ในฐานะประเทศเกษตรกรรมที่เสมือน “ครัวโลก” วิถีเกษตรกรรมของไทยก็ยังเป็นไปตามแบบที่เคยดำเนินมาแต่ดั้งเดิม แต่ภาวะความเปลี่ยนแปลงด้านนิเวศวิทยาของโลก ดิน ฟ้า อากาศ ศัตรูพืช โรคระบาด อีกทั้งความนิยมของผู้บริโภคที่สนใจอาหารปลอดสารเคมีมากขึ้น ทำให้วิถีการเกษตรของไทยถึงเวลาที่ต้องตั้งหลักปรับตัว และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เป็นคำตอบ
ล่าสุดหลายจังหวัดน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางการพัฒนาเกษตรกร และที่กำลังเป็นรูปธรรมคือการตั้งโรงเรียนชาวนาในหลายจังหวัด
ศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผวจ.พะเยา บอกว่า จ.พะเยา เป็นพื้นที่หนึ่งที่สามารถผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพระดับประเทศและส่งออกมีรายได้เข้าจังหวัดทุกปี และยังเป็นข้าวคุณภาพที่ได้รับรางวัลเป็นที่ยอมรับไปทั่วประเทศ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดและสามารถแข่งขันกับจังหวัดอื่นได้ ขณะนี้ จ.พะเยา ได้ก่อตั้งให้มีโรงเรียนชาวนาขึ้น 10 แห่ง เพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกร ตั้งแต่เริ่มเพาะต้นกล้าจนถึงกระบวนการสุดท้ายในการผลิต เพื่อให้ข้าวของ จ.พะเยา มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับมากสูงสุด จังหวัดจึงมีโครงการผลิตพืชปลอดภัยเพื่อวิถีเศรษฐกิจพอเพียง มอบพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 และ กข 15 ให้แก่เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 1,000 คน
“โครงการดังกล่าวเป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพข้าวหอมมะลิ จ.พะเยา ให้มีคุณภาพ และทำให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต ด้วยการลดหรือหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ให้เป็นเกษตรปลอดภัยตามระบบ”
ผวจ.พะเยา บอกว่า โรงเรียนเกษตรกร ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้เกิดความยั่งยืน โดยเกษตรกร 10 กลุ่ม จะรับเมล็ดพันธุ์ข้าว 25 ตัน นำไปเพาะปลูกและเก็บเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวเข้าธนาคารข้าวเพื่อใช้ผลิตในปีถัดไป นอกจากนี้เกษตรกรที่ร่วมโครงการเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคข้าวไหม้ ดำเนินกิจกรรมตามโครงการ 3 กิจกรรม คือ กระบวนการโรงเรียนเกษตรกร จัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว และส่งเสริมการทำนาเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
ด้าน จ.นครราชสีมา ชาวบ้านใน อ.โนนไทย ก็รวมกลุ่มตั้งโรงเรียนชาวนา เพื่อสู้กับพื้นที่สภาพดินเค็มและความแห้งแล้ง ห่างไกลจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งทุกปีชาวนาจะประสบกับปัญหาภัยแล้งและดินเค็ม ทำให้ข้าวได้รับความเสียหายกว่า 70% เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพียงไร่ละไม่เกิน 350 กิโลกรัม จากที่ควรได้ไร่ละประมาณ 1 ตัน ดังนั้นผู้นำชุมชนจึงได้ประสานให้ทางศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน. อ.โนนไทย จัดเปิดโรงเรียนชาวนาขึ้น โดยเชิญปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้เรื่องการปลูกข้าวบนพื้นที่ดินเค็มได้ผลผลิตสูงมาให้ความรู้กับชาวบ้าน แบ่งฐานการเรียนไว้ 5 ฐาน ได้แก่ 1.การคัดเลือกรวงข้าวพันธุ์ทนเค็ม 2.การเตรียมแปลงตกกล้าแบบรวง 3.การทำปุ๋ยหมัก 4.การวางแผนการทำนาตลอดฤดูกาล และ 5.การทำบัญชีต้นทุนอาชีพ
มานะ เซียงสันเทียะ ปราชญ์ชาวบ้าน อ.โนนไทย บอกว่า ชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันขึ้นมา เพื่อเรียนรู้การปลูกข้าวบนพื้นที่ดิน เค็มขึ้น ด้วยการเปิดโรงเรียนชาวนา ซึ่งปีนี้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 3 แล้ว ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถเพิ่มผลผลิตจากปกติได้ไร่ละประมาณ 350 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นเป็นไร่ละ 800 กิโลกรัม เนื่องจากได้มีการเพาะปลูกข้าวอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวทนเค็มมาใช้ในการเพาะปลูกแทนข้าวหอมมะลิพันธุ์ 105 การใส่ปุ๋ยอินทรีย์สูตรเข้มข้น และการวางแผนทำนาแบบลดต้นทุน
สวัสดิ์ เข็มอิน ชาวบ้านด่านกรงกราง หมู่ 6 ต.โนนไทย อ.โนนไทย ก็บอกว่า มีที่นาอยู่ 2 แปลง รวมพื้นที่ 7 ไร่ ซึ่งในอดีตได้รับผลกระทบจากดินเค็มเป็นอย่างมาก ปลูกข้าวแทบไม่ออกรวง แต่ภายหลังจากที่ได้มาเรียนรู้หลัก สูตรที่โรงเรียนชาวนาแล้ว ก็ทำให้นาข้าวได้ผลผลิตสูงขึ้น 3 เท่าตัว จึงได้มาเรียนหลักสูตรเพิ่มเติม เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับที่นาให้ได้ผลผลิตที่สูงยิ่งขึ้นไปอีก
เช่นเดียวกับ จิตร หลักมณี ชาวนาที่มาเรียนโรงเรียนชาวนา กล่าวว่า โดยปกติแล้วที่บริเวณนี้จะเป็นดินเค็ม เมื่อถึงฤดูแล้งจะมีเกลือขึ้นมา บนผืนดินจำนวนมาก ทำให้ต้นข้าวยืนต้นตายเกือบหมด ที่นาซึ่งมีอยู่ 15 ไร่ แต่ละปีแทบจะไม่ได้ผลผลิตเลย รู้สึกท้อมากเพราะขาดทุนทุกปี แต่เมื่อได้มาเข้าเรียนที่โรงเรียนชาวนาแล้ว ก็ทำให้เริ่มมีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง จากการได้เห็นรุ่นก่อนๆ ซึ่งประสบความสำเร็จ สามารถปลูกข้าวเพิ่มผลผลิตได้มากกว่าปกติ 2-3 เท่าตัว จึงทำให้ตนตั้งใจเรียนรู้เพื่อนำไปปรับใช้ในที่นาต่อไป
ถือเป็นแนวทางที่น่าสนใจ และหลายจังหวัดกำลังเร่งการขับเคลื่อนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และพัฒนาคุณภาพของข้าว รวมทั้งผลผลิตอาหารของไทยให้เป็นอาหารคุณภาพปลอดสารเคมี
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 19 มิ.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.