เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ ที่โลกทั้งใบกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน “One world One Destination” ขณะที่สมการแห่งความมั่งคั่ง มาจาก 4 แรงขับเคลื่อนสำคัญ คือ การค้า (Trade In goods) การลงทุนในประเทศ (Inward investment) การลงทุนในต่างประเทศ (Outward investment) และการบริการ (Service)
จังหวะที่รัฐกำลังวางแผนเคลื่อนประเทศไทย ในระยะ 20 ปีข้างหน้า หนีไม่พ้นต้องวัดสุขภาพอุตสาหกรรมไทยที่ยังคงเป็นกลจักรสร้างรายได้หลัก โดยเฉพาะสินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของไทย พบว่า ในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เมษายน) ของปี2559 มูลค่าส่งออกรวม 35,917 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 4.06% อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ชิ้นส่วน ขยายตัว 0.99% คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ติดลบ 7.61% เม็ดพลาสติก ติดลบ 9.45%, แผงวงจรไฟฟ้า ติดลบ 2.55% ผลิตภัณฑ์ยาง ติดลบ14.50% และ เคมีภัณฑ์ ติดลบ15.65% เป็นต้น
สะท้อนให้เห็นว่าสินค้ากลุ่มหลักที่ทำรายได้เข้าประเทศเริ่ม “สูญเสีย” ความสามารถการแข่งขัน เป็นผลจากการที่อุตสาหกรรมไทยเดินช้ากว่าคู่แข่ง เดินช้ากว่าการเคลื่อนตัวของเทคโนโลยี ยังคงติดกำกับการผลิตแบบเดิมๆ ไม่สามารถเปลี่ยนรูปแบบการผลิตไปสู่สินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อรักษาตลาดไว้ได้เท่าที่ควร
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงโจทย์ใหญ่ที่จะพาไทยแลนด์หลุดพ้นขอบเหว ทะยานไปสู่การสร้าง “เศรษฐกิจใหม่” เปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมเป็นอุตสาหกรรมทำน้อยได้มาก (Less for more) ขายสินค้าเกษตรเชิงปริมาณ สู่นวัตกรรม จากยุคอุตสาหกรรมผลิตผ่านเครื่องจักร สู่ยุคใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และไม่จำกัดแค่ขายสินค้า ต้องต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์ธุรกิจบริการ
“สมการมั่งคั่งเปลี่ยน ไม่ต้องมานั่งลุ้นหนาวๆ ร้อนๆ กับตัวเลขส่งออกทุกเดือน (รายได้ส่งออกคิดเป็น 70 % ของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ - จีดีพี) เพราะนั่นเป็นอดีตที่เคยทำมา ควรมองสู่อนาคตที่เริ่มจากวันนี้”
ทว่า กว่าจะถึงจุดนั้นได้ ต้องตีโจทย์ให้แตกจากบทเรียนการเติบโตมาในอดีตของธุรกิจไทย ภาพรวมยังอ่อนแอ การเปิดรับทุนต่างชาติ นำเข้าเครื่องจักรมาผลิต ถึงเวลาทุนย้ายฐานการผลิต ส่วนใหญ่กลับไม่เหลือการพัฒนา มูลค่า คุณค่า ให้กระจายไปสร้างความมั่งคั่งและยกระดับธุรกิจไทยให้เติบโตมากนัก
“ที่ผ่านมาเน้นดึงดูดการลงทุน อยากได้อะไรก็ดึงดูดเข้ามาลงทุน ในที่สุดก็ไม่ได้สร้างเทคโนโลยีเอง กลายเป็นผู้ประกอบการที่เติบโตแบบมีรากแขนง ไม่ใช่รากแก้ว ดังนั้น เอสเอ็มอีไทยที่เติบโตมา จึงเป็นเดินเปาะแปะเพราะเราไม่ใช่เจ้าเทคโนโลยี”
เมื่อจะก้าวไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ก็กำลังเข้าใกล้แบบเดิม เกิดการ“กรู”กันสร้างสตาร์ทอัพ (ผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยี) นักธุรกิจรุ่นใหม่ต่างแสวงหาโอกาสทางธุรกิจบนความสะดวกจากยุคดิจิทัล ไปสู่ความมั่งคั่ง เกิดการเพาะพันธุ์นักรบเศรษฐกิจพันธุ์ใหม่ บนความหวังเป็นกองกำลังบุกตะลุยสร้างรายได้สู่ประเทศ
อีกหนึ่งสิ่งที่ดีในการวิ่งหาโอกาส แต่หากธุรกิจที่ว่าแข็งแรงไม่พอก็ง่ายต่อการถูกแทนที่
“ทั้งเอสเอ็มอี และสตาร์อัพ มีบทเรียนการเติบโตธุรกิจในไทยง่ายๆในอดีต เหมือนกันปักชำ ไม่มีรากแก้วกลายเป็นรากแขนงไม่แข็งแรง เมื่อเห็นโอกาสจากดิจิทัลแพลตฟอร์มก็กระโจนเข้าไปพัฒนา แต่สิ่งที่ต้องระวังคือมีคนอื่นเข้ามาก็อปปี้ได้ง่าย หากเราไม่ได้เป็นเจ้าของธุรกิจ เจ้าของความคิด”
ยังเป็นจุดอันตราย !! หากสตาร์ทอัพเป็นรากแขนงมีโอกาสตายหมู่ ดร.สุวิทย์ เตือนจุดเสี่ยงที่ต้องวางกลยุทธ์ให้รอบด้าน
ไทยเดินมาถึงจุดทบทวนตัวเอง ระหว่างการยกระดับตัวเองเพื่อไปต่อ หรือจะถอยกลับไปที่ต้นทาง เป็นผู้สร้างเทคโนโลยีตัวเอง
สำหรับเขา สิ่งที่จะสร้างรากแก้วแข็งแรง คือ การสร้างเทคโนโลยี นวัตกรรม การบริหารจัดการ และความคิดสร้างสรรค์ หลอมรวมเข้าด้วยกัน สร้างกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีไม่ว่าจะเป็น “วิสาหกิจชุมชนผู้ประกอบการใหม่" หรือ สตาร์ทอัพ รวมถึงธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่เป็นรากแก้วที่แข็งแกร่ง เป็นเจ้าของธุรกิจ เจ้าของแนวคิด ที่ไม่มีใครลอกเลียนแบบได้ เขาย้ำ
“วันนี้เราถึงพูดสตาร์อัพฟุ้งไปหมด จนไม่รู้จะอยู่ตรงไหน โดยไม่มีการสร้างระบบนิเวศน์ หรือสภาพแวดล้อมส่งเสริมธุรกิจ (Ecosystem) เข้ามาเชื่อมต่อ"
ดังนั้นจึงต้องวางแผนให้ชัดโดยการเชื่อมโยงกับ “สถาบันการศึกษา” มหาวิทยาลัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้เข้ามาทำงานวิจัยเพื่อเชื่อมตลาดเป็นสร้างเทคโนโลยีจากสิ่งที่ประเทศไทยแข็งแกร่งตั้งแต่ต้นน้ำ และพร้อมกันกับคิดค้นสิ่งที่ตลาดต้องการ
“มหาวิทยาลัยมีผลงาน และเทคโนโลยีเยอะไปหมด นั่นคือการพัฒนาในเชิงซัพพลาย หรือปริมาณ ที่ออกผลงานโดยไม่เคยรู้ว่าโลกต้องการอะไร ประเทศต้องการอะไร เอกชนต้องการอะไร ไม่เพียงคิดวิจัยแต่ต้องดูตลาด (Demand Research) งานวิจัยต้องเป็นระดับโกลบอล สู้กับโลก ไม่ใช่หน่อมแน้ม ของเล่น แต่ต้องทำของที่คิดแล้วขายได้ จึงจะเป็นการเชื่อมกับตลาดได้จริง”
นั่นคือหนึ่งหัวขบวนที่“เพาะกล้ามเนื้อ”ให้นักรบธุรกิจพันธุ์ใหม่ของไทยมีศักยภาพ และขีดความสามารถต่อกรกับตลาดโลก
ดร.สุวิทย์ เล่าถึงกรณีศึกษาที่ไปดูงานความสำเร็จของประเทศเกาหลี ประเทศที่สร้างตัวเองให้เป็นประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่เน้นนวัตกรรม พวกเขาสร้างโมเดลใหม่เพราะหลังปี 2000 เป็นต้นมา เห็นของช่องว่างของบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศกำลังจะกลืนกินรายได้และเศรษฐกิจ
เกิดปัญหาธุรกิจใหญ่เติบโต“กระจุกตัว”ไม่ต่างกันกับประเทศไทย
จึงระดมสรรพกำลังของบริษัทใหญ่ อาทิ ซัมซุง ล็อตเต้ ฮุนได เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนพันธกิจเพื่อชาติ ลงขันกันตั้งศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และนวัตกรรม กระจายไปใน 18 แห่งทั่วประเทศ แบ่งกันดูกิจแต่ละแห่ง เพื่อเฟ้นหาธุรกิจใหม่ และเพาะพันธุ์ ธุรกิจเล็ก แต่ว่องไว และฉลาด คิดล้ำโลก
เมื่อธุรกิจเหล่านี้แกร่ง และเติบโตจะเป็นหัวจักรเศรษฐกิจใหม่ ที่สร้างอนาคตให้กับประเทศ
เพราะทฤษฎีที่ว่าไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าเกิดขึ้นเสมอ เมื่อซัมซุงเติบโตขึ้นมาไล่บี้ยักษ์ใหญ่ในอดีตอย่างโซนี เช่นเดียวกัน หัวเหว่ย น้องใหม่ในวงการมือถือก็เคลื่อนตัวเร็ว นั่นจึงทำให้รัฐบาลเกาหลีตั้งความหวังกับนักรบพันธุ์ใหม่
-------------------------
โรดแมพปฏิวัติอุตฯ
เถ้าแก่หัวเก่าพลิกโรงงานแข่งโลก
ดร.ขัติยา ไกรกาญจน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ดูแลสถาบันวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมและสถาบันส่งเสริมความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี ยอมรับว่า เถ้าแก่ไทยในยุคปัจจุบันเติบโตมากับการรับจ้างผลิต น้อยรายจะคิดพัฒนาออกแบบกระบวนการผลิตเอง ปล่อยให้เครื่องจักรเสื่อมสภาพ อย่างมากก็ยอมเสียเงินซ่อมบำรุงรักษา หรือซื้อเครื่องจักรใหม่ จึงเน้นที่การใช้เครื่องจักรการผลิต ติดกับดักการพัฒนาอุตสาหกรรมในยุค 2.0 มาตลอด
จนกระทั่งถึงวันที่กลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าไปสู่ยุค 3.0 ดึงคนออกจากกระบวนการผลิต ควบคุมเครื่องจักร ไปสู่การนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในกระบวนการผลิต วิเคราะห์ข้อมูล (Big Data) บริหารจัดการต้นทุน ตั้งแต่สต็อก การลดการสูญเสีย รวมถึงการขาย
“วิธีการทำธุรกิจแบบใหม่จะไปรอดไม่รอดต้องพัฒนาผู้ประกอบ การไทย ให้เห็นโลกภายนอก เห็นต้นแบบการพัฒนาที่สำเร็จ และให้กำลังใจว่าคนไทยทำได้ ต้องรักษาพื้นฐานความรู้ และพื้นฐานตลาดที่มีอยู่แล้วพร้อมกับ ยกระดับขีดความสามารถทำไปอีก 20-30ปี ”
หากยังไม่ปรับตัวก็จะถูกทิ้ง ต้นทุนแข่งขันไม่ได้ ตลาดจะถูกแทนที่ด้วยเจ้าใหม่
เขายังประเมินสัดส่วนของ “เอสเอ็มอีไทย” ที่ติดอยู่กับการผลิตใช้แรง งานในการผลิต อยู่อุตสาหกรรม 1.0 มีสัดส่วน 10% พวกที่ยังไม่บูรณาการผลิต ที่อยู่ระดับ อุตสาหกรรม 2.0 มีสัดส่วนมากกว่า 50% พวกที่ยกระดับการผลิตไปสู่อุตสาหกรรม 3.0 มีสัดส่วน ราว 20-30% และระดับ 4.0 ที่ลงทุนพัฒนาแล้วมีเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่
เขาบอกว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) อยู่ระหว่างร่างแผนโรดแมพเป้าหมายเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทย ในระยะเวลา 10 ปีตั้งแต่ปี 2016-2025 ที่คาดหวังว่าจะทำให้ผู้ประกอบการ 60-70% ยกระดับตัวเองจาก2.0เป็น3.0ภายใน5ปี และอีก5ปีถัดไป จึงยกระดับกลุ่มเหล่านี้ไปสู่4.0
โดยยุทธศาสตร์การยกระดับมี 3 ด้านคือ ให้คำจำกัดความ “นวัตกรรม” เพิ่มขึ้นจากสินค้าเป็นกระบวนการผลิต รูปแบบธุรกิจ และโมเดลธุรกิจ ที่มีโอกาสไปสู่สตาร์ทอัพ
ประสานงานกับภาครัฐให้กำหนดนโยบายให้เชื่อมความต้องการเข้ากับปริมาณการผลิต (ดีมานด์และซัพพลาย) เช่น การสนับสนุนให้อุตสาหกรรมใหญ่ ลดการนำเข้าจากปีละ2แสนล้านบาทเหลือ1แสนล้านบาท เพื่อเน้นการใช้การเชื่อมโยงการผลิตภายในประเทศ หรือการให้สิทธิพิเศษกลุ่มบริษัทที่ใช้เครื่องจักรภายในประเทศ และ3.ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เพื่อวิจัยและพัฒนานวัตกรรม
ขณะเดียวกันต้องกระตุ้นให้ผู้ผลิตกล้าลงทุนและคิดค้นการผลิต นวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ โดยภาครัฐมีเงินทุนในการสนับสนุน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายคือมีคลัสเตอร์เชื่อมโยงซัพพลายเชน เช่น ยานยนต์ ชิ้นส่วน ไฟฟ้า อิเล็คทรอนิกส์
วิชัย จิราธิยุต ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เล่าถึงแผนพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยว่า ปัจจุบันภาพรวมของอุตสาหกรรมรถยนต์ค่อนข้างจะแข็งแกร่ง ส่วนใหญ่อยู่ระดับ3-3.5 มีการนำระบบเซมิออโตเมชั่น มาใช้ในกระบวนการผลิต ภายใน 1-2 ปี จะมีการผลิตแบบฟูลลี่ ออโตเมชั่น (ระบบการผลิตที่นำดิจิทัลมาใช้งานทุกส่วน)
สิ่งที่จะพลิกโฉมวงการคือการพัฒนา “สนามทดสอบ” สำหรับที่เป็นแหล่งทดสอบให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยที่ส่วนใหญ่อยู่ระดับเทียร์ 2 และเทียร์ 3 ที่มีราว 1,600 รายที่ใช้ทดสอบผลิตภัณฑ์ โดยไม่ต้องส่งไปทดสอบในต่างประเทศอีกต่อไป ซึ่งเป็นการยกระดับอีกขั้นของวงการชิ้นส่วนยานยนต์พันธุ์ไทยที่จะก้าวเป็นผู้นำในอาเซียน และเป็นศูนย์กลางการผลิตปลายน้ำ สำหรับกลุ่มประกอบชิ้นส่วนปลายน้ำ
โดยกระบวน การเริ่มต้นพัฒนาสนาม เปิดให้ยื่นซองประมูลภายใน 2-3 เดือนเพื่อหาบริษัทที่ปรึกษา เพื่อจัดทำแบบ และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2560
--------------------
หยุด !! ฟองสบู่สตาร์ทอัพ
กระทิง เรืองโรจน์ พูนผล ผู้จัดการกองทุน “500ตุ๊กตุ๊ก” กองทุนเพื่อสตาร์ทอัพไทย ของกลุ่ม 500 Startups จาก ซิลิคอน วัลเลย์ สหรัฐอเมริกานักปั้นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในกลุ่มดิจิทัล เคยทำงานกับกูเกิล ผู้มีประสบการณ์โลดแล่นในซิลิคอน วัลเลย์ เมืองหลวงไอทีของโลก และหนึ่งในทีมสร้างโปรเจ็คท์กูเกิลเอิร์ธ (Google Earth) เคยระดมทุนมูลค่า 1.1 ล้านดอลลาร์ไปสร้างแอพพลิเคชั่นบนมือถือ
กระทิงพูดถึงบรรยากาศของการสนับสนุนสตาร์ทอัพในมือรัฐบาล ที่กำลังเป็นกระแสมีหลายหน่วยงาน เข้ามาปั้น และกำลังหว่านงบประมาณสูงถึง 500 ล้านดอลลาร์ หรือราว 20,000 ล้านบาทเป็นตัวเลขที่สูง อาทิ ธนาคารออมสินพัฒนาสตาร์ทอัพ หรือกำลังมีอีกหลายหน่วยงานกำลังทำสตาร์ทอัพ
สำหรับเขาเห็นว่า การหว่านเงินเช่นนี้อาจกลายเป็น “ตัวการ” เร่งให้เกิดฟองสบู่ สตาร์ทอัพหลายเจ้ากรูเข้ามาทำสตาร์ทอัพและอาจเจ๊งกันระนาว
หากรัฐบาลลงมาสร้างสตาร์ทอัพเอง แต่ขาดประสบการณ์และการกรั่นกรองคัดเลือกสตาร์ทอัพที่มีหน่วยกร้านดีมีแววเติบโตเป็นธุรกิจทำเงิน โดยการเข้าไปร่วมทุนเองเป็นสิ่งที่น่าห่วง มีโอกาสที่สตาร์ทอัพอ่อนแอและล้มง่าย
“รัฐบาลไม่ควรลงมาเล่นเอง และหว่านเงินมูลค่าสูงมากสปอยล์ตลาด เพราะเงินทำให้สตาร์ทอัพเติบโตอย่างอ่อนแอ น่าเป็นห่วงเงินมูลค่าสูงที่ให้เงินไปฟรีจะทำให้เข้ามาเป็นสตาร์ทอัพง่ายขึ้นและเจ๊งง่ายขึ้น แล้วยังฉุดสตาร์ทอัพแข็งแกร่งล้มไปด้วย หากใช้เงินสาดไปมาจะเห็นซากปรักหักพัง ในหมู่สตาร์ทอัพในไทยจำนวนมาก”
เขาบอกว่า การส่งเสริมสตาร์ทอัพ รัฐบาลควรทำหน้าที่เป็นผู้สร้างบรรยากาศดึงนักลงทุน(Accelerators)และ ผู้ก่อตั้งศูน์บ่มเพาะพันธุ์สตาร์ทอัพ (Incubators)ระดับโลกเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง เพราะนักลงทุนมีองค์ความรู้และโนว์ฮาวในการคัดกรองสตาร์ทอัพที่มีแววเป็นดาวรุ่ง โดยหากภาครัฐจะเข้าไปช่วยร่วมทุนก็เป็นรอเป็นเพียงผู้ร่วมทุน
รัฐควรไปใส่ใจในด้านการอำนวยความสะดวก แก้ไขกฎหมายส่งเสริมการลงทุน และเปิดโอกาสให้มีอาจารย์และนักวิจัย(Talent Mobility) เข้ามาในไทยจำนวนมากเพื่อสร้างบรรยากาศในการพัฒนาสตาร์ทอัพ รวมถึงการเข้าไปพัฒนาสถาบันการ ศึกษา อย่างในซิลิคอน วัลเลย์ ที่เกิดขึ้นได้เพราะให้อิสระ ให้การพัฒนาความคิดที่ถูกต้อง และมีสถาบันการศึกษาอย่าง สแตนฟอร์ด และมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมในด้านการพัฒนาความคิด
สิ่งที่รัฐบาลควรทำมากที่สุดคือการพัฒนาคนให้เตรียมพร้อมมีระบบความคิดที่ถูกทาง โดยการไปพัฒนาด้านการศึกษาจึงเป็น “รากแก้ว”ที่แท้จริงของสตาร์ทอัพ
“รัฐบาลควรให้อิสระโดยการพัฒนากฎหมาย และเป็นการหนุนในด้านอำนวยความสะดวกต่างๆ"
คู่แข่งหลายในอาเซียนหลายรายที่ประกาศตัวเองเดินหน้าและมีการพัฒนานโยบายเอื้อต่อการสร้างสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย ล่าสุดประกาศจะพัฒนาโปรแกรมเมอร์ถึง 100,000 คนขณะที่เมืองไทยมีไม่กี่คน
ปัจจุบัน มีสตาร์ทอัพเกิดขึ้นในไทยประมาณ 2,000 ราย หลังจากเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2012
ขณะที่บริษัทวิจัยเอวีซีเจในฮ่องก ง เผยแพร่ข้อมูลุเมื่อ มิ.ย.2559 ว่า สิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางสตาร์ทอัพภูมิภาค มีจำนวนถึง 199 ล้านดอลลาร์ จากปีก่อนหน้า 53.1 ล้านดอลลาร์ ขณะที่อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดเติบโตในอาเซียน พบว่า สตาร์ทอัพเพิ่มเป็น 2 เท่าจาก 8 ล้านดอลลาร์เป็น 18.9 ล้านดอลลาร์ ขณะภาพรวมเงินการลงทุนสตาร์ทอัพยังเพิ่มขึ้นทั้งในมาเลเซีย ไทย เวียดนาม แต่ฟิลิปปินส์ลดลง
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 13 มิ.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.