เสรี พงศ์พิศ
จุดเทียนขึ้นมาสักเล่ม ดีกว่านั่งด่าความมืด จึงทำให้คนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาชวนกันไปปลูกป่าที่น่าน แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งวิจารณ์ไม่ เห็นด้วย ที่แรงหน่อย (อย่าเพิ่งสะดุ้ง) ก็บอกว่า เป็นการสำเร็จความไคร่ทางปัญญา (intellectual masturbation) ของพวกโลกสวย ที่ลดทอนปัญหาซับซ้อนของเขาหัวโล้นลงมาเป็นแค่เรื่องของต้นไม้
ความจริง ไปว่ารุนแรงขนาดนั้นก็คงไม่แฟร์นัก เพราะที่ได้ติดตามความคิดของกลุ่ม ปลูกเลย ก็เห็นว่า นอกจากความมุ่งมั่นแล้วยังมีความพยายามทำความเข้าใจกับปัญหา ป่าหมด ไปถึงที่มาสาเหตุทางเศรษฐกิจสังคม และพยายามหาทางออกแบบเชื่อมโยง ไปพบตัวแทนคนเมืองน่านเพื่อหาวิธีทำงานร่วมกัน นับเป็นความจริงใจในการเตรียมงาน
ข้อเขียนนี้เกิดจากความปราถนาดีต่อผู้ที่จะไปปลูกป่าที่เมืองน่าน เพื่อช่วยกันไม่ให้ความปราถนาดีของ ท่านกลายเป็นความประสงค์ร้าย แต่ให้ เป้าหมายและวิธีการ เป็นอันเดียวกัน (เต๋า) เป้าหมายดีวิธีการต้องดีด้วย เพราะ ขอบฟ้ามิได้อยู่ที่สุดสายตา แต่อยู่ทุกย่างก้าวที่เราเดิน (ปาสกัล)
จากประสบการณ์ที่ทำงานกับชุมชนชนบทมาเกือบ 40 ปี อยากแนะนำว่า ท่าทีของคนที่จะไปปลูกป่าเมืองน่านควรเป็นท่าทีที่อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่คิดว่าตนเองเก่งกว่า รวยกว่า ฉลาดกว่า แต่ก็ไม่ได้แปลว่าต้องคิดว่าตน เองต่ำต้อยด้อยกว่า หรือไปแบบ หัวเปล่า แต่เป็นการยอมรับความจริงที่ว่า ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่ากัน เคารพให้เกียรติกัน ซึ่งเป็นท่าทีของการเป็น หุ้นส่วน-ภาคี-พันธมิตร (partnership - alliance)
เปาโล แฟร์ (Paolo Freire) นักการศึกษาชาวบราซิล ผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคม สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน (community empowerment) โดยเฉพาะการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับคนยากคนจนในสลัมของเมืองใหญ่ในบราซิลบอกว่า ไม่มีใครรู้ทุกอย่าง และไม่มีใครไม่รู้อะไรเลย มีแต่คนที่รู้บางอย่างและไม่รู้บางอย่าง เขาจึงไม่ต้องการให้คนไปสั่งสอนชาวบ้าน แต่ให้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อหาทางออกด้วยกัน
ดร. เจมส์ วาย ซี เยน (James Y C Yen) เป็นนักการศึกษาและนักพัฒนาชาวจีน เริ่มทำงานพัฒนาชุมชนตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อพยพไปอยู่ไต้หวันหลังการปฏิวัติที่เมืองจีน ได้สานต่องานที่นั่นและขยายไปที่ฟิลิปปินส์ และมาถึงเมืองไทย อันเป็นที่มาของ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่ง ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ คุณหมอเฉก ธนะสิริ และอีกหลายคนร่วมก่อตั้ง
ดร.เยนบอกไว้ว่า จงไปหาประชาชน เรียนรู้จากพวกเขา วางแผนร่วมกับพวกเขา ทำงานกับพวกเขา เริ่มต้นจากสิ่งที่พวกเขารู้ และเสริมสร้างบนสิ่งที่พวกเขามี" ("Go to the people, learn from them, plan with them, work with them, start with what they know, (and) build upon what they have.")
ดร.เยนเริ่มงานที่เมืองจีนมาประมาณร้อยปีแล้ว แต่ก็ยังมีคนที่ไม่คิดและไม่ทำอย่างท่าน ยังคิดว่าชาวบ้าน โง่ จน เจ็บ และไป ช่วยเหลือ สงเคราะห์ ชาวบ้านมาจนถึงทุกวันนี้ ชาวบ้านเองก็ถูกครอบงำด้วยวิธีคิด และวิธีปฏิบัติดังกว่า จนคิดว่าตนเอง โง่ จน เจ็บ จริง จึงอ่อนแอ พึ่งตนเองไม่ได้ พึ่งแต่ราชการ นักพัฒนา พ่อค้า นายทุน นักวิชาการและผู้หวังดีแต่ประสงค์ร้ายทั้งหลายในระบบสังคมอุปถัมภ์
คนไปหมู่บ้านจะรู้ว่า ถ้าหากไปพร้อมกับ โครงการ ชาวบ้านจะต้อนรับดี ถ้าไป วิจัย ชาวบ้านมักส่ายหน้า เสียเวลาให้ข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ทั้งสองกรณีกรณีแรก ชาวบ้านคุ้นเคยกับการได้รับความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมสัมผัสได้ มีงบประมาณ มีคนมีส่วนได้เสียตั้งแต่กำนันผู้ใหญ่บ้าน ประธานกลุ่ม กรรมการ คนเหล่านี้มักจะฟังและทำตามข้อเสนอของคนที่มี โครงการ เข้าไปแบบไม่โต้แย้ง และจะเป็นแกนนำเพื่อให้ชาวบ้านอื่นๆ เห็นด้วยและร่วมมือ
แต่ทราบกันดีว่า ตั้งแต่ 50 กว่าปีที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ทำกันวิธีนี้มาเท่าไร มีโครงการกี่สิบกี่ร้อยที่เข้าไปหมู่บ้าน ทั้งโดยรัฐ โดยเอกชน โดยคน ปรารถนาดี มีอะไรเหลือให้เห็นบ้าง มีอะไรที่ ยั่งยืน บ้าง มีบางอย่างที่ไปซ้ำเติมความทุกข์ยากของชาวบ้าน ทำให้ชุมชนแตกแยกด้วยซ้ำ เพราะแย่งผลประโยชน์กัน
คนที่วิพากษ์กลุ่ม ปลูกเลย ก็พูดเรื่องเหล่านนี้ โดยเฉพาะโครงการปลูกป่ามากมายหลายโครงการ ทั้งระดับชุมชนไปจนถึงระดับชาติ หลายพันบาทไปจนถึงหลายพันล้านบาท มีอะไรเหลือบ้าง ซึ่งก็เป็นการวิจารณ์ที่มีเหตุผล ที่กลุ่ม ปลูกเลย ก็ยอมรับ ถึงได้มีการเตรียมการหลายอย่างมากกว่าแค่การหากล้าไม้
ส่วนกรณีที่สองที่มีคนเข้าไปวิจัย ชาวบ้านไม่ค่อยต้อนรับ เพราะรู้สึกเสียเวลาและไม่ได้อะไร เลย ก็มีเหตุผลฟังได้เหมือนกัน เพราะนักวิชาการ นักวิจัย ทั้งอาจารย์ นักศึกษาเข้าไปเก็บข้อมูล ไปถามๆๆ เก็บๆๆ แล้วก็หายไป ไม่ได้มีอะไรกลับไปให้ชาวบ้าน อย่างน้อยให้เกิดความรู้ เกิดปัญญาหรือถ้าไม่วิจัยก็ไปออกค่าย ไปสร้างส้วมสร้างศาลาให้ชาวบ้าน แต่ส่วนใหญ่ไปกินข้าวชาวบ้าน ไปรบกวนเวลาทำมาหากินชาวบ้านมากกว่าอีก
อยากบอกว่า ถ้าท่านจะไปปลูกป่าเมืองน่าน ถ้าเป็นท่าทีของนักเรียนรู้ ไม่ใช่นักพัฒนา ไม่ใช่สังคมสงเคราะห์ ไปเมืองน่านด้วยท่าทีที่ ดร.เยนบอกไว้ ไม่เสียหายแน่ ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ นอกจากได้บุญยังจะได้ความรู้ ได้ปัญญา ได้เข้าใจปัญหาอันซับซ้อนของสังคม ของชุมชน
ทั้งคนไป ปลูกเลย และชุมชนคนเมืองน่านก็จะ win-win ได้กันทุกฝ่าย ได้ปรับทัศนคติของกันและกัน ได้ทำแผนที่ชีวิตเข้มทิศชุมชนให้ไปถูกทิศถูกทาง แม้หนทางหมื่นลี้จะยาวไกล แต่เมื่อเริ่มก้าวแรกอย่างถูกต้องและถูกทิศ ก็ย่อมไปถึงได้
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.