เสรี พงศ์พิศ
“ไม่ควรให้ปลาคนจน แต่สอนให้พวกเขาจับปลา เพื่อจะได้มีปลากินตลอดชีวิต” เป็นวลีที่เกิดจากวาทกรรม “โง่ จน เจ็บ” กับดักสังคมที่ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา ก็มีบ้างที่ชาวบ้านจับปลาไม่เป็น แต่ว่าปัญหาใหญ่ คือ พวกเขาไม่มีโอกาสจับปลาต่างหาก
ที่ออกจากบ้านเกิดในชนบทหลั่งไหลไปหางานทำในเมือง เป็นเพราะสังคมไม่ได้ให้โอกาสการพัฒนาแก่พวกเขาอย่างเท่าเทียม เช่นเดียวกับที่ให้การส่งเสริมสนับสนุนกับภาคอุตสาหกรรม คนจนไม่มีโอกาสการศึกษา การเรียนรู้ที่ดีที่ทำให้อยู่รอดในชนบทได้ ไม่มีทางเข้าถึงแหล่งทุน ไม่มีเครดิต
คนจนได้รับแต่ข้อมูล แต่ไม่ได้ความรู้เพราะไม่มีโอกาสเรียนรู้ ลุงทองเหมาะ แจ่มแจ้ง เกษตรกรตัวอย่างที่ทำเศรษฐกิจพอเพียงบอกว่า ตั้งแต่ปฏิวัติเขียวมาสี่สิบกว่าปี ชาวนาทำนาโดยใช้ข้อมูลจากถุงปุ๋ยเท่านั้น ไม่ได้ใช้ความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิม ไม่ได้ใช้ความรู้สากลสมัยใหม่อะไรเลย เขาบอกให้ทำอะไรก็ทำ เขาบอกให้ปลูกอะไรก็ปลูก เขาบอกให้ใส่อะไรก็ใส่ แล้วจะรอดได้อย่างไร
ความจริง ชนบทไทยมีทุนอันยิ่งใหญ่มากมาย เพียงพอเพื่อจะอยู่อย่างพอเพียงและมั่นคงได้ แต่ชาวบ้านไม่มีโอกาสได้เรียนรู้เพื่อปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ของสังคม พวกเขายังทำไร่ทำนาทำสวนแบบ “ยังชีพ” (subsistent) ทำเพื่ออยู่เพื่อกิน ซึ่งสมัยก่อนทำได้และพอเพียง เพราะเป็นสังคมเกษตร
เมื่อสังคมเปลี่ยนไป แต่ยังใช้วิธีเดิมในการทำไร่ทำ นา ได้ข้าว 300-400 กิโลต่อไร่ จึงอยู่ไม่ได้ เพราะต้องจ้างรถไถ ใช้ปุ๋ยเคมี จ้างคนจ้างรถเกี่ยวข้าว แล้วจะเหลืออะไร สุดท้ายก็เลิก ไปรับจ้างรายวันได้เงินมาซื้อข้าวสารกินดีกว่า
จึงไม่แปลกที่ชาวบ้านเป็นหนี้กันมากมาย เพราะรายได้ไม่พอกับรายจ่าย สังคมยุคใหม่แม้อยู่ในหมู่บ้านชนบทก็ต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมันรถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ ค่าโทรศัพท์มือถือซึ่งมีกันทุกบ้าน และเกือบทุกคน ซื้ออยู่ซื้อกิน รายจ่ายเป็นรายวัน แต่รายรับเป็นรายปี จะอยู่ได้อย่างไร จะไปหากบหาเขียด หากินกับธรรมชาติก็แทบไม่มีอะไรเหลือแล้ว
เข้าไปอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ต้องดิ้นรนทำมาหากิน หนีตำรวจ หนีเทศกิจ จ่ายค่าคุ้มครองให้เจ้าพ่อเจ้าแม่ผู้มีอิทธิพล หาบเร่แผงลอย วินมอเตอร์ไซค์ ขายพวงมาลัยตามถนน และอีกมากมายหลายอย่างที่คนจนในชุมชนแออัดทำเพื่อเลี้ยงคนกรุงเทพฯ อาศัยถนนหนทางและบาทวิถีเป็นที่ทำกิน
ประเทศไทยได้ชื่อว่าอุมสมบูรณ์ที่สุดหนึ่งในสิบของโลก แล้วทำไมคนส่วนใหญ่ยังลำบากยากแค้น มีดิน มีน้ำ มีแดด ทำไมต้องอพยพไปรับจ้างในเมือง วันนี้มีตัวอย่างมากมายของคนที่อยู่หมู่บ้านชนบทแล้วมีพออยู่พอกิน ไม่มีหนี้มีสิน และมีความสุข ไม่ใช่เพราะโชคลาภวาสนา แต่เพราะใช้ความรู้ใช้ปัญญา
มีตัวอย่างมากมายของการทำมาหากิน ประกอบอาชีพมีรายได้มากกว่าไปรับจ้างในเมือง แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ทำ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขาไม่มีโอกาสได้เรียนรู้และได้ลงมือทำ จริง อาจมีแต่การอบรมสัมนาไม่กี่วัน กลับไปก็ไม่ได้ทำอะไร เพราะไม่มีการเรียนรู้จริง พูดให้ได้ยินอย่างเดียง เดี๋ยวเดียวก็ลืม เรื่องการทำมาหากิน ความรู้จริงไม่ได้มาจากการฟังหรือการเห็น แต่มาจากการลงมือทำ
วันนี้มีคนจำนวนหนึ่งที่จบปริญญาตรี ปริญญาโท ทำงานมีเงินเดือน “กล้าคืนถิ่น” ทิ้งงานในเมืองไปเรียนรู้กับดร.เกริก มีมุ่งกิจ ที่สระแก้วและที่ฐานเรียนรู้ต่างๆ โดยการลงมือ “ปฏิบัติเพื่อเรียนรู้” ไม่ใช่ “เรียนรู้เพื่อปฏิบัติ” ลงมือกวาดใบไม้ในสวนป่ามาทำดิน ใช้จุลินทรีย์ชีวภาพช่วย ทำปุ๋ยอินทรีย์ ตัดแต่งกิ่งไม้ในสวนมาเผาถ่าน ได้ถ่าน ได้น้ำส้มควันไม้สารพัดประโยชน์
เรียนเพาะพันธุ์กล้าไม้ เรียนการแปรรูปไม้ ดร.เกริก ปลูกไม้ไว้ 450 ชนิดในสวนวนเกษตร เอาต้นกระถินเทพาอายุ 7 ปี ให้ผู้เรียนลงมือแปรรูปเป็นไม้กระดาน ทำโต๊ะติดกับม้ายาว ต้นหนึ่งได้ 6 ตัว ถ้าตัดลงมาขายไม้อย่างเดียวจะได้ 500 บาท แต่แปรรูปขายได้ตัวละ 6,000 บาท 6 ตัว 36,000 บาท เผาถ่านจากไม้ที่ตัดแต่งกิ่งได้วันหนึ่ง 1 กระสอบ ได้น้ำส้มควันไม้ 5 ลิตร ขายถ่านได้กระสอบละ 200 น้ำส้มควันไม้ได้ 500 รวม 700 บาท ทำวันละสักสองกระสอบก็จะมีรายได้วันละ 1,400 บาท
ยังมีนาที่ทำ 1 ไร่ได้ข้าว 5 ตัน ดีกว่าทำ 5 ไร่ได้ 1 ตัน เพราะทำอย่างประณีต “ทำน้อยได้มากดีกว่าทำมากได้น้อย” ใช้น้ำน้อย เพียงหนึ่งในสิบของปริมาณน้ำที่ใช้ กันทั่วไป มีพื้นที่เหลือปลูกผัก เลี้ยงปลา ทั้งหมดลงมือทำเอง ไม่ต้องจ้างใคร ถ้ารวมรายได้จากนา จากดินที่ทำจากใบไม้แห้ง ปุ๋ยอินทรีย์ ถ่าน น้ำส้มควันไม้ รายได้เป็นแสนต่อเดือนก็ทำได้ เรียนแล้วกลับไปอยู่ที่ไหนก็ไม่อดตาย อยู่ได้อย่างมั่นคง
วันนี้เรามีดิน มีนา มีป่า มีสวนมากมายที่รกร้างว่างเปล่า ถ้ามีการเรียนรู้ที่เหมาะสมอย่างที่ “คนกล้าคืนถิ่น” เป้าหมาย 1 ล้านคนกำลังทำอยู่ เราจะมีทางออกสำหรับคนจน ชาวไร่ชาวนา มีทางเลือกให้พวกเขาไม่ต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดไปรับจ้างในเมือง
ถ้าคนจน คนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ได้รับโอกาสการส่งเสริมสนับสนุนจากนโยบายที่เหมาะสมของรัฐ รัฐบาลไม่มีเจตจำนงทางการเมือง คงยากที่จะหลุดพ้นกับดักหนี้สินและความยากจนไปได้ และนี่คือโจทย์ใหญ่สุดของสังคมไทยวันนี้ที่รัฐบาลไหนก็ยังตอบไม่ได้
คงไม่ใช่แค่ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก แต่ปัญหาการศึกษา การเรียนรู้ ที่ชาวบ้านยังขาดโอกาส เรียนเพื่อให้รู้เท่าทันทั้งปัญหาและพัฒนาศักยภาพของตนเอง โดยเฉพาะการใช้ทุนท้องถิ่นที่ยังมีเพียงพอเพื่อจะอยู่อย่างพอเพียงได้ ถ้าใช้ความรู้ใช้ปัญญาในการจัดการ ปัญหากรุงเทพฯ ปัญหาเมืองใหญ่ ต้องแก้ไขที่หมู่บ้าน ที่ต้นเหตุ ถ้าอยู่อย่างพอเพียงมั่นคงและมีความสุขที่หมู่บ้าน จะไปกรุงเทพฯ ให้ป่วยและเป็นทุกข์กัน
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 14 มิ.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.