ฉะนั้นเกษตรกรทั่วไปที่เดิมยังไม่เคยเสียภาษี กฎหมายใหม่ก็ยังไม่ต้องเสียภาษีอยู่เช่นเดิม จะมีก็แต่คนรวยเท่านั้นที่ทำการเกษตรที่มีราคาที่ดินเกิน 50 ล้านบาทที่จะต้องเสีย (กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้ยกเว้นภาษีสำหรับที่ดินเพื่อทำการเกษตรและบ้านที่อยู่อาศัยหลังแรกที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท )
รวมทั้งยังยกเว้นเช่น การใช้พื้นที่เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้าน ตรงนี้จะไม่เสียภาษี หรือกรณีผู้ที่ยกที่ดินให้ทำเพื่อสาธารณะประโยชน์ เช่นทำสวนสาธารณะ ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี ”
เปิดช่องโยกย้ายชื่อเลือกบ้านหลังแรก
ผู้อำนวยการสศค. กล่าวต่อว่า ในระหว่างที่กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยังไม่มีผลบังคับใช้ รัฐยังเปิดช่องให้เจ้าของบ้านสามารถปรับเปลี่ยนหรือโยกย้ายชื่อตนเองเข้าไปอยู่ในบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 50 ล้านบาทและเป็นบ้านราคาแพงที่สุด เป็นบ้านหลังแรก ได้โดยไม่ขัดกับกฎหมาย
“เทียบจากเดิมที่รัฐยกผลประโยชน์ให้กับพื้นที่ 100 ตารางวาในเขตกรุงเทพฯไม่ต้องเสียภาษีแล้ว ดังนั้นหากบ้านหรือที่ดินที่อยู่ใน เขตสีลมหรือสุขุมวิท ราคาปัจจุบันต่ำกว่า 50 ล้านบาท ก็ยังไม่ต้องเสียภาษี แต่หากในอนาคต มูลค่าตามราคาประเมินสูงเกิน 50 ล้านบาท ไม่ว่าจะอยู่บนที่ดินแปลงเล็กต่ำกว่า 100 ตารางวาก็ตาม ถ้าเข้าเกณฑ์ก็ต้องเสียภาษี
ส่วน คนที่มีบ้าน2 หลัง หากเป็นบ้านที่มีราคาถูกต่ำกว่า 5 ล้านบาท ก็เสียในอัตราต่ำเพียง 0.03% หรือเพียง 1,500 บาทต่อปี ซึ่งก็ยังถูกกว่าการจ่ายพื้นที่ส่วนกลางให้หมู่บ้านด้วยซ้ำ
ยันไม่อุ้มคนรวย
กระแสข่าวที่ออกมาบอกว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถูกดีไซน์ออกมาเพื่ออุ้มคนรวย
ผู้ อำนวยการสศค. ชี้แจงว่า วันนี้ใครก็ตามที่มีที่ดินขนาด 100 ตารางวา ก็ยังได้รับยกเว้นให้อยู่แล้ว เว้นเสียแต่ว่าหากมีดิน ที่อิงราคาประเมินแล้วเกิน เช่นตารางวาละ 5 แสนบาท ( 5 แสนขึ้นคูณกับ 100 ตร.วา ) หรือในอนาคตหากราคาขยับขึ้นเป็นตารางวาละ 6 แสนบาท (เป็นมูลค่า 60 ล้านบาท ) เจ้าของที่ดินจะต้องเสียภาษี แต่หากขณะนี้มีที่ดิน 100 ตารางวา ๆละ 1 แสนบาท ซึ่งปัจจุบันบ้านที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่มูลค่าจะต่ำกว่าอยู่แล้ว หรือเปลี่ยนก็เปลี่ยนจากเดิมไม่มากนัก
ก็เท่ากับว่าภาษีใหม่ เจ้าของที่ดินยังได้รับการยกเว้น ดังนั้นการที่เรากำหนดที่มูลค่า 50 ล้านบาทก็เพราะไม่อยากให้กระทบคนส่วนใหญ่ของประเทศ อีกทั้งถือเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้คนมีที่อยู่อาศัยต้องเสียภาษี แต่จะได้รับยกเว้นเพียงหลังเดียวเท่านั้น
เทียบกับสมัยของนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เสนอให้บ้านที่ได้รับสิทธิ์ยก เว้นภาษี ต้องมีมูลค่าไม่เกิน 2ล้านบาท ก็จะมีปัญหา เนื่องจากผู้ที่มีบ้านเกิน 2ล้านบาทหรือที่ดินขนาด 100 ตารางวา หากราคาเกินตารางวาละ 2 หมื่นบาทก็ต้องเสียภาษีแล้ว ซึ่งจะกระทบในวงกว้างมาก โดยเฉพาะกับผู้ที่เคยได้รับการยกเว้น หรือยังไม่เคยเสียภาษีเลย ”
รับที่ดินเชิงพาณิชย์กระทบมากสุด
ผู้อำนวยการสศค. กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงผลกระทบจากการบังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า แน่นอนหากเป็นเจ้าของที่ดินที่เป็นเชิงที่อยู่อาศัยและที่ดินการเกษตรย่อมไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่ที่ดินเชิงพาณิชย์ปัจจุบันต้องยอมรับว่าการใช้ภาษียังอยู่ใต้โต๊ะ ที่ผ่านมามีการใช้ดุลยพินิจในการประเมินเพื่อจัดเก็บภาษี ซึ่งอาจใช้วิธีการแบบซูเอี๋ยกันไว้ ดังนั้นสิ่งที่กฎหมายฉบับนี้ทำ คือการเอาของที่เคยอยู่ข้างใต้ขึ้นมาข้างบนให้เสียภาษีถูกต้อง
โดยการจัดเก็บรายได้ของท้องถิ่นจากผลของกฎหมายฉบับนี้ จะทำให้ท้องถิ่นจัดเก็บรายได้เพิ่มไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาทหรือเป็นเม็ดเงินรวม 6.4 หมื่นล้านบาท โดยประมาณการจัดเก็บที่เพิ่มกว่า 3 หมื่นล้านบาท มาจาก 1 ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คาดจัดเก็บเพิ่ม 400-500 ล้านบาท , 2.จากที่พักอาศัยมูลค่าเกิน 50 ล้านบาทต่อหน่วย ซึ่งมีประมาณ 8 พันหน่วยทั่วประเทศ คาดจะจัดเก็บภาษีได้เพิ่ม 4 พันล้านบาท ถึง 5 พันล้านบาท ,3. ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม เพิ่มขึ้นกว่า 2 หมื่นล้านบาท ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่ายังไม่มีการคำนวณที่ชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมาที่ดินรกร้างว่างเปล่าถูกจัดอยู่ในกลุ่มอื่นๆ ดังนั้นจะเห็นว่าน้ำหนักการจัดเก็บรายได้จะตกอยู่ “ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ ”
เตือนอย่าฉวยโอกาสขึ้นค่าเช่า
ส่วนที่มีผู้กังวลว่าอัตราภาษีใหม่ที่จะมีผลในปี 2560 บ้านเช่า อพาร์ตเมนต์ ตลอดจนที่ดินเชิงพาณิชย์ จะเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการต้องปรับขึ้นค่าเช่านั้น หากพิจารณาอัตราภาษีสำหรับที่ดินเชิง พาณิชย์ที่ต้องเสียที่ 0.3% หากอพาร์ตเมนต์ มูลค่า 2 ล้านบาท จะเสียภาษีเพียงปีละ 6,000 บาทเท่านั้นหรือตกเพียงเดือนละ 500 บาท เทียบกับที่ผ่านมาธุรกิจอพาร์ตเมนต์เหล่านี้ต้องเสียภาษีโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องที่ ที่อัตรา 12.5 % ต่อปีของรายได้จากค่าเช่า เช่นหากได้รับค่าเช่าปีละ 1 แสนบาท เจ้าของ อพาร์ตเมนต์จะต้องเสียภาษีให้ท้องถิ่นถึงปีละ 1.25 หมื่นบาท แต่หากมีค่าเช่าเข้ามาที่ปีละ 2 แสนบาทก็เท่ากับว่าเจ้าของต้องจ่ายภาษีสูงถึง 2 .5 หมื่นบาท แต่ด้วยความที่ภาษีที่เป็นรายได้เหล่านี้มักจะไปอยู่ใต้โต๊ะ จึงทำให้การจ่ายภาษีต่ำกว่าความเป็นจริง อย่างไรก็ดีเมื่อเทียบกับภาระภาษีใหม่ ก็ไม่น่าจะเป็นเหตุผลให้ต้องปรับขึ้นค่าเช่าเพิ่ม”
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,167 วันที่ 19 – 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 20 มิ.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.