กว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ คือ อีกประเด็นใหญ่ที่ถูกพูดถึงในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.59 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีจุดประสงค์ เพื่อทดแทน พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และทำให้การเก็บภาษีมีความเป็นธรรมมากขึ้น
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในหลักการ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ....จะนำมาบังคับใช้แทน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 ซึ่งการเก็บภาษีตามร่างกฎหมายตัวนี้ไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นการปรับปรุงของเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
ใครมีหน้าที่เสียภาษี? ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือเป็นผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ โดยมี
ใครเป็นผู้จัดเก็บภาษี? หน่วยงาน จัดเก็บภาษี ได้แก่ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ส่วนรายได้ภาษีที่จัดเก็บได้จะเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ทำหน้าที่จัดเก็บเพื่อนำไปใช้พัฒนาท้องถิ่น
ทรัพย์สินอะไรบ้างที่ต้องเสียภาษี? ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี ได้แก่ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด โดยจะคำนวณจาก มูลค่าทั้งหมดของที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด รวมถึงอัตราค่าเสื่อมราคาที่กรมธนารักษ์เป็นผู้กำหนด
มีการแบ่งอัตราภาษีดังกล่าวออกเป็น 3 กลุ่ม ตามลักษณะการใช้ประโยชน์ในที่ดิน คือ
ที่ดินใช้เพื่อทำเกษตรกรรม1. กรณีใช้เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม ให้จัดเก็บภาษีได้ในอัตราไม่เกิน 0-0.1%
2. กรณีใช้เพื่อเป็นที่พักอาศัย จะ แบ่งย่อยเป็น 2 ส่วน คือ บ้านหลักส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป อัตราอยู่ที่ 0.05-0.1% และอีกส่วน คือบ้านหลังที่สองอัตราอยู่ที่ 0.03-0.3%
ทั้งนี้ อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริงนั้น จะกำหนดเป็นอัตราก้าวหน้าเพิ่มขึ้นตามมูลค่าของฐานภาษี หากบ้านหลังหลักมีมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษีไปแต่ถ้าหากมากกว่าอัตราภาษีที่ถูกจัดเก็บจะอยู่ที่ 0.05% ของฐานภาษีหรือเท่ากับปีละ 5,000 บาท สำหรับบ้านหลังที่สอง หรือมากกว่านั้นจะถูกจัดเก็บภาษีตามมูลค่าของบ้านหลังนั้น ส่วนวิธีดูว่าบ้านไหนบ้านหลัก หรือบ้านหลังที่สองให้ดูจากชื่อผู้ถือครองว่าอยู่ในทะเบียนบ้านหลังไหน
3. กรณีใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม ให้จัดเก็บภาษีได้ในอัตราไม่เกิน 0.3-1.5%
ในกรณีที่เป็นที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามสมควรแก่สภาพที่ดินนั้น กำหนดอัตราภาษีสูงสุดในกฎหมายให้ อปท. เรียกเก็บภาษีที่ 1-3% (เพิ่มขึ้นทุกๆ 3 ปี) ของฐานภาษี
แต่ในกรณีที่ได้บ้านหลักมาจากการทำรับมรดก สังเกตจากตัวโฉนด การจัดเก็บภาษีและสิ่งปลูกสร้างได้มีการบรรเทาภาระด้วยการลดภาระภาษีให้ 50% ของจำนวนภาษีที่ต้องเสีย นอกจากนี้ กฎหมายยังให้อำนาจผู้บริหารท้องถิ่น สามารถขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัด หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อลดหรือยกเว้นภาษีให้กับเจ้าของอาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเดือดร้อน ได้ เช่น เกิดภัยพิบัติ หรืออาคาร บ้านเรือนเกิดเสียหายหรือถูกทำลาย
กรณีที่ดินที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง
ภาระภาษี = มูลค่าที่ดิน X อัตราภาษี
โดยมูลค่าที่ดิน = ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน (ต่อ ตร.ว.) X ขนาดพื้นที่ดิน
กรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ภาระภาษี = (มูลค่าที่ดิน + มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง) X อัตราภาษี
โดยมูลค่าสิ่งปลูกสร้าง = (ราคาประเมินทุนทรัพย์โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง (ต่อ ตร.ม.) X ขนาดพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง ) – ค่าเสื่อมราคา
กรณีห้องชุด
ภาระภาษี = มูลค่าห้องชุด X อัตราภาษี
โดยมูลค่าห้องชุด = ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด (ต่อ ตร.ม.) X ขนาดพื้นที่ห้องชุด (ตร.ม.)
อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริง จะกำหนดเป็นอัตราก้าวหน้าเพิ่มขึ้น ตามมูลค่าของฐานภาษี เช่น ถ้าบ้านหลักมีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่หากบ้านหลักมีมูลค่า 60 ล้านบาท อัตราภาษีที่ถูกจัดเก็บจะอยู่ที่ 0.05% ของฐานภาษีหรือเท่ากับปีละ 5,000 บาท
พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถ้าบ้านหลักมีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษีแต่หากใครสงสัยว่า จะดูจากอะไรว่าบ้านหลังไหนคือบ้านหลัก ส่วนนี้ให้ดูว่า ถ้ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหลังไหน ก็แสดงว่าบ้านหลังนั้น คือบ้านหลักนั่นเอง
นอกจากนี้ สำหรับใครที่มีบ้านหลังที่สองก็จะถูกจัดเก็บภาษีด้วยตามมูลค่าของบ้านหลังนั้น เช่น มีบ้านหลังที่สองมูลค่า 4 ล้านบาท อัตราภาษีที่ถูกจัดเก็บจะอยู่ที่ 0.03% ของฐานภาษีหรือเท่ากับปีละ 1,200 บาท หากบ้านหลังที่สองมูลค่า 6 ล้านบาท อัตราภาษีที่ถูกจัดเก็บจะอยู่ที่ 0.05% ของฐานภาษีหรือเท่ากับปีละ 2,000 บาท
ที่ดินรกร้างว่างเปล่า จะถูกเก็บภาษีสูงทั้งนี้ ในส่วนของที่ดินรกร้างว่างเปล่านั้น ปีที่ 1-3 อัตราภาษีที่ถูกจัดเก็บจะอยู่ที่ 1% ของมูลค่าที่ดิน ปีที่ 4-6 อยู่ที่ 2% ของมูลค่าที่ดิน ปีที่ 7 ขึ้นไปอยู่ที่ 3% ของมูลค่าที่ดิน เช่น มีที่ดินมูลค่า 1 ล้านบาท หากทิ้งไว้ ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร ในปีที่ 1-3 จะถูกจัดเก็บภาษีปีละ 10,000 บาท ปีที่ 4-6 จะถูกจัดเก็บภาษีปีละ 20,000 บาท และหากยังไม่ได้ทำประโยชน์อะไรในที่ดินผืนนั้นอีก ปีที่ 7 ขึ้นไป จะถูกจัดเก็บภาษีสูงถึงปีละ 30,000 บาท
ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.... จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากขึ้น และทำให้ท้องถิ่นมีรายได้เพียงพอที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการในเขตพื้นที่ของตน
นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษี ช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ผลักดันให้มีการกระจายการถือครองที่ดิน และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินได้อีกทางหนึ่ง เพราะมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ไม่ทำให้ผู้มีรายได้น้อยและปานกลางเสียประโยชน์ อีกทั้งช่วยขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้น
จากข้างต้น
ในมุมมองของ นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นถึงร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไว้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่รัฐบาลจะปฏิรูปภาษีทั้งระบบ เพราะที่ผ่านมาการถือครองที่ดินมีการกระจุกตัวเฉพาะผู้ที่มีฐานะร่ำรวย ดังนั้น การเก็บภาษีที่ดินเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยใช้หลักการให้คนที่มีทรัพย์สินมากต้องเสียภาษี ไม่ให้ถือครองทรัพย์สินมากเกินไป และกระจายทรัพย์สินออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่หลังจากนี้ รัฐบาลจะต้องติดตามการจัดเก็บภาษีที่ดินว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่
การเก็บภาษีบ้านหลังแรกไม่เกิน 50 ล้านบาท ยังเก็บคนรวยเพียงส่วนน้อยแต่ในขณะเดียวกัน นายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในส่วนรูปแบบการเก็บภาษีค่อนข้างเปลี่ยนไปจากเดิม คือ มีการยกเว้นภาษีให้สำหรับที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 50 ล้านบาท แต่หากราคาที่อยู่อาศัยเกิน 50 ล้านบาท หรือมีที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 จะต้องเสียภาษี โดยกำหนดเพดานสูงสุดไว้ที่ร้อยละ 0.5 ของราคาที่อยู่อาศัย แตกต่างจากสมัยก่อน ที่ได้ยกเว้นภาษีให้สำหรับที่อยู่อาศัยไม่เกิน 2 ล้านบาทเท่านั้น ในส่วนประเภทอื่นไม่ได้ต่างจากเดิมมาก
"การยกเว้นไม่เก็บภาษีบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง มูลค่ายังสูงเกินไป เพราะจะเก็บภาษีกับคนรวยส่วนน้อยเท่านั้น และผิดวัตถุประสงค์การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ต่างประเทศทำกัน" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าว
ดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน เปิดเผยว่า หลักเกณฑ์ภาษีที่ใช้ในปัจจุบันยัง ค่อนข้างผิดหลัก คือ 1. ไทยมีการเก็บภาษีทางอ้อมเยอะ จำพวก VAT ภาษีการค้า ผู้มีรายได้มากหรือน้อยก็จ่าย 7% เท่ากันหมด 2. ภาษีรายได้ส่วนใหญ่เก็บจากมนุษย์เงินเดือน 3. ไม่ค่อยมีการเก็บภาษีกับนิติบุคคล ประเภทภาษีความมั่งคั่ง ภาษีสินทรัพย์ จึงเกิดความลำเอียงว่า คนรวยตุนสินทรัพย์ไว้ได้เยอะและมีการเก็งกำไร
ธนาคารต่างๆ ต้องคุยกันในรายละเอียด เนื่องจากเป็นเรื่องของ พ.ร.บ. มีกฎระเบียบกระทรวงออกมาเพิ่ม ตัวธนาคารไม่ได้ถือไว้เพื่อขายต่อ แต่ถือไว้เพราะลูกหนี้ใช้เงินไม่ได้ ถือเป็นข้อยกเว้นได้ อีกประเด็นหนึ่ง คือ ทางรัฐบาลระบุไม่ชัดเจน คือ พ.ร.บ.ภาษีที่ออกมา เป้าหมายคือ เป็นรายได้ให้กับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น แต่รัฐบาลไม่เข้าใจว่านี่คือการปรับโครงสร้างภาษีรายรับรายจ่ายครั้งใหญ่ของประเทศ เพื่อให้ส่วนปกครองท้องถิ่นมีเงินใช้จ่าย ไม่ใช่วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมเพียงอย่างเดียว แต่รัฐบาลกลับพูดถึงประเด็นนี้น้อยมาก ทำให้คนทั่วไปไม่ค่อยเข้าใจ
ธนาคารจะได้รับผลกระทบในแง่ของต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้นระหว่างการถือครองรอการขายด้าน นายปริญญา พัฒนภักดี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานปรับโครงสร้างหนี้และบริหารทรัพย์สิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พ.ร.บ. ดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปรับระบบภาษี มองว่าเป็นประโยชน์ในแง่ของการลดความซ้ำซ้อน แต่อีกส่วนหนึ่งก็ต้องตั้งคำถามว่า จะมีผลกระทบกับประชาชนโดยรวมหรือไม่ หากมองในแง่ของรัฐบาลคงไม่กระทบ เพราะจะเน้นไปทางทรัพย์สินที่ไม่ได้ประโยชน์ หรือทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงในส่วนกลาง
อย่างไรก็ตาม ธนาคารจะมี 2 มุมมอง คือ ตัวธนาคารกับลูกค้า ฝั่งลูกค้าที่มีทรัพย์สินก็ต้องไม่ถือครองนาน นำไปใช้ประโยชน์ภายในเวลาที่กำหนด ส่วนธนาคารจะมีผลกระทบเรื่องเอ็นพีเอ แต่จะมีกรอบเวลา เช่น ถ้าหากภายในเวลา 5 ปี ก็จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ทั้งนี้ จึงเป็นการจัดการของแบงก์ ที่มีหน้าที่รีบจำหน่ายทรัพย์สินที่มีระยะเวลาเกิน 5 ปี ออกไป หากมองภาพรวม ถือว่าได้ประโยชน์ เพราะเป็นการกระตุ้นให้ที่ดินหรือทรัพย์สินที่มีอยู่ เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด
ขณะที่ นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ผู้บริหารสายงานบริหารความเสี่ยงองค์การ ธนาคารกสิกรไทย ให้ความเห็นว่า พ.ร.บ.ดังกล่าว จะส่งผลกระทบในแง่ของต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้นระหว่างการถือครองรอการขาย แต่เชื่อว่าแต่ละธนาคาร อาจกำลังศึกษาวิเคราะห์ถึงผลกระทบกันอยู่ เพราะแต่ละธนาคารมีเอ็นพีเอที่ถือครองอยู่ ส่วนผลกระทบต่อสินเชื่อบ้าน อาจจะส่งผลบ้าง สำหรับลูกค้าที่จะซื้อบ้านหลังที่ 2 แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่ากระทบเพียงใด ซึ่งทางธนาคาร กำลังติดตามรายละเอียดของร่างกฎหมายภาษีอย่างใกล้ชิด
เชื่อว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในครั้งนี้ไม่ได้กระทบกับคนส่วนใหญ่หรือมนุษย์เงินเดือนมากนัก แต่สำหรับใครที่ชอบสะสมที่ดิน มีบ้านหลายหลัง หรือซื้อคอนโดฯ ไว้ปล่อยเช่าแล้ว ก็อย่าลืมบริหารจัดการทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก่อนที่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2560
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 21 มิ.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.